คาร์ล แอ็กเซล อาร์เรเนียส ราชาแห่งสนามรบผู้ค้นพบ rare earth elements แร่ธาตุหายากของโลก

คาร์ล แอ็กเซล อาร์เรเนียส ราชาแห่งสนามรบผู้ค้นพบ rare earth elements แร่ธาตุหายากของโลก
แร่ที่มีธาตุโลหะหายาก (rare earth element) หรือ แร่โลหะหายาก (rare earth metals) มักถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองสำคัญในสงครามเศรษฐกิจอยู่เสมอ ซึ่งแร่ธาตุหายากนี้ หากนำมาสกัดจะได้ธาตุหายากระดับ SSR วัตถุดิบตั้งต้นที่จำเป็นของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญ ๆ หลายอย่าง รวมไปถึงสมาร์ทโฟน โดยจีนเป็นผู้ที่ครอบครองปริมาณการผลิตแร่ธาตุหายากไว้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของโลก ซึ่งผู้ที่ค้นพบแร่ธาตุหายากนี้เป็นก้อนแรกไม่ใช่คนจีน แต่กลับเป็นราชาแห่งสนามรบชาวสวีเดน เขาคือ คาร์ล แอ็กเซล อาร์เรเนียส (Carl Axel Arrhenius) ที่เกิดในกรุงสต็อกโฮล์ม มีความกระหายใคร่รู้ในเรื่องแร่และเคมีวิทยาเป็นพิเศษ เขาได้ร่ำเรียนวิชาเคมีมาจากห้องทดลองของโรงกษาปณ์หลวง และได้ อ็องตวน ลาวัวซีเย (Antoine Lavoisier) ปรมาจารย์ด้านเคมีนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเคมีวิชาสมัยใหม่ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ระหว่างเดินทางไปศึกษาที่ปารีส คาร์ล อาร์เรเนียส นำความชำนาญด้านเคมีวิทยามารับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารปืนใหญ่ อาร์เรเนียสได้ร่วมรบในสงครามกับจักรวรรดิรัสเซียใน ค.ศ. 1788 โดยประจำการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ตั้งในแวกซ์โฮล์ม เกาะทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงสต็อกโฮล์ม จนได้ประดับยศพันโทในปี 1816 ทหารปืนใหญ่ หน่วยรบที่ได้ฉายาราชาแห่งสนามรบ จากอำนาจการยิงของปืนใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางสงคราม แต่หน้าที่สำคัญที่อาร์เรเนียสได้รับมอบหมายไม่ใช่การคำนวณวิถีปืนใหญ่ หากเป็นการผลิตดินปืนส่งป้อนกองทัพ ซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ระหว่างประจำการที่แวกซ์โฮล์มนี่เอง เขาได้ไปเยือนเหมืองผลิตเฟลด์สปาร์ในเมืองอิตเทอร์บี้ ที่นั่นเขาได้ค้นพบแร่สีดำ ซึ่งเขาให้ชื่อว่า อิตเทอร์ไบต์ (Ytterbite) ตามชื่อเมืองที่ค้นพบ ก่อนจะส่งต่อแร่ชนิดใหม่นี้ให้กับ โจฮัน กาโดลิน (Johan Gadolin) เพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสกัดแยกสารประกอบออกไซด์ออกจากแร่สีดำลึกลับนี้ได้สำเร็จ จนได้ธาตุหายากต่าง ๆ อีกหลายชนิด ต่อมาในปี 1800 แร่อิตเทอร์ไบต์ก็เป็น แร่กาโดลิไนต์ (Gadolinite) ปัจจุบันมีการนำสินแร่หายากมาผ่านกรรมวิธีสกัดจนพบกลุ่มธาตุเคมีหายาก 17 ชนิดในตารางธาตุ ทั้ง สแกนเดียม, อิตเทรียม, แลนทานัม, ซีเรียม, เพรซีโอดิเมียม, นีโอดิเมียม, โพรมีเทียม, ซาแมเรียม, ยูโรเพียม, กาโดลิเนียม, เทอร์เบียม, ดิสโพรเซียม, โฮลเมียม, เออร์เบียม, ทูเลียม, อิตเตอร์เบียม และ ลูทีเชียม ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบ สินแร่หายากนี้ ส่วนใหญ่จะค้นพบบริเวณเปลือกโลก โดยธาตุต่าง ๆ ที่อยู่ในสินแร่นั้นกระจัดกระจายไม่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อน ทำให้ยากต่อการขุดหา และมีต้นทุนในการสกัดที่สูง เหมือนการสุ่มกาชาปองที่ต้องเสียเงินหมุนเป็นร้อยครั้งกว่าจะได้ไอเทมซูเปอร์สเปเชียลแรร์สักชิ้นหนึ่ง ธาตุหายาก 17 ชนิดที่สกัดได้จากสินแร่หายาก มักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงมากมาย ทั้ง การใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการกลั่นน้ำมัน ใช้เป็นแม่เหล็กแรงสูงขนาดเล็กในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และมอเตอร์ไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มแรงบิดได้อย่างมหาศาล ใช้ในอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ ใช้ในอุตสาหกรรมจอภาพ ใช้ในการผลิตแบตเตอรี ใช้ทำกระจกกันรังสีไมโครเวฟ ใช้ในแท่งควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ การผลิตอาวุธสมัยใหม่แทบทุกชนิด ทั้งสมาร์ทบอมบ์ ขีปนาวุธ เครื่องยิงเลเซอร์ การค้นพบของ คาร์ล อาร์เรเนียส ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นักเคมีหลายคนออกไปค้นหาแร่ตามสถานที่ต่าง ๆ มาสกัดเพื่อแยกหาธาตุหายาก ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่มากมายมหาศาลนี้เอง ทำให้เขาได้เป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยวิทยาการสงครามแห่งสวีเดน ในปี 1799 และราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนในปี 1817 แต่น่าเสียดายที่ธาตุหายากทั้ง 17 ชนิด ไม่มีแม้แต่ชื่อเดียวที่ตั้งตามชื่อของ คาร์ล อาร์เรเนียส ชายคนแรกที่ค้นพบแร่ที่มีธาตุหายาก เพราะส่วนใหญ่ตั้งเป็นเกียรติให้กับผู้ที่สกัดแยกธาตุหายากออกจากแร่ที่มีธาตุหายาก และสถานที่ค้นพบแร่เหล่านั้น   ที่มา  https://www.britannica.com www.dpim.go.th