23 ม.ค. 2566 | 15:39 น.
- ‘สหฟาร์ม’ เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของไทย ที่มี ‘ดร.ปัญญา โชติเทวัญ’ อดีตนายแพทย์ทหารเรือเป็นผู้ก่อตั้ง
- เขาเริ่มต้นทำธุรกิจจากศูนย์ ด้วยการขอไก่คัดทิ้งจำนวน 500 ตัวมาเลี้ยง จนประสบความสำเร็จติดอันดับผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของไทย
- วันนี้ ‘จารุวรรณ โชติเทวัญ’ หนึ่งในทายาทรุ่น 2 ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจ โดยเป้าหมายต้องการให้สหฟาร์มกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
จากการเริ่มต้นด้วยการขอไก่คัดทิ้งจำนวน 500 ตัวมาเลี้ยง จนสามารถสร้าง ‘สหฟาร์ม’ ให้กลายเป็นอาณาจักรติดอันดับหนึ่งในผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของไทย ทำให้ชื่อของ ‘ดร.ปัญญา โชติเทวัญ’ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท สหฟาร์ม ได้รับการยอมรับในฐานะนักธุรกิจแถวหน้าของบ้านเรา
มาถึงวันนี้ ดร.ปัญญาได้พาสหฟาร์มผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน 53 ปี และได้มีทายาทรุ่น 2 เข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจ
หนึ่งในนั้นก็คือ ‘น้ำผึ้ง - จารุวรรณ โชติเทวัญ’ ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ที่ได้ซึมซับหลักคิดจากผู้เป็นพ่อตั้งแต่การสร้างความสำเร็จและมุมมองต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งเพื่อสร้างการเติบโตและฝ่าวิกฤต
“ถามว่าใครเป็นฮีโร่สำหรับน้ำผึ้ง แน่นอนคือคุณพ่อของน้ำผึ้งเอง เขาเกิดมาจากไม่มีอะไรเลย แล้วเขาก็สร้างอาณาจักรสหฟาร์มให้มันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ และเราก็อยากเป็นลูกไม้ใต้ต้นของเขา” น้ำผึ้ง - จารุวรรณ เล่าให้ The People ฟัง
ที่มาของสหฟาร์ม
จุดเริ่มต้นของสหฟาร์มเริ่มมาจาก 2 มือของ ดร.ปัญญา ผู้เป็นพ่อของน้ำผึ้งเอง ซึ่งเป็นนายแพทย์ทหารเรือมา 11 ปี และอยู่กระทรวงสาธารณสุขมา 12 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการป้องกันโรค แล้วคุณพ่อเริ่มเลี้ยงไก่ 500 ตัว โดยนำไก่ที่คนอื่นคัดทิ้งมาเลี้ยง ปรากฏว่าสามารถเลี้ยงให้รอดได้ถึง 80%
จากนั้นมาเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตสหฟาร์มย่านอโศก มาถึงวันหนึ่งมีคนญี่ปุ่นมาที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วบอกว่า ไก่ของคุณดีมากเลยนะ อยากส่งออกหรือเปล่า พร้อมแนะนำวิธี ทำให้สหฟาร์มเป็นบริษัทแรก ๆ ที่ส่งออกไก่ไปยังญี่ปุ่น จากนั้นขยายส่งออกไปในหลายประเทศแถบยุโรป เกาหลี จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น เติบโตไปเรื่อยๆ
สำหรับตัวน้ำผึ้งเข้ามาทำงานที่นี่กว่า 20 ปีแล้ว เริ่มทำงานตอนอายุ 21 ปี คือพอเรียนจบก็มาเลย โดยที่ผ่านมาดูแลงานด้านบัญชีการเงิน เลขานุการของประธานกรรมการ และตอนนี้ดูแลในส่วนของการตลาดต่างประเทศ
มองวิกฤตที่เจอให้เป็นโอกาส
ตอนนี้สหฟาร์มอยู่มาปีที่ 53 แล้ว มีวิกฤตเข้ามาตลอด น้ำผึ้งมองเป็นเรื่องของ Life cycle เหมือนชีวิตคนเราที่มีขึ้นแล้วมีลง ธุรกิจก็เหมือนกัน อย่างสมัยเกิดไข้หวัดนก สหฟาร์มเป็นเบอร์ 1 ส่งออกไก่มา 10 ปีซ้อน พอเกิดไข้หวัดนก ไก่กิโลละบาทยังไม่มีคนซื้อเลย อันนั้นวิกฤตมาก ๆ แต่เราก็ผ่านพ้นมาได้ เพราะสู้กันเต็มที่ ทำทุกอย่าง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับวิสัยทัศน์ของคุณพ่อที่วางแผนเพื่ออนาคตเสมอ
ตอนนั้นเรามีโรงงานปรุงสุกอยู่โรงงานหนึ่ง พอเกิดไข้หวัดนกเราส่งออกของสดไม่ได้ เราก็แปลงทุกอย่างเป็นของปรุงสุก ก็นำไป roast หรือ steam และ fried บ้าง เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เราใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ปีถึงกลับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ทางด้านผู้นำการส่งออกอีกครั้ง
สำหรับวิกฤตล่าสุดที่ทำให้สหฟาร์มต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ 7 - 8 ปี ถือเป็นช่วงที่สหฟาร์มหยุดเจริญเติบโต ส่วนสาเหตุของการต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูเกิดจากวิกฤตการณ์ heat wave ในสหรัฐฯ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงมาก ประกอบกับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง จนวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เราได้ออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว และ ดร.ปัญญาได้กลับมาบริหารสหฟาร์มดังเดิม
ลูกไม้ใต้ต้นของ ดร.ปัญญา
สิ่งที่คุณพ่อจะสอนเสมอเมื่อเจอวิกฤต คือ ให้มองสิ่งที่เจอเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้ความคิด สติปัญญา ต่อสู้ให้ผ่านพ้นจุดนั้นมาได้ และจะเป็นวิชาสำหรับเรา จากวันนั้นถึงวันนี้ เราก็ทำทุกวิถีทางให้บริษัทกลับมาเจริญเติบโตอีกครั้ง
อย่างบ้านสุขาวดี จริง ๆ แล้วเป็นแค่บ้านธรรมดาเอง แต่เขาทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับท็อปของเมืองพัทยาได้ จากวิสัยทัศน์จากแนวคิดต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! ทำไมเขาทำได้ แล้วถ้าเราอยากจะเก่งได้สักครึ่งของเขาจะต้องทำอย่างไร ช่วงนี้เลยเป็นจะไปหาคุณพ่อค่อนข้างบ่อยฟังว่า เออ…เขาทำอะไร มีแนวความคิดแบบไหน
แต่ด้วย Generation Gap ของเราที่ห่างกัน 50 ปี ทำให้น้ำผึ้งกับคุณพ่อมีความแตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นต้องจูนความคิดกัน มีความท้าทายมากพอสมควร และคุณพ่อเองทุ่มเทเวลาแทบจะ 99% ให้กับการทำงาน
ตัวน้ำผึ้งก็ทุ่มเทให้กับการทำงานนะ แต่ยังชอบออกไปเจอเพื่อน ออกไปกินข้าวนอกบ้าน ไปเปิดหูเปิดตา แล้วด้วยความเป็นผู้หญิงต้องดูแลลูก เราต้องมีเวลาให้ลูกบ้าง เพราะเขาคือสมบัติที่ล้ำค่าสำหรับเรา
หวังสหฟาร์มกลับมายืนหนึ่งอีกครั้ง
เป้าหมายของน้ำผึ้งต้องการที่จะทำให้บริษัทสหฟาร์มมั่นคงเจริญเติบโต และกลับมายืนหนึ่งเรื่องไก่อีกครั้ง ด้วยสภาพแวดล้อมหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ไม่น่าจะยากจนเกินไปที่จะไปถึงจุดนั้นได้
แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป ส่วนตัวมองเรื่อง Branding เป็นสิ่งที่สำคัญ ทำอย่างไรให้ชื่อหรือแพ็กเกจจิ้งของสหฟาร์มไปวางขายในรีเทลทั่วโลกได้ เพราะการทำอาหารของเราไม่ได้ทำเพื่อให้คุณกินแบบกินไปวัน ๆ แต่ต้องการผลิตอาหารดีมีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและชีวิตยืนยาวในอนาคต
อย่าง 'พอลดีย์' (Pauldy) แบรนด์ใหม่ที่น้ำผึ้งสร้างขึ้นมา เพื่อต่อยอดขึ้นมาจากสหฟาร์มในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วไป เพราะมีคนถามตลอดเลยว่า หาซื้อได้ที่ไหน แต่เราส่งออก 100% และช่วงโควิด-19 ทุกคนเครียดมากเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ มีการ lock down เลยมองเป็นโอกาสในการขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ จึงทำแบรนด์นี้ขึ้นมา เป็นการทำรีเทลแบบออนไลน์ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคครั้งแรกของเรา ได้รับผลตอบรับดีมาก ในอนาคตอาจจะมีแตกแบรนด์เพิ่มเติม เพราะคงไม่หยุดอยู่แค่นี้
แล้วอะไรคือความท้าทายในการที่จะต้องเข้ามาดูแลสหฟาร์ม สำหรับน้ำผึ้งคือการทำงานเป็นทีมเวิร์ก เนื่องจากส่วนตัวมองว่า เราไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ฉะนั้นเราต้องมีทีมเวิร์ก มีผู้บริหารซึ่งเสมือนขุนพลของเรา มีพนักงานเป็นขุมกำลังทำงานเป็นทีมเดียวกัน มี mindset เดียวกัน
“มีคนบอกว่า ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือคุณพ่อของน้ำผึ้งเองที่จะสอนเสมอว่า ชีวิตเราจะต้องฝ่าฟันอุปสรรค และการทำธุรกิจเสมือนกับการทำสงคราม ดังนั้นทุกคนในกองทัพ จะต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อชัยชนะ”
.
ภาพ : คฑาวุธ เผือกสะอาด