CGM48 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่บอกเล่าชีวิตจริงของวงไอดอล

CGM48 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่บอกเล่าชีวิตจริงของวงไอดอล
เส้นทางเส้นนี้ล้อมรายด้วยต้นยาง 106 พาฉันเข้าไปเจอเมืองที่งามท่ามกลางหมอกสีจาง ๆ ผู้คน รอยยิ้ม มิตรไมตรีเต็มเปี่ยมในทุก ๆ วัน
กลุ่มเด็กสาวทั้ง 25 คน กำลังขับกล่อมเสียงสดใสในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘Chiang Mai 106’ พวกเธอสวมชุดเดรสผ้าซิ่นสีหวานที่ผสานกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นและวัฒนธรรมภาคเหนือได้อย่างลงตัว ส่วนฉากหลังกำลังฉายภาพสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เมื่อแต่งแต้มด้วยรอยยิ้มที่สดใสแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ชมอดยิ้มตามไม่ได้ และนึกอยากจะแพ็กกระเป๋าขึ้นไปแอ่วเหนือตามรอยพวกเธอบ้าง เด็กสาวทั้ง 25 คนนี้ คือสมาชิกวง ‘CGM48’ วงไอดอลจากเชียงใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2562 และเป็นวงน้องสาวของ BNK48 ซึ่งล่าสุดพวกเธอกำลังจะมีภาพยนตร์เรื่องแรก ‘ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง’ ผลงานการกำกับของ เป้-นฤบดี  เวชกรรม ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงของ CGM48 โดยไม่มีบท ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะพวกเธอไม่รู้ตัวว่ากำลังถ่ายทำตั้งแต่วันที่เธอลากกระเป๋าเข้ามาออดิชัน จนผ่านไป 1 ปี 3 เดือน  The People จึงได้นัดหมายพูดคุยกับ 6 สาว ออม เจเจ ปิ๊ง สิตา แองเจิ้ล และปีโป้ ตัวแทนจาก CGM48 และเปิ้ล-นาคร ศิลาชัยถึงเบื้องหลังทั้งในฐานะวงไอดอลน้องใหม่ และภาพยนตร์ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง ที่กำลังจะเข้าฉาย 18 มีนาคมนี้ CGM48 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่บอกเล่าชีวิตจริงของวงไอดอล The People: สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ CGM48 สิตา : สิ่งที่คนจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับ CGM48 ก็คือ เราคือ BNK48 (หัวเราะ) เราคือเชียงใหม่ 48 นะคะ แล้วก็อ้างอิงจากหนังทุกคนมักจะคิดว่าเราจะต้องสดใสแล้วก็น่ารัก แต่แน่นอนว่าต้องมี behind the scene ของความเป็นไอดอล เพราะว่าเราเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา ก็เลยคิดว่าความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ CGM48 หลาย ๆ อย่างน่าจะมีมากมาย ถ้าได้ดูหนังเรื่องนี้อาจจะเข้าใจมากขึ้นจริง ๆ ว่า CGM48 คืออะไร   The People: CGM48 ต่างจาก BNK48 อย่างไร ปิ๊ง : แค่ตำแหน่งที่ตั้งก็ต่างกันแล้ว พี่ ๆ BNK48 เขาจะประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนเราจะอยู่เชียงใหม่ เป็นภูมิภาคภาคเหนือ ดังนั้น เรื่องที่น่าจะแตกต่างที่สุดคือด้านวัฒนธรรม ซึ่งอันนี้หนูคิดว่ามันเป็นจุดเด่นแล้วก็เสน่ห์ที่ทำให้เราแตกต่างจากพี่ BNK48 ค่ะ    The People: นิยามของไอดอลคืออะไร เจเจ : นิยามคำว่าไอดอล จริง ๆ ถ้าเปรียบของ CGM48 มันจะเหมือนเป็นกลุ่มเด็กผู้หญิงที่จะค่อย ๆ แสดงการเติบโตและพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นเสน่ห์ของไอดอลเลย ก็คืออยากจะให้ทุกคนติดตามการพัฒนาของพวกเราไปเรื่อย ๆ แล้วด้วยตัว CGM48 เองที่เป็นวงเชียงใหม่ เราจะมีการ  represent ความเป็นล้านนา เพลงของเราบางทีเราก็จะร้องเป็นเพลงเหนือ มีแทรกดนตรีเข้าไปด้วย  The People: คิดว่าไอดอลต่างจากวงเกิร์ลกรุ๊ปอย่างไร ออม : สำหรับออม ออมคิดว่ามีความแตกต่างกัน เพราะว่าวงเกิร์ลกรุ๊ปส่วนใหญ่การที่จะเป็นเกิร์ลกรุ๊ปคือคนที่จะต้องมีความพร้อมทางด้านของการร้องและการเต้นมาอยู่แล้ว แต่การเป็นไอดอลคือเขาจะเห็นพัฒนาการของเราไปเรื่อย ๆ ทั้งการร้องและการเต้น เราอาจจะมายังไม่เก่งอะไรเลยสักอย่าง แล้วเราค่อยมาพัฒนาไปเรื่อย ๆ ในระหว่างทางให้เขาเห็นว่าน้องเก่งขึ้น เต้นเก่งขึ้น พัฒนาไปเรื่อย ๆ ตลอด นี่คือไอดอลค่ะ    The People: คนแบบไหนที่จะได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็นไอดอล ออม : อาจจะต้องเป็นตัวของตัวเองก่อน แต่ละคนแตกต่างกันอยู่แล้ว เราจะต้องเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง อันนี้ก็เป็นเสน่ห์ของเราที่กรรมการเขาจะเลือก แล้วก็ความตั้งใจของเรา แววตาของเราที่เราสื่อออกมา การเป็นไอดอลไม่ได้เป็นกันง่าย ๆ ด้วย ต้องมาฝึกหนักทั้งร้องทั้งเต้น เราไม่ได้เก่งมาเลยตั้งแต่แรก เราต้องมีความตั้งใจ มันต้องเห็นอยู่ตรงนั้นก่อน เราจึงจะเป็นไอดอลได้    The People: ตอนแรกกับตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะมากไหม สิตา : สิตาคิดว่าตอนก่อนที่จะมาเป็นไอดอลกับหลังเป็นไอดอลแล้ว ต้องฝึกการพูดขึ้นเยอะมาก ๆ เพราะว่าเราจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น แล้วก็ไหนจะเรื่องบุคลิกภาพแบบนั่งหลังตรง ต้องนั่งให้เรียบร้อย แล้วก็เรื่องของการจัดเวลาตารางชีวิตก็จะต้องจัดให้รอบคอบมากขึ้น เพราะว่าเรามีเวลาที่ต้องออกไปซ้อมแล้วต้องเรียนด้วย อันนี้ก็ต้องปรับกันเยอะขึ้น    The People: ภาพที่คิดไว้ตอนแรกกับภาพที่เห็นระหว่างหลังฝึกต่างกันไหม ปีโป้ : รู้สึกว่าการเป็นไอดอลไม่ได้สวยหรูอย่างที่ทุกคนคิด เขาก็จะคิดว่าเป็นไอดอลก็เต้นก็ร้อง แสดงความสดใส แจกความสุขให้แฟนคลับ แต่ว่าพอตั้งแต่เป็นมา เราเดบิวต์มาได้ 1 ปีแล้ว ก็รู้สึกว่ามันมีอุปสรรคหลาย ๆ อย่างมากมายที่มันเข้ามาเยอะมาก ไม่ใช่แค่การร้อง การเต้น การแสดง มันมีเรื่องการทำงาน การอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วย การที่เราจะต้องปรับตัว ก็รู้สึกว่าเราต้องสู้อีกเยอะค่ะ  ปิ๊ง : อันนี้คือจากมุมมองของที่เป็นคนนอก แล้วก็ไม่รู้จักกับระบบของ 48 Group คำว่าไอดอลของเรา เรารู้จักกับเขาแค่ผิวเผินมาก ๆ อย่างเช่นพี่ BNK48 เราจะเห็นเขาว่า อ๋อ! เขาสวย เขาน่ารัก เขาออกอีเวนต์ เขาออกมาเต้นแล้วแฟนคลับก็มีความสุข อันนี้คือจบแล้วก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! มันง่ายจังเลยนะ อันนี้คือความคิดแรกที่เราเข้ามา แต่พอได้ลองเข้ามาจริง ๆ คือมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดค่ะ ก่อนจะมาเป็นแบบนี้ การหล่อหลอมให้มันกลายเป็นแบบนี้คือมันต้องใช้อะไรที่เยอะกว่านี้มาก ๆ ต้องพิถีพิถันมาก แล้วก็ระยะเวลาด้วย เรื่องความคิดของเราที่มีต่อไอดอลมันเปลี่ยนไปมากเลยค่ะ   The People: เรื่องไหนที่รู้สึกว่ายากที่สุด ปิ๊ง : สำหรับปิ๊งนะคะ หนูคิดว่าการเป็นไอดอลมันคือการหารครึ่งช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตไปเลย เพราะว่าตอนแรกเราเป็นเด็กธรรมดา ชีวิตของเราก็จะมีแต่ไปโรงเรียน กลับบ้าน นอน แล้วก็ชีวิตวนลูปไปเรื่อย ๆ แต่การเป็นไอดอลเหมือนกับต้องมีอีกตัวตนขึ้นมาที่เราจะต้องใช้การฝึกซ้อม ในการทำงาน ให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้น ระยะเวลา 24 ชั่วโมง มันจะเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว ต้องเอาความเป็นไอดอลจัดการให้มันยัดเข้ามาอยู่ในตารางเดิมของเราได้ มันคือสิ่งที่หนูคิดว่ามันยาก แล้วก็น่าจะปรับตัวได้นาน  เจเจ : สำหรับเจเจ สิ่งที่คิดว่ายากอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกลัวของใครบางคนเวลาที่ต้องเข้ามาทำในฐานะไอดอล มันอาจจะมีเรื่องที่ปกติเราไม่ได้ทำ อย่างเช่น บางคนปกติเขาอาจจะไม่ได้ชอบร้องเพลงหรือชอบเต้น แต่เขาชอบการจะเป็นไอดอล เขาอาจจะต้องก้าวข้ามความกลัวของเขาในการที่กล้าที่จะร้องเพลงมากขึ้น กล้าที่จะแสดงออกต่อหน้าผู้คนมากขึ้น หรือว่าการฝึกเป็น MC ต่าง ๆ เราก็ต้องกล้าที่จะพูดต่อหน้าผู้คนเยอะ ๆ บางคนเขาก็มีความกลัวในที่นี้ แต่ว่าการเป็นไอดอลมันก็เหมือนฝึกทำให้เรามีความกล้ามากขึ้น และเปิดโอกาสหลาย ๆ อย่างให้เรา  ปีโป้ : ความยากของหนูในการเป็นไอดอล คือจะต้องมีทัศนคติที่ดี หนูรู้สึกว่าการมาเป็นไอดอลประมาณ 1 ปีนิด ๆ รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้นมาก ด้านความคิดหรืออะไรต่าง ๆ เราไม่สามารถมานั่งคิดว่าไปเรียนเสร็จมากลับบ้านเราจะมากินอะไรดี เราจะไปเล่นที่ไหนดี ไปเที่ยวที่ไหนดี แต่ว่าเราต้องคิดหลาย ๆ อย่าง มีหลาย ๆ เรื่องที่เราต้องจัดการอยู่ในหัว ก็เลยรู้สึกว่าเมื่อก่อนหนูเป็นคนที่คิดไม่ได้เยอะขนาดนี้ แต่พอได้เข้ามาก็รู้สึกว่าเราต้องใช้อะไรหลายอย่าง ก็ทำให้เราโตขึ้น  สิตา : สิตาคิดว่าการเป็นไอดอลมันเหมือนกับว่า บางครั้งเราต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราจะใช้อารมณ์กับทุกอย่างไม่ได้ หรือบางทีเราอาจจะไม่สามารถเป็นตัวเองได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน เราต้องดูดีเสมอ ทั้งที่ในความจริงเราก็เป็นแค่คนคนหนึ่งที่เรารักในเส้นทางนี้ อันนั้นเป็นความยากของสิตามาก ๆ ที่จะต้องบาลานซ์ในส่วนของสิ่งที่สามารถเผยแพร่ได้กับสิ่งที่เป็นตัวของเรา  แองเจิ้ล : ของหนูจะเป็นเกี่ยวกับว่าพวกเราต้องมีสติในการตอบคำถามมากเพิ่มขึ้น (หัวเราะ) อย่างเช่น ก่อนหน้านี้เวลาที่เรามาทำงานคือเหมือนเราต้องออกต่อหน้าสื่อ ต้องมีสติในการทำหลาย ๆ อย่างมากขึ้น อย่างเช่นตัวหนูก็ต้องพูดช้าลง ให้ชัดถ้อยชัดคำมากขึ้น  ออม : ของออมก็ยากที่เราต้องพัฒนามากกว่า คืออย่างที่บอก ไอดอลมันต้องพัฒนาเรื่อย ๆ เราห้ามย่ำกับที่ เราไม่ลดลงก็ได้ แต่เราย่ำกับที่มันก็ไม่ใช่ คือเราก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้าเรื่อย ๆ เพราะว่ามีคนที่คอยมองเราอยู่ ให้กำลังใจเราอยู่ แล้วก็เราเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา ถ้าเกิดเราอยู่เฉย ๆ เราหยุดแล้ว เรายอมแพ้ แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนคนนั้นได้ เพราะฉะนั้น เราต้องพิสูจน์ว่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาเราก็สามารถที่จะก้าวข้ามผ่านไปได้ สามารถพัฒนาตัวเอง ทักษะต่าง ๆ ที่เราไม่ถนัดให้มันผ่านไปได้ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่ว ๆ ไปได้ คือมันมีคนพร้อมที่จะทำหน้าที่ของเรามากมาย พอเราได้รับโอกาสแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่    CGM48 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่บอกเล่าชีวิตจริงของวงไอดอล The People: ภาพยนตร์เรื่อง ‘ห้าวเป้งจ๋า อย่าแกงน้อง’ ทำไมเปิ้ล นาคร ถึงเลือกแกง CGM48 เปิ้ล: จุดเริ่มต้นคือทีแรกอยากจะแกง BNK48 ก่อน อยากจะทำหนังกับ BNK48 ก่อน แต่ตอนหลังพอไปปรึกษามา เฮ้ย! เขากำลังจะมีน้องใหม่เว้ยชื่อว่า CGM48 น่าสนใจ ประเด็นก็เลยเปลี่ยนไปที่กลุ่มนี้   The People: การทำงานร่วมกับ CGM48  เปิ้ล: CGM48 บอกตรง ๆ เลยว่าเราจะไปแกงเขา เราก็ต้องขลุกอยู่กับเขาเป็นปี นี่น่าจะใช้เวลา 1 ปีกับอีก 3 เดือนนะในการอยู่กับเขา ในการศึกษาแต่ละคนว่า แต่ละคนมีพื้นฐานเป็นยังไง มีนิสัยยังไง บางคนกลัวกล้วย บางคนทำก๋วยเตี๋ยวผัดไทยเก่ง บางคนสื่อสารกับผีได้ บางคนมีนิสัยแบบแปลก ๆ  จินตนาการสูงอะไรอย่างนี้ มันต้องศึกษาให้เยอะ ใช้เวลาศึกษานาน กลุ่มนี้    The People: เห็นความเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ CGM48 ยังไงบ้าง  เปิ้ล: ตอนนั้นกับตอนนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เวลา 1 ปีกับอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันแรกที่เราเห็นเขา เหมือนเสื่อผืนหมอนใบ อุ้มตุ๊กตาหมีเน่า ๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเด็กขี้มูกกรัง เข้ามาอยู่หอร่วมกันวันแรกผมกระเซอะกระเซิง มันโคตรจะเรียล เราถึงเรียกหนังเรื่องนี้ว่าออแกนิกฟิล์ม (Organic Film) มันเป็นธรรมชาติมาก ทุกอย่างมันจะโตแบบธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่ง จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนครบ 1 ปี 3 เดือนที่เราปิดกล้องวันที่เราเฉลย ทุกคนเปลี่ยนไป จากเด็กกะโปโลไปดูตอนนี้ดิทุกคนสวย ทุกคนมีแววของความเป็นไอดอล ทุกคนมีแววเป็นซูเปอร์สตาร์ ทุกคนผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี การวางตัว อารมณ์ พื้นฐาน ทักษะต่าง ๆ ของเขาคนละเรื่องเลย สถาบันนี้เขาแน่จริง ๆ ที่ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ ต้องไปดูในหนัง  CGM48 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่บอกเล่าชีวิตจริงของวงไอดอล The People: การดึง 4 รุ่นพี่ตัวท็อป (แจ็ค แฟนฉัน, น้าเน็ก, กันต์ กันตถาวร, ยังโอม) มาช่วยเทรนน้อง ๆ จะแตกต่างจากการเทรนไอดอลทั่วไปไหม เปิ้ล: หนังเรื่องนี้เดิมทีพี่เปิ้ลได้รับโจทย์ ได้รับการชวนมาจากผู้กำกับ เป้-นฤบดี (เวชกรรม) ผู้กำกับคนนี้ก็คือหนึ่งในตำนานที่ร่วมสร้างสาระแนขึ้นมาตั้งแต่วันแรก เพราะผู้กำกับคนนี้จะเป็นเพื่อนที่ศิลปกรรม จุฬาฯ เหมือนกัน เขาก็จะมองเห็น มาวันนี้ก็กลับมาปลุกไฟกันอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้วพอเขามาจุดประกายว่า เฮ้ย! เราน่าจะกลับมาทำหนังกันอีกครั้งหนึ่งนะ สไตล์ของเรา พอเจอเป้าหมายแล้ว CGM48 ก็กลับมา ผู้กำกับก็ให้โจทย์ว่าเด็กพวกนี้ได้รับการฝึกฝน เก็บตัวอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วก็ฝึกร้องเล่นเต้นทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าเรื่อง movement เรื่องการเป็นไอดอล การเป็นนักแสดงที่ดี การเป็นนักร้องที่ดี เขาก็ได้รับตรงนั้นอยู่แล้ว แต่ช่วยเติมประสบการณ์นอกเหนือจากบทเรียนที่เขาได้รับในสไตล์ของเราได้ไหม เราก็เลยไปเอาคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละศาสตร์สาขา ในแต่ละแขนงมา   The People: สำหรับ CGM48 ตอนเจอพี่ ๆ 4 คน (แจ็ค แฟนฉัน, น้าเน็ก, กันต์ กันตถาวร, ยังโอม) รู้สึกเอะใจไหมว่ากำลังถ่ายภาพยนตร์อยู่ พร้อมกัน : เขาเนียนมาก เหมือนแค่ทำงานถ่ายคอนเทนต์ปกติ    The People: ตอนที่ได้รู้ว่าถูกตามถ่ายหนังมาตลอดรู้สึกอย่างไรบ้าง ปีโป้ : ตอนแรกรู้สึกตกใจมาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเราเดินเข้ามาในห้องแห่งนี้เรายังไม่มีอะไรเลย เรายังเริ่มต้นจากศูนย์ ยังเป็นใครก็ไม่รู้ ยังร้องยังฝึกเต้นอยู่เลย ตอนนั้นแทบจะไม่ได้เดบิวต์ด้วยซ้ำ ก็เลยแบบว่าห้ะ? ตั้งนานแล้วเหรอ ที่เราเพิ่งก้าวเข้ามา ก็เลยรู้สึกว่าตกใจมาก ๆ ค่ะ    The People: พี่ ๆ ทั้ง 4 คนสอนอะไรบ้าง ปิ๊ง : ของปิ๊งนะคะ ปิ๊งจะได้ไปร่วมงานกับพี่กันต์ (กันตถาวร) ค่ะ ที่นับได้ว่าเป็นพิธีกรอันดับหนึ่งของประเทศเลยก็ว่าได้ เขาจะสอนในด้านของการพูด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วก็ทักษะ MC ต่าง ๆ  ปีโป้ : น้าเน็ก ตอนแรกเขาก็สอนเราหลาย ๆ เรื่อง ด้านความกลัวอะไรต่าง ๆ ด้วยความที่น้าเน็กเขาอยู่ในวงการมานาน แล้วก็มีประสบการณ์ชีวิตมาเยอะมาก ๆ น้าเน็กก็สอนเราหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องที่เราจัดการปัญหาชีวิตตอนนั้นไม่ได้ ก็ได้เปิดใจคุยกันในครั้งหนึ่ง ก็น่าจะอยู่ในหนังด้วยค่ะ (หัวเราะ)  ออม : ของเราจะได้เจอกับกลุ่มรุ่นพี่ Youngohm กลุ่มแร็ปเปอร์ เราก็ได้ประสบการณ์จากเขา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันกับเพลง ‘ไปต่อ’ ก็คือเป็นครั้งแรกเลยที่เราได้ไป collab กับศิลปินชื่อดังข้างนอก ก็ได้ประสบการณ์ทำงานแบบมืออาชีพกับเขาด้วย แล้วก็ระหว่างการถ่ายทำเราก็ได้รับบทเรียนมากมายจากพี่ ๆ ซึ่งมันฝึกให้เราอดทนมากขึ้น แล้วก็เวลาเราไปทำงานอย่างอื่นที่มีอุปสรรคเยอะ ๆ ก็จะเหมือนกับว่าเรามีภูมิคุ้มกัน เราเคยมีอุปสรรคเข้ามาแล้ว อาจจะทำงานอื่นได้ราบรื่นมากขึ้น แองเจิ้ล : ใช่ค่ะ แล้วก็สุดท้ายก็จะเป็นพี่แจ็ค แฟนฉัน (เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) ก็คือพี่แจ็ค แฟนฉัน เขาเข้ามาในวงการตั้งแต่เด็ก ๆ เลย ก็คือเปรียบเหมือนกับพวกเราที่เพิ่งเข้ามา แล้วพี่เขายังมีชื่อเสียงตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน เราได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของพี่เขา ได้แชร์ได้คุยกัน    The People: ความประทับใจที่ได้จากการร่วมงานกับพี่ ๆ ทั้ง 4 คน ปีโป้ : ปีโป้คิดว่าการที่ในตลอดระยะเวลา 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา เราได้ร่วมงานกับพี่ ๆ รู้สึกว่าเขามีความ professional มาก ๆ ทุก ๆ งานที่ได้รับมา ไม่ว่าจะเจออุปสรรคแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะใส่เข้ามาให้พวกเราเจอ หรือว่าเจอจากทางฟ้าฝน คืองานมันจำเป็นที่จะต้องเสร็จแล้ว เราไม่เคยเห็นพี่เขาบ่นหน้าเซ็ตเลย คือเขาไม่ร้องไห้ ไม่ท้อถอย เขาสู้มาก หนูรู้สึกว่าได้เรียนรู้ ถึงแม้ตอนนั้นอาจจะมีคนที่โกรธ มีคนไม่พอใจเหมือนกัน แต่บางคนปรับตัวเข้าหาสถานการณ์ได้ดีมาก ๆ แล้วก็พยายามผ่านมันให้เสร็จสิ้นไปได้ที่สุด แล้วก็ไปต่อ เป็นอะไรที่ดีมากค่ะ  CGM48 กับภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์ แต่บอกเล่าชีวิตจริงของวงไอดอล The People: เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้คืออะไร ปิ๊ง : 1 ปีทุกอย่างมันจะแสดงออกแบบธรรมชาติหมดเลย จะออกงานที่ไหน ชีวิตของเขาเป็นยังไง แต่อันนี้คือแบบนั้นมันจะธรรมดาเกินไป เราแตกต่างกันตรงที่เขายัดอะไรที่เป็นภัยพิบัติเข้ามา (หัวเราะ) เป็นบททดสอบด้วยให้มันท้าทายและตื่นเต้นยิ่งขึ้น อันนี้มันคือส่วนที่กระตุ้นความสนุกแล้วก็เป็นเสน่ห์ของเรื่อง  ปีโป้ : สำหรับปีโป้นะคะคิดว่ามันคือความธรรมชาติ คือหนังต่าง ๆ มันก็จะมีบทเขียน มีการเตรียมนู่นนี่นั่น แต่นี่คือเราไม่รู้อะไรมาก่อนเลย อะไรที่แสดงออกไปหรือว่าเกิดขึ้นระหว่าง 1 ปี 3 เดือนที่เขาเก็บมามันคือความจริงทั้งหมด มันคือตัวเราจริง ๆ ที่เจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้ค่ะ ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นอะไรที่ธรรมชาติมาก ๆ  สิตา : สิตาคิดว่าสิ่งที่คนดูน่าจะได้กลับไปให้ความรู้สึก touch จริง ๆ แน่นอนว่าเรามีหนังที่สะท้อนสังคมและคอยให้แรงบันดาลใจแต่ละคนมาเยอะแล้ว แต่อันนี้มันจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปรุงแต่งและเหตุการณ์ที่มาจากคนจริง ๆ เลยคิดว่าน่าจะค่อนข้าง touch ใจคนดู ไม่ว่าจะทำงานสายอะไร แล้วก็ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับไอดอลวงไหน แต่ถ้ามีความสงสัยในไอดอลว่าไอดอลคืออะไร เขาทำอะไรกัน ไอดอลมันมีอะไรกัน ไม่ว่าจะมุมไหน ถ้ามาดู CGM48 มาดูห้าวเป้งฯ ตอบคำถามได้แน่นอนว่ากระบวนการในการเป็นไอดอลมันเป็นยังไง มันเหมือนเป็นบทสรุปของคำถามที่เราตอบมาตั้งแต่ข้อที่ 1 คือได้รู้คำตอบในหนังเรื่องนี้