ผีเสื้อและดอกไม้ : ภาพยนตร์อมตะอีกเรื่องของไทย และนัยจากซีนว่าด้วย “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงวัยเยาว์”

ผีเสื้อและดอกไม้ : ภาพยนตร์อมตะอีกเรื่องของไทย และนัยจากซีนว่าด้วย “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงวัยเยาว์”
ปี 2528 นับเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ของคนทำหนังไทย ที่ตลอดทั้งปีมีหนังมากมายเข้าฉายอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายอย่างเหลือเชื่อ จนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของหนังไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งการแข่งขันกันทำหนังคุณภาพของผู้กำกับชั้นครู ไม่ว่าจะเป็น “ครูสมศรี” ของ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, “รัตนาวดี” ของ รุจน์ รณภพ, “ข้างหลังภาพ” ของ เปี๊ยก โปสเตอร์, “เพลงสุดท้าย” ของ พิศาล อัครเศรณี, “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” ของ วิจิตร คุณาวุฒิ, เปิดโลกมหาสนุก ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ไปจนถึงการถือกำเนิดของนักทำหนังรุ่นใหม่อย่าง อังเคิ่ลและปื๊ด จากหนัง “ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย” ของค่ายใหม่ไฟแรงในยุคนั้นอย่าง ไท เอ็นเตอร์เทนเมนท์ แต่หนังที่ช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ปี 2528 นี้ให้เป็นหนึ่งในปีทองของหนังไทยนั่นคือ หนังเล็ก ๆ แต่อบอุ่นและยิ่งใหญ่ในใจคนไทยเสมอมา นั่นก็คือ “ผีเสื้อและดอกไม้” นั่นเอง จากหนังสือละเมียดละไม สู่หนังใหญ่ที่จริงใจและสมจริง ผีเสื้อและดอกไม้ จากปลายปากกาของ นิพพานฯ นามปากกาของ มกุฏ อรฤดี ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสตรีสารเมื่อปี 2518 ก่อนจะรวมเล่มในปี 2521 ในเวลาต่อมา ผีเสื้อและดอกไม้ คือวรรณกรรมเยาวชนที่เสนอความแตกต่างวรรณกรรมชวนฝันทั่วไป เนื่องจากสะท้อนภาพความจริงอันโหดร้ายผ่านสายตาของเด็กๆชาวมุสลิมในเขตชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีสายตามองโลกสวยงามและเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง และด้วยผลงานการเขียนที่ละเมียดละไม ถ่ายทอดความจริงในดินแดนที่หลายคนอาจไม่เคยเข้าถึง ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้กลายเป็นที่หมายตาของผู้สร้างหนังมากมาย หากแต่ในความสมจริงนั้นอาจจะเป็นข้อเสียของบริษัทสร้างหนังที่เกรงว่าหนังที่ไร้ซึ่งจุดขายนี้จะเป็นหนังที่ไม่มีคนดู และใน 7 ปีต่อมา ในที่สุดถ้อยความจากหน้ากระดาษก็แปรเปลี่ยนเป็นภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบภาพยนตร์ ได้สำเร็จ จากฝีไม้ลายมือของผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท ที่ร้อนแรงและเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากในยุคนั้น หลังจากที่ยุทธนาได้สร้างปรากฏการณ์ “น้ำพุ” จนกลายเป็นหนังเรื่องดังสนั่นโรงเมื่อปี 2527 ที่คว้าทั้งเงินและกล่อง แถมยังผลักดันให้ อำพล ลำพูน กลายเป็นไอคอนสำคัญแห่งยุคสมัย ผู้กำกับยุทธนาได้ไฟเขียวจากไฟว์สตาร์ให้สร้างหนังเรื่องต่อมาได้อย่างอิสรเสรีและไร้ซึ่งความกดดัน และวรรณกรรมผีเสื้อและดอกไม้ คือความท้าทายเรื่องต่อมาที่ยุทธนาทำนั่นเอง /***บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์***/ ความจริงอันโหดร้ายบนรถไฟสายปรารถนา ผีเสื้อและดอกไม้ เล่าเรื่องราวของ ฮูยัน (รับบทโดย สุริยา เยาว์สังข์) เด็กหนุ่มมุสลิมที่ครอบครัวอาศัยอยู่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้วยความอัตคัดขัดสนของพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกทั้ง 3 ทำให้ฮูยันที่เป็นพี่ชายคนโตต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการหยุดเรียนต่อไว้เพียงชั้นประถม เพื่อเปิดโอกาสให้น้องสาวและน้องชายได้รับช่วงเรียนต่อ แม้ว่าผลการเรียนของเขาจะดีสักแค่ไหนก็ตาม เพราะจนแต้มทางโอกาสและการศึกษา ฮูยันจึงเริ่มต้นด้วยการขายไอศครีมแท่งแลกค่าข้าวประทังชีวิตไปพลาง ๆ จนเขาได้รับการชักชวนจากมิมปี (วาสนา พลเยี่ยม) เพื่อนร่วมชั้นที่เลิกศึกษาต่อเพื่อมาเป็นแม่ค้าขายของที่ชายแดนเช่นกัน และระหว่างทางที่เขานั่งรถไฟไปนั้นเปิดโลกของฮูยันให้กว้างขึ้นกว่ารั้วโรงเรียน เมื่อเขาได้ทำความรู้จักกับอาชีพใหม่ที่แม้จะเสี่ยงและอันตราย นั่นคือการรับจ้างขนข้าวสารข้ามประเทศอย่างผิดกฏหมาย ต้องหลบหนีจากนายตรวจตั๋วด้วยภารกิจเสี่ยงตายบนหลังคารถไฟ แต่มันกลับเป็นใบเบิกทางเขาสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และผลตอบแทนที่รับนั้นทำให้เด็กหนุ่มพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อแลกกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากผลตอบรับเรื่องเงินแล้ว การได้ทำงานสุดเสี่ยงนี้ก็เป็นใบเบิกทางให้สู่โลกของความเป็นผู้ใหญ่ เขาได้รู้จักแก๊งนักเลง แลกกับการสูบบุหรี่อันแสนโก้ ได้ใส่เสื้อผ้าแฟชั่นนำสมัย ได้รู้จักความรักจากคนชิดใกล้ และได้ทำความรู้จักกับความตายที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมนั่นเอง ซีนหนึ่งในหนังที่สื่อได้อย่างดี คือซีนที่มิมปีและฮูยันที่เฝ้ารดน้ำดูแลแปลงดอกไม้เป็นอย่างดี กระทั่งฮูยันตัดมันเพื่อจะนำดอกไม้นี้ไปใส่แจกันให้กับครู ดอกไม้ที่เติบโตอยู่ในดินนั้นไม่ต่างกับเด็กน้อยที่เติบโตตามธรรมชาติและครรลองของมัน หากเมื่อถูกตัดกิ่งไปสภาพของดอกไม้ก็ไม่ต่างกับชีวิตของของตัวฮูยันเองที่ถูกตัดออกจากโอกาสทางการศึกษา แม้จะสวยงามอยู่บนแจกันแต่มันก็เหี่ยวเฉาได้ไวกว่ายืนต้นบนดิน โดยภาพเด็กหนุ่มที่โดนม่านหมอกแห่งความโหดร้ายจากการเป็นผู้ใหญ่ปกคลุมนั่นคือ นาฆา (โรม อิสรา) นักเลงเจ้าถิ่นที่เป็นทั้งศัตรูหัวใจของฮูยัน และเป็นภาพตัวแทนของเด็กหัวใจผู้ใหญ่ที่โดนความแร้นแค้นโบยตีจนไม่เหลือเค้าโครงของเด็กที่มีความฝันหรือความหวังหลงเหลืออยู่ นาฆาคือตัวเปรียบเทียบของเด็กหนุ่มมากมายที่ถูกความเป็นผู้ใหญ่เร่งสีเร่งวุ้นจนเติบโตในทางที่ผิด ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วนาฆาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรเลย แต่สังคมปากกัดตีนถีบที่คนแข็งแกร่งต้องเอาตัวรอดต่างหากที่หล่อหลอมให้นาฆากลายเป็นคนแบบนั้น แม้ตัวฮูยันจะสามารถใช้ความดีพิสูจน์จนนาฆาค้นพบความหวังและความฝันในตัวเอง…แต่ก็สายเกินไปแล้ว ถึงแม้ผีเสื้อและดอกไม้ จะนำเสนอภาพความสิ้นหวังของของกลุ่มเด็กที่ถูกริดรอนความฝันจากความยากจนข้นแค้น จนนำพาพวกเขาย่างก้าวสู่ทางเดินที่ผิดด้วยการลักลอบขนข้าวสารผิดกฏหมาย ซ้ำร้ายตัวฮูยันยังต้องเผชิญทั้งความรู้สึกผิดบาปเมื่อเขาตัดสินใจออกเดินทางนั่งรถไฟไปกับมิมปีโดยไม่บอกพ่อเขาจนนำพาไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด แต่ตัวของเขาก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝัน ดุจดอกดาวเรืองที่บานสะพรั่งยามรับแสงแดดที่เขาได้ปลูกมันในตอนเรียน ไปจนถึงการยึดมั่นและเชื่อมั่นในความดีของตนดุจต้นหูกวางที่เด่นตระหง่านพร้อมเป็นร่มเงาให้พักพิง ความโหดร้ายอาจจะเป็นเพียงบททดสอบจากเบื้องบน เพื่อทดลองใจให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งได้เรียนรู้ชีวิตและเลือกมันว่าจะยอมแปดเปื้อนไปกับความมืดหม่นของโลกอันโหดร้าย หรือจะเลือกยืนเด่นโดยท้าทายท่ามกลางแสงสว่างความความดี ความสมจริงที่ฟุ้งฝันบนความดีงามที่ไม่จางหายไปตามกาลเวลา หนังเรื่องนี้ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 2528 มีอายุอานามกว่า 37 ปีแล้ว แต่ความละเมียดละไมในการสร้างของยุทธนา มุกดาสนิท ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายในแบบแบกกล้องในรถไฟในยุคสมัยที่อุปกรณ์การถ่ายทำยังไม่ทันสมัยดังเช่นปัจจุบัน เพื่อสร้างภาพจำอันสมจริงในหนัง รวมไปถึงถ่ายทอดกลุ่มวัยรุ่นอยู่บนหลังคารถไฟ ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความสวยงามได้อย่างมีมนต์ขลังและทรงพลัง ขณะเดียวกันแม้ภาพหนังจะสมจริงอย่างไร แต่ยุทธนาก็เลือกถ่ายภาพฟุ้งฝันของฮูยันในยามที่เขาอยู่ร่วมเฟรมกับมิมปีด้วยฟิลเตอร์ซอฟต์เพื่อแสดงให้เห็นว่าความรักและความฝันนั้นช่วยกรองความโหดร้ายในโลกแห่งความจริงได้ แน่นอนว่าหนังที่ถึงพร้อมด้วยคุณภาพก็มักจะแลกด้วยมูลค่าการลงทุนที่มากเช่นกัน โดยคุณยุทธนาเคยให้สัมภาษณ์ในกรุงเทพธุรกิจ เซคชั่นจุดประกายว่า หนังเรื่องนี้ลงทุนถ่ายทำในสถานที่จริงทำให้งบการสร้างบานปลายถึง 25 ล้าน แม้หนังจะทำรายได้ใกล้เคียงกับงบสร้างแต่หากรวมงบประชาสัมพันธ์แล้วหนังเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นหนังที่ขาดทุนอยู่ดี แต่หากเปรียบคุณค่าของหนังเป็นคำชื่นชม ผีเสื้อและดอกไม้ คือบทพิสูจน์ถึงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งตอนช่วงหนังฉายที่กวาดรางวัลตุ๊กตาทองไปได้ถึง 7 สาขา รวมไปถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมด้วย รวมไปถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากการประกวดภาพยนตร์นานาชาติครั้งที่ 5 ปี ค.ศ. 1986 ณ รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา และรางวัลภาพยนตร์สร้างสรรค์สังคมดีเด่นที่จัดขึ้นโดยสมาคมสื่อมวลชนคาธอลิคแห่งประเทศไทย และเมื่อเวลาผ่านไป ผีเสื้อและดอกไม้หาได้โรยราไปตามกาลเวลา ยังคงชัดเจนในฐานะ 1 ในหนังไทยที่ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 1 โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้คัดเลือกภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่านี้ และเมื่อหนังได้ฉายใน Netflix ในโครงการ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา หนังยืนหยัดเจตนารมย์อันแสนบริสุทธิ์โดยยุคสมัยที่ผันผ่านไม่อาจต้านทานความงดงามของหนังเรื่องนี้ได้เลย แต่ถึงแม้เรื่องราวบนจอจะงดงามอย่างไร หากแต่ความจริงของพื้นที่ชายแดนภาคใต้กลับยังเต็มไปด้วยหมอกควันแห่งความรุนแรง ความสูญเสีย และความขัดแย้งที่ไม่มีวันลดราได้เลย รวมไปถึงปัญหาการศึกษาของเด็กที่ผ่านไปเนิ่นนานแต่ความยากจนยังคงบั่นทอนความฝันของเด็กผู้ยากไร้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หากฮูยันมีชีวิตจริง ณ ปัจจุบันเขาน่าจะย่างก้าวเข้าสู่วัย 50 เราได้แต่คาดหวังว่า ความฝันในวัยเยาว์ของเขายังไม่จากไปไหน และยังคงปูลกดอกไม้แห่งความรักนี้ให้ผลิบานในใจคนต่อไปเรื่อย ๆ ดังเช่น Caption สุดท้ายที่ปรากฏในหนังว่า… “แด่ทุกชีวิต ที่ใฝ่สร้างสรรค์ความดีงามตลอดไป” ภาพ : โปสเตอร์ภาพยนตร์ ผีเสื้อและดอกไม้