เบื้องหลังแท้จริงของคดีฆาตรกรรม 'แคทเธอรีน เจโนวีส' ที่มีพยานรู้เห็น 38 คน แต่กลับไม่มีผู้ช่วยเหลือ

เบื้องหลังแท้จริงของคดีฆาตรกรรม 'แคทเธอรีน  เจโนวีส' ที่มีพยานรู้เห็น 38 คน แต่กลับไม่มีผู้ช่วยเหลือ
“ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมทั้ง 38 คน ไม่มีใครโทรฯ หาตำรวจแม้แต่คนเดียว”  “หญิงสาวผู้ถูกฆาตกรรมโดยปราศจากความช่วยเหลือ”
  พาดหัวข่าวข้างต้นกำลังกล่าวถึงคดีฆาตกรรมเลื่องชื่อที่กลายเป็นอุทาหรณ์ให้ชาวอเมริกันและคนทั่วโลก ซึ่งเนื้อความในสื่อต่าง ๆ กล่าวถึงหญิงสาวที่ถูกฆ่าข่มขืน โดยมีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ถึง 38 คน แต่กลับไม่มีใครโทรฯ หาตำรวจแม้แต่คนเดียว เหตุการณ์นี้คล้ายจะสะท้อนภาพความเมินเฉยของคนเมืองในนิวยอร์กที่ไม่ไยดีต่อความเป็นความตายของหญิงสาว หากแต่เรื่องราวไม่ได้จบลงเช่นนั้น เมื่อมีผู้ศึกษาและสืบทราบว่าคดีดังกล่าวซ่อนเรื่องราวของแพะรับบาป การรายงานข่าวที่ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน รวมทั้งความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม  

แคทเธอรีน เจโนวีส กับโศกนาฏกรรมที่ถูกเพิกเฉย 

ศุกร์ที่ 13 มีนาคม ปี 1964 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ชายผู้สะกดรอยตามคว้าตัวหญิงสาวก่อนใช้มีดแทง เธอกรีดร้องดังลั่นด้วยความเจ็บปวด  โรเบิร์ต โมเซอร์ (Robert Mozer) เพื่อนบ้านคนหนึ่งของเธอ เปิดหน้าต่างมาตะโกนขู่ชายคนนั้น เขาผละออกจากเธอ ปล่อยให้หญิงสาวหอบร่างอาบเลือดหนีไป แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาที เขาหาจังหวะกลับมาทำร้ายเธอซ้ำสอง เสียงกรีดร้องดังขึ้นอีกครั้ง แต่กลับไร้สุ้มเสียงของผู้ช่วยเหลือ ด้วยความเข้าใจว่าน่าจะมีคนไปช่วยเธอแล้ว บ้างก็คิดว่าอาจเป็นเสียงจากการร่วมรักของคนในอพาร์ตเมนต์  เวลาผ่านไปใกล้รุ่งเช้า เสียงโหยไห้นั้นเงียบหาย ความมืดกำลังบอกลาท้องฟ้าพร้อมลมหายใจสุดท้ายของหญิงสาวที่นอนจมกองเลือด เธอถูกคนร้ายใช้มีดด้ามยาวแทงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนข่มขืน แล้วหนีไปอย่างไร้ร่องรอย หญิงสาวคนนี้ คือ ‘แคทเธอรีน  เจโนวีส’ (Catherine Genovese) หรือ ‘คิตตี้’ (Kitty) เหยื่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก  5 วันหลังจากนั้น ‘วินสตัน มอสลีย์’ (Winston Moseley) ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 29 ปี ถูกจับกุมข้อหาลักทรัพย์และคดีฆาตกรรม หลังสอบปากคำ มอสลีย์สารภาพว่าเขาคือผู้พรากชีวิตแคทเธอรีน  เจโนวีส และหญิงสาวอีกสองคนก่อนหน้า คือ แอนนี่ จอห์นสัน (Annie Johnson) และ บาร์บารา กราลิก (Barbara Kralik) 10 วันต่อมา หนังสือพิมพ์ The New York Times พาดหัวข่าวทำนองว่า “พยานรู้เห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมทั้ง 38 คน ไม่มีใครโทรฯ หาตำรวจแม้แต่คนเดียว” ส่วนคอลัมน์ในนิตยสาร Life พาดหัวบทความว่า “หญิงสาวผู้ถูกฆาตกรรมโดยปราศจากความช่วยเหลือ” เหตุการณ์ชวนหดหู่นี้สร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนและกลายเป็นกรณีศึกษาในหลายสาขาวิชาชีพ โดยเฉพาะนักจิตวิทยาที่ทำการทดลองและเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Bystander Effect หรือ Kitty Genovese syndrome กล่าวคือ  เมื่ออยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก มนุษย์มีแนวโน้มให้ความช่วยเหลือน้อยกว่าสถานการณ์ที่มีผู้เห็นเหตุการณ์เพียงไม่กี่คน และเหตุการณ์นี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ 911 เบอร์โทรศัพท์สายด่วนถึงตำรวจในนิวยอร์กอีกด้วย ส่วนทางฝั่งสื่อก็ได้เสนอข่าวนี้อย่างครึกโครม โดยเฉพาะประเด็น ‘คนเมือง’ ในนิวยอร์กที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ยินดียินร้ายต่อชีวิตของผู้อื่น โศกนาฏกรรมของคิตตี้จึงกลายเป็นอุทาหรณ์ของการเพิกเฉยและไม่ไยดีต่อความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ สำหรับผู้คนทั้งในนิวยอร์กและอีกหลายประเทศทั่วโลก เรื่องราวคล้ายจะจบลง เมื่อฆาตกรผู้โหดร้ายถูกจับกุม เขาพยายามยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวถึง 18 ครั้ง แต่ถูกศาลปฏิเสธจนกระทั่งเสียชีวิตในเรือนจำ เมื่อเดือนเมษายนปี 2016 เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องราวแสนหดหู่นี้ และคิดว่าความตายของมอสลีย์จะเป็น ‘บทเรียนหน้าสุดท้าย’ ของโศกนาฏกรรมของคิตตี้  หากความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น   พยานผู้ (ถูกกล่าวหาว่า) เมินเฉย เมื่อสื่อและผู้คนจำนวนมากหันความสนใจไปยัง ‘ความเพิกเฉย’ ของพยานทั้ง 38 คน จน ‘ละเลย’ ความจริงอีกด้านที่น่าสะเทือนใจไม่ต่างกัน  เคยสงสัยไหมว่าทำไมข่าวเพิ่งจะเผยแพร่ออกมา หลังจากผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ นั่นเป็นเพราะ 'เลข 38' ไม่ได้มาจากการลงพื้นที่ทำข่าวนี้โดยตรง แต่มาจาก ‘บทสนทนาบทโต๊ะอาหาร’  50 ปีหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ในปี 2014 เควิน คุก (Kevin Cook) ผู้เขียนหนังสือชื่อ Kitty Genovese: The Murder, the Bystanders, the Crime That Changed America ให้สัมภาษณ์กับ NPR องค์กรสื่อไม่แสวงผลกำไรว่า ที่มาของตัวเลข ‘38’ เกิดขึ้นเมื่ออับราฮัม โรเซนธาล (Abraham Rosenthal) บรรณาธิการของ The New York Times ไปรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับไมเคิล เจ เมอร์ฟี (Michael J. Murphy) ผู้บัญชาการตำรวจนิวยอร์ก  เมื่อโรเซนธาลเอ่ยถามถึง 2 คดีที่มอสลีย์เป็นฆาตกร โดยหนึ่งในนั้นเหมือนจะมีแพะรับบาป แต่ผู้บัญชาการตำรวจกลับเปลี่ยนเรื่องไปเล่าถึง ‘พยานผู้เมินเฉยทั้ง 38 คน’ แทน ซึ่งคุกคาดว่า ตัวเลข 38 มาจากการให้ข้อมูลของตำรวจส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนถึงหูผู้บังคับบัญชา ดังนั้นมีโอกาสที่ตัวเลขนี้จะคลาดเคลื่อนได้สูงมาก อีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่เควิน คุก ค้นพบคือ เด็กหนุ่มนามว่า ไมเคิล ฮอฟฟ์แมน (Michael Hoffman) เพื่อนบ้านของคิตตี้ ยืนยันว่าพ่อของเขาโทรฯ หาตำรวจจริง ๆ (สมัยก่อนยังไม่มี 911 แต่มีเบอร์โทรศัพท์กลางที่โอเปอเรเตอร์ต้องต่อสายไปยังโรงพัก) โดยพ่อของเขาบอกว่า “มีผู้หญิงกำลังถูกทำร้าย เธอเดินโซซัดโซเซอยู่ข้างนอกนั่น” หากปลายสายนั้นกลับไร้คำตอบ ทั้งยังไม่ได้บันทึกการโทรฯ ไว้ ทำให้ตำรวจไม่เชื่อคำให้การของพวกเขา เรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของ ซอล กัสซิน (Saul Kassin) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ในบทความ The Killing of Kitty Genovese: What Else Does This Case Tell Us? ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการเมื่อปี 2017 กัสซินได้พูดคุยกับน้องชายของคิตตี้ เขากล่าวว่า สิ่งที่รบกวนใจเขามากที่สุดคือการที่คนส่วนใหญ่มองว่าน้องสาวของเขาเป็น ‘หญิงสาวผู้ไม่มีใครไยดี’ และเมื่อได้พูดคุยกับชายที่ตะโกนไล่คนร้าย หญิงสาวที่ยืนกรานว่าเธอโทรศัพท์หาตำรวจแล้ว รวมทั้งเพื่อนของคิตตี้ ทำให้เขามองว่าเรื่องราวพยาน 38 คน เป็นเรื่องเล่าที่อาจจะไม่จริงก็เป็นได้ แม้ตัวเลขของเพื่อนบ้านทั้ง 38 คนยังเป็นข้อถกเถียงและปริศนาไร้คำตอบ แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่มีหลักฐานแน่ชัด คือ ห้าวันหลังจากมอสลีย์หนีคดี เขาเข้าไปขโมยของในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งคนที่โทรฯ แจ้งตำรวจและช่วยกันจับคนร้ายไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ‘เพื่อนบ้าน’ ของบ้านหลังที่กำลังถูกขโมยของนั้น และแน่นอนว่าความจริงแสนย้อนแย้งข้อนี้...แทบไม่มีคนพูดถึง   เบื้องหลังคดีความ คือเรื่องราวของแพะรับบาป นอกจากเรื่องของเพื่อนบ้านผู้ (ถูกกล่าวหาว่า) เมินเฉยแล้ว หากย้อนกลับไปที่คำสารภาพของมอสลีย์ เขากล่าวว่าเหยื่อไม่ได้มีแค่คิตตี้เท่านั้น แต่เขายังฆ่าหญิงสาวอีกสองคน ซึ่งรายละเอียดของสองคดีนี้เป็นสิ่งที่สื่อแทบจะไม่ได้นำเสนอ  และนี่คือเรื่องราวของพวกเธอ คดีของหญิงสาวคนแรก ‘แอนนี่ จอห์นสัน’ เกือบจะเงียบหายไปเพราะตำรวจยังไม่สามารถตามหาตัวคนร้ายได้  คดีของหญิงสาวคนที่สอง ‘บาร์บารา กราลิก’ เป็นคดีที่คนร้ายถูกจับกุมไปแล้ว แต่ไม่ใช่มอสลีย์ นั่นหมายความว่ามี ‘แพะรับบาป’ ในคดีนี้ จนกระทั่งมอสลีย์สารภาพพร้อมเล่าเหตุการณ์ที่ตรงกับรูปคดีทั้งหมด แพะรับบาปของคดีฆาตกรรมบาร์บารา กราลิก คือ อัลวิน มิตเชลล์ (Alvin Mitchell) เด็กหนุ่มวัย 18 ปีที่เป็นผู้ต้องหาและรับสารภาพข้อกล่าวหาทั้งหมด  เวลาผ่านไปกระทั่งมิถุนายน 2014 เมื่อซอล กัสซิน ต้องการคลายความสงสัยในเรื่องแพะรับบาป เขาจึงติดต่อขอสัมภาษณ์มิตเชลล์ในวัยเกษียณ มิตเชลล์เล่าว่า ภาพการเป็นแพะรับบาปในวัยหนุ่มยังคงตามหลอกหลอนเขาจนถึงทุกวันนี้  เพราะในตอนนั้นเขาถูกสอบสวนถึง 7 ครั้ง ใช้เวลามากกว่า 50 ชั่วโมง เจอทั้งคำข่มขู่ ข้อเสนอแนะ คำสัญญา การถูกตี การอดนอน และการอดอาหาร ทั้งยังถูกนำตัวไปยังอีกเขตหนึ่งเพื่อไม่ให้พ่อแม่ของเขาเข้าพบ จนเริ่มรู้สึกหมดหนทาง  เมื่อกัสซินถามว่าทำไมเขาจึงรับสารภาพ มิตเชลล์ตอบอย่างเรียบง่ายและตรงประเด็นว่า “ผมสารภาพ เพราะพวกเขาทำให้ผมรู้สึกกลัวตาย” ความทรงจำอันปวดร้าวของมิตเชลล์ยังคงสดใหม่ เขากล่าวกับกัสซินด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตารื้น เมื่อพูดถึงครอบครัวที่แตกแยกจากการเป็น ‘แพะรับบาป’ ในครั้งนั้น เพราะพวกเขาต้องขายบ้าน น้องสาวและน้องชายต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งความสัมพันธ์กับแฟนสาวที่หวังจะแต่งงานกันก็พังทลายไม่มีชิ้นดี  “เหมือนทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้” มิตเชลล์กล่าว ไม่เพียงมิตเชลล์เท่านั้นที่เป็น ‘เหยื่อ’ ของความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่มอสลีย์เองก็ถูกกล่าวหาเพิ่มมาอีก 2 คดี หากแต่เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีที่เพิ่มมานี้ และต่อมาจอร์จ วิทมอร์ (George Whitmore) ก็ถูกจับกุมในคดีดังกล่าวและถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปีก่อนจะพบว่าเขาเป็น ‘แพะรับบาป’ เช่นกัน จากนั้นตำรวจนำฆาตกรตัวจริงมาดำเนินคดี ส่วนวิทมอร์ได้รับเงินชดเชย 5 แสนดอลลาร์ แต่ไม่อาจเยียวยาสภาพจิตใจและ 3 ปีที่เสียไปของเขาได้ เรื่องราวทั้งหมดคือเบื้องหลังที่ข้องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญชาวอเมริกัน แต่สิ่งที่น่ากลัวไม่ต่างไปจากการเมินเฉยของ 38 คนที่ (ถูกกล่าวหา) ไม่ได้ช่วยเหลือคิตตี้ หรือฆาตกรผู้ลงมืออย่างโหดเหี้ยม คือการเมินเฉยและไม่รอบคอบของสื่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม จนทำให้คนธรรมดากลายเป็น ‘เหยื่อ’ อีกทั้งสร้างความทรงจำอันบาดลึกยากจะลบเลือนให้กับผู้คนเหล่านั้น ซึ่งไม่แน่ว่าโศกนาฏกรรมของคิตตี้ อาจไม่ใช่คดีสุดท้ายที่ให้บทเรียนแสนเจ็บปวดนี้ก็เป็นได้   ที่มา