เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน

เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน
รถยนต์ที่พวกเราใช้เป็นพาหนะเดินทางกันทุกวันนี้ บางคันถูกผลิตขึ้นมาจากโรงงานภายในประเทศ บางคันก็เป็นรถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศแล้วนำเข้ามา แต่กระจกใส ๆ ของรถยนต์แทบทุกคันนั้น ประมาณ 1 ใน 4 เป็นกระจกที่ผลิตโดย ฝูเหยา กลาส อินดัสตรี กรุ๊ป ของอภิมหาเศรษฐีชาวจีน เฉา เต๋อหวัง ผู้ที่ล่าสุดได้ขยายอาณาจักรกระจกรถยนต์เข้าไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือเหล่าอเมริกันชนที่กำลังตกงานให้มีงานทำอีกครั้ง “มีคุณธรรม โปร่งใส เพื่อความโปร่งใส เราต้องผ่านความยากลำบาก ฝูเหยายืนหยัด ในโลกของความโปร่งใส ประเทศจีนเต็มไปด้วยฤดูใบไม้ผลิ และความสุขกระจายอยู่ทุกที่ ความปรารถนาดีจากฝูเหยา ล้วนมีความโปร่งใส” เพลงประจำบริษัทที่ขับร้องโดยพนักงานของฝูเหยา ณ สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเมืองฝูชิง มณฑลฝูเจี้ยน นี้ เหมือนเป็นการประกาศเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของ ‘ฝูเหยา’ ได้เป็นอย่างดี แต่ทำไมบริษัทจากแดนมังกร ถึงต้องข้ามทวีปไปสร้างงานให้กับคาวบอยตกงานกันด้วย “ผมมีความลับที่อยากจะแบ่งปันจากก้นบึ้งของหัวใจ ผมรักโอไฮโอ และรักโรงงานที่ผมมาลงทุนมหาศาลแห่งนี้” เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน สิ่งที่ประธานเฉา เต๋อหวัง ประธานกลุ่มฝูเหยา กลาส อินดัสตรี ได้กล่าวในวันเปิดโรงงาน ฝูเหยา กลาส อเมริกา ในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ซึ่งเดิมปี 2010 เคยเป็นโรงงานของ GM ที่ปิดตัวลง ทำให้คนท้องถิ่นมากกว่า 10,000 ชีวิต ไร้งานทำ จนกระทั่ง 4 ปีต่อมาที่ฝูเหยาได้มาเปิดโรงงานทำกระจกรถยนต์ขึ้นมาใหม่ ช่วยให้พนักงานกว่า 1,000 คน ได้กลับมามีงานทำอีกครั้ง รวมทั้งอาจมีการจ้างงานอีกหลายอัตราเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งท่านประธานยังได้ประกาศต่อหน้าพนักงานเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “ทุกครั้งที่ได้มาเยือนโรงงานแห่งนี้ ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมาย เราจะเห็นว่ายังมีที่ว่างสำหรับเตรียมติดตั้งเครื่องมืออื่น ๆ ที่จะมาถึงในอีกไม่ช้า ถ้าพวกเราทำได้ตรงตามเป้าช่วยให้ที่นี่ประสบความสำเร็จ โรงงานกระจกแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างของการดึงดูดทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในสหรัฐอเมริกาได้ดีที่สุด” เรื่องราวของทุนจีนที่ได้บุกเข้าไปตั้งโรงงานผลิตกระจกในสหรัฐอเมริกานั้น สามารถรับชมได้จากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘American Factory’ (โรงงานจีน ฝันอเมริกัน) ซึ่งตอนนี้ทาง Netflix ได้นำมาฉาย โดย American Factory ได้ผู้กำกับที่เป็นชาวเมืองเดย์ตันตัวจริง ที่เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่โรงงาน GM ปิดตัวลง เพื่อทำสารคดีเรื่องนี้ โดยทำงานร่วมกับ Higher Ground Productions สตูดิโอหนังของอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ได้เล่าตั้งแต่การเข้ามาตั้งโรงงานกระจกฝูเหยา อเมริกา คนงานมีการจับคู่คนอเมริกันทำงานคู่กับคนจีน คนจีนจะเป็นฝ่ายควบคุม ส่วนอเมริกันเป็นฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อทำตามสิ่งที่ประธานเฉาตั้งใจ และบอกอยู่ตลอดว่า จริง ๆ แล้วโรงงานนี้ยังเป็นบริษัทของอเมริกัน แต่ยังไงก็จำเป็นต้องทำให้ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างฝูเหยาในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่คนจีนเข้าไปลงทุน ซึ่งชาวเมืองเดย์ตันมองว่าอภิมหาเศรษฐีชาวจีนคนนี้ เหมือนอัศวินม้าขาวที่ยื่นมือเข้ามาช่วยให้พวกเขามีงานทำ บางคนถึงขนาดชวนท่านประธานไปปิ้งบาร์บีคิวกินที่บ้านเลยทีเดียว เฉา เต๋อหวัง (Cao Dewang, 曹德旺) เกิดเมื่อปี 1946 ซึ่งเหมือนอย่างชาวจีนร่วมชาติอีกหลายล้านคนที่ลืมตาดูโลกในช่วงหลังไฟจาก สงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศจีนเพิ่งสงบลง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเฉาในวัยเด็กค่อนข้างลำบาก หลังจบมัธยมต้น เฉาต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่อายุ 16 ปี รับจ้างทำทุกอย่างที่เรียกว่างานสุจริต ตั้งแต่ทำงานหนักในครัว ไปจนถึงรับจ้างซ่อมจักรยาน แต่สิ่งที่เด็กหนุ่มแซ่เฉาดูจะทำได้ดีที่สุดคือ การเป็นพ่อค้า เขาเริ่มต้นจากการขายยาสูบ ขายผักผลไม้ในตลาด จนกระทั่งอายุได้ 30 ปี เฉาก็ได้งานเป็นเซลล์ขายกระจกครอบฝามิเตอร์น้ำของโรงงานแห่งหนึ่งในมณฑลฝูเจี้ยน จนพอเริ่มมีเงินเก็บในปี 1983 เขาก็นำเงินไปซื้อโรงงานเล็ก ๆ ที่กำลังจะปิดตัวลงเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง ช่วงนั้นราคากระจกรถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างมีราคาแพง ตกแผ่นละประมาณ 2,000 หยวน การที่ต้องใช้ของแพงจากต่างชาติ ในขณะที่ประชาชนในประเทศยังคงยากจนอยู่นั้น กระตุ้นความรักชาติในตัวของเฉา เขาเลยตั้งเป้าว่า วันหนึ่งจะทำกระจกรถยนต์ขายให้ได้ เพื่อทำให้ประเทศจีนมีอุตสาหกรรมกระจกรถยนต์เป็นของตัวเอง เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน ปี 1987 เฉา เต๋อหวัง เริ่มต้นโรงงานกระจกรถยนต์ เพื่อผลิตกระจกรถยนต์ป้อนให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ทดแทนการนำเข้ากระจกจากประเทศญี่ปุ่น แล้วก่อตั้งโรงงานกระจกรถยนต์เหยาฮัวขึ้นมา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่ม ฝูเหยา กลาส อินดัสตรี (Fuyao Glass Industry Group Co. Ltd) ซึ่งได้เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ในปี 1993 และตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อ ปี 2015 ปัจจุบันกลุ่ม ฝูเหยา มีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 10,000 ชีวิต ผลิตกระจกรถยนต์ให้กับแบรนด์ชั้นนำมากมาย ทั้ง Bentley, Mercedes-Benz, BMW, Audi, GM, Toyota, Volkswagen, Ford, Chrysler, Nissan, Honda, Hyundai, Fiat, Volvo, Land Rover และ 2 ใน 3 ของรถยนต์สัญชาติจีนใช้กระจกรถยนต์ที่ผลิตโดยฝูเหยา ธุรกิจกระจกรถยนต์ของประธานเฉาได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศจีนที่เริ่มก้าวมามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดเขาทำให้ประเทศจีนสามารถมีอุตสาหกรรมกระจกเป็นของตัวเองได้สำเร็จ และเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงโลกของการผลิตกระจกรถยนต์ของประเทศจีนไปตลอดกาล โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกอยู่ที่ 25% ด้วยประสบการณ์ความยากลำบากในวันเด็ก ทำให้เฉามีมุมมองและแนวคิดในเรื่องการแบ่งปันโอกาส เขาเชื่อว่ายิ่งมีมากยิ่งต้องคืนกลับสู่สังคมให้มากเท่ากัน โดยมี แอนดรูว์ คาร์เนกี นักธุรกิจและมหาเศรษฐีใจบุญ เป็นต้นแบบ ทำให้เขาบริจาคเงินช่วยเหลือชุมชนและผู้คนที่กำลังรอคอยโอกาสความช่วยเหลือ จนถึงปัจจุบัน เฉา ได้บริจาคเงินไปแล้วมากกว่า 1.1 หมื่นล้านหยวน หรือร่วม 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสังคม ผู้ยากไร้ และเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน จนเขาได้ชื่อว่าเป็นอภิมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ซึ่งปี 2009 บริษัทเอินส์ทแอนด์ยัง ประกาศว่า เฉา เต๋อหวัง ได้รับรางวัลผู้ประกอบการดีเด่นของโลก เอาชนะผู้ประกอบการกว่า 43 รายทั่วโลก โดยมีพิธีมอบรางวัลที่ มอนติ คาร์โล รัฐโมนาโก เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน ในวัย 73 ปี อภิมหาเศรษฐีราชากระจกชาวจีน มีทรัพย์สินกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 6.4 หมื่นล้านบาท (ณ เดือนธันวาคม ปี 2019) ติดอันดับ 163 ของอภิมหาเศรษฐีจีน จากการจัดอันดับของ Forbes และเป็นคนรวยอันดับที่ 1,057 ของโลก ซึ่งงานอดิเรกที่เขาชื่นชอบคือการตีกอล์ฟและสะสมงานศิลปะ “วันนี้พวกเราชาวจีนเดินทางมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดโรงงานกระจก สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ว่า พวกเราจะทำเงินได้มากแค่ไหน แต่การที่พวกเราเข้ามาจะเปลี่ยนมุมมองที่ชาวอเมริกันมีต่อชาวจีนและประเทศจีนได้มากเท่าไหร่ ชาวจีนทุกคนควรทำเพื่อประเทศและผู้คนของพวกเรา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพวกคุณตรงนี้แล้ว” นอกจากการทำให้ผู้คนทั่วโลกหลุดพ้นจากความอดอยากแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ เฉา เต๋อหวัง ต้องการ อาจจะเป็นการประกาศให้โลกได้รู้จักชาวจีนมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ แม้ว่าการเข้ามาลงทุนโรงงานกระจกของประธานเฉาในสหรัฐอเมริกาจะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับอเมริกันชนหลายพันคน แต่ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทำให้โรงงานแห่งนี้มีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่เงินค่าจ้างที่ลดลง มาตรการป้องกันอุบัติเหตุ สวัสดิการในเรื่องการดูแลรักษาพนักงาน ที่สำคัญที่สุดคือการที่ฝูเหยาไม่อนุญาตให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน “พวกคุณก็รู้จุดยืนของเราดี ผมไม่อยากเห็นสหภาพที่นี่ หากมีสหภาพเกิดขึ้นมันจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานของบริษัท พวกสหภาพเอาแต่มายุ่งวุ่นวายกับกระบวนการผลิต ทำให้ค่อย ๆ สูญเงินโดยเปล่าประโยชน์ ถ้าสหภาพแรงงานเข้ามาล่ะก็ผมจะปิดโรงงานซะ” ประธานเฉาได้ประกาศกร้าวเอาไว้ “คนงานอเมริกันไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ผลผลิตที่ได้ก็ต่ำ ผมควบคุมเขาไม่ได้ เมื่อเราพยายามควบคุม พวกเขาก็ขู่จะขอความช่วยเหลือจากสหภาพ” นอกจากปัญหาเรื่องการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงาน โรงงานกระจกที่เป็นเหมือนเบ้าที่กำลังหลอมสองวัฒนธรรมที่แตกต่างเข้าด้วยกัน ก็มีปัญหาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่คนจีนมองว่า คนอเมริกันค่อนข้างทำงานช้า เนื่องจากโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่ โดยเฉพาะนิ้วมือ คนจีนเลยต้องสอนแล้วสอนอีก ประธานเฉา พยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้การเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน ด้วยการใช้หลักเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ทำให้ในปี 2018 บริษัทกระจกฝูเหยา อเมริกา ที่จ้างงานคนอเมริกันไปประมาณ 2,200 คน และจีน 200 คน เริ่มมีผลประกอบการเป็นบวก รวมถึงค่าจ้างเริ่มต้นยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 14 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับตอนที่เป็นโรงงานของ GM ที่ตอนนั้นแรงงานอเมริกันเคยได้ที่ 29 ดอลลาร์สหรัฐ เฉา เต๋อหวัง ราชากระจกชาวจีน ผู้ตั้งโรงงานในสหรัฐ เพื่อช่วยอเมริกันชนที่ตกงาน แต่สิ่งที่น่ากลัวคือในอนาคตอันใกล้ เมื่อหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลทันสมัยทำงานได้เร็วกว่า และได้มาตรฐานกว่าคน เริ่มเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ มีแนวโน้มว่าภายในปี 2030 แรงงานทั่วโลกกว่า 375 ล้านคนต้องหางานใหม่ทำ สร้างความขัดแย้งในจิตใจให้กับ เฉา เต๋อหวัง ที่เคยผ่านชีวิตที่ยากลำบากมาสมัยยังเป็นเด็ก เลยพยายามช่วยเหลือให้ผู้คนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นว่า เส้นทางที่เลือกขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้น เป็นหนทางสู่ความยั่งยืนที่แท้จริงหรือไม่ ซึ่งความลังเลนี้ได้สะท้อนมาในบทสัมภาษณ์จากหนังสารคดีเรื่อง American Factory “สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ประเทศจีนยากจนและด้อยพัฒนากว่านี้มาก แต่ตอนนั้นผมมีความสุขมากกว่าตอนนี้ ที่อยู่ในยุคสมัยใหม่ มีความเจริญรุ่งเรือง ผมรู้สึกสูญเสียอะไรไป ผมคิดถึงเสียงกบและแมลงสมัยเด็ก คิดถึงดอกไม้ป่าเบ่งบานในทุ่ง ในช่วงไม่กี่สิบปีให้หลังนี้ ผมได้สร้างโรงงานขึ้นมามากมาย ผมได้พรากความสงบสุขไป และทำลายสภาพแวดล้อมไหม ผมไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วตัวเองเป็นผู้ให้หรืออาชญากรกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามผมถามตัวเองเฉพาะแค่ตอนรู้สึกแย่ ๆ เพราะยังไงผมก็มีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน คุณไม่คิดแบบนั้นเหมือนกันเหรอ”   ที่มา : https://www.fuyaogroup.com https://www.mmthailand.com https://www.forbes.com https://www.nytimes.com https://www.forbes.com/profile