เฉลิมพงษ์ พันธุ์ภู่ - “เนะ ปิงปองโนแฮนด์" นักตบลูกเด้งผู้ไม่เคยยอมแพ้

เฉลิมพงษ์ พันธุ์ภู่ - “เนะ ปิงปองโนแฮนด์" นักตบลูกเด้งผู้ไม่เคยยอมแพ้
หากคุณมีความรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ ว่าทำไมเราถึงทำอะไรได้ไม่ดีเหมือนคนอื่น ทำไมไม่ได้รับโอกาส มีโชควาสนาดี ๆ เหมือนอย่างใคร โดยเฉพาะสำหรับคนที่เกิดมาครบ 32 ถ้ามีความคิดแบบนั้นอยู่ หากได้ลองอ่านเรื่องราวชีวิตของผู้ชายคนนี้แล้วล่ะก็ คุณอาจจะมองปัญหาที่ประสบพบเจอเป็นเรื่องธรรมดาไปเลยก็เป็นได้ "เนะ" เฉลิมพงษ์ พันธุ์ภู่ หนุ่มชาวกำแพงเพชรวัย 38 ปี เกิดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2524 เขาเป็นน้องคนสุดท้องในครอบครัวที่อบอุ่นมีพี่สาวและพี่ชายอย่างละคน ทุกอย่างดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทว่าโชคชะตาหรือฟ้ากลั่นแกล้งอย่างไรไม่ทราบ ถึงบันดาลให้เขาพิการไม่มีมือทั้งสองข้าง และไร้ขาขวาตั้งแต่กำเนิด!!!  แต่เขาไม่เคยคิดว่านั่นคือปัญหาของชีวิต ด้วยความพยายามของเขา วันนี้ “เนะ” คือนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ที่กำลังมีลุ้นไปแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  ส่วนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของเขาคือ ครอบครัว ที่ช่วยสนับสนุนให้ "เนะ" ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ แม้ว่าเขาจะเกิดมาไม่ครบ 32 แต่คนรอบตัวก็ปฏิบัติกับ "เนะ" เหมือนเด็กทั่วไป ในวัยเด็ก "เนะ" เล่นทโมนกับเพื่อนตามประสาผู้ชายทั่วไป จะเตะบอล, วอลเลย์, เล่นบาส กระโดดหนังยาง เขาทำได้หมด แต่ด้วยความซนของเขาทำให้อาจารย์ที่โรงเรียนบ้านหนองปากดง เล็งเห็นถึงพรสวรรค์ เขามีพื้นฐานทักษะกีฬาดีมากในหลาย ๆ ชนิด "เนะ" ถูกจับไปฝึกวอลเลย์บอล และพัฒนาฝีมืออย่างรวดเร็วจนได้เป็นนักกีฬาโรงเรียนในตำแหน่งตัวตั้ง  ผู้ชายคนนี้ที่ไม่มีมือทั้ง 2 ข้าง แถมไร้ขาขวา กลับได้ติดเป็นตัวโรงเรียน "เนะ" เล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่เขาไม่มีมือ วิธีการเซตบอลจึงต้องใช้การอันเดอร์ตั้งให้เพื่อนตบ ทีมของเขาได้ไปแข่งระดับจังหวัดหลาย ๆ รายการ จนกระทั่งจบชั้น ป.6 เขาย้ายไปเรียนต่อที่ โรงเรียนลานกระบือวิทยา ซึ่งด้วยความสามารถทางด้านกีฬาและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในระดับมัธยมเขาก็ยังคงติดทีมโรงเรียนต่อไป เฉลิมพงษ์ พันธุ์ภู่ - “เนะ ปิงปองโนแฮนด์" นักตบลูกเด้งผู้ไม่เคยยอมแพ้ "ด้วยความที่ในจังหวัดตอนนั้นไม่ได้มีโรงเรียนแยกสำหรับคนพิการ ผมก็ต้องเข้าเรียนกับเด็กปกติ เวลาผมอยู่กับเพื่อน ๆ คนอื่นทำอะไรผมก็ทำด้วย อะไรที่ไม่เกินความสามารถผมก็จะทำเอง เพื่อน ๆ ก็ไม่เคยปฏิบัติกับผมแตกต่างจากคนอื่น ๆ อาจจะมีบางคนที่เคยเรียกผมว่า ไอ้เป๋ ไอ้ด้วน บ้าง แต่ผมไม่ถือสา เพราะเจตนาของเพื่อนไม่ได้ตั้งใจจะล้อปมด้อย มันเป็นการเรียกกันเล่น ๆ ผมไม่ทำตัวเป็นเด็กมีปมด้อย ไม่ทำตัวเป็นภาระให้กับคนอื่น ๆ เรามองแค่ว่าเราเป็นเพื่อนกัน ความพิการมันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นเพื่อนเลย" เขาเล่าถึงชีวิตของตนเองสมัยที่ยังเรียนหนังสือ กระทั่งจบ ม.6 "เนะ" ไม่ได้เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เขาหยุดความเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลไว้เป็นเพียงประสบการณ์ดี ๆ ในวัยเด็ก ทว่าตอนนี้เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้วและถึงวัยที่ต้องหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองไม่ให้เป็นภาระพ่อแม่ แต่การออกไปสมัครงาน ไปหางานทำนั้นไม่ง่ายเลย  จังหวะดีที่พี่เขยของเขาเปิดบริษัทตกแต่งภายใน และด้วยความเป็นห่วงน้องชาย พี่สาวของ "เนะ" จึงฝากให้เข้าทำงานเขียนแบบ ความรู้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เขาค่อย ๆ หัดเรียนรู้จนทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ตอนนี้เขามีอาชีพ มีรายได้ ที่หาได้จากความสามารถของตัวเองแล้ว หลังจากนั้นชีวิตเขาก็เริ่มออกเดินทางต่อไป เขาลาออกจากที่ทำงานของพี่เขย ออกมาลองทำธุรกิจขายตรง ทุ่มเงินไปเยอะหวังที่จะประสบความสำเร็จเหมือนที่หลาย ๆ คนวาดวิมานในอากาศไว้กับสายงานนี้ จนผ่านไประยะหนึ่งเขาก็ยอมรับว่าเขาล้มเหลว เงินทุนหมดไปเยอะมาก จมไปกับการสต็อกสินค้าเพื่อรักษายอดขาย หาคนมาสมัครเป็นดาวน์ไลน์ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ ถึงเวลาต้องวางมือ ถ้ายังไม่หยุดเขาอาจจะเจ็บหนักยิ่งกว่านี้ แต่ในช่วงที่การงานไม่รุ่ง เขากลับได้พบเจอสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต นั่นคือ "เชอร์รี่" ผู้หญิงผู้เป็นรักแท้ของเขา ไม่ว่า “เนะ” จะทำอะไร “เชอร์รี่” สนับสนุนเสมอ ครั้งหนึ่งตอนที่ “เนะ” ไม่มีงานทำ และทั้งที่ “เชอร์รี่” ก็มีงานทำอยู่แล้ว แต่ก็มาคอยช่วย “เนะ” เปิดร้านขายรองเท้าอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้าม ม.รามคำแหง มีรายได้วันละประมาณเพียง 300 บาทเท่านั้น แม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็พออยู่ได้ เพราะกำลังใจยังเต็มเปี่ยม เวลาว่างนอกจากขายรองเท้า ทั้งสองคนมักจะไปออกกำลังกายที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งอยู่ห่างจากห้องพักเพียงข้ามถนนเท่านั้น และจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตก็มาถึง “เนะ” เล่าว่า “วันนั้นผมกับเชอร์รี่ไปตีปิงปองที่ กกท. สมัยที่ยิมปิงปองยังมีอัฒจันทร์และแบ่งเป็นห้องตีสควอชอยู่เลย ผมก็ตีกันไม่เป็นหรอกครับ ก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ตีปิงปองกับแฟน ลุงยุทธแกก็มาชวนตีด้วย” เนะเล่าถึง ธีรยุทธ วังอภิวัฒน์ หรือลุงยุทธ ที่เป็นตำนานของชาวปิงปอง กกท. ที่คอยดูแลรักษาและปกป้องยิมแห่งนี้ไม่ให้ถูกกีฬาอื่นยึดห้องไป “ตอนผมตีอยู่ผมก็เจอเจ (ชนาธิป เหมรัตน์ ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการชมรมเทเบิลเทนนิสคนหูหนวกแห่งประเทศไทย) ตอนนั้นเจเขาทำทีมปิงปองคนพิการอยู่ เขาก็เข้ามาถามว่าอยากลองคัดทีมชาติดูมั้ย ผมก็คิดว่า เรานี่นะทีมชาติ ตียังไม่ค่อยจะเป็นเลย แต่เจบอกว่าเขาฝึกให้ได้ ผมก็โอเค ลองดูก็ได้” ด้วยพื้นฐานกีฬาที่ดีตั้งแต่สมัยเด็ก บวกกับการที่เป็นคนทำอะไรแล้วทุ่มสุดตัว หลังจากรับปากไปแล้วว่าจะลองคัดทีมชาติ “เนะ” ไปซ้อมปิงปองแทบทุกวัน เขาค่อย ๆ เริ่มหลงรักกีฬาชนิดนี้ ในตอนแรกวิธีการตีปิงปองของเขาคือ ใช้แขนทั้งสองข้างที่ไม่มีมือโอบด้ามไม้ปิงปองไว้เพื่อตี  ผ่านมาถึงวันคัดตัวทีมชาติ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ การคัดครั้งแรกนั้นเขาไม่ติด มีคนเก่งกว่าเขาอีกเยอะ และ “รุ่ง” รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ที่เพิ่งคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ พาราลิมปิก เกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาหมาด ๆ เข้ามาแนะนำว่า “พี่เนะต้องเปลี่ยนมาตีมือเดียว ถ้าตี 2 มือมันไม่คล่องตัว ไปแข่งกับคนอื่นสู้ไม่ไหวหรอก” จากวันนั้น “เนะ” กลับไปศึกษาดูวิดีโอในยูทูบว่านักกีฬาชาติอื่น ๆ ที่พิการคล้ายกับเขาตีมือเดียวอย่างไร จนรู้วิธีและลองออกแบบอุปกรณ์ที่เหมาะกับตัวเองขึ้นมา เขาวานให้พี่ที่รู้จักกันที่ร้านรองเท้า ช่วยเอาหนังทำรองเท้ามาขึ้นรูป ใช้วิธีพันหนังไม้ปิงปองเข้ากับท่อนแขนให้แน่นกระชับ จากนั้นเข้าไปฝึกซ้อมกับ “พี่เปรม” เปรม ภิญโญไพศาล ที่ยิมปิงปองพระราม 3 ซึ่งในช่วงประมาณครึ่งปีแรก “พี่เปรม” ให้เนะซ้อมตีกับเครื่องยิงลูกปิงปองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ให้ตีซ้อมกับคน หรือตีนับเกมกับใครเลย ทั้งอึดอัด ทั้งเหนื่อย บางคนอาจจะถอดใจไปแล้ว แต่ “เนะ” ไม่ใช่คนยอมแพ้อะไรง่าย ๆ โค้ชสั่งอะไร เขาทำอย่างนั้น จากตอนแรก ๆ ที่หัดตีมือเดียวแทบไม่โดนลูก เขาเริ่มเคยชิน วงแขนเริ่มเป็นธรรมชาติ แต่แค่เริ่มตีเป็นมันก็ไม่ใช่ว่าจะติดทีมชาติได้ หลังจากนั้น “เนะ” เข้าไปซ้อมที่ กกท. แทบทุกวัน ฝึกตีเกมกับนักกีฬามือระดับชาติของคนปกติ กลับบ้านก็นั่งเปิดดูวิดีโอการเล่นของนักกีฬาต่างประเทศ แล้วเอามาฝึกปรับใช้กับตัวเอง ฝีมือของเขาพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนนักกีฬาปกติมือดี ๆ ก็ยังพ่ายแพ้ให้แก่เขาอยู่บ่อย ๆ ตอนนี้เขาพร้อมแล้วที่จะกลับสู่การคัดตัวทีมชาติอีกครั้ง การคัดตัวทีมชาติครั้งที่สอง คราวนี้ “เนะ” ติดทีมชาติได้อย่างไม่ยากเย็น ในคลาสที่ 7 (กีฬาคนพิการจะมีการแบ่งคลาสจาก 1 พิการมากที่สุดไปถึง คลาส 10 ที่แข็งแรงที่สุด) และได้เข้าร่วมการแข่งขันอาเซียน พาราเกมส์ ที่ประเทศเมียนมาร์ ในปี 2013 ได้ร่วมทีมกับ “รุ่ง” รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ที่คอยสนับสนุนและช่วยเสริมพลังบวกให้เขาอยู่เสมอ ครั้งแรกกับการติดทีมชาติ “เนะ” คว้ามาได้ 2 เหรียญทองในประเภท ทีมชาย และ ชายคู่ ในการจับคู่กับ “รุ่ง” และอีก 1 เหรียญเงิน จากการพ่าย อินโดนีเซีย ในรอบชิงฯ ซึ่งนั่นก็ถือเป็นความสำเร็จที่คุ้มค่ากับความทุ่มเทที่ผ่านมา เฉลิมพงษ์ พันธุ์ภู่ - “เนะ ปิงปองโนแฮนด์" นักตบลูกเด้งผู้ไม่เคยยอมแพ้ การได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ ทำให้ชีวิตของ “เนะ” ดีขึ้น บริษัทห้างร้านใหญ่ ๆ มีนโยบายจ้างคนพิการโดยไม่ต้องให้ทำงาน โดยเฉพาะนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ เขาจึงได้งานที่ “เซ็นทรัลฯ” แต่ละเดือน “เนะ” มีรายได้จากทั้งเงินเดือนที่ทำงานประจำ และเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อม รวมถึงการเข้าแข่งขันรายการต่าง ๆ ที่มีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุน และเขาได้เรียนจบปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่ ม.รัตนบัณฑิต ซึ่งให้ทุนนักกีฬาเรียนจนจบ หลังจากซีเกมส์ ครั้งนั้น “เนะ” เป็นตัวแทนทีมชาติไทยในทุกทัวร์นาเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ แต่รายการเดียวที่เขายังไม่เคยมีโอกาสเข้าร่วมคือ พาราลิมปิกเกมส์ หรือโอลิมปิกของคนพิการ ซึ่ง “เนะ” มั่นใจว่า ปี 2020 ที่กรุงโตเกียวนั้น เขาจะได้เข้าร่วมในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ ปัจจุบัน “เนะ” ติดอันดับ 10 ของโลกในรุ่นคลาส 7 โอกาสพลาดของ “เนะ” ในการเข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์นั้นน้อยมาก ๆ ขอเพียงแต่ต้องวางแผนเข้าร่วมการแข่งขันที่เหลือให้ดี ความฝันที่รออยู่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว “เนะ” เล่าว่าเวลาที่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อ วิธีสร้างกำลังใจของเขาคือ มองไปยังคนที่ด้อยโอกาสกว่า “ผมเคยไปตามท้องถนน เห็นคนตาบอด เห็นคนพิการนั่งขอทานอยู่กับพื้น ผมรู้สึกว่าผมยังโชคดีที่มีโอกาสกว่าเขา ขนาดเขาลำบากกว่าเราเขายังสู้ชีวิตต่อเลย แล้วทำไมเราต้องยอมแพ้กับเรื่องแค่นี้ ทุกวันนี้ผมมีทุกอย่างแล้ว มีภรรยา, มีลูกสาว เป็นนักกีฬาทีมชาติ ถึงผมไม่ได้ร่ำรวยแต่ผมรู้แล้วว่าความสุขของชีวิตคืออะไร และผมกำลังทำมันอยู่ ถึงเราจะพิการ แต่ถ้าเราสร้างตัวเองให้มีค่า เราก็จะมีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและคนอื่น ๆ ครับ ถ้าเราไม่คิดว่าตัวเองมีค่า แล้วใครเขาจะเห็นค่าของเราล่ะ “ถึงชีวิตผมอาจจะเลือกเกิดมาให้เหมือนคนอื่นไม่ได้ แต่ผมเลือกกำหนดทางเดินให้ตัวเองได้ครับ”   ภาพ: จาก Facebook Chalermpong Punpoo