คาสเตอร์ เซเมนยา แชมป์โลกวิ่ง 800 เมตรหญิง ที่ถูกตัดสินว่าไม่ใช่ผู้หญิง 

คาสเตอร์ เซเมนยา แชมป์โลกวิ่ง 800 เมตรหญิง ที่ถูกตัดสินว่าไม่ใช่ผู้หญิง 
ความเป็นผู้หญิงวัดกันตรงไหน? ในทางชีววิทยาคงต้องวัดกันที่เพศสรีระ (ที่สำคัญคือเครื่องเพศ) หรืออาจต้องวัดกันไปถึงโครโมโซมว่าจะต้องเป็น XX เท่านั้น (ขณะที่ผู้ชายต้องเป็น XY) ผิดจากนี้ไม่ใช่ผู้หญิงในเชิงเพศสรีระ แต่ล่าสุด สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (IAAF) ออกมาชี้ว่า แค่คุณมีเครื่องเพศแบบผู้หญิงโดยกำเนิดยังไม่พอ คุณต้องมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตามกำหนดด้วย ไม่อย่างนั้นคุณก็ไม่มีสิทธิที่จะลงแข่งขันในฐานะ "ผู้หญิง" นั่นจึงทำให้ คาสเตอร์ เซเมนยา (Caster Semenya) นักวิ่งหญิงชาวแอฟริกาใต้ เจ้าของเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนสองสมัยซ้อน ทั้งที่ลอนดอนและริโอ จากรายการวิ่ง 800 เมตร หมดสิทธิที่จะลงแข่งเพื่อป้องกันแชมป์ที่กรุงโตเกียวในปี 2020  เซเมนยาเป็นหญิงเชื้อสายแอฟริกันที่ร่างกายใหญ่โตเต็มไปด้วยมัดกล้าม ทำให้เธอมีภาพลักษณ์ที่ต่างไปจากผู้หญิงในอุดมคติที่ถูกตอกย้ำว่าจะต้องมีรูปร่างที่เพรียวบางเหมือนอย่างนางงาม หรือนางแบบที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ และเธอยังเป็นเกย์หรือคนที่ชอบคู่ตรงข้ามที่มีเพศสรีระโดยกำเนิดแบบเดียวกัน (ในภาษาอังกฤษคำนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่มีเพศสรีระเป็นชายเท่านั้น ในผู้มีเพศสรีระเป็นหญิงก็เรียกว่าเกย์ได้เช่นกัน)  ความแตกต่างดังกล่าวจึงทำให้เซเมนยาถูกตั้งคำถามมานานนับสิบปีแล้วว่า เธอควรถือว่าเป็น "ผู้หญิง" จริง ๆ หรือไม่? จากข้อมูลของ Vox ข้อสงสัยเรื่องเพศสรีระที่แท้จริงของนักกีฬาหญิงมีมานานก่อนหน้ากรณีของเซเมนยา ซึ่งเหตุผลก็คล้าย ๆ กัน เนื่องจากนักกีฬาหญิงเหล่านี้มีลักษณะทางกายภาพที่ต่างจากผู้หญิงในอุดมคติ จึงถูกตั้งข้อสงสัยว่าเธอเหล่านั้นแท้จริงเป็นชายที่จงใจ "โกง" มาแข่งกับผู้หญิงหรือไม่? นักกีฬาหญิงรายแรก ๆ ที่ถูกจับตรวจ "เพศ" ก็คือ เอวา โคลบูคอฟส์กา (Ewa Klobukowska) นักกรีฑาโปแลนด์ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1964 ในรายการ 4x100 เมตร โดยวิธีการตรวจก็คือให้เธอแก้ผ้าแล้วให้คณะกรรมการมาดูเครื่องเพศของเธอ ซึ่งคณะกรรมการให้เธอผ่านมาได้ในการตรวจปี 1966  แต่ปีต่อมาเธอถูกจับตรวจเพศอีกครั้ง คราวนี้ทางคณะกรรมการของสมาคมกีฑานานาชาติหันมาใช้โครโมโซมเป็นมาตรฐานวัด ด้วยชุดความเชื่อที่ว่า ผู้ชายต้องมีโครโมโซม XY ส่วนผู้หญิงก็ต้องเป็น XX แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่มีพัฒนาการทางเพศสรีระที่แตกต่าง (differences of sexual development - DSD) ซึ่งไม่ได้มีแต่กะเทยแท้หรือผู้ที่มีเครื่องเพศของสองเพศโดยชัดเจนแต่กำเนิดเท่านั้น ยังมีกลุ่มคนที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองต่างจากคนอื่นอย่างไร และโคลบูคอฟส์กาก็ตกอยู่ในคนกลุ่มนี้ โคลบูคอฟส์กาผ่านการตรวจเครื่องเพศด้วยสายตามาได้ แต่เมื่อถูกตรวจโครโมโซม คณะกรรมการลงมติให้เธอไม่ผ่าน โดยให้ความเห็นว่าเธอมีชุดโครโมโซมที่มากกว่าคนทั่วไป (เชื่อกันว่าเธอมีโครโมโซมเพศแบบ XX/XXY - NCBI) เธอจึงถูกตัดสิทธิจากการแข่งขันและยังถูกยึดรางวัลคืน ก่อนที่เธอจะตั้งครรภ์ในปี 1968 และคลอดลูกชายอย่างปลอดภัย (The Independent) ทำให้สังคมเริ่มเห็นว่าเธอได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การตัดสินเพศจากการตรวจโครโมโซมจึงถูกตั้งคำถามมากขึ้น ก่อนที่จะยกเลิกไป ต่อมาในปี 2009 เซเมนยา นักวิ่งหญิงดาวรุ่งวัย 18 ปีจากแอฟริกาใต้ผู้มีรูปร่างใหญ่โตและมีเสียงทุ้มห้าว สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อเธอสามารถทำลายสถิติเดิมของตัวเองได้อย่างก้าวกระโดด (ดีขึ้น 25 วินาที ในรายการวิ่ง 1,500 เมตร และ 8 วินาที ในรายการ 800 เมตร) และสามารถคว้าแชมป์โลก 800 เมตรหญิงได้สำเร็จ   แต่ความสำเร็จของเธอถูกจ้องมองด้วยความสงสัย เนื่องจากรูปลักษณ์และผลงานที่โดดเด่นเกินผู้หญิงทั่วไป ทำให้เธอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้หญิงจริงหรือไม่? ทางสมาคมกรีฑานานาชาติจึงยื่นมือเข้าตรวจสอบโดยอ้างว่า โดยปกตินักกรีฑาที่สามารถพัฒนาสถิติได้อย่างก้าวกระโดดขนาดนั้นก็ต้องถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้สารต้องห้ามอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าที่พวกเขาเลือกตรวจเซเมนยา มิได้เป็นเพราะเชื้อชาติของเธอแต่อย่างใด (The Guardian เหตุการณ์คราวนั้นทำให้สมาคมฯ ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ก่อนที่พวกเขาจะคิดมาตรการใหม่ในการกำหนดความเป็นหญิงเป็นชายขึ้นมา นั่นก็คือปริมาณ "เทสโทสเตอโรน" ซึ่งทั่วไปก็มีในทั้งสองเพศ แต่จะมีในเพศชายมากกว่า โดยในปี 2011 ทางสมาคมฯ กำหนดว่า นักกรีฑาหญิงที่จะลงแข่งในฐานะผู้หญิงได้จะต้องมีปริมาณเทสโทสเตอโรนไม่เกิน 10 nmol/L (ปกติผู้หญิงทั่วไปมีเทสโทสเตอโรนราว 0.12-1.79 nmol/L ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ราว 7.7-29.4 nmol/L) แต่มาตรการดังกล่าวก็ถูกศาลอนุญาโตตุลาการกีฬานานาชาติสั่งยกเลิกไปในปี 2015 หลังมีนักวิ่งหญิงยื่นคำร้องว่า ข้ออ้างของสมาคมฯ ขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งทางศาลเห็นด้วย อย่างไรก็ดี สมาคมกรีฑานานาชาติยังไม่ยอมแพ้ ในปี 2018 พวกเขากลับมาอีกครั้งด้วย "งานวิจัย" ซึ่งยืนยันว่า นักกีฬาหญิงที่มีปริมาณเทสโทสเตอโรนสูง จะสามารถทำผลงานได้ดีกว่านักกีฬาหญิงทั่วไปในการแข่งขันบางประเภท แต่งานวิจัยดังกล่าวได้รับเงินทุนจากทางสมาคมฯ เอง และมีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่ตั้งข้อสงสัยในความน่าเชื่อถือทางข้อมูล  แต่สมาคมฯ ก็ไม่สนเสียงท้วงติง และได้กำหนดเพดานปริมาณเทสโทสเตอโรนในนักกรีฑาหญิงไว้ที่ไม่เกิน 5 nmol/L หรือน้อยกว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่ง เฉพาะในการแข่งขันประเภท 400 เมตร 800 เมตร และ 1,500 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เซเมนยาวิ่งทั้งนั้น ทำให้เธอถูกแบนจากการแข่งขัน เซเมนยาจึงยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาให้ยกเลิกคำสั่งของสมาคมฯ แต่คราวนี้เมื่อมีงานวิจัยรองรับแล้ว ศาลฯ จึงสั่งยกคำร้องของเธอ ทำให้เธอไม่อาจลงแข่งในรายการที่กำหนดได้อีก เว้นแต่เธอจะยอมกินยากดการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยศาลให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวแม้จะเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ก็เป็นกรณีที่จำเป็น สมเหตุสมผล และได้สัดส่วน (The New York Times) ขณะที่เซเมนยามองว่ามาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรมและจงใจเล่นงานเธอ (ด้วยความที่การกำหนดการตรวจฮอร์โมนมาเจาะจงเฉพาะรายการที่เธอลงแข่งประจำ) ทนายความของเธออ้างว่า ลักษณะเฉพาะทางพันธุกรรมของเซเมนยาควรได้รับการเชิดชูมากกว่าถูกจำกัด (เหมือนนักกีฬาชายที่โดดเด่นหลายคนก็เกิดมาโดยมีลักษณะเด่นที่ทำให้พวกเขาเป็นเลิศในชนิดกีฬานั้น ๆ เช่น ไมเคิล เฟลป์ส ที่มีลำตัวยาว เท้าใหญ่ ทำให้ว่ายน้ำได้ดี)  แต่เมื่อกฎออกมาแล้ว และศาลก็รับรองแล้ว เมื่อเซเมนยาปฏิเสธที่จะกินยาจำกัดฮอร์โมน ทางเลือกที่เหลือของเธอจึงมีไม่มากนัก คืออาจต้องลงแข่งในรายการที่ไม่ถูกจำกัดให้ตรวจฮอร์โมน คือถ้าไม่วิ่ง 200 เมตร ก็ 3,000 เมตรขึ้นไป หรือไม่ก็อาจต้องลงแข่งกับผู้ชาย