สัมภาษณ์ ย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ กับ “เบิร์ดกะฮาร์ท”

สัมภาษณ์ ย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ กับ “เบิร์ดกะฮาร์ท”
“เบิร์ดกะฮาร์ท” เป็นศิลปินดูโอ (Duo) ที่อยู่ในวงการเพลงไทยมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี และอาจกล่าวได้ว่าเป็นวงดูโอเดียวในเมืองไทย ที่เรายังเห็นผลงานของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ผ่านความเป็นเพื่อนที่ทั้งสอง เบิร์ด - กุลพงศ์ บุนนาค และ ฮาร์ท - สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็น “มิตรภาพที่แท้จริง” ถึงแม้บทเพลงของพวกเขาจะปล่อยออกมาในยุค 80’s – 90’s แต่ว่ากันตามตรงปัจจุบันเราก็ยังคงได้ยินเสียงเพลงของพวกเขาอยู่ จากแฟนคลับที่เติบโตไปพร้อมๆ บทเพลง รู้ตัวอีกที “เบิร์ดกะฮาร์ท” ก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของแฟนเพลงไปแล้ว เร็วๆ นี้ “เบิร์ดกะฮาร์ท” กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งกับ “AUDI Thailand Presents Byrd & Heart High School , Class Reunion Concert” ในวันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ซึ่งพวกเขาบอกว่า “ครั้งนี้ไม่ใช่คอนเสิร์ตของเรา แต่เป็นคอนเสิร์ตรวมรุ่นของพวกคุณ และถือเป็นโอกาสดีที่เพื่อนกลุ่มต่างๆ ได้กลับมารวมตัวคิดถึงความหลังกันในคอนเสิร์ตนี้ให้รักกันยิ่งขึ้น คิดถึงกันยิ่งขึ้น เหมือนกับความเป็นเพื่อนที่ยาวนานของเราสองคน “เบิร์ดกะฮาร์ท” นั่นเอง” ก่อนที่คุณจะไปคอนเสิร์ตนี้ ลองนึกย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ ของตัวเอง และอ่านบทสัมภาษณ์นี้ไปพร้อมกัน   The People: คุณทั้งสองเกิดวันเดียวกัน เดือนเดียวกัน กระทั่งมีคนบอกว่าเป็นฝาแฝดกัน สุทธิพงศ์: ครั้งหนึ่งในอดีตชาติเราอาจเคยเป็นฝาแฝดกัน เรื่องนี้ต้องพิสูจน์กันต่อ แต่ใช่ครับ ชาตินี้ผมกับเบิร์ดเกิดวันเดียวกัน เดือนเดียวกัน แต่คนละปี คือวันที่ 27 พฤศจิกายน เบิร์ดเกิดปี พ.ศ 2506 ส่วนผม พ.ศ. 2507 กุลพงศ์: ส่วนมากเวลามีคนถามเรื่อง “เบิร์ดกะฮาร์ท” เกิดวันเดียวกัน ผมมักจะเล่าเรื่องเก่าๆ ซึ่งเคยมีน้องคนหนึ่งที่มีความสามารถมองเห็นอนาคตและย้อนรู้อดีต เขาดูดวงเราสองว่าเป็นฝาแฝดกันในอดีต แล้วเราเองก็เล่าสนุกๆ กันต่อมา ซึ่งมันเป็นเรื่องแรกสำหรับเพื่อนสนิท และยิ่งแปลกไปใหญ่สำหรับนักร้องสองคนในนาม “"เบิร์ดกะฮาร์ท” สุทธิพงศ์: น่าจะมีคู่เดียวในโลกด้วย สัมภาษณ์ ย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ กับ “เบิร์ดกะฮาร์ท” The People: ครั้งแรกที่รู้จักกันเป็นอย่างไรบ้าง สุทธิพงศ์: เรื่องเกิดขึ้นประมาณปลายซัมเมอร์ที่อเมริกา พ.ศ. 2526 ตอนนั้นผมกลับมาจากพักผ่อนหยุดยาวที่ไทย เพื่อไปเข้ามหาวิทยาลัยปีแรก ก่อนมหาวิทยาลัยจะเปิด ผมไปเจอเบิร์ดกับเพื่อนคนหนึ่งในแอล.เอ. เจอกันโดยคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งเพื่อนคนนี้มีจุดประสงค์ให้ผมกับเบิร์ดมาฟอร์มวงดนตรี เพื่อเล่นให้คนไทยฟังในแอลเอ กุลพงศ์: นั่นแหละครับ แล้วเรามาเจอกัน   The People: ทำไมถึงสนิทกันได้ขนาดนี้ กุลพงศ์: ตอนแรกๆ ไม่ได้สนิทอะไรมาก เราเป็นเด็กวัยรุ่นที่อยากเล่นดนตรีเหมือนกัน ความสนิทสนมสมัยนั้นก็ไม่ใช่สนิทแค่สองคน แต่เป็นความสนิทในกลุ่มเพื่อนทุกคน พอเรากลับมาเมืองไทยเพื่อนำเสนอผลงานในนามของวงดนตรี แต่โดยชะตาชีวิตในวันที่เพลงออกอากาศออกไป มันถูกถามว่าใครเป็นคนแต่งเพลง ซึ่งเราก็บอกไปว่า “เบิร์ดกะฮาร์ท” แต่งเพลง เขาถามว่าชื่อวงอะไร ก็พยายามบอกว่าเป็นชื่อวงนะ ตอนนั้นตั้งใจเป็นวงดนตรี ไม่ใช่ดูโอ สุทธิพงศ์: หลังจากที่ผมรู้จักกันพร้อมเพื่อนอีก 2 คนเราก็ซ้อมดนตรีกัน เบิร์ดเขาแต่งเพลง ผมก็แต่งบ้าง นี่ถ้าเบิร์ดไม่แต่งเพลง “เบิร์ดกะฮาร์ท” ก็คงเล่นเพลงคนอื่นไปตลอด กุลพงศ์: ที่ผมแต่งเพลงเพราะผมเล่นกีตาร์ไม่เก่ง แกะเพลงไม่เหมือน แต่ฮาร์ทเก่ง แกะเพลงเหมือนเด๊ะ ผมไม่รู้ทำอะไรก็แต่งเพลงเองดีกว่า สุทธิพงศ์: เบิร์ดเขาแต่งเพลงเก่ง ไพเราะ เพลงแรกที่เราได้ยินคือ “อาลัยเธอ” ก็เลยเกิดแรงฮึดว่า ‘ทำไมมันแต่งเพลงเพราะอย่างนี้’ ผมก็เลยไปแอบแต่งเพลงบ้าง คือ “ลืม” และก็มีเพลงภาษาอังกฤษชื่อ “Susan Joan” เราจึงกลายเป็นเพื่อนที่แข่งขันและบลัฟฟ์ (Bluff) กันอีกที จนกระทั่งเรามีเพลงจำนวนหนึ่งที่สามารถรวมกันเป็นเดโม แล้วนำไปเสนอบริษัทเพลงในเมืองไทย ตอนแรกเราไม่ได้คิดตั้งใจจะเป็นวง แต่จากอย่างหนึ่งไปยังอีกอย่างหนึ่ง “One Thing Leads to Another” จากวงก็กลายเป็นดูโอ กุลพงศ์: เพลง “ลืม” กับ “Susan Joan” เขาแต่งให้ผู้หญิงคนเดียวกันก็คือ ซูซาน โจน นี่แหละ ตอนนั้นอกหักเลยได้เพลงนี้ (หัวเราะ)   The People: ย้อนกลับไปวัยมัธยมฯ High School แต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง กุลพงศ์: ผมไปเรียนอเมริกาตั้งแต่ประถมด้วยซ้ำ ตอนนั้นเป็นกะเหรี่ยง (Karen) คนหนึ่ง มันก็เหมือนหนังไฮสคูลที่คุณดูในภาพยนตร์ มีกลุ่มนักกีฬา เชียร์ลีดเดอร์ ที่นักเรียนมองด้วยความอิจฉา มีกลุ่มเด็กเรียนหรือเล่นละครเวที ผมมีเพื่อนที่เรียนจูเนียร์ไฮด้วยกันมาชวนตั้งวงดนตรี ก็เลยหยิบกีตาร์ไปเล่นกับเขา สมัยนั้นจะมีการแสดงความสามารถหรือ Talent Show ผมก็ขึ้นไปเล่นกับเพื่อนสองคนเพลง “California Dreamin'” จากตรงนั้นกลายเป็นว่า มันเป็นจุดหักเห Turning Point เมื่อเชียร์ลีดเดอร์คนที่สวยมากๆ แบบเนื้อนมไข่มาชวนไปปาร์ตี้บ้านเขา ชีวิตผมก็เริ่มหันจากการเป็นกะเหรี่ยงคนเอเชียไปอยู่กลุ่มเด็กฝรั่งมากขึ้น สุทธิพงศ์: สำหรับเบิร์ดที่เป็นกะเหรี่ยงอยู่ฮอลลีวูดไฮมาหลายปี จนกระทั่งร้องเพลง จู่ๆ ก็มีเชียร์ลีดเดอร์ผมบลอนด์ตาสีฟ้า อวบ สวย เดินเข้ามาแล้วบอกว่า “Hey! Kulpong, would you like to come to my house? We have a party.” ไอคูลปอง (Kulpong – ชื่อภาษาอังกฤษของกุลพงศ์) ก็ลอยเลย (หัวเราะ) กุลพงศ์: ผมก็เลยเล่นดนตรีมากขึ้น แต่แปลกที่ว่า ปกติแล้วที่อเมริกาใครอยากเป็นนักดนตรีจริงๆ จะไม่เรียนเลย ผมมีเพื่อนหลายคนที่รู้แล้วว่าชีวิตนี้จะไม่เรียนปริญญาตรี จะเป็นนักดนตรี เขาก็จะไปเรียนให้แบบถูกต้องตามกฏหมาย แต่วันๆ ก็จะนั่งเล่นกีตาร์ในโรงเรียน แต่วงของผม ณ ตอนนั้นมีแต่เด็กเรียน พอเรียนก็เรียน พอมีเวลาว่างก็นั่งดนตรีกัน เหมือนในหนังฝรั่งประมาณหนึ่ง สุทธิพงศ์: สำหรับผม ผมจบประถมฯ 7 รุ่นสุดท้ายที่โรงเรียนเซนต์จอห์น แล้วก็ถูกส่งไปเรียนต่อที่อเมริกา ตอนนั้นเป็นเด็กเรียนประเภทเนิร์ด แต่ไม่ถึงกับใส่แว่น เรียนดี โดยเฉพาะวิชาเลข เพื่อนๆ ในไฮสคูลก็มองผมเป็นเด็กเรียนเก่ง เล่นเปียโนได้ มีแต่เพื่อนเนิร์ด กุลพงศ์: (หันไปหาสุทธิพงศ์) นายเคยมีแฟนที่ Chatsworth นิ สุทธิพงศ์: เคยชอบผู้หญิง แต่ไม่ถึงกับลึกซึ้ง แค่ชอบเขา เหมือนเราตามเขามากกว่า กุลพงศ์: แสดงว่าตอน Chatsworth นายไม่ได้มีแฟนใช่ไหม สุทธิพงศ์: เคยไปงานพรอมกับผู้หญิง ไปเดทกับผู้หญิง แต่ไม่มีอะไรลึกซึ้ง ไม่เหมือนแฟนอย่างที่เราเข้าใจในวันนี้ ไม่ได้ลึกซึ้งกอดจูบลูบคลำ ไม่ได้อย่างนั้น แต่เราชอบเขา กุลพงศ์: แสดงว่าตอนนั้นเราเหนือกว่านาย สุทธิพงศ์: เอ้อ แต่มึงได้แอ้มแล้ว เรียบร้อย กูเข้าใจนะ (หัวเราะ) สัมภาษณ์ ย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ กับ “เบิร์ดกะฮาร์ท” The People: หลังจากเจอกัน เรามีเคล็ดลับอะไรในการรักษามิตรภาพให้ยาวนานถึง 30 ปี สุทธิพงศ์: พูดยาก ผมมีเพื่อนหลายคนที่รู้จักก่อนเบิร์ดอีก แต่ไม่สนิทเท่ากับเบิร์ด กุลพงศ์: สำหรับผม มันเหมือนเป็นพี่น้องกันแล้ว สุทธิพงศ์: ไม่ใช่ญาติ แต่ยิ่งกว่าญาติ กุลพงศ์: ถามว่าอะไรเหรอ? ผมว่าเป็นเรื่องระหว่างทางที่เราเรียนรู้นิสัยกัน รู้จักกัน และก็อะลุ่มอล่วยกัน ในตอนต้นเราเคยชื่นชมกัน แข่งขันกันจีบสาว แข่งกันแต่งเพลง เหมือนมีดนตรีที่ดึงเราเข้าหากันเรื่อยๆ รวมไปถึงการเรียนรู้จุดบอด สมัยก่อนผมชอบดื่มเหล้า เกเร แต่ไม่ว่าผมจะเกเรขนาดไหน ฮาร์ทก็จะไม่ด่า อาจมีตักเตือนบ้าง ถ้าผมเอาไม่อยู่ เขาก็จะพยุงเรา ผมมักพูดอยู่หลายครั้งว่า ถ้าไม่มีฮาร์ท ผมคงไม่ได้ดิบไม่ได้ดี ไม่ได้มีสุข หรือไม่มีความสำเร็จเท่า ณ วันนี้ Thank you very much สุทธิพงศ์: (ยิ้มหัวเราะ) กุลพงศ์: เพราะฉะนั้นมิตรภาพคือการเรียนรู้ ช่วยเหลือกัน ชื่นชมกัน คนเราไม่ได้คบกันด้วยสิ่งดีๆ อย่างเดียว เราต้องเข้าใจในจุดบอดด้วย สุทธิพงศ์: รับได้ในข้อดีและข้อด้อยของกันและกัน เบิร์ดเขาช่วยเหลือผมหลายครั้งแล้ว เราก็ช่วยเหลือกัน วันก่อนเราไปออกรายการวิทยุเขาถามว่า “อยากขอบคุณใคร” ผมตอบ “อยากขอบคุณเบิร์ด” ชีวิตผมจะไม่ได้มาถึงจุดนี้ถ้าไม่ได้เจอเขา ถ้าไม่เจอเบิร์ด ป่านนี้ผมคงนั่งทำงานเป็นข้าราชการไปแล้วเพราะพ่อของผมเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และผมก็อาจเป็นอธิบดี ตอนที่เขาตรวจเรื่องข้าว ผมก็ไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะเป็นอย่างไร อาจจะอยู่นอกคุกหรือในคุกก็ได้ ขอบคุณนายมาก (หัวเราะ)   The People: ทำคอนเสิร์ตหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้ยังตื่นเต้นไหม กุลพงศ์: ครั้งนี้ตื่นเต้นที่สุดแล้วครับ สุทธิพงศ์: ตื่นเต้นว่าบัตรจะขายหมดไหม (หัวเราะ) กุลพงศ์: ครั้งที่ตื่นเต้นที่สุดในการเล่นคือครั้งแรก ถ้าจะบอกว่ามีความสนุก สุข ลุ้นและตื่นเต้นไปด้วย คือ 3 ปีก่อน “30 ปีเบิร์ดกะฮาร์ท” เราตื่นเต้นเสมอที่จะต้องทำอะไรแล้วจะได้เจอแฟนเพลง คอนเสิร์ตครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะผมรู้สึกว่า จากปี พ.ศ. 2558 มาถึงตอนนี้ เราได้เจอแฟนเพลงแต่ใน Facebook Live ถึงแม้ใน Live มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง แต่ก็ขาดไปอย่างหนึ่ง มันเป็นการโต้ตอบแค่ 1-1 แต่เราอยากให้คนได้ฟังเพลงเหล่านั้นในเครื่องเสียงที่สมบูรณ์ ในแสงสีเสียงที่สร้างบรรยากาศ เสียงประสานดีๆ  เป็นเพลงในแบบต้นฉบับได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และก็ต้องยอมรับว่า ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีน้อยโอกาสที่จะทำ 3 ปีก่อนเราจัดที่อิมแพค ปีนี้เล็กลงมาที่พารากอน ปลายชีวิตคงตามไปดู “เบิร์ดกะฮาร์ท” ได้ที่ร้านกาแฟ (หัวเราะ)   The People: คอนเซปต์คอนเสิร์ตคือ “It’s Not Our Concert. It’s Your Reunion. เราดึงความ Nostalgia อะไรมาใส่ในคอนเสิร์ตครั้งนี้บ้าง สุทธิพงศ์: เบิร์ดมีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือเวลา “เบิร์ดกะฮาร์ท” เล่นคอนเสิร์ตทีไร มันจะไม่ใช่คู่รักกระหนุงกระหนิงควงกันมา 2 คน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ เบิร์ดก็เลยคิดคอนเซปต์ว่า “ทำไมเราไม่จัดเป็นแบบรียูเนียน” เป็นการรวมพล พรรคพวกเพื่อนฝูงไปเลยในตัว กลายเป็น High School, Class Reunion ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ที่สยามพารากอน กุลพงศ์: ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เราแค่เห็นสังเกตตรงนั้นแล้วรู้สึกว่า หลายๆ ครั้งคนจะเข้ามาหา “เบิร์ดกะฮาร์ท” แล้วบอกว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาในวัยมัธยมฯ หรือวัยไฮสคูล วัยที่ยังมีการเรียนรู้ มีการเสียใจ อกหัก พบรัก เพราะฉะนั้นเราก็เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา แล้วเขาเองก็ผ่าน “เบิร์ดกะฮาร์ท” ไฮสคูลมาเหมือนกัน แล้วถ้าเราจะมีคลาสรียูเนียน คนส่วนมากคงไม่ได้ฟังแค่เพลง “เบิร์ดกะฮาร์ท หรอก” ก็จะฟังทั้งเพลงสากลและเพลงไทยในยุคนั้น ความตั้งใจครั้งนี้จึงเป็นการดูคอนเสิร์ตที่น่าจะได้บรรยายกาศเก่าๆ เรื่องราวเก่าๆ สถานที่เก่าๆ เพราะเพลงทำให้เรานึกถึงวันเวลาเหล่านั้น สัมภาษณ์ ย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ กับ “เบิร์ดกะฮาร์ท” The People: อะไรคือเสน่ห์เพลงเก่าที่เพลงปัจจุบันไม่มี สุทธิพงศ์: ในความเห็นของผม เพลงเหมือนไวน์ ถึงแม้ผมไม่ได้ดื่มไวน์แต่ทราบมาว่า ไวน์ยิ่งเก่ายิ่งมีค่า ยิ่งเก่ายิ่งรสดี ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ได้ยินเพลง “ฉันวันนี้” ของคุณธานินทร์ อินทรเทพ คืออยู่ ป.5 รู้สึกว่าเพลงนี้เช้ยเชย แต่พอมาฟังตอนอายุ 30 นะ โอ้โห ทำไมมันเพราะอย่างนี้ เพลงเดียวกัน แต่เราไม่เหมือนกัน เราไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเพลงยิ่งเก่า ยิ่งเพราะ เพราะด้วยคนนั้นๆ ที่อาจตกผลึกชีวิต และเพลงเหล่านั้นทำให้เขารู้สึกเหมือนสมัยที่เขายังเป็นเด็ก กุลพงศ์: เพลงสมัยก่อนในยุคที่ผมเติบโตยังมีความเรียบง่ายในแง่ดนตรี แล้วก็ให้อารมณ์ซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ ไม่ได้ซับซ้อน จังหวะมีประมาณหนึ่ง เนื้อเพลงพูดอะไรตรงๆ อาจจะมีความเปรียบเทียบบ้าง สุทธิพงศ์: เช่น... (เล่นเพลง เป็นไปไม่ได้-The Impossible) “ถ้าฉันมีสิบหน้าอย่างทศกัณฐ์ สิบหน้านั้นฉันจะหันมายิ้มให้เธอ สิบลิ้นสิบปากจะฝากคำพร่ำเพ้อ ว่ารักเธอรักเธอเป็นเสียงเดียว” กุลพงศ์: หรือเพลงสากล If ของ Bread (เล่นเพลง IF – Bread) If a picture paints a thousand words. Then why can't I paint you? The words will never show, the you I've come to know.” เนื้อเพลงเพราะมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าเพลงไทยหรือสากลในยุคนั้น เนื้อเพลงจะเปรียบเทียบจิตนาการถึงภาพให้เห็นชัดๆ ยิ่งเพลงไทยสมัยก่อนผมชอบนึกถึง เพลง “ขอให้เหมือนเดิม” - สุนทราภรณ์ สุทธิพงศ์: (เล่นเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” – สุนทราภรณ์)  “ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา แนบซบเนาเคล้าคลอพ้อพลอดภิรมย์ หวานล้ำบำเรอ เธอให้ชั้นดม (ชิดชม)” (หัวเราะ) กุลพงศ์: ในยุคที่สื่อยังไม่ได้เป็นสื่อที่อยู่ทุกที่ทุกทางแบบนี้ ทุกวันนี้มันไม่ต้องเอ่ยปากอธิบาย เพราะมันมีภาพหรืออะไรก็ตามให้เห็นมากมาย แต่นึกถึงสมัยก่อนที่ไม่ได้มีอะไรมากมาย คำพูดแต่ละคำที่ออกมาแล้วมีทำนอง มีเสียงเพลง ทำให้คนคนหนึ่งสามารถจินตนาการ นึกถึงสภาพความรู้สึกหรือสภาพแวดล้อมนั้นได้ สมัยนี้ถ่ายรูปหนึ่งทีก็เห็นแล้ว แต่สมัยก่อนมันต้องอธิบาย โดยเพลงหนึ่งเพลง ถ้าแต่มีทำนองก็อาจจะเพราะแต่ไม่มีความหมาย เนื้อเพลงดีๆ ถ้าไม่มีทำนองก็คงไม่มีความรู้สึก นั่นคือความแตกต่าง ถามว่าเพลงสมัยนี้มีไหม มี แต่สำหรับเพลงไทยสมัยนี้เป็นเพลงที่พูดตรงๆ โดยไม่มีสัมผัสมากมาย เป็นภาษาพูดมากกว่าเป็นภาษาที่สละสลวย เป็นคำกลอน สุทธิพงศ์: (ทำเสียงเพลง EDM) กุลพงศ์: นั่นแหละครับมันคือความแตกต่าง แต่ตอนนี้ลูกสาวของผมฟัง BLACKPINK หรือ GOT7 ยิ่งเพลงสากลปัจจุบันมันไม่มีจังหวะแบบ 4 Pieces Band มันเป็น… (ทำเสียงเพลง Hip-Hop R&B) ซึ่งมันไม่ได้ผิด แต่เป็นยุคสมัยนี้ที่ใช้จังหวะนำพาตรงนั้นมากกว่า สุทธิพงศ์: แต่ผมยอมรับว่า ผมตัดขาดกับเพลงยุคนี้ ผมจมกับเพลงยุคเก่า เหมือนมันหยุดแล้ว หยุดเสพ หยุดรับทราบสื่อ   The People: ไฮสคูลยุคนี้แตกต่างจากสมัยก่อนมากๆ เราจะสอนเด็กไฮสคูลยุคนี้อย่างไร ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อแบบนี้ สุทธิพงศ์: ในความต่าง ก็มีความเหมือนกันหลายๆ อย่าง ไฮสคูลเมื่อ 30 ปีก่อนตอนที่ผมอายุ 17 ผมก็เชื่อว่าเด็กอายุ 17 ปัจจุบันก็ยังมีความสนุกสนาน เริ่มเป็นผู้ใหญ่ มีแฟน เรียนรู้การปฏิบัติตัวให้เพศตรงข้ามหรือคนที่ชื่นชอบสนใจเขากลับ ในความแตกต่างก็มีความเหมือนกันอีกที เพียงแต่ว่ายุคนี้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทั้งภาพและเสียง มีอะไรที่ “เดี๋ยวนั้น” ได้เลย เช่น อยากฟังเพลงอะไรก็แค่เสิร์ชเข้าไปใน Google ไม่เหมือนสมัยก่อน เวลาผมอยากแกะเพลงสักเพลงต้องนั่งฟังวิทยุรอ  ภาวนาว่าเมื่อไหร่เพลงนั้นจะมา พอมาก็กดอัดทันที เทคโนโลยีทำให้ชีวิตมันเร็วขึ้น ง่ายขึ้น แต่ในความอยากรู้อยากเห็น อยากรู้อยากลองของวัยรุ่น ไม่ว่าสมัยไหน มีเหมือนกันหมด กุลพงศ์: ผมว่าฮาร์ทพูดถูกอย่างหนึ่งคือ วัยรุ่นก็คือวัยรุ่น ผมมีลูกสาว 3 คน อายุ 19, 16 และ 13 ปีตามลำดับ ผมเชื่อว่าเขาเองก็เหมือนที่ผมเป็นเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ ณ วันนี้พอเราสอนเขาควรไม่ควร ถูกหรือผิด เขาจะฟังแล้วหาข้อมูลของเขาเองมาเปรียบเทียบ เพราะมันมีสารพัดอย่างที่เขาจะไปค้นหาข้อมูลเอง ซึ่งมันทั้งถูกและไม่ถูก และผมจะบอกลูกเสมอว่า “don’t believe everything you read” อย่าคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้อ่านในหนังสือพิมพ์เป็นความจริงเพียงเพราะมันถูกพิมพ์เอาไว้ ณ สมัยนี้คนเล็กสุดผมต้องบอกไปอีกระดับหนึ่งว่า ทุกอย่างที่หนูเห็นและรู้ดีจาก YouTube หรือ Facebook มันไม่ได้เป็นความจริงเสมอ เราไม่สามารถควบคุมเขาได้ทุกจุด สอนได้แค่ว่า “คิดให้ดีๆ” แค่นี้   The People: อยากบอกอะไรกับแฟนคลับที่เหนียวแน่นมา 30 กว่าปีไหม สุทธิพงศ์: อยากจะฝากคอนเสิร์ตไปยังแฟนๆ ว่า วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้ “เบิร์ดกะฮาร์ท” พร้อมเพื่อนๆ วง “ฟรุตตี้”, “2 Days Ago Kids, มัม ลาโคนิคส์ และแขกรับเชิญพิเศษอีกมากมาย จะมาร้องเพลงกันที่สยามพารากอนในงานที่ชื่อว่า “AUDI Thailand Presents Byrd & Heart High School , Class Reunion Concert” กุลพงศ์: ช่วงหลังเวลาเราโพสต์อะไรลงใน Facebook ผมจะชอบอารมณ์แฟนคลับที่แทคเพื่อนกันเองแล้วถามคำถามเดียวว่า “ไปไหม” นั่นคือจุดเริ่มต้น ผมจึงอยากฝากว่า อย่ามุ่งประเด็นว่าจะไปดูคอนเสิร์ต “เบิร์ดกะฮาร์ท” แต่อยากให้เอาคอนเสิร์ต “เบิร์ดกะฮาร์ท” เป็นเหตุให้พวกคุณมาเจอกันดีกว่า ให้ทุกคนคิดในใจถึงเพื่อนที่ไม่เจอกันนาน นึกถึงสมัยก่อนที่ใช้เพลง “เบิร์ดกะฮาร์ท” จีบสาวหรืออกหัก อย่าคิดถึงผมเลย เอาเพลงมาคิดถึงกันเองดีกว่าครับ สัมภาษณ์ ย้อนวันหวานวัยมัธยมฯ กับ “เบิร์ดกะฮาร์ท”
“ผมว่าเป็นเรื่องระหว่างทางที่เราเรียนรู้นิสัยกัน รู้จักกัน และก็อะลุ่มอล่วยกัน ในตอนต้นเราเคยชื่นชมกัน แข่งขันกันจีบสาว แข่งกันแต่งเพลง เหมือนมีดนตรีที่ดึงเราเข้าหากันเรื่อยๆ รวมไปถึงการเรียนรู้จุดบอด เพราะฉะนั้นมิตรภาพคือการเรียนรู้ ช่วยเหลือกัน ชื่นชมกัน คนเราไม่ได้คบกันด้วยสิ่งดีๆ อย่างเดียว เราต้องเข้าใจในจุดบอดด้วย”  เบิร์ดกะฮาร์ท