บัซ อัลดริน: ชีวิตจริงอันรกร้างของชายผู้เป็นแรงบันดาลใจให้สร้าง ‘สู่ความเวิ้งว้าง อันไกลโพ้น’ บัซ ไลท์เยียร์

บัซ อัลดริน: ชีวิตจริงอันรกร้างของชายผู้เป็นแรงบันดาลใจให้สร้าง ‘สู่ความเวิ้งว้าง อันไกลโพ้น’ บัซ ไลท์เยียร์
ถ้าประโยคเด็ดของตัวการ์ตูนที่คนทั้งโลกรักอย่าง ‘บัซ ไลท์เยียร์’ (Buzz Lightyear) คือ ‘สู่ความเวิ้งว้าง อันไกลโพ้น’ หรือ ‘To infinity and beyond!’ ที่เจ้าเพื่อนหุ่นยนต์ติดปีกมักพูดจนติดปาก วลีเด็ดของมนุษย์ที่มีตัวตนจริง ๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ ‘Toy Story’ ในการตั้งชื่อของบัซก็คือ ‘ความรกร้างที่งดงาม’ หรือ ‘magnificent desolation’   ความรกร้างที่งดงาม วลีที่ฟังดูเวิ้งว้างและมีมนตร์ขลังอย่าง ‘magnificent desolation’ กลายเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ในฐานะถ้อยคำแรกจากปากของ ‘บัซ อัลดริน’ (Buzz Aldrin) มนุษย์อวกาศที่ก้าวเท้าเหยียบดวงจันทร์เป็นคนที่สอง ถัดจาก ‘นีล อาร์มสตรอง’ (Neil Armstrong) ผู้โด่งดัง “ถ้าผมต้องเป็นคนแรกที่จะเหยียบดวงจันทร์อย่างนีล ผมก็คงตระเตรียมคำพูดมาอย่างดี เหมือนที่เขาได้พูดออกไป” 16 กรกฎาคม 1969 ท่ามกลางการเฝ้ารออย่างมีความหวังของผู้คนบนโลก คำแรกจากปากนีล อาร์มสตรอง ชายที่ก้าวสองเท้าของเขาลงเหยียบดวงจันทร์และประดับธงแห่งหมุดหมายใหม่ของมวลมนุษยชาติเป็นคนแรก กล่าวอย่างภาคภูมิว่า “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” แต่บัซ อัลดรินไม่ใช่คนแรก เขาไม่ได้เตรียมประโยคเด็ดไว้สำหรับสื่อสารให้ชาวโลกร่วม 530 ล้านคนที่กำลังรับชมการถ่ายทอดสดได้ฟัง ถ้อยคำจากปากเขาจึงเป็นความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากใจและความตื้นตันส่วนตัว โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ในภายหลังถึงที่มาของวลี ‘ความรกร้างที่งดงาม’ ว่า “ผมตื้นตันถึงความสำเร็จอัน ‘งดงาม’ ของมนุษย์ - เราโหยหาดวงจันทร์ตลอดมา และวันนี้เราก็ทำมันได้จริง ๆ “แต่เมื่อผมมองไปรอบ ๆ ความรู้สึกจากดวงจันทร์ที่เราเฝ้าฝันนั้นไร้ออกซิเจน ไร้ชีวิต มีเพียงพื้นผิวขรุขระที่ ‘รกร้าง’ อย่างนั้นมานับพัน ๆ ปี ความเปลี่ยวดายของจันทร์ทั้งดวงนั้นมากกว่าสถานที่ใด ๆ บนโลกที่ผมเคยสัมผัส”   ก่อนสองเท้าแตะดวงจันทร์ เช่นเดียวกับความรู้สึกของเขาที่มีต่อดวงจันทร์ ชีวิตจริงของชายที่ประสบความสำเร็จในห้วงอวกาศอย่างงดงาม หลังจากกลับสู่พื้นโลกอีกครั้งนั้นกลับรกร้างจนยากจะบรรยาย แม้ว่าชีวิตในช่วงต้นของเขาจะดูเรียบง่ายไร้กรวดทราย หากบั้นปลายของบัซกลับเต็มไปด้วยอุปสรรคเช่นเดียวกับระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ มอนต์แคลร์ นิวเจอร์ซีย์ ปี 1930 เด็กชายบัซ อัลดริน หรือชื่อเดิม เอ็ดวิน ยูจีน อัลดริน จูเนียร์ (Edwin Eugene Aldrin, Jr.) เป็นลูกชายของทหารอากาศยศพันเอก เด็กชายมีพี่สาวสองคน พี่สาวคนเล็กที่อายุห่างกับเขาเพียงขวบเศษ ๆ มักจะเรียกเขาว่า ‘บัซเซอร์’ (buzzer) เพราะออกเสียงแปร่งมาจากคำว่า ‘บราเธอร์’ (brother) มาตั้งแต่เขายังเล็ก เรียกได้ว่าชื่อ ‘บัซ’ เข้ามาในชีวิตเด็กชาย (ก่อนที่มันจะกลายเป็นชื่อจริงของเขาในปี 1988) พร้อม ๆ กับความสนใจในอวกาศและการบินที่มีพ่อเป็นคนสนับสนุน บัซเป็นคนหัวดีและมีระเบียบวินัยมาตั้งแต่เด็ก หลังจากจบชั้นมัธยมฯ ในโรงเรียนประจำเมือง เขาเข้าเรียนต่อที่สถาบันทหารสหรัฐฯ และคว้าใบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกลมาครอบครองได้สำเร็จ ปี 1951 บัซ อัลดรินเข้าร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ และกลายเป็นพลทหารอากาศที่เข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี หลังสงครามยุติบัซกลับบ้านเพื่อเรียนต่อ ความหัวไวของบัซทำให้เขาคว้าปริญญาเอกสาขาการบินและอวกาศมาครอบครองเมื่อปี 1963 และปริญญาบัตรใบนั้นเองที่เบิกทางให้บัซก้าวเข้าใกล้อาชีพ ‘นักบินอวกาศ’ ที่เขาใฝ่ฝัน แม้ว่าจะต้องยื่นใบสมัครถึงสองครั้งกว่าที่ NASA จะอ้าแขนต้อนรับเขา เรียกได้ว่าบัซเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลกที่มีวุฒิปริญญาเอกติดตัว   รูปถ่าย ชื่อเสียง และความตาย ก่อนที่บัซจะเข้าร่วมภารกิจคว้าจันทร์กับยาน Apollo 11 การทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศครั้งแรกของบัซเกิดขึ้นเมื่อปี 1966 พร้อมด้วยภารกิจสุดท้ายของยาน Gemini 12 ในช่วงเวลานั้นเองที่บัซได้ทำสองสิ่งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ หนึ่งคือเขาลอยคว้างกลางหมู่ดาวได้นานถึง 5 ชั่วโมง นานที่สุดเท่าที่เหล่านักบินใด ๆ เคยทำมา สองคือเขาคือคนแรกที่กดถ่ายรูปตัวเอง หรือ ‘เซลฟี่’ จากอวกาศ หลังสองเท้าของชายที่ถ่ายรูปตัวเองแตะผิวโลกอีกครั้ง ชื่อของ ‘บัซ อัลดริน’ ก็โด่งดังจนไปไหนใครก็รู้จัก เรื่องเศร้าของเขาเริ่มขึ้นนับจากนี้ เมื่อชายหนุ่มโอบรับชื่อเสียงเอาไว้ได้ทัน แต่แม่ของเขากลับไม่ทันได้เตรียมใจที่จะรับมือมัน หลังจากนั้นไม่นาน แมเรียน มูน (Marion Moon) แม่ของบัซเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองลงเพราะความเครียดเข้าครอบงำ เริ่มด้วยการตายของแม่ และประดังด้วยนานาปัญหา บัซ อัลดรินเคยเขียนเล่าเรื่องราวว่าด้วยอาการติดเหล้าและโรคซึมเศร้าของตัวเองเอาไว้ในหนังสือชื่อ ‘Return to Earth’ (1973) และ ‘Magnificent Desolation: The Long Journey Home from the Moon’ (2009)   กลับสู่โลกและชีวิตที่รกร้าง “หลังกลับจากดวงจันทร์ ผมกลายเป็นคนดังและฮีโร่ มีขบวนพาเหรดและพิธีต้อนรับเราอย่างยิ่งใหญ่ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมกำลังมองหา ผมกับพี่สาวคุยกันว่าสาเหตุหลักที่แม่จบชีวิตตัวเองนั้นมาจากกรรมพันธุ์ในครอบครัวเรา ตาของผมฆ่าตัวตาย เช่นเดียวกับลูกสาวของลุงของผม มันคงเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ทำให้ผมเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้นเรื่อย ๆ” พ่วงด้วยการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายของผู้เป็นพ่อ บัซ อัลดรินลาออกจาก NASA และกลายเป็นคนติดแอลกอฮอล์ อาการซึมเศร้าทำให้บางวันเขาเอาแต่นอนแกร่วอยู่บนเตียงและดื่มหัวราน้ำ และทำให้ชีวิตคู่ของตัวเองกับภรรยาคนแรกตกอยู่ในภาวะวิกฤตด้วยการนอกใจ บัซแต่งงานสามครั้งและหย่าสองหน พ่วงด้วยการพยายามเอาชนะอาการติดเหล้าแต่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีก บัซเปลี่ยนงานบ่อยครั้งและมักลงท้ายด้วยการคว้าน้ำเหลว แม้แต่คราวที่เขาได้รับความช่วยเหลือให้ได้ทำงานเป็นพนักงานขายรถคาดิลแลค ความซื่อตรงไร้เล่ห์เหลี่ยมของเขากลายเป็นอุปสรรค ทำให้บัซไม่สามารถขายรถได้จนสุดท้ายก็ต้องถอนตัวจากงานอีกครั้ง หนำซ้ำครั้งหนึ่งหลังเลิกรากับภรรยาคนที่สอง เขาเขียนเล่าวีรกรรมของตัวเองเอาไว้ว่า ในวันที่เขาเมามายจนไร้สติ เขาถึงกับบุกไปที่หน้าประตูของแฟนสาวและเอะอะโวยวายจนเธอแจ้งความให้ตำรวจจับเขาในฐานะผู้บุกรุก หลังจากความพยายามเอาชนะใจตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง ปี 1978 บัซ อัลดรินก็เลิกเหล้าได้สำเร็จ ชายผู้เหลวแหลกเรื่อยมาหลังกลับจากดวงจันทร์ค่อย ๆ กอบประคองเศษชีวิตของเขาและประกอบเข้าด้วยกันใหม่ ปัจจุบันเขาคือนักบินอวกาศคนสุดท้ายในภารกิจเหยียบดวงจันทร์ที่ยังมีลมหายใจ หลังจากการจากไปของนีล อาร์ม สตรอง เมื่อปี 2011 และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) เมื่อปี 2021   แรงบันดาลใจสู่บัซ ไลท์เยียร์ แม้ว่าทีมผู้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘Toy Story’ การ์ตูนโปรดของใครหลาย ๆ คน จะออกมาบอกว่า ที่เขาเลือกตั้งชื่อเจ้าของเล่นนักบินอวกาศสีขาว ม่วง เขียว เสียเท่เฟี้ยวว่า ‘บัซ ไลท์เยียร์’ ตามชื่อของ ‘บัซ อัลดริน’ จริง ๆ แต่เหตุผลจากทีมผู้สร้างนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า ชื่อชองบัซนั้น ‘เท่’ ที่สุดถ้านับจากชื่อสามนักบินก๊วนแรกบนดวงจันทร์ นอกจากนั้นรายได้จากความดังของเจ้าจิ๋วบัซปีแสงนั้นก็ไม่ได้ตกเข้ากระเป๋าบัซ อัลดริน แม้เพียงบาทเดียว จนทำให้ในช่วงแรกความสัมพันธ์ระหว่างบัซกับดิสนีย์นั้นอาจจะกร่อย ๆ ไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็คงเคลียร์กันได้ด้วยดี พิสูจน์จากการที่บัซ อัลดรินถึงกับเคยถือหุ่นบัซ ไลท์เยียร์ ขึ้นพูดสุนทรพจน์บนเวที NASA ที่รวมถึงประโยคฮิตติดปากของหุ่นบัซอย่าง “To infinity and beyond!” ด้วย หลักฐานของการญาติดีอีกชิ้นก็คือวิดีโอ ‘Buzz Coaches Buzz Lightyear for Shuttle Mission’ ที่บัซ อัลดรินเคยอัปโหลดไว้เมื่อปี 2010 คลิปสั้น ๆ 55 วินาทีที่บัซคนกำลังฝึกบัซหุ่นให้พร้อมสำหรับภารกิจ พร้อมด้วยคำกล่าวท้ายคลิปที่บ่งบอกได้ถึงอารมณ์ขันของนักบินอวกาศที่หลุดพ้นแล้วจากความรกร้างอันน่าเศร้าแห่งชีวิตคนนี้ได้เป็นอย่างดีว่า “เอาละเพื่อน! นายสอบผ่าน แต่อย่าลืมล่ะว่า ‘บัซ’ ตัวจริง คือฉันต่างหาก”    (Photo by NASA via Getty Images) ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Buzz-Aldrin https://www.nationalgeographic.com/science/article/160418-buzz-aldrin-ufo-apollo-crew-moon-mars-space-ngbooktalk https://celebrationspress.com/2017/09/11/ten-things-you-may-not-know-about-buzz-lightyear/ https://www.biography.com/news/buzz-aldrin-alcoholism-depression-moon-landing https://www.biography.com/astronaut/buzz-aldrin