ศิลปะกับศิลปิน ตัดสินงานศิลปะโดยตัดขาดจากศิลปินโดยสิ้นเชิงได้หรือ?

ศิลปะกับศิลปิน ตัดสินงานศิลปะโดยตัดขาดจากศิลปินโดยสิ้นเชิงได้หรือ?
"เรามักหาคำอธิบายงานชิ้นหนึ่งชิ้นใดจากชายหรือหญิงผู้สร้างงานนั้นขึ้นมา ราวกับว่าท้ายที่สุดแล้วสัญลักษณ์ทั้งหลายที่ออกจะกระจ่างชัดในงานประพันธ์เป็นเสียงของคนคนเดียว ผู้แต่งเป็นผู้เผยความลับให้กับเรา"  รอล็อง บาร์ต (Roland Bathes) เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งขึ้นมา เราควรจะประเมินงานนั้น ๆ อย่างไร? ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เรามักจะใช้วิธีการค้นหารากเหง้าความเป็นมาของผู้สร้างสรรค์งานนั้น ๆ เพื่อตีความว่า งานชิ้นนั้นผู้สร้างสรรค์มีเจตนาที่จะสื่อสารออกมาอย่างไรเป็นสำคัญ  แต่ในความเห็นของ รอล็อง บาร์ต ผู้เขียนบทความเรื่อง Death of the Author ได้เสนอมุมมองที่ต่างออกไปว่า งานทั้งหลายที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นนั้นไม่ได้เป็นงานของศิลปินคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะงานเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้จากบริบทแวดล้อมหลายประการ ผู้เขียนเป็นเพียงผู้เรียบเรียงสิ่งที่มีอยู่ก่อนไว้เข้าด้วยกันเท่านั้น ที่สำคัญอยู่ที่การตีความของคนอ่าน ไม่ใช่เจ้าของงาน  "ตัวบทหนึ่ง ๆ ประกอบขึ้นจากงานเขียนมากมาย จากหลายวัฒนธรรมนำมาผูกเข้าด้วยกันเป็นบทสนทนา เป็นการล้อเลียน เป็นการโต้แย้ง แต่ที่ที่ความหลากหลายเหล่านี้ถูกนำมารวมกัน มัดเข้าด้วยกัน ไม่ใช่ที่ตัวผู้เขียนอย่างที่กล่าวกันมาก่อน แต่เป็นที่ผู้อ่าน พื้นที่ที่ซึ่งแหล่งอ้างอิงทั้งหลายถูกบันทึกโดยไม่มีสิ่งใดสูญหายก็คือผู้อ่าน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของตัวบทไม่ได้อยู่ที่จุดกำเนิด หากอยู่ที่ปลายทาง"  Death of the Author จึงอาจตีความได้ว่า เมื่อผู้สร้างสรรค์ได้ผลิตงานขึ้นแล้ว การประเมินงานดังกล่าวควรจะตัดขาดจากตัวผู้สร้างสรรค์ หากเป็นหน้าที่ของผู้อ่านเอง  ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เสนอว่า การจะประเมินว่า งานชิ้นหนึ่ง ๆ ของศิลปินจะมีคุณค่าหรือไม่อย่างไร ควรจะดูที่คุณค่าในงานชิ้นนั้น ๆ โดยตัดขาดจากตัวผู้สร้าง ไม่ต้องสนใจว่าผู้สร้างสรรค์นั้นจะมีตัวตนอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไร และเคยก่อเรื่องดีหรือร้ายอย่างไรบ้างหรือไม่?   ยิ่งในยุคปัจจุบันมีศิลปินหลายคนที่ปรากฏในภายหลังว่า เขาเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา แต่ในอดีตนั้นเขาเคยสร้างผลงานอันเป็นที่ชื่นชมมากมาย เมื่อเป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่าเขาเป็นคนไม่ดี หรือมีแนวคิดที่ไม่น่าคบหา เราควรจะคว่ำบาตรพวกเขาหรือไม่? หรือ เราควรจะประเมินงานของเขาอย่างไร? จากตัวตนอันเลวร้าย หรือจากตัวผลงานของพวกเขาเหล่านั้นเอง? เมื่อคราวที่มีบทความชิ้นหนึ่งกล่าวถึงสุขภาวะของ “ผู้มีประจำเดือน” เพื่อให้หมายรวมคนทุกกลุ่มโดยไม่ขึ้นกับการแบ่งเพศเป็นสองขั้วแค่หญิงและชาย เจ.เค. โรว์ลิง ผู้เขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์ นิยายดังซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก ให้ความเห็นกับบทความชิ้นดังกล่าวว่า  "ผู้มีประจำเดือน ฉันว่ามันมีคำเฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้นะ ใครช่วยบอกฉันหน่อยสิ ผู้เหย็น? (Wuben) ผู้หยุน? (Wimpund) ผู้หยิม? (Woomud)" เมื่อได้เห็นดังนั้น ดาเนียล เรดคลิฟฟ์ นักแสดงผู้รับบทแฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกมาให้ความเห็นว่า "ผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง ถ้อยแถลงใดที่ผิดไปจากนี้ย่อมลบล้างอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของคนข้ามเพศ และขัดกับคำแนะนำของสมาคมวิชาชีพด้านสาธารณสุขซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ยิ่งกว่า โจ (โรว์ลิง) และผมมาก" (The Trevor Project) เรดคลิฟฟ์กล่าวอีกว่า "ถึงทุกคนที่รู้สึกว่า ประสบการณ์ของพวกเขาที่ได้จากหนังสือชุดนี้เสื่อมค่าหรือมัวหมองลงไป ผมต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความเจ็บปวดจากคำพูดเหล่านี้ ผมได้แต่หวังว่า คุณจะไม่เสียไปซึ่งคุณค่าอื่น ๆ ที่มีอยู่ในเรื่องนี้ ถ้าหนังสือเรื่องนี้สอนให้คุณรู้ว่า ความรักคือพลังที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาลสามารถเอาชนะสิ่งใดก็ได้ ถ้ามันสอนให้คุณรู้ว่า ความเข้มแข็งอยู่ที่ความหลากหลายและความเชื่อที่ว่า ความบริสุทธิ์นำไปสู่การกดขี่ผู้ด้อยโอกาส ถ้าคุณเชื่อว่า ตัวละครตัวหนึ่งเป็นคนข้ามเพศ คนไม่ขึ้นกับสองเพศ หรือมีความลื่นไหลทางเพศ หรือว่าเป็นเกย์ หรือไบเซ็กชวล ถ้าคุณพบสิ่งใดที่สอดคล้องกับตัวตนของคุณ และช่วยคุณไม่ว่าจะในช่วงเวลาใดของชีวิตแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องระหว่างหนังสือที่คุณอ่านกับตัวคุณเอง  ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทรงค่า และสำหรับผมใครก็แตะต้องไม่ได้" เห็นได้ชัดว่า แม้เรดคลิฟฟ์จะไม่เห็นด้วยกับโรว์ลิง แต่เขาก็เห็นว่า งานของโรว์ลิงยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่ดี และคนอ่านก็ไม่จำเป็นต้องเสียความรู้สึกกับความประทับใจที่ได้จากผลงานของโรว์ลิง ซึ่งตรงกับหลักการใน Death of the Author ทฤษฎีข้างต้นมีเหตุผลน่ารับฟัง แต่ในทางปฏิบัตินั้น งานของศิลปินไม่ได้ตัดขาดจากตัวศิลปินอย่างแท้จริง เพราะมันยังมีฐานะเป็น “สมบัติ” ของพวกเขา ตราบเท่าที่งานของพวกเขายังคงได้รับการชื่นชม ชื่อเสียงและรายได้ของพวกเขาก็ไม่ได้รับผลกระทบ และการสนับสนุนงานของพวกเขาก็ยังเป็นเหมือนการให้ท้ายกับสิ่งที่อาจขัดกับศีลธรรมหรือจริยธรรมของพวกเขาต่อไป  การสนับสนุนงานของศิลปินที่ละเมิดศีลธรรมซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงต่างจากการชื่นชมผลงานของศิลปินที่เสียชีวิตไปนานแล้ว และตัดขาดจากผลงานของพวกเขาอย่างแท้จริง การสนับสนุนงานของ โรมัน โปลันส์กี ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ชื่อดัง เจ้าของงานอย่าง Chinatown (1974) หรือ The Pianist (2002) แม้ว่างานของเขาจะดี แต่ก็ย่อมเกิดคำถามว่า มันจะเท่ากับเป็นการให้ท้าย ผู้ต้องหาหนีคดีข่มขืนเด็กอายุ 13 ปี หรือไม่? หรือการสนับสนุนผลงานของศิลปินที่สนับสนุนรัฐประหาร จะเป็นการสนับสนุนแนวคิดเผด็จการไปด้วยหรือเปล่า? หรือแม้กระทั่งศิลปินที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่งานของเขาที่เกิดขึ้นเป็นผลสะท้อนของการกระทำอันเสื่อมทรามทางศีลธรรมโดยตรง ก็มีคำถามได้ว่าการละเลยประวัติศาสตร์ในส่วนนั้นไปโดยสิ้นเชิงจะเป็นสิ่งที่สมควรหรือเปล่า?  เช่น ปาโบล ปิกาโซ ศิลปินสเปนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัจฉริยะนั้น เป็นคนที่เหยียดเพศและย่ำยีผู้หญิงที่เขาเรียกว่า “คนรัก” อย่างทารุณ แล้วสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงเหล่านั้นลงในภาพเขียนของตัวเอง ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ 2 รายตัดสินใจจบชีวิตของตนเอง อีก 2 คนมีปัญหาสุขภาพจิต  "เขาบังคับให้พวกเธอต้องยอมรับการสมสู่อย่างสัตว์ ทำให้เชื่องเหมือนสัตว์เลี้ยง ร่ายมนต์สะกด กลืนกิน และย่ำยีพวกเธอลงผืนภาพวาดของตัวเอง หลักจากใช้เวลาหลายคืนในการสะกัดเอาจิตวิญญาณของพวกเธอออกมาจนหมด เขาก็ทิ้งพวกเธอไป" มารีนา ปิกาโซ หลานสาวเล่าพฤติกรรมของปู่ (เธอเป็นลูกของ เปาโล ลูกชายที่เกิดกับ โอลกา โคโคลวา [Olga Khokhlova] นักบัลเลต์ชาวยูเครน ภรรยาคนแรกของปิกาโซ พี่ชายของเธอฆ่าตัวตาย หลังไม่ได้รับอนุญาตให้ร่วมงานศพของปิกาโซ)  "เพียงเพราะเราสามารถแยกศิลปะจากตัวศิลปิน ไม่ได้หมายความว่าเราควรทำเช่นนั้นเสมอ มันง่ายเกินไปสำหรับผู้ชายที่มีสถานภาพมั่นคงผู้เจริญก้าวหน้าด้วยการเสนอภาพของผู้หญิงที่จะปัดความรับผิดในการย่ำยีผู้หญิงไปแบบนั้น ถ้าโลกศิลปะอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมจริงก็จำเป็นที่จะต้องยอมรับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แม้ รอล็อง บาร์ต จะพูดถูกว่า ศิลปินไม่มีอำนาจเหนืองานของตนเอง เมื่องานนั้นถูกเผยแพร่ให้โลกรับรู้ และภาคสาธารณะอย่างภัณฑารักษ์ หรือนักวิจารณ์จะมีปากมีเสียง แต่ในขณะเดียวกันมันก็ขึ้นกับสถาบันต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้นำการเสนอเรื่องเล่าที่ปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องและคำนึงถึงประวัติศาสตร์ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามีความลื่นไหลผันแปรได้เสมอ" แชนนอน ลี (Shannon Lee) นักเขียนและศิลปินกล่าว (Artspace)