27 พ.ย. 2567 | 17:30 น.
นับตั้งแต่วันที่ประตูร้านหนังสือห้องแถว ริมถนนเจริญกรุง ย่านสี่พระยา ในชื่อ ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง เปิดต้อนรับลูกค้า จนถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 8 ทศวรรษแล้ว
กลุ่มเซ็นทรัล สร้างอาณาจักรจนกลายเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการ ที่ขยายอาณาจักรทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การค้า, โรงแรม, โครงการที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน, ร้านอาหาร หรือกระทั่ง ดิจิทัลไลฟ์สไตล์
ด้วยขนาดธุรกิจที่มีมูลค่าเกือบ 6 แสนล้านบาท
ครอบคลุมเครือข่ายมากกว่า 5,000 สาขา
มีพนักงานราว 1 แสนชีวิต ดูแลฐานลูกค้ากว่า 31 ล้านคน
ภายใต้การบริหารจัดการของสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ ที่ดำเนินงานแบบองค์กรมืออาชีพ โดยมี ‘ธรรมนูญ’ ประจำตระกูลเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อน
การเข้ามารับไม้ต่อของบรรดา ทายาทรุ่น 4 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ไม่ว่าจะเป็น อาคาร, เพชรธรา, พิมพิศา, ไบรอัน, ปัญญ์, กิรัติ์สุดา, โชดก และณพัทธ์ ล้วนเป็นทั้งการสืบทอด และสานต่องาน เพื่อนำพาองค์กรก้าวเดินไปสู่วันพรุ่งนี้
ถึงจะมีบุคลิกพูดน้อย แต่ก็เป็นคนยิ้มง่าย และดูเป็นกันเองตามสไตล์ผู้บริหารรุ่นใหม่ พัทธ์-ณพัทธ์ จิราธิวัฒน์ ในฐานะ Retail Project Management ของ Central Pattana นิยามตัวเองว่า เป็นมนุษย์จำพวก ‘ขี้สงสัย’
ไม่ว่าจะสิ่งรอบตัว หรืองานที่รับผิดชอบ ทำให้ส่วนตัวไม่เคยเบื่อที่จะถาม หรือลงไปลองทำด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้คำตอบ
เพราะหลักคิด รู้ลึก รู้จริง ต้องลงมือทำนั้น ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ตัวเขานำมาใช้กับตัวเอง และงานอยู่เสมอ
ไม่เพียงแค่ต้องรู้ลึก รู้จริง ยังต้อง คิดไว ทำไว และต้องแม่นยำด้วย
ตัวอย่างก็คือ การควบคุมการก่อสร้าง ถือเป็นหน้างานสำคัญของเขา หัวใจของการทำงานตรงนี้ คือ การประเมินความเสี่ยง
“เราจะประเมินทุกทางเลย สมมติออกแบบงานชิ้นนี้มา แล้วเขาบอกว่าทำไม่ได้ เราจะคุยกับผู้รับเหมาก่อน ว่าถ้าทำไม่ได้ เปลี่ยนสูตรได้ไหม หรือถ้าคุยกับผู้รับเหมาไม่ได้ ก็คุยกับผู้ออกแบบ ถ้าอันนี้ทำไม่ได้จริง ๆ ไปเพิ่มหรือลดอีกส่วนให้มันเล็กลงได้ไหม”
มากกว่านั้น ณพัทธ์ยังเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า
ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะที่ทำงาน
“ผมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าระหว่างทางครับ”
ณพัทธ์ ยืนยัน
บาลานซ์ ความหลงใหล และการใช้ชีวิต
เซเลบริตี้คนดัง นางแบบ นักร้อง กระทั่ง เจ้าของแบรนด์ Girlsnation ดูจะกลายเป็นภาพจำเมื่อพูดถึง แพร์-พิมพิศา จิราธิวัฒน์ พรประภา ไปแล้ว แต่ความหลงใหล หรือ สิ่งที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเธอมาตั้งแต่จำความได้ ก็คือ โรงแรม
หลังเรียนจบปริญญาโท เธอจึงก้าวเท้าเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัลในตำแหน่ง Corporate Director of Design and Technical Services ของโรงแรมเครือเซ็นทารา
โดยรับผิดชอบตั้งแต่งานออกแบบ-วางคอนเซ็ปต์ จัดการงบประมาณก่อสร้าง และผู้รับเหมา ไปจนถึงซัพพอร์ตโครงการทั้งในส่วนของการปรับปรุง และการสร้างใหม่ ของโรงแรมทั้งหมดในเครือ
เซ็นทารา
แพร์-พิมพิศา ยอมรับว่า ท้าทายมาก เพราะต้องดูแลโปรเจ็คใหม่อย่าง Centara Reserve Samui และ Centara Grand Hotel Osaka ที่ญี่ปุ่น โดยมีสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รอรับน้องอยู่
บาลานซ์ คือ สิ่งที่ถูกนำมาใช้จัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เข้ามา
ทั้งนั่งในใจลูกค้า
มองด้วยสายตาเจ้าของกิจการ
หรือ ลงมือทำธุรกิจในมุมคู่ค้า
“การทำงานตรงนี้สอนให้เป็นคนไม่ยึดติด เพราะจะมีปัญหาให้แก้ตลอดเวลา และหลายอย่างเราควบคุมไม่ได้”
แพร์-พิมพิศา รู้ดีว่า ทีมงานเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ เธอจึงเลือกที่จะทลายเส้นแบ่งด้วยความเป็นกันเอง และแยกเวลางานอย่างชัดเจน
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ รอยตะเข็บที่แยกระหว่างผู้บริหาร (แถมเป็น จิราธิวัฒน์) กับพนักงานจางลงไปจนแทบมองไม่เห็น ซึ่งสำหรับเจ้าตัว นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ บทเรียนที่เธอต้องเรียนรู้หลังจากนี้
“ทำงานผ่านมากว่า 4 ปี ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เลยค่ะ” ผู้บริหารสาวยังคงตอบด้วยรอยยิ้ม
ไม่ว่าจะเป็นเด็กเรียงหนังสือ แคชเชียร์หน้าร้าน พนักงานจัดวางสินค้า ไปจนถึงงานจัดดิสเพลย์ ทุกอย่างล้วนผ่านมือ ตัง-อาคาร จิราธิวัฒน์ มาแล้วทั้งนั้น
แม้จะไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องเข้ามาสานต่อ หรือรับช่วงธุรกิจครอบครัว แต่ตัวเขาก็รู้ดีว่า นั่นเป็นเรื่องที่ต้องทำ อาคารจึงวางรากฐานเรื่องนี้ให้กับตัวเองด้วยการเลือกเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้าน Economic History และ MBA สาขา Value Investing ก่อนจะกลับมาเริ่มงานที่กลุ่มเซ็นทรัล
เขาทำงานสายวิเคราะห์การลงทุน พัฒนาธุรกิจ ก่อนจะมารับหน้าที่ Head of Online Growth ของกลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (Central Department Store Group) ในปัจจุบัน
“คนในครอบครัวผมส่วนใหญ่จะเลือกมาทำงานที่เซ็นทรัลเอง” โดยจะเลือกจากสิ่งที่ชอบและเหมาะกับความถนัดของแต่ละคน
ขณะที่วันนี้ อาคาร มองว่า ธุรกิจออนไลน์ และอีคอมเมิร์ช จะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับขับเคลื่อนกลุ่มเซ็นทรัลให้เติบโตในอนาคต จึงตัดสินใจมาดูแลงานด้านนี้
ในการทำงาน เขาจัดตัวเองเป็นพวก เรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง เหมือนตัวธุรกิจออนไลน์ที่อาคารต้องการปั้นให้เป็น ‘ดาวรุ่ง’ ดวงใหม่ของกลุ่ม สิ่งที่ทำก็คือ การลงไปขลุกกับ Data ที่ใช้วางกลยุทธ์ เพื่อหา Pain Point ที่จะนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้กับลูกค้า
“ไม่มีใครจะสำเร็จได้ด้วยคน ๆ เดียว” นั่นคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ระหว่างการทำงาน
โดยเฉพาะองค์กรใหญ่อย่างเซ็นทรัล มีงานหลายส่วน เกี่ยวข้องกับคนหลายคน การขับเคลื่อนไปข้างหน้าต้องอาศัยการมองเป้าหมายร่วมกัน เพื่อร่วมเดินไปสู่จุดหมาย
ที่เหลือก็แค่ ความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เพราะตัวเขารู้ดีว่า ความตั้งใจนั่นแหละ ที่จะเป็นบันไดสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง
“If there’s a will, there’s a way ครับ ต้องตั้งใจ และลงมือทำจริง ๆ ไม่ยากหรอกครับที่จะสำเร็จ”
เขายืนยันความเชื่อนั้นด้วยรอยยิ้ม
“เพียงแค่ลงมือทำ คนก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเดิมได้” เป็นมุมมองของ เเพม - เพชรธรา จิราธิวัฒน์
เธอเชื่อว่า ‘คน’ คือ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
จะด้วยในหมวกของ Head of Business Development ที่ Central Pattana หรือ หนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่ ของ กลุ่มเซ็นทรัล ตัวเธอเองก็ยืนยันแนวคิดการทำงานของตัวเองว่า ไม่มีใครตำแหน่งสูงกว่าใคร
“วัฒนธรรมการทำงานที่ดี คือ เราพูดกันตรง ๆ ได้”
“แพมเชื่อว่า ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน คนที่เป็นลูกน้องก็สำคัญเท่ากับคนที่เป็นหัวหน้า ทุกคนมี Talent ที่พระเจ้าให้มา ก็พยายามจะมี Flat Culture As Much As Possible ค่ะ” สายตา และเสียงหัวเราะของผู้บริหารสาวหมายความแบบนั้น
Feedback Culture อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่กับองค์กรใหญ่ที่อยู่มาเกือบจะ 8 ทศวรรษอย่างเซ็นทรัล แต่ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการสร้างทีมเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสมัยใหม่
“เราอยากเป็นทีมที่เก่งขึ้น ดีขึ้น และด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ไม่เคยมีใครเจอ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เกมนี้มันชนะยังไง เราจึงจะต้องเป็นทีมที่ Dynamic และเรียนรู้ตลอดเวลา นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม Feedback Culture ถึงเป็นเรื่องสำคัญ” แพม-เพชรธรา อธิบาย
นอกจากเรื่องงาน ฟากของชีวิตครอบครัว ในบทบาทของภรรยา และแม่ ก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่แพ้กัน ตัวเธอเองก็พยายามทำ Work-Life Balance อยู่ในตอนนี้
ถึงจะดูมีอะไรหลายอย่างรออยู่บนเก้าอี้ตัวนี้ แต่เธอก็ยังยืนยันว่า ความรัก เป็นแรงขับที่ดี ทั้งในเรื่องงาน และการใช้ชีวิต โดยเฉพาะกับคนในองค์กร ที่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่ใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง
เพียงแค่ลงมือทำ คนก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากเดิมได้
“บ้านทั้งหลังเนี่ย สามารถซื้อทุกอย่างที่อยากได้ที่ไทวัสดุ ซึ่งจริง ๆ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้”
เป็นเรื่องที่ยาก และถือเป็นความท้าทายสำหรับ ต้า-โชดก พิจารณ์จิตร ในการเข้ามาดูแลการจัดซื้อทั้งหมดของเซ็นทรัลโฮมกรุ๊ป หรือ CHG ที่ประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ วัสดุก่อสร้าง ภายใต้ชื่อ ไทวัสดุ, ยางรถยนต์ AUTO 1 และร้านเบ็ดเตล็ด go! WOW
จัดซื้อในความหมายของเขาครอบคลุมตั้งแต่ จัดหาสินค้า บริหารโครงสร้างกำไร ดูเรื่องยอดขาย รวมทั้งพัฒนาสินค้าให้กับทั้ง 3 ธุรกิจ
แม้จะเคยผ่านงานต่างๆ ในเครือมาไม่น้อย แต่ตัวโชดกเองก็ยอมรับว่ายาก เพราะเป็นเนื้องานที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน แถมลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ว่าที่นี่มีขายตั้งแต่โครงสร้างฐานรากจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและของตกแต่งบ้าน
โจทย์เหล่านี้ แม้ตัวผู้นำจะต้องเป็นคนเผชิญหน้า แต่ทีมงานก็ถือเป็นแกนกลางสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้
หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรง หน้าที่ และ ความรับผิดชอบ ที่มีการสื่อสารเป็นข้อต่อหลัก
“พอบริหารในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น การสื่อสารก็อาจจะมี Gap ได้ ผมว่ามันก็สำคัญมาก เราเองก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทีมงาน ให้เขาเชื่อถือในตัวเรา แล้วก็เชื่อมั่นในสิ่งที่วางแผนไว้ หรือเป้าหมายที่ตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ ผมว่าก็เป็นสิ่งที่ต้องพยายามร่วมกัน”
ในแง่ธุรกิจ แม้จะมีผู้เล่นในตลาดหลายราย และมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่โชดกมองว่า จุดเปลี่ยนอยู่ตรงที่ ใครหาจุดแข็งของตัวเองเจอ และพัฒนาจนเปลี่ยนจากผู้เล่น เป็นคนกำหนดเกมได้ก่อน
“Core Business คือ คุณเข้าใจ Fundamental หรือเปล่าว่า วันนี้คุณบริหารสินค้ายังไง ราคาแข่งขันได้ไหม มีโปรโมชันที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้หรือเปล่า การบริการเป็นยังไง พนักงานพูดคุยกันหน้าร้านยังไง”
ทุกอย่างล้วนเป็นการเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อมองหาช่องว่างของตลาด และโอกาสที่ซ่อนอยู่ในสนาม เพราะความเปลี่ยนแปลงมีอยู่เสมอ
“ก็โดนปลูกฝังมาตลอดนะครับว่า ต้องทำงานหนัก เรียนรู้อยู่เสมอ เพราะเราโดน Disrupt ได้ทุกเมื่อ ก็ต้องปรับตัว” เขายืนยัน
ถ้าลองให้เปรียบเทียบ เชอรี่-กิรัติ์สุดา จิราธิวัฒน์ ในฐานะคนกำหนดทิศทาง Terraces De Bangkok แบรนด์ร้านอาหารไทยในความดูแลของ Central Restaurant Group หรือ CRG เธอรู้สึกว่า บทบาทนี้ไม่ต่างจากกัปตันขับเครื่องบิน
วางแผน-ควบคุม-สนับสนุน เป็นสาระสำคัญของเก้าอี้ตัวที่นั่งอยู่ แน่นอนว่า ทีมที่ดีก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานบริหารจัดการด้วย
“หัวหน้างานไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าไม่มี Good Team แล้วเราก็ต้องพยายามที่จะเป็น Good Leader ด้วย”
Good Team, Good Leader, Good Listener
3 หลักสำคัญในการทำงานสำหรับตัวเธอ โดยเฉพาะการเป็น ‘ผู้ฟัง’ ที่ดี
“เราต้องให้โอกาสคน การที่เราเปิดใจ รับฟัง ทำให้เขาอยากที่จะนำความเห็นต่าง ๆ มาเล่าให้เราฟัง เพื่อให้เราปรับการดำเนินงานให้ดีที่สุด”
สำหรับ เชอรี่-กิรัติ์สุดา การดูแลร้านอาหารที่เปิดมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษอย่าง Terraces De Bangkok ไม่ใช่แค่การดูแลร้าน แต่เราต้องดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด้วย ซึ่งคนที่จะสะท้อนสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือ พนักงานหน้าร้าน
การรับฟังจึงไม่ใช่แค่เปิดโอกาสให้ตัวเองในฐานะหัวหน้า แต่ยังหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนทำงานได้ถ่ายทอดมุมมอง และวิธีคิด ซึ่งสุดท้ายทุกอย่างจะย้อนกลับไปสู่เป้าหมาย ก็คือ ลูกค้า
“การที่เรามี Brand Identity ที่ชัดเจน แล้วก็สามารถที่จะส่งต่อให้ลูกค้ารับรู้ ทั้งความจริงใจ และความสม่ำเสมอ ลูกค้าเขาจะเห็น แล้วมันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขากลับมาเรื่อย ๆ เพราะว่าเขา Appreciate ในสิ่งที่เรา Offer ค่ะ”
เชอรี่-กิรัติ์สุดา นิยามสไตล์การทำงานส่วนตัวว่า เป็นประเภท Work Hard, Play Harder ความเต็มที่เหล่านี้ เกิดจากการได้เห็น ได้สัมผัสมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวมาตั้งแต่เด็กๆ ความตั้งใจ และความคิดริเริ่มจึงกลายมาเป็นหลักยึดของเธอในการทำงานด้วย
“ธุรกิจแบบตลาดโลกมันกว้างมาก เรามองหาสิ่งใหม่ ๆ ได้ แล้วก็สร้างอะไรใหม่ ๆ ได้ เพื่อให้กลุ่มเซ็นทรัลเอง เติบโตมากขึ้น”
“เหมือนหนังเรื่อง Top Gun ค่ะ เขาบอกว่า It’s not the plane, it’s the pilot” เธอบอก
ถ้าไม่ใช่ นักผจญภัย ก็ต้องเป็นนักสำรวจ หรือไม่ก็ต้องเป็น นักรังสรรค์รสชาติ นี่คือสิ่งที่ ไบรอัน ฮิลล์ นิยามถึงความเป็นตัวเอง ในฐานะผู้บริหารของ ท็อปส์ ในตำแหน่ง Head of Direct Import & Tops Tongtin (Central Food Retail Group)
ที่เป็นแบบนั้นก็เพื่อทำให้ ท็อปส์ เป็นจุดหมายที่มีความหลากหลาย และน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ
โดยส่วนตัวเขาค่อนข้างรู้สึกพิเศษกับคำว่า ‘นักรังสรรค์รสชาติ’ เพราะนั่นหมายถึงการสร้างสรรค์ประสบการณ์ด้านอาหารชนิดถึงแก่น เพื่อความอิ่มเอิบใจในทุกสัมผัสของรสชาติ
นอกจากนั้น วัตถุดิบจากท้องถิ่นของคนไทย ก็ถือเป็นอีกความน่าตื่นเต้นของเขาที่ได้เข้ามาทำงานในส่วนนี้ เพราะนั่นแปลว่า มีโอกาสที่จะได้พบเจอกับความแปลกใหม่อยู่เสมอ
“ครอบครัวของเราหลายคนที่ได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้ได้รับการหล่อหลอมและสั่งสมประสบการณ์มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ความรู้ที่หลากหลายนี้ ช่วยให้เราได้นำข้อมูลเชิงลึกและทักษะต่างๆ กลับมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้อย่างดี” เขาบอก
แน่นอนว่า วิธีคิดดังกล่าวจะถูกนำมาต่อยอดเพื่อคืนแก่สังคม ผ่านโครงการอย่าง ท็อปส์ ท้องถิ่น คือเป็นการช่วยเหลือ SME ไทย ให้สามารถนำสินค้าของตัวเองเข้ามาขายในท็อปส์ เป็นการเพิ่มช่องทางการขายให้ SME ช่วยให้มีรายได้มากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI เข้ามาใช้ก็ช่วยเพิ่มศักยภาพ และเปิดทิศทางใหม่ๆ ของการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
“ผมก็รู้สึกสนใจที่จะคอยติดตามว่า AI จะพัฒนาและพาเราไปได้อีกไกลขนาดไหน”
ไม่ต่างจาก การเติบโตของท็อปส์ ไบรอันคาดหวังว่า จะสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ และการเป็นหมุดหมายที่น่าจดจำของผู้ใช้บริการ
อีกทั้งยังสามารถช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของไทย เพื่อการก้าวเดินและเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างแน่นอน ไบรอันย้ำพร้อมรอยยิ้ม
นอกจากการดำเนินธุรกิจแล้ว การคืนกลับสู่สังคม ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลกำลังทำ ทั้งจากโครงการ เซ็นทรัลทำ หรือ จริงใจมาร์เก็ต ที่นับว่าเป็นรูปธรรมของการคืนกลับเหล่านั้น
สำหรับ Artistic Director หรือผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะ อย่าง ปัญญ์ จิรกิติ รับหน้าที่ดูแลการสื่อสารงานศิลปะให้กับกลุ่มเซ็นทรัล ผ่าน จริงใจแกลเลอรี (Jing Jai Gallery) พื้นที่สนับสนุนงานศิลปะที่เชียงใหม่ กับ อาร์ตเซ็นเตอร์ deCentral ที่จะเปิดตัวในปี 2569
นอกจากความสนใจส่วนตัวแล้ว เขายังมองเห็นว่ากลุ่มบริษัทเอกชนในปัจจุบันเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับวงการศิลปะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนวงการหรือร่วมมือกับศิลปิน เรียกได้ว่าเป็นโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น และกำลังมาแรง
“เพราะกลุ่มเซ็นทรัลเป็นบริษัทของคนไทย การสนับสนุนศิลปินไทยผมถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผมเลยครับ"
"ผมคิดว่าการให้พื้นที่เพื่อให้ศิลปินไทยได้มาโชว์ผลงาน โชว์ศักยภาพ อย่างต่อเนื่อง มันจะทำให้ทั้งวงการเติบโตไปด้วยกันได้ครับ ทั้งตัวศิลปินเอง คิวเรเตอร์ คนผลิตงาน คนติดตั้งงาน คนจัดงาน คนวิเคราะห์งาน และคนที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีงานทำ มีรายได้ มีพื้นที่แสดงผลงาน สร้างโอกาสใหม่ๆ เข้ามา พอคนทำงานเติบโต วงการศิลปะไทยก็จะยิ่งเติบโตขึ้นไปอีก”
พื้นที่แบ่งปันความรู้โดยมีศิลปะเป็นตัวบ่มเพาะ เป็นจุดมุ่งหมายที่ปัญญ์คาดหวังให้เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้
“คือเราก็ทำ รีเทล อยู่แล้ว ผมคิดว่าสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลนะ เราก็ต้องสามารถทำให้คนเห็นว่า ศิลปะ เข้าถึงได้ ใครเข้ามาชมได้ มาซึมซับได้ ก็โชคดีเหมือนกันทางบอร์ดก็ค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ครับ”
จุดเชื่อมระหว่างสิ่งที่ชอบ ธุรกิจ และส่วนรวม กลายเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงานต่อไป ถือว่าเป็นสิ่งที่ที่ปัญญ์ค้นพบจากการทำงานด้วยเหมือนกัน
“รู้สึกเหมือนกับว่าผมได้ทำอะไรที่ชอบจริง ๆ ผมชอบทีมผม ก็อยากทำโปรเจกต์ไปเรื่อย ๆ คือผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูดนะ แต่ว่า The reward for good work is more work ใช่ไหมครับ” น้ำเสียง และแววตาของเขาสื่อความแบบนั้น
การเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุค ย่อมมีโอกาส และความท้าทาย ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับกลุ่มเซ็นทรัลเอง การวางคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กร ถือเป็นการเปิดพื้นที่ของความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ทั้งตัวธุรกิจออนไลน์ที่รอการเติบโต โอกาสทางการตลาดของลักชัวรีรีเทล การปรับปรุง Central Chidlom หรือ การขึ้น Central Embassy 2 แผนงานผลักดันเครือเซ็นทาราให้เข้าไปอยู่ใน ท็อปลิสต์โรงแรมของโลก นโยบายด้านความยั่งยืนที่ถูกนำมาปรับใช้กับรูปแบบธุรกิจในเครือ และแผนงานระยะยาวอีกหลายส่วน
ในฐานะทายาทรุ่น 4 ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญเพื่อร่วมขับเคลื่อนในอนาคตของกลุ่มเซ็นทรัลนั้น ‘ความร่วมมือ’ เพื่อการสร้างสรรค์ ‘โอกาสทางธุรกิจ’ ดูจะเป็นจุดร่วมเดียวกัน พอๆ กับ เรื่องของ ‘ความสามัคคี’ และ ‘ความเชื่อมั่นในครอบครัว’ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทของสังคม และเทคโนโลยี
ใต้ชายคาร่มไม้ใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่เติบโตมาตลอด 7 ทศวรรษ การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาดูแลธุรกิจของคนรุ่นต่าง ๆ ไม่เพียงเป็นการขับเคลื่อนองค์กรให้มั่นคง แต่ยังก่อร่างสร้างทางเดินก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ
นั่นคือ แบบฉบับการดำเนินธุรกิจของ จิราธิวัฒน์ ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น