ชาลี อินทรวิจิตร: ที่มาของเพลงจำเลยรัก “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”

ชาลี อินทรวิจิตร: ที่มาของเพลงจำเลยรัก “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”

ชาลี อินทรวิจิตร: ที่มาของเพลงจำเลยรัก “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย”

ประมาณปี 2503 ชาลี อินทรวิจิตร กำลังเป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์อายุ 37 ปี เขาเติบโตและมีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีชั้นนำในยุคสมัยนั้น นั่นคือ “วงดนตรีประสานมิตร” ซึ่งอยู่ในความควบคุมของ พ.ต.อ.พุฒ บูรณะสมภพ และ พิบูล ทองธัช วงดนตรีวงนี้ เป็นที่รวมของนักแต่งเพลงฝีมือดีหลายคน โดย ชาลี ได้พบและร่วมงานกับ สมาน กาญจนะผลิน ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงที่เขามีโอกาสร่วมงานกันมากที่สุด บทเพลงที่รังสรรค์ขึ้นโดยบุคคลทั้งสอง ล้วนได้รับความนิยมและได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งของปีนั้น ระหว่างชาลีนั่งเล่นรัมมี่กับทีมงานอย่างสบายอารมณ์ รอคิวว่างอยู่หน้าห้องสตูดิโอแห่งหนึ่ง เพื่อเตรียมอัดเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “จำเลยรัก” (ต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในปี 2506) ชาลี อินทรวิจิตร ได้กระซิบบอก สมาน กาญจนะผลิน ด้วยอหังการของคนหนุ่ม ว่า “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย!” ตามคำบอกเล่าของ ชาลี ในหนังสือ “บันเทิง บางที กับ ชาลี อินทรวิจิตร” เจ้าตัวเล่าว่า วิธีการแต่งเพลงของเขา กับ สมาน ไม่ค่อยจะเหมือนใคร ปกติแล้ว สมานจะถนัดในการนำเนื้อเพลงไปใส่ทำนอง ไม่ใช่เอาทำนองไปใส่เนื้อ เพลง “จำเลยรัก” ที่จะอัดเสียงกันในวันนั้น ก็เริ่มต้นแบบนั้นเช่นกัน เมื่อสมานมาตามเนื้อ ระหว่างรอคิวห้องอัดว่าง ชาลี เริ่มต้นเขียนท่อนแรกว่า “เจ็บแค้นเคืองโกรธ โทษฉันใย ฉันทำอะไร ให้เธอเคืองขุ่น ปรักปรำ ฉันเป็นจำเลยของคุณ นี่หรือพ่อนักบุญ แท้จริงคุณคือคนป่า” ผ่านไป 20 นาที สมานกลับมาพร้อมแอคคอเดียน แล้วบรรเลงทำนองท่อนแรกให้ฟัง ชาลี ถึงกับขนลุกซู่ด้วยความไพเราะ อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา เนื้อเพลงท่อนที่สองก็เสร็จเรียบร้อย “ไม่ขอคุกเข่า เฝ้าง้องอน แม้ใจขาดรอน ขอตายดีกว่า ไม่ขอร้องใครให้กรุณา ไม่ขอเศร้าโศกา หรือบีบน้ำตา อ้อนวอนใคร ๆ” มาถึงตรงนี้ ชาลี มีไอเดียใหม่ขึ้นมา เพราะเป็นท่อนที่สาม หรือเป็นท่อนแยกของเพลงพอดี (ตามฟอร์มเพลง AABA) ชาลีจึงบอกให้สมาน ลองใส่ทำนองมาก่อนบ้าง แล้วเขาจะใส่เนื้อตามทีหลัง เมื่อสมานแต่งทำนองท่อนแยกกลับมา ชาลีไม่ชอบ บอกว่าไม่เพราะ เพราะทำนองคล้ายสองท่อนแรก ด้านสมานก็เถียงว่า เพลงเป็นบันไดเสียงไมเนอร์ (minor) ท่อนแยกก็ควรจะเป็นไมเนอร์ ชาลีเถียงกลับว่า “เปลี่ยนเป็นเมเจอร์ (major) ไม่ได้เชียวหรือ ผิดกฎหมาย ถูกตัวหัวคั่วแห้งหรือเปล่า” สมานบอก “มันต้องทำสะพานทั้งเข้าทั้งออก ไม่งั้น คนร้องจะล่ม” เขาหมายถึงการปรับจากไมเนอร์เป็นเมเจอร์จะต้องมีชั้นเชิง มีการเชื่อมแนวทำนองให้สละสลวย เปรียบได้กับ “สะพาน” ไม่งั้นจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับนักร้อง “ถ้างั้น น้าหมาน ไปสร้างสะพานเพชร สะพานทอง สะพานไม้ได้เลย ผมต้องการท่อนแยกเป็นเมเจอร์”  ชาลี สำทับแกมสั่ง ครึ่งชั่วโมงต่อมา ทำนองท่อนแยกที่พลิ้วหวานจากคอร์ดเมเจอร์ก็กังวานขึ้น คราวนี้ ชาลี เขียนท่อนแยกด้วยความประทับใจสุด ๆ ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนถึงความสง่างาม ทรนง และความมีศักดิ์ศรี สอดรับกับภาคดนตรีดียิ่งนัก “เชิญคุณลงทัณฑ์ บัญชา จนสมอุรา จนสาแก่ใจ ไม่มีวันที่ฉันจะร้องไห้ ร่ำไร เพราะฉันมิใช่ หญิงเจ้าน้ำตา” ถึงตอนนี้ล่ะ ที่ชาลีกระซิบกับสมาน กลางวงรัมมี่ว่า “เพลงนี้จะดังที่สุด ถ้าไม่ดัง ผมเลิกแต่งเพลงเลย” สมานได้ที ถือโอกาสถามต่อ “แล้วท่อนสุดท้าย เมื่อไหร่จะเสร็จล่ะ” ชาลีเล่าว่า แกหลิ่วตาให้สมานอย่างกระหยิ่มใจแทนคำตอบ เพราะตอนนั้น ชาลีกำลังคั่วไพ่สเปโตอยู่ ใครทิ้งสเปโต แกน็อกมืด แต่แล้วเกมนั้นก็พลิกผัน ชาลีกลับถูกลบมืด เพราะมือเหนือเขา “กัก” สเปโตไว้ ด้วยความฉับไวตามประสากวี เนื้อเพลงท่อนสุดท้ายก็วาบขึ้นในสมองทันที “กักขังฉันเถิด กักขังไป ขังตัว อย่าขังหัวใจดีกว่า อย่าขัง หัวใจให้ทรมา ให้ฉันเศร้าโศกา เหมือนว่าฉันเป็นเช่นดังจำเลย”   ‘ชาลี’ ชื่อตัวละคร สู่ชีวิตจริง สง่า อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ที่ท่าฉลอม สมุทรสาคร เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เข้าเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนพร้อมวิทยามูล ข้างเวทีมวยราชดำเนิน แล้วไปต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่น 1 มีบันทึกไว้ว่า ด้วยเหตุที่บ้านอยู่ท่าฉลอม ทำให้เด็กชายสง่าต้องมีน้ำอดน้ำทนในการเดินทาง เพราะต้องขึ้นรถไฟจากมหาชัยมาวงเวียนใหญ่ ก่อนจะต่อรถสาธารณะเข้าสู่พระนครชั้นใน ด้วยความรักในการแสดงและเสียงเพลง สมัยเป็นวัยรุ่น สง่า ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้อง เขามีความชื่นชอบ สถาพร มุกดาประกร นักร้องประจำวงดนตรีทรัพย์สินของ ครูนารถ ถาวรบุตร เป็นพิเศษ โดยแอบไปดูประจำที่โรงหนังโอเดียน จากนั้นขึ้นเวทีประกวดร้องเพลง ประจำจังหวัดสมุทรสาคร จนได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่ตัดสินวันนั้น คือ ครูล้วน ควันธรรม ที่ต่อมาเขาขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ สง่าจึงได้ไปอาศัยบ้านครูแถวโบสถ์พราหมณ์ มีโอกาสรู้จักลูกศิษย์คนอื่น ๆ ของครูล้วน เช่น สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ ซึ่งชักนำให้เขาก้าวเข้าสู่วงการแสดงในเวลาต่อมา ปี 2492 สง่า เปลี่ยนชื่อ เป็น ชาลี อินทรวิจิตร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแสดงในละครเรื่อง “เคหาสน์สีแดง” ของคณะละครศิวารมณ์ ละครเรื่องนี้ มี สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ และ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นนักแสดงนำ ผู้แต่งเพลงประกอบคือ สง่า อารัมภีร และ สุนทรียา ณ เวียงกาญยน์ โดย สง่า อินทรวิจิตร รับบทเป็น “นักเรียนนายเรือชาลี” ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิงดวงดาว (หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร) เจ้าของบทประพันธ์ จึงได้ประทานชื่อนี้ ชาลี ให้ใช้ตลอดไป เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่นนี้ สง่า อารัมภีร บันทึกไว้ว่า  “ชาลี แต่เดิม ชื่อ สง่า อินทรวิจิตร เมื่อเขามาแสดงเรื่องเคหาสน์สีแดงของท่านดวงดาว ท่านทรงพอใจมาก เรียกชาลีไปหาที่ร้านหยกฟ้า หน้าศาลาเฉลิมนคร บอกว่า เธอแสดงเป็นนาวาโทชาลี สมบทบาทในนวนิยายเหลือเกิน ฉันขอมอบชื่อ ชาลี ให้แทนชื่อ สง่า จะได้ไม่พ้องกับหัวหน้าวงดนตรี ซึ่งเป็นนักแต่งเพลง...”   จาก ‘นักร้อง’ เป็น ‘นักแต่งเพลง’ จากคณะละครศิวารมณ์ ชาลี ย้ายไปอยู่กับคณะละครเทพศิลป์ เขาผ่านงานเล่นละคร และทำหน้าที่เป็นนักร้องสลับหน้าม่านละคร ทั้งนี้ คีตา พญาไท ผู้สันทัดเพลงลูกกรุง วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ ชาลี อินทรวิจิตร หันมาแต่งเพลงมากกว่าที่จะเป็นนักแสดง หรือนักร้อง น่าจะมาจากเหตุผลสำคัญ คือการเกิดขึ้นของนักร้องรุ่นใหม่ 2 คนนั่นเอง “ครูไสล ไกรเลิศ นำเด็กหนุ่มมาสู่วงการเพลงสองคน ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ ก็วัยจ๊าบ สดและซิงจริง ๆ คนหนึ่งเสียงร้องนุ่มนวล หวานซึ้ง ไพเราะเหมือนลมกระซิบคลื่น สุเทพ วงศ์กำแหง อีกคนหนึ่ง... กังวาน เสียงแจ่มชัด จัดจ้าน พลิ้วโหยสูงสุดต่ำสุดได้โดยไม่ต้องอาศัยลูกคอช่วย เขาคือ ชรินทร์ งามเมือง (เปลี่ยนนามสกุลเป็น นันทนาคร ในเวลาต่อมา) ผมฟังเสียงเขาร้อง แม้กายจะสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว แต่หัวใจฉันเดินทางไปสุดปลายฟ้า ผมสัญญากับวัน เวลาและฤดูกาล กับดวงดาวกระพริบ ในท้องฟ้าใสของคืนแรม ผมจะเลิกร้องเพลง หันมาแต่งเพลง” ชาลี อินทรวิจิตร และ สมาน กาญจนะผลิน แต่งเพลง “สวรรค์มืด” เพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน จากบทประพันธ์ของ รพีพร เพื่อให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ร้อง ตามด้วยบทเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอีกมากมาย อาทิ “เท่านี้ก็ตรม” , “รักอย่างรู้คลาย” , “บ้านเรา” , “ครวญ” ส่วน ชรินทร์ นันทนาคร ก็ไม่ยิ่งหย่อนกัน ชาลี มีเพลงอย่าง “อาลัยรัก” , “ไกลบ้าน” , “เรือนแพ” , “ท่าฉลอม” , “แสนแสบ” และ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลง “อาลัยรัก” นับเป็นเพลงที่สะท้อนถึงความเป็น ชาลี อินทรวิจิตร ในด้านนักอ่านที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้มีพื้นฐานจากการเป็นนักอักษรศาสตร์มาก่อนหน้าก็ตาม โดยที่มาของเพลงนี้ มาจากนวนิยาย “สงครามชีวิต” ของศรีบูรพา ที่เพื่อนรักนักประพันธ์และนักต่อสู้ทางการเมือง สุวัฒน์ วรดิลก (รพีพร) ส่งมาให้อ่าน โดยชาลี สร้างสรรค์บทเพลงนี้จากถ้อยความไม่กี่บรรทัดในบทสุดท้ายของนวนิยายเรื่องนี้ “แม้มีปีก โผบิน ได้เหมือนนก อกจะต้องธนู เจ็บปวดนัก ฉันจะบิน มาตาย ตรงหน้าตัก ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา” ครั้งหนึ่ง ชาลี อินทรวิจิตร เคยแสดงทัศนะต่อความเป็นไปของวงการเพลงอย่างแหลมคมว่า “ทุกอย่างเป็นของง่ายหมด ใครที่แม้ขาดความรู้ทางดนตรีก็โอ้อวดว่าข้าแต่งทำนองเองได้ โดยไม่รู้จักโน้ตแม้แต่ตัวเดียว อนิจจา กลกบเกิดในสระจ้อย ผลที่ออกมาน่ะหรือ ก็ร้อยเนื้อทำนองเดียวอยู่นานปีดีดักแล้ว ถึงวันนี้ ฉันกำลังถูกเจ๊กลากไป ญี่ปุ่นลากมา หาความเป็นสัญลักษณ์ของตัวเองไม่พบ แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ฉันอาทรได้อย่างไร” กลางดึกวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ประจำปี 2536 จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา วัย 98 ปี โดยฝากผลงานประพันธ์คำร้องเกือบ 1,000 เพลง, ผลงานการแสดง และผลงานกำกับภาพยนตร์/อำนวยการสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก   ที่มา - คีตา พญาไท, ตำนานครูเพลง (สำนักพิมพ์ แสงดาว) 2555. - ชาลี อินทรวิจิตร, เบื้องหลังเพลงดัง : รวมข้อเขียนของ 40 นักเพลง (สมาคมนักแต่งเพลง) 2526. - https://sites.google.com/site/kruplengthai1/khru-cha-li-xinthr-wicitr - FB Page คนรักเพลง ครู “ชาลี อินทรวิจิตร” ภาพ: https://www.luukaod.com/product/3285/คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลง-ครั้งที่-2-ชาลี-อินทรวิจิตร