จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด

จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด

ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด

“มันก็มีของบางอย่างนะที่ตัวมันเองไม่ได้เปลี่ยนอะไร แต่มันยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้นะครับ อย่างมั่นคง แล้วก็ยังเดินต่อไป อันนี้ก็คงต้องมาดูข้างในของมันแล้วแหละว่ามันปรับตัวอย่างไร แล้วถ้าเป็นเรา เราจะปรับตัว แล้วเราจะอยู่ ไปอยู่ในทุกยุคทุกสมัยได้อย่างไรครับ” พูดถึงรองเท้าผ้าใบ ‘นันยาง’ และรองเท้าแตะ ‘ช้างดาว’ นี่คงเป็นรองเท้าที่อยู่คู่รองเท้าคนไทยมาตั้งแต่รุ่นทวด ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ จนส่งต่อไปถึงรุ่นหลาน จากอายุอานามของแบรนด์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาร่วม ๆ เกือบ 7 ทศวรรษ รองเท้าก็รองเท้าคู่เดิม เพียงแต่สิ่งที่ไม่หยุดนิ่งเลยคือการปรับตัวของแบรนด์ที่สามารถนำเสนอและเจาะกลุ่มตลาดได้หลากหลายตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ นักตะกร้อ ช่างมุงหลังคา หรือแม้กระทั่งพระ ที่ผ่านมา ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีแคมเปญที่น่าสนใจออกมาไม่เคยหยุดนิ่ง ไล่มาตั้งแต่ นันยางรุ่นลิเวอร์พูลฉลองแชมป์ยุโรป, รองเท้าแตะช้างดาวของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์, นันยางรุ่นต่อต้านการบูลลี่ในโรงเรียน, รองเท้าแตะช้างดาวจากขยะ, กล่องสุ่มรองเท้าแตะกาช้างปอง ไปจนถึง ช้างดาว : ห่านคู่ แคมเปญที่นำรองเท้าแตะกับเสื้อยืดห่านคู่มาจับคู่กันให้กลับมา hype ในรุ่นนี้ แม้แต่เสียง ‘เอี๊ยด’ จากการเสียดสีของรองเท้าที่ได้ยินบ่อย ๆ สมัยเรียนมัธยมฯ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของนันยาง เหล่านี้ล้วนแล้วคือความไม่หยุดนิ่งในการนำพาสองแบรนด์นี้ผ่านยุคสมัยมาจนถึงวันนี้ ภายใต้พื้นรองเท้า มีความลับใดซ่อนอยู่ที่ทำให้ ‘เก๋า’ จนถึงทุกวันนี้ คำตอบอยู่ที่บทสัมภาษณ์ จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ว่าด้วยการสวมรองเท้าแล้วก้าวหาไอเดียการตลาดกับรุ่นที่ 3 ของ ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด The People : ในปี 2022 ทำไมถึงเลือกคอลแลบฯ กับเสื้อยืด 'ห่านคู่' จักรพล : เรื่อง collaboration เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก ดังนั้นแต่ละโปรเจกต์ที่เกิดขึ้น ทุกครั้งจึงจำเป็นต้องมีความพิเศษ ทั้งในเรื่องของ เนื้อหา เรื่องราว รวมทั้งจังหวะ เวลา เราจะมองถึงภาพสุดท้าย ก่อนที่จะเริ่มงานด้วยซ้ำ ภารกิจ ‘ช้างดาว:ห่านคู่’ เป็นโปรเจกต์ล่าสุดที่กำลังเปิดตัว เป็นการรวมตัวของ รองเท้าแตะพื้น ๆ กับ เสื้อยืดเชย ๆ ที่เป็นตำนานของคนไทย และบังเอิญมีอะไรหลายอย่างเหมือนกันแบบไม่น่าเชื่อ เกิดปีเดียวกัน (พ.ศ. 2496), ผู้ก่อตั้งเดินทางมาจากประเทศจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ, สินค้าที่ขายดีที่สุดคือสินค้ารุ่น classic ที่มีตั้งแต่แรกจนปัจจุบัน เมื่อได้มีโอกาสคุยกันอย่างเป็นทางการ แม้จะคุยแบบออนไลน์ แต่ก็สัมผัสได้ถึงความเหมือนกันและความเข้าอกเข้าใจกัน ทั้งความสำเร็จและอุปสรรคหลาย ๆ อย่างในการทำงาน ใช้เวลาเตรียมงานประมาณ 1 ปี แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ใครเก่งอันไหนก็ทำด้านนั้น จนในที่สุดก็ได้เปิดตัว “ช้างดาว:ห่านคู่ Legendary Edtion” เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ถือเป็นงานที่ผมภูมิใจมาก ๆ ที่มีส่วนทำให้สินค้าธรรมดา ๆ ของเรา ได้บอกเล่าเรื่องราวและส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ไปถึงลูกค้าและคนไทยทุกคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับเรามา The People: เด็ก ๆ เราโตมากับการใส่รองเท้าแบบไหน  จักรพล: ตอนอยู่ที่บ้านนะครับ เราก็จะคุ้นเคยกับรองเท้านันยางอยู่แล้วนะครับ ตั้งแต่ตอนไปเรียน ตอนไปเรียนจริง ๆ แล้ว เด็กนักเรียนที่เป็นเด็กนักเรียนประถมฯ อาจจะยังไม่ค่อยใส่รองเท้านันยางมาก แล้วก็โตขึ้นมาเป็นมัธยมฯ แต่เนื่องจากที่บ้านเราทำนันยางใช่ไหม ก็เลยต้องทำ ใส่รองเท้าพวกนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ มาเลยตอนแรก ๆ อาจจะไม่ค่อยเหมือนใครนะครับ แต่พอถึงมัธยมฯ เริ่มจะต้องหิ้วรองเท้าไปให้เพื่อนแล้ว เพื่อนฝากซื้อบ้าง หรือว่าจ่ายตังค์บ้างไม่จ่ายตังค์บ้าง แล้วก็เริ่มเป็นตัวแทนจำหน่ายรองเท้าเด็ก ๆ นะครับ  คือจริง ๆ ก็ไม่ได้อยากจะขายมาก แต่ว่าเหมือนเพื่อนฝากซื้อ เราก็เอาไปให้ ไม่ได้จะเน้นค้าขายอะไรมากครับ แต่ว่าคล้าย ๆ ว่าเราผูกพันกับตัวสินค้าด้วยแล้วก็เราอยากจะเอาไปให้เพื่อนด้วย แล้วบางทีถ้ามีรุ่นใหม่ ๆ หรือว่ารุ่นแบบ minor change จะทดลองอะไรอย่างนี้ ผมก็อาจจะเป็นคนแรก ๆ ที่ได้ลองใส่ The People: เป็นผู้ทดสอบผลิตภัณฑ์หมายเลข 1  จักรพล: ก็จริง ๆ เรียกได้ว่าทุกวันนี้ลูก ๆ หลาน ๆ พนักงานหรือว่าคนที่อยู่ใกล้ชิด เราก็จะเป็นกลุ่มแรก ๆ เป็นกลุ่มโฟกัส group แรก ๆ ที่ได้ลองใส่ เป็นผู้ทดลองใช้ ไม่ว่าเราจะพัฒนาสินค้าอะไร แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราเด็กพอดีไง พอช่วงเราเด็กปุ๊บ เราก็อาจจะเป็นกลุ่ม user พอดี กลุ่มผู้ใช้พอดีก็เลยได้ใส่ครับ The People: ทีนี้เราเริ่มมาเข้าสู่การทำธุรกิจ เราเรียนรู้อะไรบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา จักรพล: ก็ย้อนกลับไปสัก 10 ปีกว่า ๆ นะครับ เราก็เริ่มมาที่นันยางนะครับ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด ก็เรียนรู้ไปนะครับ ในส่วนของเนื้องานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการไปหาลูกค้า การไปเจอกับผู้เกี่ยวข้องในส่วนต่าง ๆ อยู่ในไลน์ผลิตสินค้า ก็ได้เรียนรู้ต่าง ๆ เพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ  ต้องเรียกว่านันยางเองก็เป็นธุรกิจที่ขนาดกลาง แน่นอนว่าอาจจะเป็นธุรกิจกึ่งครอบครัว แต่ว่าก็ได้รับการพัฒนามาเป็นรูปแบบขององค์กรระดับหนึ่ง แต่ว่าเราก็อาจจะยังมีลักษณะการทำงานแบบดั้งเดิมบ้างนะ conservative ตรงนี้ก็ต้องเรียนรู้กันไปไม่ว่าจะเป็นคนยุคเก่า ยุคกลาง หรือยุคใหม่ เราจะสามารถเอามารวมทำงานได้ยังไงได้บ้าง จุดดีของแต่ละยุค จุดดีของแต่ละคน เอามารวมกัน แล้วมันจะยิ่งดีมากขึ้น The People: รุ่นแรกเขาทำอะไร รุ่นสองเขาทำอะไรที่ต่างจากรุ่นแรก แล้วรุ่น 3 รุ่นเรา เราต่อยอดรุ่นก่อนหน้านี้อย่างไรบ้าง จักรพล: ก็ย้อนกลับไป พ.ศ. 2496 นะครับ คุณวิชัย ซอโสตถิกุล หรือคุณตาของผมก็ก่อตั้งบริษัทนันยางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรองเท้าช้างดาว รองเท้านันยางนะครับ ผ่านมาประมาณสักเกือบ ๆ 70 ปีแล้วนะครับ ตรงนั้นก็ถือว่าเป็นรุ่น 1 ก็เป็นรุ่นบุกเบิกที่จากไม่มีอะไรเลย สร้างโรงงานขึ้นมา แล้วก็อาจจะผลิตไม่กี่คู่ ตอนนั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งมีลูก ๆ ของท่าน รุ่นที่ 2 ก็มาสานต่อร่วมทำงานด้วยกัน ช่วงนั้นก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นสำหรับรองเท้านันยาง จากเปิดมาสัก 10 - 20 ปีกว่าจะเป็นที่รู้จัก กว่าที่จะผลิตเยอะขึ้น มีตัวแทนจำหน่าย มีลูกค้าประจำ แล้วหลังจากนั้นก็มาเรื่อย ๆ แล้วนะครับ อาจจะเป็นในเรื่องของรองเท้ากีฬา รองเท้านักเรียน หรือรองเท้าแตะที่ใส่กันทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงช่วงหลังนะครับ ช่วงหลังเราก็ทำงานกันอย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ก็อาจจะมีความทันสมัยบ้าง มีเทคโนโลยีเข้ามาบ้าง มีการตลาดที่น่าสนใจในยุคปัจจุบันนี้นะครับ จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด หลังจากที่เราเปิดโรงงานนันยางปี 2496 ถัดจากนั้น 3 ปี 2499 นะครับ นอกจากอันธพาลจะครองเมืองแล้ว รองเท้าแตะช้างดาวก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกนะครับ หลังจากนั้นก็อาจจะเรียกว่าเป็นตำนานก็ได้เพราะทุกวันนี้รองเท้าแตะช้างดาวของเราก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ในทั้งคนไทยแล้วก็ชาวต่างชาติ เป็นสินค้าส่งออกไปในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน ถามว่าเราทำการตลาดอะไรกับรองเท้าช้างดาว ต้องเรียกได้ว่าในอดีต ผู้บริโภคทำการตลาดให้เรา โดยเชื่อมั่นในตัวสินค้าของเรา เพราะไม่ว่าใส่เป็นรุ่นต่อรุ่นยังไงแล้ว มันเกิดการบอกต่อว่ารองเท้ามันทน มันทำมาจากยางพารา ใส่แล้วติดใจ ใส่แล้วก็ใส่อีกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถอยกลับไปสักประมาณ 5 ปีที่แล้ว เราเริ่มมามองเห็นแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของเรา กลุ่มลูกค้าของเรา เริ่มมีอายุสูงขึ้นเรื่อย ๆ  อายุเฉลี่ยในอดีต อายุลูกค้า 45 ปีขึ้นไปนะครับ แต่ในปัจจุบันนี้จากที่เราทำการตลาดเพิ่มขึ้น เราเพิ่มความ…สไตล์ของช้างดาวเข้าไป เราตั้งใจว่ากลุ่ม target หรือกลุ่มเป้าหมายของเราจะอายุประมาณ 25 ขึ้นไป ลดจาก 45 มาเหลือ 25 ขึ้นไปนะครับ เราจะเห็นได้ว่ารองเท้าช้างดาวถ้ามองว่ามันเป็นรองเท้าที่ใส่แล้วดูไม่สุภาพ ใส่แล้วดูฐานะไม่ดีก็อีกมุมหนึ่ง แต่ว่าในอีกมุมหนึ่งมันจะมีความเป็นแบบความเท่ ความเป็นสไตล์ หรือว่าเรียกว่าช้างดาวสไตล์นะครับ ทำไมเราถึงใช้คำว่าสไตล์ เพราะเราคิดว่า คำว่า สไตล์ มันอยู่เหนือกาลเวลา มันอยู่เหนือแฟชั่นนะครับ แฟชั่นมา ๆ ไป ๆ แต่ว่าสไตล์มันไม่มีวันตาย เพราะฉะนั้นรองเท้าช้างดาวอยู่มาเกิน 60 ปีแล้ว เป็นสินค้าที่ไม่เคยเปลี่ยนอะไรเลยนะครับ เราก็เลยคิดว่าอันนี้แหละมันเป็นจุดที่เราอยากจะนำมาสื่อสารให้กับทุก ๆ คน The People: การคลี่คลายจากรองเท้าตีแบดมินตัน รองเท้าไลฟ์สไตล์ รองเท้าวิ่ง สู่รองเท้านักเรียน จักรพล: คือรองเท้านันยางนะครับ เราเติบโตมาจากรองเท้าผ้าใบที่ใช้ได้ทุกโอกาส ในความเป็นจริงแล้ว เราเริ่มต้นรองเท้ารุ่นนี้ที่พื้นสีเขียวนะครับ มาจากรองเท้าเพื่อตีแบดมินตัน ตอนแรกเลยที่เราออกแบบมาตอนแรก หลังจากนั้นพอใส่แล้วก็เริ่มกระจายตัวออกไปเรื่อย ๆ เป็นคนทั่วไปบ้าง นักกีฬาบ้าง ผู้ใช้งานต่าง ๆ นานา ผู้ใช้แรงงาน แล้วก็ในยุคนั้นน่ะครับ ประมาณสักปี 2520 เป็นยุคที่เราใส่รองเท้ากันแบบคู่เดียวใส่ได้ทุกอย่างนะครับ ก็คือจะใส่เตะบอล จะไปเที่ยว จะทำงาน จะจีบสาว จะดูหนัง ใส่รองเท้าคู่เดียวนะครับ หลังจากนั้นพอมาถึงยุคที่การตลาดเริ่มเข้ามา ประเทศเราเริ่มเปิดมากขึ้น เริ่มมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเยอะขึ้น ตอนนี้ไม่ได้ละ มันเริ่มแล้วว่า รองเท้าคู่หนึ่งจะต้องใส่ทำกิจกรรมอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ในปัจจุบันนี้ เราใส่วิ่งครับ รองเท้าวิ่งที่สวน กับรองเท้าวิ่งที่ลู่วิ่งก็เป็นคนละคู่กัน ตอนนี้มันก็มีหลาย ๆ รองเท้าไปมากขึ้น เอ๊ะ! แล้วนันยางจะไปในทิศทางไหนดี ปรากฏว่ารองเท้านันยาง ในช่วงนั้นครับ เราก็เลยมาคุยกัน แล้วก็มาดูกันว่า ถ้าอย่างนั้นเราไปยังไงดี กลุ่มที่ใส่รองเท้าในราคาไม่สูงมาก ใช้กิจกรรมหลากหลาย เราสามารถตอบโจทย์กลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง มันไปปรากฏไปเจออาชีพหนึ่งครับ ซึ่งอาชีพนั้นมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรไทย คืออาชีพนักเรียน ดังนั้นก็เลยทำให้เรา เนื่องจากว่า function ของรองเท้ามันตอบโจทย์รวมถึงราคามันตอบโจทย์ แล้วมีกลุ่มนักเรียนที่ค่อนข้างใหญ่ กลุ่มผู้บริโภคที่ค่อนข้างใหญ่ ก็เลยทำให้ในช่วงนั้น เราโฟกัส เราตั้งใจแล้วก็มุ่งมั่นที่จะไปในรองเท้านักเรียน เลยทำให้ในปัจจุบันนี้ 80% ของลูกค้านันยางก็เป็นนักเรียน ในเมื่อเราตั้งใจ แล้วก็ทำมาอย่างยาวนาน ก็เลยเป็นทั้งเรื่องของ branding แล้วก็เรื่องของรุ่นต่อรุ่นด้วยที่ทำให้รองเท้านันยางติดตราตรึงใจนักเรียนมาถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้รองเท้านันยางก็ยังเป็นผู้นำตลาดนะครับ หรือ market leader อันดับที่ 1 ส่วนแบ่งตลาดของนันยางประมาณสัก 42% ที่โรงงานเราผลิตมาทั้งรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ ก็มากกว่า 10 ล้านคู่ต่อปีครับ จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด The People: เวลามีคนชอบแซวเรื่องรองเท้าแตะช้างดาวหายที่วัด เราได้ยินแล้วเรารู้สึกอย่างไร แล้วเราเอามาต่อยอดอะไรในเชิงธุรกิจบ้าง จักรพล: ช้างดาวหายที่วัดใช่ไหมครับ คือข้อ 1 นะครับ รองเท้านันยาง ทั้งรองเท้าช้างดาวก็จะชอบหาย หรือรองเท้านักเรียนก็ชอบหายนะครับ ไว้อยู่หน้าห้องสมุดนะครับก็ชอบหายเช่นเดียวกัน ก่อนอื่นอันแรกเลย ข้อ 1 ก็คือเป็นที่นิยมนะครับ เป็นที่นิยมก็ดีใจนะครับ ทีนี้มันก็ต้องอยู่ที่เราจะทำยังไงได้บ้าง ในปัจจุบันนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องราว ช้างดาวหายที่วัดนะครับ ทำให้เรานึกถึงวัดมากขึ้น จริง ๆ แล้วก็แน่นอน เราก็จะเห็นได้ว่าชาวบ้านหรือประชาชนก็ใส่รองเท้าเราเยอะ แล้วก็อาจจะใส่สลับกันบ้างอะไรกันบ้าง ก็เป็นเรื่องตลก ๆ แต่ว่าเมื่อเราไปคิดถึงรายละเอียดปลีกย่อยแล้ว พอบอกว่าช้างดาวกับวัด ทำให้เรานึกถึงพระสงฆ์ เราไปดูพระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านก็ใส่ช้างดาวเหมือนกัน ทำให้เราก็ออกช้างดาวรุ่นพระสงฆ์นะครับ เป็นช้างดาวสีเหลือง ก็ได้รับความนิยมจากท่าน พส. ทั้งหลาย รวมถึงฆราวาสก็อาจจะแย่งกันซื้อเหมือนกัน ทุกวันนี้ก็เป็นสินค้าใหม่ของเราเหมือนกันในช้างดาวที่เป็นสีพระสงฆ์นะครับ The People: เบื้องหลังเคล็ดลับการทำการตลาดออนไลน์ของทั้งนันยางและช้างดาว จักรพล: ทีมงานการตลาดของนันยางเรามีแนวคิดพื้นฐานหลักอยู่ 3 ข้อครับ ข้อที่ 1 คือทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เราเก่ง ในสิ่งที่เราถนัด ข้อที่ 2 อะไรก็ได้ในข้อที่ 1 นั้น คนอื่นยังไม่ทำ แล้วข้อที่ 3 ก็คือว่าอะไรก็ได้ที่คนอื่นยังไม่ทำ และลูกค้าต้องการ งั้นโดยสรุปแล้วเราจะคิดในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำภายใต้สิ่งที่ลูกค้าต้องการ แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยไปดูในบริบทอื่น ๆ ว่าเราจะสามารถไป tap in ในอะไรได้ไหม ในแต่ละโอกาส แต่ละกิจกรรม แต่ว่าจริง ๆ แล้ว เรามองที่เราบริหารนันยางนะครับ ทีมงานเรา เรามองว่านันยางก็เหมือนลูกรักของเราคนหนึ่ง หรือเป็นตัวละครของเราคนหนึ่ง ถ้าเกิดเป็นคน เขาก็ต้องมีจิตวิญญาณ เขามีความนึกคิด เขามีพฤติกรรมในแต่ละอย่าง ดังนั้นสิ่งที่แสดงออกมาในความเป็นนันยางมันก็เป็นคนคนหนึ่งที่มี character แบบนันยาง มีความคิด ความมีจิตสำนึก แล้วก็ลักษณะต่าง ๆ ที่เหมือนเป็นคนคนหนึ่งนะครับ  ดังนั้นเมื่อทีมฟุตบอลอย่าง Liverpool กำลังจะได้แชมป์หรือไม่ได้แชมป์ (ช่วงที่ได้แชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ในปี 2019) คนทั่วไปก็บอกว่าถ้าได้แชมป์เขาจะไปวิ่งรอบโบสถ์ หรือว่าเขาบอกเขาจะไปโกนหนวด หรือเขาบอกเขาจะถอดเสื้อ ก็คือนันยางเป็นรองเท้า นันยางก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เหมือนว่า เหมือนคนบอกว่าจะใส่เสื้อสีแดง เขาก็เลยบอกงั้นก็ทำรองเท้าสีแดงบ้างนะครับ หรือคนคนหนึ่งสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาบอกว่า เขาจะ recycle ขยะ เขาจะใช้ถุงผ้า เขาจะไม่ทิ้งขยะ เขาจะรักษาสิ่งแวดล้อม นันยางเป็นรองเท้า นันยางจะทำอะไรได้บ้าง นันยางก็เลยผลิตรองเท้าจากขยะ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไร เราก็กลับมามองตัวเองว่าเราเป็นใคร แล้วถนัดอะไร เราเป็นรองเท้า เราจะทำอะไรได้มากกว่ารองเท้า เพราะฉะนั้นคือมันอาจจะทำได้ เป็นอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าแน่นอนมันอยู่ที่ว่าเราจะเลือกทำอะไรมากกว่า จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด The People: นอกจากนี้มีการตลาดไม่ตั้งใจ อย่างนันยางสำหรับเตะตะกร้อเป็นมาอย่างไร จักรพล: จริง ๆ แล้วรองเท้านันยางเป็นรองเท้าผ้าใบที่ใส่ได้ทุกโอกาส ดังนั้นจะมีบุคคลหลายประเภทที่ใส่นะครับ อย่างเช่นนักตะกร้อ ตะกร้อร้อยทั้งร้อยใส่นันยางนะครับ ก็ตั้งแต่เตะอยู่ที่หมู่บ้าน มาถึงตำบล จังหวัด หรือกระทั่งทีมชาติ รวมไปถึงทีมชาติของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้นรองเท้านันยางก็จะเป็นอยู่คู่กับรองเท้าตะกร้อมาโดยตลอด นอกเหนือจากนั้น จริง ๆ แล้ว รองเท้านันยางถ้าเกิดหลายท่านยังไม่ทราบ ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าที่อาจจะเรียกว่าแปลกในคนทั่วไป เช่นในกลุ่มของช่างนะครับ ช่างทาสี และที่สำคัญที่สุดคือช่างมุงหลังคา จะต้องปีนขึ้นไปข้างบน ตรงนี้รองเท้านันยางเขาบอกว่ามันหนึบมาก เขาชอบมาก หรือกระทั่งหลาย ๆ อาชีพ มีชาวสวนนะครับ ชาวสวนที่จะต้องลุยป่าเข้าไป ชาวสวนที่จะต้องลุยสวนเข้าไป หรือบางท่านที่ต้องปีนต้นไม้ อันนี้ก็เป็นลูกค้าประจำของนันยางเช่นเดียวกันครับ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกสื่อสารอย่างไรมากกว่า The People: คิดอย่างไรถึงทำรองเท้าธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ จักรพล: เช่นเดียวกันนะครับ เรามองเลยว่ารองเท้าเราเป็นคนนะครับ รองเท้าเราเป็นคน ในบริบทใด ๆ ที่คนคนหนึ่งจะทำอะไรได้ รองเท้าของเราก็ควรจะทำแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน วันหนึ่งเมื่อปี 2563 ที่ทุกอย่างที่ในประเทศไทยและในโลกนี้หยุดนิ่งเกิดกลุ่มออนไลน์นะครับ กลุ่ม marketplace ของหลาย ๆ มหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ศิษย์เก่าหลาย ๆ คน ศิษย์ปัจจุบันหลาย ๆ คน เข้าไปขายสินค้าในตลาดนั้น เช่นเดียวกันครับ นันยางก็เหมือนว่า เขาเป็นคน เขาก็เคยเรียนธรรมศาสตร์ เขาก็เคยเรียนจุฬาฯ ดังนั้นเขาก็เลยบอกว่า เออ…ถ้าอย่างนั้นเขาก็ขอแปลงร่างบ้างละกัน เขาก็ขอทาสีให้เป็นสีที่แบบเข้ากับกลุ่มนั้นบ้าง เพราะฉะนั้น ก็เป็นในลักษณะแบบนี้นะครับ หรือกระทั่งนันยางเป็นคนอยู่ในโรงเรียนมา ซ้ำชั้นอยู่ ม.4 มามากกว่า 40 ปีแล้ว  The People: นันยางกับแคมเปญต่อต้านการบูลลีในโรงเรียน จักรพล: ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ character ของนันยางก็ยังเป็น ม.4 อยู่ เหยียบส้นเท่ ๆ อยู่ นั่งอยู่หลังห้องนะครับ ไม่ว่าโควิด-19 จะผ่านไปหรือไม่ผ่านไป มันมีปัญหาใหญ่อันหนึ่งของในประเทศ ของในโลกที่อยู่ในโรงเรียน คือปัญหาการ bully การแกล้งกันในโรงเรียน ประเทศไทยติดอันดับการแกล้งกันอันดับ 2 ของโลกนะครับ นันยางอยู่กับอันนี้เป็นระยะเวลานานมาก นันยางก็เห็นปัญหานี้แล้วบอกว่า งั้นเราอยากจะพูดถึงปัญหานี้ เราอยากจะแสดงออกถึงปัญหานี้ว่า เราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้างในฐานะที่เราเป็นแค่รองเท้านะครับ เราก็เลยมี campaign นันยางรุ่นใหญ่ anti bully edition bully ในโรงเรียนหยุดได้ด้วยนักเรียนนะครับ  ปัญหา bully ในโรงเรียนนะครับ ติดอันดับ 2 ของโลก ทีนี้เราก็มาดูว่าเราจะทำอย่างไร เราไป research จากในนักเรียนนะครับ จากแพทย์ กุมารแพทย์ที่สนใจทางด้านนี้ จิตแพทย์ที่ดูแลเรื่องนี้ พบว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ที่แกล้ง หรือกระทั่งมีโอกาสที่จะเป็นผู้ที่หยุดปัญหานี้ ก็คือเป็นนักเรียนรุ่นใหญ่ เราก็เลยสมมติว่ารุ่นใหญ่ก็น่าจะตัวใหญ่ คนตัวใหญ่ก็ชอบแกล้งคนตัวเล็กนะครับ หรือว่ารุ่นใหญ่ เราก็เลยบอกว่า ถ้ารุ่นใหญ่อย่างนั้น รองเท้าเราก็มีรุ่นใหญ่ก็คือเบอร์ใหญ่ไงครับ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นรุ่นใหญ่ anti bully edition เรามีข้อความจากผู้ที่โดน bully นะครับ  เรามีข้อความจากที่โดน bully เขาเขียน เขาอยากพูดอะไรกับคนที่เคยมาแกล้งเขา สกรีนลงไปในรองเท้าทุกคู่ที่เป็นรุ่นใหญ่รุ่นพิเศษรุ่นนี้ เราเชื่อว่าเมื่อเขาได้รองเท้าคู่นี้ไป มันเป็นข้อความที่สื่อสารไปบอกพวกเขาว่าเขาสามารถหยุดปัญหานี้ได้ โดยที่ก็อยู่ในรองเท้าใช่ไหมครับ ทุกวันที่เขาใส่รองเท้าก็จะเห็นแล้วว่า อ๋อ! มีคำพูดนี้อยู่ เขาอาจจะหยุด ช่วยไปหยุดปัญหานี้ได้ แล้วการที่เราทำตรงนี้ทั้งหมดได้ มันอาจจะหยุดคนที่จะต้องเสียอนาคต หรือกระทั่งเสียชีวิตจากปัญหา bully นี้ได้ อันนี้แหละถือเป็นเป้าหมายของเรา เราก็คิดว่าถ้าเราช่วยเด็กได้สักคนหนึ่งก็น่าจะประสบความสำเร็จสำหรับงานนี้แล้วครับ จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด The People: อะไรที่ทำให้คิดเร็วทำเร็วได้ขนาดนี้ จักรพล: ผมว่าหลักการนะครับ ในการที่เรารักสินค้า ผูกพันแล้วเราก็ดูแลสินค้าเราเหมือนลูกเหมือนหลาน แล้วเราก็จะฟูมฟักสินค้านี้เป็นยังไง อีกข้อหนึ่งที่ทำให้เราอาจจะคิดว่าเราทำได้เยอะ หรือว่าโฟกัสมาก ๆ มันอาจจะเป็นข้อเสียของเรานะ เพราะว่าเรามีสินค้าไม่กี่ตัว เราก็มีรองเท้าแตะช้างดาว ที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2499 แล้วก็มีรองเท้านันยางพื้นสีเขียว ที่อยู่กันมา 60 ปีเช่นเดียวกัน การที่เราอยู่มาอย่างนี้เลยทำให้เราไม่มีออกนอกกรอบ ทำให้เราคิดอยู่ตรงนี้เรื่อย ๆ ว่าเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง หลายคนถามนันยางตลอดเวลาว่า จะออกรุ่นใหม่ไหม ทำไมไม่มีรุ่นใหม่บ้าง ทำไมไม่ไปอย่างโน้น ทำไมไม่ไปอย่างนี้บ้าง ทุกวันนี้โลกเขาไปถึงไหนแล้วนะครับ ทำไมเราถึงยังจะแบบนี้อยู่ ก็คงตอบได้ว่าเราอาจจะพอใจในจุดที่เราทำอยู่ เราอาจจะประเมินตัวเองแล้วว่า เราสามารถทำได้ประมาณนี้แหละ เราพอใจ แต่ว่าก็ไม่ได้อยู่นิ่ง เราก็สามารถทำไปเรื่อย ๆ ได้ในรูปแบบของเรา แล้วก็ขยายไปในส่วนที่เรา ในแบบของเรานะครับ อาจจะไม่ได้หวือหวามาก แต่ก็ค่อย ๆ ไปอย่างมั่นคง แล้วก็อาจจะมีสิ่งที่เรียกได้ว่า ความรู้สึกร่วมกันนะครับของลูกค้า ของชาวไทยที่ดีใจ เราก็ดีใจนะที่เวลาเราขยับตัว เราก็ยังได้เสียงตอบรับที่ดีนะ คนก็ยังตอบรับแล้วก็แนะนำอุดหนุนนันยางมาโดยตลอดนะครับ The People: อยู่กับนันยางและช้างดาวมานานแล้ว คิดว่าถ้าได้ยินเสียงเท้าคนเดินจะแยกออกไหม จักรพล: ก็พอได้นะ เพราะว่าหลาย ๆ คนจะสงสัยว่ารองเท้า หลาย ๆ คนจะได้ยิน นึกออกทันทีนะครับ แล้วก็กำลังจะเป็นเครื่องหมายการค้าของเราด้วย ก็คือเสียงเอี๊ยด ๆ เด็กผู้หญิงหลาย ๆ คนที่ดูอยู่ก็จะบอกว่า โอ๊ย! รำคาญมากเลยเสียงเอี๊ยด ทำไมเด็กผู้ชายเดินอยู่หลังห้อง เดินอยู่ที่โรงเรียนเสียงเอี๊ยด ๆๆๆ  อันนั้นน่ะคือเสียงรองเท้านันยาง ทำไมถึงเอี๊ยด เพราะว่านันยางทำมาจากยางพาราธรรมชาติ 100% ซึ่งมีสัดส่วนถือว่าเยอะที่สุดในรองเท้าในโลกนี้แล้วนะครับที่ใช้ยางพารา เมื่อยางพาราสัมผัสกับพื้นที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์ กระเบื้อง จะมีเสียงเอี๊ยดนะครับ แต่ถ้าเกิดเป็นพื้นประเภทอื่น พื้นยาง พื้นรองเท้าประเภทอื่น เช่น พื้น eva หรือพื้นพลาสติก หรือพื้นที่ไม่ได้ทำมาจากยางจะไม่มีเอี๊ยด เพราะฉะนั้นก็ดูได้ว่าถ้ามีเสียงเอี๊ยดก็คือนันยางนะครับ ทุกวันนี้เครื่องหมายการค้าของในโลกและในประเทศไทยมีเครื่องหมายการค้าหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพ เครื่องหมายการค้าที่เป็นตัวหนังสือ แล้วก็จริง ๆ มันจะมีอันใหม่ ซึ่งจริง ๆ  เครื่องหมายการค้าที่เป็นเรื่องเสียงก็รองรับแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญารองรับแล้วว่า สามารถใช้เสียงเป็นเครื่องหมายทางการค้าได้ด้วยนะครับ จักรพล จันทวิมล: ใต้พื้นรองเท้า ‘นันยาง’ และ ‘ช้างดาว’ มีความลับใดที่ทำให้คนไทยสวมใส่มาตั้งแต่รุ่นทวด The People: ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็น brand love จักรพล: หลักการคือว่าผมว่าเราโชคดีที่เรารักษาคุณภาพสินค้ามาจนถึงทุกวันนี้ ทุกคนยังติดตราตรึงใจกับคุณภาพสินค้ากับแบรนด์ของเรา และเมื่อในปัจจุบันนี้เรามีความ มีการสื่อสารและพูดไปถึงเขาในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ก็เลยทำให้ผู้บริโภคยังจำเราได้ แล้วก็ถือว่าเป็นแฟนคลับหรือกระทั่งคอยดูแลปกป้องแบรนด์นะครับ ชื่นชมแบรนด์ แล้วก็พูดแทนแบรนด์เราด้วย แล้วเราก็ดีใจนะ เพราะว่าผมพูดอยู่เสมอครับว่าบริษัทนันยาง หรือกระทั่งผมเอง หรือกระทั่งทีมงานเราเอง เราไม่ใช่เจ้าของรองเท้าช้างดาว หรือนันยางนะครับ เราเป็นแค่ผู้ผลิต แต่รองเท้าช้างดาวมีเจ้าของที่แท้จริงก็คือคนที่ดูอยู่ คนที่ใส่รองเท้าเราอยู่… คุณเป็นเจ้าของที่แท้จริงนะครับ เจ้าของที่แท้จริงไม่ใช่บริษัทนันยาง ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นบริษัทนันยาง แต่เจ้าของนันยางที่แท้จริงคือคนที่ใส่รองเท้านันยางทุกคน ดังนั้นทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในการพูดในการสนับสนุน อันนี้เป็นสิ่งที่เราดีใจที่สุดเลยครับ The People: ของชิ้นไหนที่บ่งบอกถึงความเป็นเรามากที่สุด  จักรพล: (หยิบรองเท้าช้างดาวที่สวมขึ้นมา) รองเท้าช้างดาวที่เราเลือกมานะครับ ผมไม่รู้ว่าคุณจะเห็นอะไรจากสิ่งนี้นะครับ บางคนอาจจะเห็นเป็นรองเท้าเก่า ๆ เน่า ๆ รองเท้าที่ไม่มีมูลค่า รองเท้าที่ใครก็ไม่รู้ใส่ แต่ว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผมมองนะครับ สิ่งที่เรามอง เรามองว่ามันเป็นคุณค่า มันอยู่มา 60 ปีโดยไม่เปลี่ยนอะไรเลย 60 ปีกาลเวลาผ่านไป สินค้าทุกอย่างเปลี่ยน คนทุกคนเปลี่ยน แต่เจ้ารองเท้าช้างดาวนี้มันไม่เปลี่ยน มันเป็นสไตล์ของมัน มันอยู่เหนือกาลเวลาของมันนะครับ  ดังนั้นทำไมมันยังถึงอยู่ได้ เป็นเพราะว่ามันมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกมันไม่ได้เปลี่ยนอะไร แต่ว่าภายใน หรือว่าในสิ่งที่เราสื่อสารกันออกไป ในแต่ละยุคแต่ละสมัย มันมีการพัฒนาปรับปรุงและเข้าถึงกลุ่มลูกค้า กลุ่มผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผมว่า พอมองดูอันนี้นะครับ มันก็มองเห็นได้ว่า เออ…มันก็มีของบางอย่างนะที่ตัวมันเองไม่ได้เปลี่ยนอะไร เหมือนจะไม่เปลี่ยนอะไร แต่มันยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ อย่างมั่นคง แล้วก็ยังเดินต่อไป อันนี้ก็คงต้องมาดูข้างในของมันแล้วแหละว่ามันปรับตัวอย่างไร แล้วถ้าเป็นเรา เราจะปรับตัว แล้วเราจะอยู่ ไปอยู่ในทุกยุคทุกสมัยได้อย่างไรครับ