การเดินทางเกือบ 3 ทศวรรษของ ‘เจ้าขุนทอง’ รายการหุ่นมือในความทรงจำ

การเดินทางเกือบ 3 ทศวรรษของ ‘เจ้าขุนทอง’ รายการหุ่นมือในความทรงจำ
“อรุณเบิกฟ้า...” ถ้าใครร้องท่อนต่อไปถูก เป็นไปได้สูงว่า คุณเป็นเด็กยุค 20-30 ปีก่อนที่โตมากับรายการ ‘เจ้าขุนทอง’ และอาจเป็นหนึ่งในคนที่นั่งเฝ้าจอรอดูรายการดิสนีย์คลับต่อจากรายการนี้ เจ้าขุนทอง คือรายการหุ่นมือสำหรับเด็ก บอกเล่าเรื่องราวและจำลองสังคมไทยผ่านตัวละครสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งผู้ชมจะได้ทั้งความรู้คู่ความสนุก และรู้สึกสนิทกับแต่ละตัวละครที่มีบุคลิก หน้าตาและน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นความทรงจำแสนอบอุ่น ตั้งแต่ผู้ชมยังเป็นเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่  เบื้องหลังเสียงเจื้อยแจ้วของเจ้าขุนทองนี้ คือความตั้งใจของผู้จัดและทีมงานที่คอยสรรสร้างหุ่นมือออกมาให้น่ารัก น่าจดจำ และทำให้คนดูได้ทั้งความรู้ภาษาไทยและแง่คิดในชีวิตประจำวันควบคู่กันไปด้วย   เจ้าขุนทอง เสียงเจื้อยแจ้วส่งภาษาไทย ที่มาของรายการเจ้าขุนทอง เกิดขึ้นเมื่อคุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารช่อง 7 มีความคิดว่าอยากจะทำรายการเด็กตอนเช้า ซึ่งคุณแดง-สุรางค์เคยเป็นครูและคลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษามาก่อน ทำให้เล็งเห็นปัญหาการใช้ภาษาไทยของเด็ก ๆ เช่น การออกเสียง ร ล ไม่ชัด จึงอยากให้มีรายการที่เน้นการสอนภาษาไทยเป็นหลัก เมื่อได้ติดต่อไปยังครูอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเล่นหุ่นมือ การละคร และการพากย์เสียง ครูอ้าวจึงเสนอว่าอยากให้ทำ ‘รายการหุ่นมือ’ เพราะถ้าเป็นเด็ก ๆ หรือนักแสดงมาอยู่ในรายการ พวกเขาจะมีการเติบโตไปตามอายุ ขณะที่หุ่นมือ เป็นตัวละครที่นานแค่ไหนก็ยังอายุเท่าเดิม หน้าตาแบบเดิม ส่งผลดีต่อกระบวนการผลิตและความสัมพันธ์กับคนดูในระยะยาว  ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของรายการหุ่นมือเจ้าขุนทอง ซึ่งออกมาทักทายเด็ก ๆ ครั้งแรกทางช่อง 7 สี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 โดยเปิดตัวมาพร้อมกับเพลงแสนคุ้นหูที่ร้องว่า “อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน...” ซึ่งมาจากความตั้งใจบรรยายธรรมชาติอันเรียบง่ายในยามเช้า เพื่อให้เด็ก ๆ อยากตื่นขึ้นมาด้วยอารมณ์แจ่มใสและหัวใจที่เป็นสุข แม้จะเป็นรายการที่ตั้งใจ ‘สอนภาษาไทย’ หากทัศนะของครูอ้าวกลับมองว่า ภาษาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และใช่ว่าจะต้องใช้ตรงตามหลักภาษาทุกสถานการณ์  “อย่างคำว่าเดี๋ยวกับเด๋ว เหล่านี้ถือเป็นวิวัฒนาการของภาษา ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเราต้องจริงจังก็ต้องใช้ให้ถูก และคอยเตือนคนอื่นให้รู้ถึงความสำคัญของภาษาที่ถูกต้อง” (จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ Urban Creature, 26 กรกฎาคม 2562)   กว่าจะมาเป็นเจ้าขุนทองและผองเพื่อน จุดเด่นของเจ้าขุนทองนอกจากจะเป็นรายการหุ่นทำมือแบบไทย ๆ ที่ไม่เหมือนใครแล้ว ยังมีเบื้องหลังแสนละเอียดอ่อน ตั้งแต่วิธีการเลือกตัวละครไปจนถึงการตั้งชื่อ ครูอ้าวเลือกใช้เจ้าขุนทองเป็นตัวละครหลัก เนื่องจากเป็นรายการสอนภาษา และนกชนิดนี้สามารถเลียนเสียงคนพูดได้ ส่วนตัวละครอื่น ๆ ก็มีชื่อและคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่าง ‘ขอนลอย’ จระเข้จอมตะกละ ที่ตั้งชื่อคล้องกับลักษณะของจระเข้ที่ลอยน้ำแล้วหน้าตาละม้ายคล้ายกับขอนไม้ ‘ลุงมะตูม’ เต่าที่คอยให้ความรู้กับเด็ก ๆ ซึ่งอาจมีที่มาจากความอายุยืนของเต่าเหมือนเป็นตัวแทนของผู้คงแก่เรียน ที่ผ่านโลกผ่านประสบการณ์มามาก  และตัวละครที่ครูอ้าวภูมิใจนำเสนอที่สุดคือ ‘ฉงน’ ควายน้อยขี้สงสัยสมชื่อ เป็นตัวแทนของเด็ก ๆ ในช่วงวัยที่ยังใสซื่อและเป็นนักตั้งคำถาม อีกทั้งยังเป็นการฉายภาพควายในอีกแง่มุมหนึ่ง จากเดิมที่คนมักจะใช้ควายเป็นตัวแทนของ ‘ความโง่เขลา’ ครูอ้าวกลับทำให้เจ้าควายฉงน เป็นตัวละครที่เหมือน ‘น้ำไม่เต็มแก้ว’ อยู่เสมอซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ เปิดรับ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น และหากสังเกตจะพบว่าตัวละครเหล่านี้เป็นสัตว์ที่พบมากในประเทศไทย เพื่อให้เด็ก ๆ ซึมซับความอ่อนโยนไปพร้อมกับกลิ่นอายความเป็นไทยได้อย่างแนบเนียน นอกจากนี้ ตัวร้ายในเรื่องก็นับว่าเป็น ‘ตัวร้ายที่น่ารัก’ เพราะครูอ้าวเขียนบทให้ตัวละครเหล่านี้ได้รับบทเรียนและรู้จักปรับปรุงแก้ไขการกระทำของตัวเองในตอนท้าย ทำให้ผู้ชมตัวน้อยได้เรียนรู้โลกความเป็นจริงที่มีผิดชอบชั่วดีและสอดแทรกแง่คิดต่าง ๆ ได้อย่างละมุนละไม   รายการที่หลายคนบอกว่า “โตมากับเจ้าขุนทอง” “ช่วงแรก ๆ มันบูมมากเลยนะ ประมาณปี 34 จนถึง 40 ถือว่ายังโอเคอยู่ มีจดหมายเข้ามาที่รายการอาทิตย์ละสามถุงใหญ่ ๆ ตอนนั้นเราให้เด็กเขียนจดหมายเข้ามา คิดแล้วก็ยังรู้สึกเสียดายที่ตอนนั้นเราไม่ค่อยได้ตอบสนองเขา เช่น จดหมายที่เราให้เด็กๆ เล่าถึงสิ่งที่น่าภูมิใจในจังหวัดที่อยู่ของตัวเอง ให้เขาเล่าและถ่ายรูปส่งมา เพราะเราอยากให้เด็กได้มีส่วนร่วม” (จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ M.O.M. , 20 พฤศจิกายน 2560) ไม่เพียงจดหมายกองพะเนินที่แสดงถึงความนิยมของรายการในหมู่ครูและนักเรียน แต่รางวัลที่ได้รับหลายครั้งก็ยังเป็นสิ่งที่การันตีคุณภาพของรายการเจ้าขุนทอง ในฐานะสื่อเพื่อการศึกษาสำหรับเด็ก เช่น รางวัลโทรทัศน์ทองคำ รางวัลรายการโทรทัศน์เพื่อเด็กและเยาวชนดีเด่น จาก สยช. เป็นต้น นอกจากนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2551 รายการเจ้าขุนทองมีความโดดเด่นทั้งด้านเทคนิคการนำเสนอ อย่างการใช้สัมผัสโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เพื่อสอนตัวอย่างหรือบทบาทของหุ่นที่หลากหลายมากขึ้น เช่น มีการสัมภาษณ์คน หรือสัมภาษณ์กันเอง อีกทั้งมีการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทำให้เจ้าขุนทองยุคนี้ได้รับความนิยมจากผู้ชมตัวน้อยไม่แพ้ช่วงปีแรก ๆ ของรายการ (เทอด พิธิยานุวัฒน์, 2557)   อำลาจอแก้ว สู่การคืนจอในแบบออนไลน์ เมื่อเวลาผันผ่าน สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายคนผูกพันและจดจำเจ้าขุนทองได้ดี คือการเป็น ‘หุ่นมือ’ ที่ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการ์ตูนหรือแอนิเมชัน ซึ่งมาจากการที่ครูอ้าวมองว่าหุ่นมือเป็น ‘ความเชยที่มีเสน่ห์’ เรายังเห็นคุณค่าของหุ่นที่มันสร้างโดยคน เชิดโดยคน ใช้เสียงคน มันก็ดีคนละแบบกันพวกการ์ตูนนะ การ์ตูนก็ดี มันสร้างจินตนาการได้เยอะแยะ พี่ก็ชอบดู แล้วพี่ก็ชอบดูอะไรใหม่ ๆ เหมือนกัน แต่หุ่นมันคือมนุษย์ และมันก็อบอุ่นกว่า ส่วนเนื้อหาของมันก็เป็นเสน่ห์นะ ความเชยของมันก็เป็นเสน่ห์ เพราะว่ามันมีอะไรเชย ๆ ง่าย ๆ อย่างพวกของที่เป็นพร็อพ บางทีเราก็หยิบอะไรง่าย ๆ มาเล่น พี่ยอมรับว่าทุกอย่างมันต้องเปลี่ยน ต้องพัฒนา แต่ถ้าเขายังให้เราอยู่ มันอาจจะเพราะถ้าไม่มีรายการเราแล้ว มันก็ไม่มีหุ่นง่อย ๆ แบบนี้สิ” (หัวเราะ)  (จากบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ M.O.M. , 20 พฤศจิกายน 2560) รายการเจ้าขุนทองยังคงดำเนินต่อไปอย่างมั่นคงและเติบโต กระทั่งผ่านการปรับเวลาออกอากาศอยู่บ่อยครั้ง เมื่อบวกรวมกับข้อจำกัดเรื่องทีมงานและงบประมาณที่ลดลงแล้ว ทำให้รูปแบบของรายการเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จนเดินทางผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษ เจ้าขุนทองได้ลาจอแก้วอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2561  แม้เจ้าขุนทองจะหายไปจากจอเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่พวกเขายังคงทำหน้าที่ให้ความรู้คู่ความบันเทิงกับเด็ก ๆ อยู่นอกจอ อย่างการเล่นละครร่วมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษจาก ‘มูลนิธิเดอะ เรนโบว์ รูม’ หรือสร้าง ‘คณะหุ่นโตโต้การบันเทิง’ ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้เรื่องการรักษาป่าและสิ่งแวดล้อม บ้างก็แยกไปทำรายการอื่น ๆ เช่น รายการฉงน ฉงาย สองควายช่างสงสัย ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส แต่หากยังคิดถึงเจ้าขุนทองในจอ ก็มีข่าวดีมาให้แฟน ๆ ได้หายคิดถึง เพราะเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 เจ้าขุนทองกลับมาคืนจออีกครั้งในชื่อ ‘เจ้าขุนทองและผองเพื่อน’ โดยซีซันแรกออกอากาศ 12 ตอนทุกวันเสาร์ที่ช่อง pops.tv (http://www.pops.tv/th) โดยเนื้อเรื่องของเจ้าขุนทองและผองเพื่อนครั้งนี้ พูดถึงการฉลองครบรอบ 30 ปีของชาวเพิงหมาแหงน แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เพราะมียานอวกาศที่ตกลงมาพร้อมเพื่อนต่างดาวคือ ‘หนูป๊อป’ ผู้มาจากโลกอนาคต ตัวละครใหม่ที่มาเสริมทัพความสนุกให้กับรายการเจ้าขุนทอง แม้ยามอรุณเบิกฟ้าในวันนี้ จะไม่มีเสียงเจื้อยแจ้วของเจ้าขุนทองและผองเพื่อนโผล่มาทักทายอีกต่อไป แต่เชื่อว่าหลายคนมีภาพจำของการนั่งหน้าจอโทรทัศน์ พร้อมใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มและความทรงจำแสนอบอุ่น ทุก ๆ ครั้งที่ได้พูดถึงรายการเจ้าขุนทอง   ที่มา