‘กะทิชาวเกาะ’ เริ่มต้นจากคำสบประมาท แต่พลิกมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้ เพราะความเป็นนักสู้ของผู้ก่อตั้ง ‘จรีพร เทพผดุงพร’

‘กะทิชาวเกาะ’ เริ่มต้นจากคำสบประมาท แต่พลิกมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้ เพราะความเป็นนักสู้ของผู้ก่อตั้ง ‘จรีพร เทพผดุงพร’
ชื่อของ ‘กะทิชาวเกาะ’ ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อต้องเจอกับปัญหาใหญ่หลังจากห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Walmart สั่งเลิกขายกะทิแบรนด์ดังของไทยแบรนด์นี้ จากประเด็นที่ PETA (องค์การปกป้องสิทธิสัตว์) บอกว่า มีการบังคับใช้แรงงานลิงเพื่อขึ้นไปเก็บมะพร้าว (ก่อนหน้านี้มีห้างหลายแห่งของสหรัฐฯ ได้แบนไม่วางจำหน่ายกะทิชาวเกาะไปแล้วมากกว่า 5,000 สาขา)  ครั้งนี้เป็นอีกบทพิสูจน์ว่า กะทิแบรนด์ดังแบรนด์นี้จะก้าวข้ามประเด็นร้อนครั้งนี้ไปได้อย่างไร เพราะหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ จะเห็นได้ว่า กว่ากะทิชาวเกาะจะมาถึงวันนี้ได้ ‘จรีพร เทพผดุงพร’ ผู้ก่อตั้งรุ่นแรกต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดนับครั้งไม่ถ้วน   เริ่มจากอาชีพขายมะพร้าวในย่านท่าเตียน ย้อนไป 60 ปีก่อน ‘จรีพร เทพผดุงพร’ และสามี ‘อำพล เทพผดุงพร’ เป็นพ่อค้าแม่ค้ามะพร้าวที่ต่อสู้ชีวิต โดยจรีพรต้องแจวเรือเพื่อขายมะพร้าวทุกวันที่แยกมหานาค ส่วนอำพลก็ต้องประจำอยู่ในตลาดขายส่งในเมือง รวมแล้วในแต่ละวันสองสามีภรรยาต้องขนมะพร้าวกว่า 3 - 4 พันลูกไปขาย  จนวันหนึ่งกิจการไปได้ดีและเริ่มใหญ่ขึ้น จึงขยับขยายมาเซ้งห้องแถวย่านท่าเตียน พร้อมได้จดทะเบียนร้านค้าภายใต้ชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ‘อุดมมะพร้าว’ รับมะพร้าวจากภาคใต้มาขายในพื้นที่กรุงเทพฯ และที่อื่น ๆ เปิดร้านตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึง 4 ทุ่ม  ด้วยความขยันและเป็นคนเก็บหอมรอมริบ ทำให้ร้านค้ามะพร้าวของสองสามีภรรยาโตวันโตคืน จนมีรายได้ถึงขั้นส่งลูก ๆ ทั้ง 5 คนไปเรียนเมืองนอกได้ ซึ่งสำหรับจรีพรแล้ว การศึกษาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเธอเริ่มต้นชีวิตมาจาก ‘ศูนย์’ เรียนจบเพียงชั้น ป.4 จึงมีความคิดที่จะส่งลูก ๆ ไปเรียนเมืองนอกทุกคน “ฉันเรียน ป.4 วัดศาลาแดง เเล้วเรียนไม่ใช่ว่าเรียนง่าย ๆ เช้า ๆ ต้องไปเรียนแต่เช้า กลางวันต้องกลับมากินข้าวที่บ้าน ทำงานทุกวัน ใจเราคิดไว้ว่าเราไม่มีความรู้ แต่ต้องให้ลูกเรามีความรู้ทุกคน พยายามที่สุด ลูกเราต้องไปเรียนเมืองนอกด้วย ทุกคนเลย”   จากกราฟชีวิตที่พุ่งสูงสู่จุดดำดิ่งเพราะ ‘กะทิสำเร็จรูป’ ขณะที่กราฟชีวิตของจรีพรและอำพลกำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากรายได้ของการขายมะพร้าวที่เติบโต บวกกับการรู้จักเก็บออม ต้องมาพลิกผันเพราะคำแนะนำของลูกชาย เพราะหลังจากจบการศึกษาจากต่างประเทศ เขาได้แนะนำให้ครอบครัวเปลี่ยนจากการขายมะพร้าวลูกมาเป็นการผลิต ‘กะทิสำเร็จรูปแบบพาสเจอร์ไรซ์’ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘กะทิชาวเกาะ’ และ ‘บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด’ ในปี 2519 แม้ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่ ทว่าความเชื่อมั่นในตัวลูกชายทำให้เธอยอมเปลี่ยนเส้นทางธุรกิจ ส่วนการเลือก ‘ชาวเกาะ’ มาเป็นแบรนด์ เพราะยุคนั้น ‘เกาะสมุย’ เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศ จึงต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่า กะทิที่ผลิตมีความสดใหม่ และมาจากแหล่งมะพร้าวชั้นเยี่ยมจริง ๆ ทว่าเสียงตอบรับไม่เป็นไปตามหวัง มีคนสบประมาทว่า ธุรกิจไม่น่ารอด เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นยังไม่เข้าใจและไม่ยอมรับความเป็นกะทิสำเร็จรูปมากนัก ซึ่งทางจรีพรเปิดใจว่า “ทำกะทิเริ่มแรกก็ขายไม่ได้ เอาไปให้เเม่ค้า ไปอ้อนวอนเขาบอกว่าช่วยซื้อหน่อย เขาก็บอกไม่เอา ตอนนั้นเหนื่อยจนสายตัวแทบขาดและร้องไห้แทบทุกคืน แต่ท้อไม่ได้ ถอยไม่ได้” สุดท้ายกะทิชาวเกาะต้องใช้กลยุทธ์ ‘ทดลองใช้ฟรี’ คือ ร้านจะขายได้หรือไม่ได้ก็ไม่ต้องให้เงิน ผ่านไป 3 ปี กะทิชาวเกาะได้รับการยอมรับและเปิดใจมากขึ้น จนรายได้เข้ามาเป็นกอบเป็นกำ และเริ่มมีการส่งออกไปต่างประเทศ   ขยายอาณาจักรสู่อำพลฟูดส์ หลังจากประสบความสำเร็จจากการขายกะทิสำเร็จรูป ในปี 2531 ทางครอบครัวเทพผดุงพร ได้มีการก่อตั้ง ‘อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง’ เพื่อต้องการให้เป็นบริษัทธุรกิจอาหารชั้นนำระดับโลก มีทั้งผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้บรรจุกระป๋อง, ผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์ซอสผัด, ผลิตภัณฑ์น้ำจิ้ม, ผลิตภัณฑ์ผงปรุงรส ฯลฯ ขณะที่ตอนนี้กะทิชาวเกาะกลายมาเป็นผู้ส่งออกกะทิรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก โดยมีการส่งออกไปกว่า 27 ประเทศทั่วโลก และมีรายได้มาจากการส่งออกเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของรายได้ทั้งหมด ทั้งยังถือส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 30 - 40% ของตลาดกะทิโลกด้วย ความสำเร็จที่เกิดขึ้น มาจากแนวคิดของจรีพรที่มองโลกในแง่ดีมาตลอด และมักจะมีคำพูดติดปากที่คอยพร่ำสอนลูก ๆ ว่า พยายามอดทน มุ่งมั่น เผชิญหน้ากับความยากลำบาก ต้องขยัน ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า รักษาคุณภาพสินค้าให้ดี  ดังนั้นประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในโลกตะวันตกก็น่าจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์กะทิชาวเกาะได้มากขึ้น     ภาพ: https://www.tcc-chaokoh.com/index.php/news_event/news/view/47 https://www.bigc.co.th/chaokoh-coconut-milk-250-ml.html   ที่มา: https://www.tcc-chaokoh.com/index.php/news_event/news/view/47 https://www.dailymail.co.uk/news/article-10893589/Walmart-stops-selling-Chaokoh-coconut-milk-Peta-accuses-supplier-using-chained-monkeys.html https://www.marketthink.co/5934