หมออ้อย - เชาวพันธ์ คุณหมอสัตว์แปลก ที่ได้รักษาตัวเหี้ย เพราะลูกแมวที่บ้าน

หมออ้อย - เชาวพันธ์ คุณหมอสัตว์แปลก ที่ได้รักษาตัวเหี้ย เพราะลูกแมวที่บ้าน

นายสัตวแพทย์ เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล หรือ หมออ้อย สัตวแพทย์สาขาสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษหรือ exotic pet แห่งโรงพยาบาลสัตว์ Animal Space ฉายา “หมอสัตว์แปลก” ผู้ยินดีรักษาสัตว์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสี่ขา สองขา หรือว่าไม่มีขาก็ตาม

ที่บ้านของคุณเลี้ยงสัตว์อะไร? เมื่อถามคำถามนี้หลายคนอาจจะรีบออกตัวเป็นทาสหมาหรือทาสแมวกันเกรียวกกราว แต่สำหรับใครหลายคน คำว่าสัตว์เลี้ยงของเขาอาจจะไม่ได้จบอยู่แค่หมาและแมว แต่อาจหมายถึงเจ้ากระต่ายขนฟู เจ้างูเขี้ยวแหลม กิ้งก่าตัวลาย เจ้าหนูตัวจิ๋ว หรือสัตว์ใด ๆ ก็ตามที่เจ้าของรู้สึกรักและผูกพันกับมันเหมือนเพื่อนหรือคนในครอบครัว

เมื่อคำว่าสัตว์เลี้ยงไม่ได้จำกัดอยู่แค่สัตว์ไม่กี่สายพันธุ์ จึงเป็นหน้าที่ของ นายสัตวแพทย์เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล หรือ หมออ้อย สัตวแพทย์สาขาสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษหรือ exotic pet แห่งโรงพยาบาลสัตว์ Animal Space ที่จะต้องเรียนรู้วิธีรักษาสัตว์หลากชนิดและดูแลสัตว์ทุกตัวอย่างเท่าเทียมกัน จนเป็นที่มาของฉายา “หมอสัตว์แปลก” ผู้ยินดีรักษาสัตว์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสี่ขา สองขา หรือว่าไม่มีขาก็ตาม

The People ได้มีโอกาสเข้าไปนั่งพูดคุยกับคุณหมออ้อยถึงในห้องทำงาน และได้ฟังถึงเรื่องราวการเป็นสัตวแพทย์ของคุณหมอ ที่มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันที่แมวของตัวเองเสียชีวิต รวมถึงประสบการณ์ในการรักษาสัตว์ที่เหนือความคาดหมาย อย่าง “ตัวเหี้ย” Animal Space

The People: นิยามของ “สัตว์แปลก” หรือว่า Exotic Pet คืออะไร

หมออ้อย: นิยามง่าย ๆ คืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่หมาแมว เขามักจะโยนเป็น exotic pet แต่จริง ๆ แล้ว นิยามของเขาคือเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษหรือสัตว์จากต่างถิ่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้านเราแล้วเราเอาเข้ามาเลี้ยง สัตว์บางประเภทเป็นสัตว์ป่าในเมืองไทย แต่เป็น exotic pet ที่ต่างประเทศ สัตว์บางชนิดเป็นสัตว์ป่าต่างประเทศ แต่เป็น exotic pet ในเมืองไทย ยกตัวอย่าง ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นสัตว์ป่าที่ออสเตรเลีย แต่ในบ้านเราเป็น exotic pet จิงโจ้แคระก็เป็นสัตว์ป่าที่ต่างประเทศ แต่เป็นสัตว์ exotic pet ในบ้านเรา กระรอกเป็นสัตว์ป่าบ้านเรา แต่ว่าเราก็ถือเป็น exotic pet ด้วยในระดับหนึ่ง

The People: ทำไมถึงเลือกเป็นสัตวแพทย์รักษาสัตว์แปลก

หมออ้อย: ตอนแรกที่เริ่มสนใจ มันเป็นอาชีพที่ดูห่างไกลมาก แต่ว่าที่บ้านเราเคยเลี้ยงแมว แล้วทุกคนที่เป็นสัตวแพทย์เคยผ่านจุดนี้มา ก็คือสัตว์เลี้ยงของตัวเองเสียชีวิต แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมแมวเราต้องเสียชีวิตด้วย เราเลยอยากรักษาเขาได้ เหมือนกับคนที่อยากเป็นหมอเพราะอยากรักษาพ่อแม่ อยากรักษาคนใกล้ตัว มันเป็นอารมณ์เดียวกันเลย ก็เลยตัดสินใจว่าอยากเป็นสัตวแพทย์ พอตอนเรียน ผมก็มีความสนใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ เลยสนใจว่า ถ้าเรียนจบแล้ว เราไม่อยากเป็นคุณหมอที่รักษาได้แค่หมาและแมว แต่เราอยากรักษาสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วย เพราะเรามองว่าสัตว์ทุกชนิดควรจะต้องเข้าถึงการรักษาเท่าเทียมกัน แต่พอมีสัตว์ที่ไม่ใช่สุนัขแล้วก็แมวเข้ามารักษา ส่วนใหญ่สัตวแพทย์จะปฏิเสธ เราอยากเป็นสัตวแพทย์ที่รักษาพวกเขาได้

The People: ยกตัวอย่างสัตว์ที่เคยรักษา

หมออ้อย: กลุ่มน่ารักก็จะเป็นแฮมสเตอร์ กระต่าย กระรอก ชินชิล่า แกสบี้ ถ้าเป็นกลุ่มนกก็จะหลากหลายเลย ตั้งแต่นกพิราบ นกกระจอก นกมาคอว์ ซึ่งเป็นกลุ่มนกทั่ว ๆ ไปที่คนเลี้ยง กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานก็จะมีตั้งแต่งู กิ้งก่า เต่า ตัวเหี้ย แล้วก็มีกลุ่มสัตว์ป่าบ้างเล็กน้อย

The People: ได้ยินว่าเคยรักษา “ตัวเหี้ย”

หมออ้อย: คนที่พาตัวเหี้ยมารักษาส่วนใหญ่จะเจอตอนเขาบาดเจ็บ แล้วไม่รู้จะช่วยเขาอย่างไร ก็เลยหิ้วมาที่โรงพยาบาลอย่างที่มหิดล มันเป็นมหาวิทยาลัยที่มีตัวเหี้ยเยอะมาก แล้วนักศึกษาเห็นเขาทุกวัน ก็เลยไม่รู้สึกรังเกียจอะไร วันหนึ่งเจ้าตัวเหี้ยเกิดป่วยขึ้นมา เขาก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ก็ไปตาม รปภ. มาเพื่อช่วยเอาขึ้นจากน้ำ แล้วก็ส่งที่โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร (โรงพยาบาลสัตว์ที่หมออ้อยเคยทำงานอยู่) เพื่อทำการรักษา หลัง ๆ ก็เริ่มมีคนรู้ว่า ตัวเหี้ยเวลาป่วยก็มีหมอรักษาได้นะ เขาก็เริ่มเอาตัวเหี้ยมาให้เรารักษามากขึ้นเรื่อย ๆ Animal Space The People: สัตว์ที่ไม่มีเจ้าของแบบนี้ ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างไร

หมออ้อย: เราอาจจะช่วยกันออกค่ารักษาคนละครึ่ง หรือบางครั้งก็อาจจะมีกองทุนที่รับดูแล

The People: เคยต้องรักษาสัตว์ที่กลัวไหม

หมออ้อย: เริ่มแรกเดิมทีเลย ผมเป็นคนที่กลัวงูมาก เพราะเราไม่เคยจับ ไม่เคยสัมผัสเขา แล้วตอนเรียนก็ไม่มีวิชาไหนที่ต้องจับงู เราเลยติดภาพงูที่ดูดุร้าย แต่พอเราจบมาแล้ว เราได้เริ่มรักษางู เราก็เริ่มค่อย ๆ กล้าขึ้น จนตอนนี้กลายเป็นว่าเราไม่ได้รังเกียจงู เราสามารถจับงูได้ เราสามารถรักษางูได้เป็นเรื่องปกติ อะไรที่เราไม่รู้จักเราจะกลัว แต่เมื่อเราเริ่มรู้จักเขา เราจะเริ่มทำความเข้าใจ แล้วเราจะไม่กลัว Animal Space

The People: อะไรคือเสน่ห์ของสัตว์แปลก ที่ต่างจากสัตว์เลี้ยงที่เป็นหมาแมวทั่วไป

หมออ้อย: มันมีเสน่ห์ในตัวของมันเอง แล้วแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกันเลย อย่างกระต่ายก็จะมีความน่ารัก ความมุ้งมิ้ง วิ่งมากอดได้ ลูบหัวได้ มาอ้อนขออาหาร ถ้าเป็นกลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน ก็จะมีเสน่ห์ลึก ๆ ของมัน คนที่ไม่รักหรือไม่ชอบเขาอาจจะรังเกียจ แต่คนที่เข้าถึงก็จะรู้สึกว่า สัตว์กลุ่มนี้ดูน่ารักหรือดูน่าเกรงขาม ถ้าเป็นนก เขาก็จะมีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือ เขาเป็นสัตว์ที่มีสมองใกล้เคียงกับคน เขาเลยสามารถสื่อสารกับเราได้ คนเลี้ยงก็จะเป็นคนละกลุ่มกัน อย่างคนที่เลี้ยงกระต่ายก็มักจะไม่เลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน

The People: คนที่เลี้ยงสัตว์แปลก จะมีนิสัยเฉพาะตัวเหมือนสัตว์ที่ตัวเองเลี้ยง

หมออ้อย: เราเรียกว่าเป็นไลฟ์สไตล์ของเขาดีกว่า อย่างเช่น คนเลี้ยงกระต่ายก็จะเป็นคนที่ค่อนข้างดูแลเอาใจใส่สัตว์มากกว่าคนเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น ๆ เนื่องจากว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างบอบบาง ป่วยแค่วันสองวัน ถ้าเราไม่ดูแลเขา เขาอาจจะเสียชีวิตได้ แต่ไลฟ์สไตล์คนเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลานก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือคนที่เลี้ยงงู งูไม่ต้องกินอาหารทุกวัน อาจจะกินแค่อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ถ้าเราเป็นคนกลับบ้านดึก เราก็ยังสามารถดูแลเขาได้ แต่กระต่ายต้องมีเวลาให้มากกว่านั้น ส่วนนกจะต้องการความใกล้ชิดมาก ถ้าเจ้าของไม่อยู่นาน ๆ อาจจะเครียด แล้วก็ถอนขนตัวเองหรือป่วยได้ Animal Space The People: สัตว์แปลกต้องการการดูแลที่พิเศษกว่าหมาหรือแมวไหม

หมออ้อย: แน่นอนครับ การเลี้ยงสัตว์แปลกต้องการการดูแลมาก แล้วก็ต้องการความเข้าใจมากเป็นพิเศษ สุนัขกับแมว เราเข้าใจเขาอยู่แล้ว เพราะเราเจอเขาในชีวิตประจำวัน แต่อย่างกระต่าย ถ้าเราไม่เข้าใจเขานี่เลี้ยงไม่รอดนะ ซื้อกระต่ายเด็กมาเลี้ยง เลี้ยงได้สามวันห้าวันก็เสียชีวิตแล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจว่าเขาต้องกินอะไร ถ้าเลี้ยงนกแล้วป้อนอาหารที่ร้อนเกินไป กระเพาะพักเขาก็จะไหม้ได้ ถ้าเลี้ยงกิ้งก่าแล้วไม่เคยเอาไปตากแดดเลย กิ้งก่าก็จะป่วยเป็นโรค metabolic bone disease เราต้องเข้าใจสัตว์ชนิดนั้น หรือเรียนรู้สัตว์ชนิดนั้นก่อนที่เราจะเลี้ยงเขา

The People: สัตวแพทย์ที่รักษาสัตว์หลาย ๆ ชนิดต้องเข้าใจสัตว์ทุกชนิดหรือเปล่า

หมออ้อย: สัตวแพทย์ทุกคนจะมีพื้นฐานใกล้ ๆ กัน คือรักษาหมาได้ รักษาแมวได้ รักษาสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษได้บ้าง เพราะว่าหลักสูตรยังไม่ได้บรรจุสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษลงไปให้เท่ากับหมาและแมว แต่พอเราจบมา ถ้าเรามีความสนใจ เราก็สามารถศึกษาลงลึกไปในแต่ละชนิดได้ สัตวแพทย์ทุกคนใช่ว่าจะรักษาสัตว์ได้ทุกชนิด แล้วแต่ความชำนาญของคุณหมอแต่ละท่านซึ่งไม่เท่ากัน เราจะต้องแบ่งกันเก่งในแต่ละชนิด Animal Space The People: เคยเจอสัตว์ที่เราเองก็ไม่รู้จะรักษาอย่างไรไหม

หมออ้อย: เคยมีเหมือนกันนะ บางทีเจอสัตว์แปลก ๆ ที่เราไม่เคยเห็น เอามาวางอยู่ข้างหน้า ตัวอะไร เราไม่รู้จัก แต่ ณ จุดนั้นแล้ว เราก็ต้องเอาความรู้ที่เราเรียนทั้งหมดมาประมวลให้ได้ว่า สัตว์ชนิดนี้มันใกล้เคียงกับสัตว์ชนิดไหนที่เรารู้จักมากที่สุด เราอาจจะใช้ taxonomy (อนุกรมวิธาน) ในการอ้างอิงเขาเข้าไป สมมติเราเจอพังพอนหรือเจอเฟอเรท พวกนี้เป็นสัตว์ที่กินเนื้อ ซึ่งกายภาพและโรคจะใกล้เคียงกับสัตว์กินเนื้อที่เรารู้จักกันดีก็คือแมว โรคอะไรต่าง ๆ ของเขาก็จะใกล้เคียงกับแมว

The People: นอกจากสัตวแพทย์แล้วยังเป็นพิธีกรรายการ Animal Speak ที่ต้องทำงานร่วมกับทั้งเด็กและสัตว์ มีความท้าทายอะไรไหม

หมออ้อย: มีความท้าทายมากครับ เพราะว่าอย่างสัตว์นี่เราสั่งเขาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องรู้นิสัยของเขา เราต้องเรียนรู้ว่าสัตว์เขาจะแสดงท่าทางอย่างไร จะออกอาการอย่างไรบ้าง โชคดีที่เราเป็นสัตวแพทย์ เราก็เลยจะสามารถเข้าใจได้ว่า พฤติกรรมแบบนี้ เขาต้องการอะไร พฤติกรรมแบบนี้ เดี๋ยวเขาจะทำอะไรต่อ ส่วนในการทำงานกับเด็ก น้องเมฆเขาน่ารักมาก เขาเหมือนผู้ใหญ่มาก เวลาเราบอกเขาว่า 'ทำอย่างนี้นะเมฆ' เขาก็จะฟังเรา ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับสัตวแพทย์ที่จะทำงานกับเด็ก เด็กกับสัตว์จริง ๆ เขาคล้ายกันมาก อย่างเด็กบางทีดื้อ แต่เขามีเหตุผลว่าทำไมเขาดื้อ สัตว์เขาทำอย่างนี้ เขาก็มีเหตุผลว่าทำไมเขาทำอย่างนี้ เขาต้องการอะไร ถ้าเราอ่านนิสัยสัตว์ออก เราก็จะอ่านนิสัยของเด็กออก Animal Space The People: การให้เด็กได้ใกล้ชิดกับสัตว์มีประโยชน์ไหม

หมออ้อย: ผมเห็นประโยชน์เยอะมากนะ พอเด็กได้เข้าใกล้สัตว์ เรียนรู้ชีวิตสัตว์ จิตใจเขาจะอ่อนโยน พอจิตใจเขาอ่อนโยน เขาจะกลายเป็นคนดี แล้วก็ไม่ไปเบียดเบียนสัตว์ ไม่ไปเบียดเบียนคน ไม่ไปเบียดเบียนธรรมชาติ ไม่ไปเบียดเบียนสิ่งที่อยู่รอบกายเขา ถ้าเขารู้จักรักในสิ่งรอบตัวเขา รักสัตว์ เขาจะกลายเป็นคนดีในอนาคต ผมเชื่ออย่างนั้นนะ

The People: การนำสัตว์แปลกจากต่างถิ่นเขามาเลี้ยง จะทำให้เกิดปัญหา alien species เข้ามารุกรานระบบนิเวศของไทยไหม

หมออ้อย: สัตว์ที่เป็นกลุ่ม alien species จะมีสองแบบ เป็นกลุ่ม invasive กับ non-invasive กลุ่ม invasive คือกลุ่มที่รุกรานระบบนิเวศอย่างรุนแรง ส่วนกลุ่ม non-invasive คือกลุ่มที่ไม่รุกรานระบบนิเวศ สัตว์ที่อยู่ในกลุ่ม non-invasive เช่น ปลาหางนกยูง เป็นสัตว์ที่ไม่ได้ไปทำลายระบบนิเวศอะไรขนาดนั้น แต่อย่างปลาซัคเกอร์ ตัวนี้อยู่ในกลุ่ม invasive ซึ่งไปทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการกินไข่ของปลาน้ำจืดของประเทศไทย ทำให้ปลาน้ำจืดในไทยลดลง ปลาซัคเกอร์ตอนซื้อมาแรก ๆ มันดูน่ารัก แต่พอมันโตขึ้นจนมันอยู่ในตู้เราไม่ได้แล้ว จะเอามันไปไหนล่ะ เราเป็นคนพุทธ เราไม่อยากฆ่าเขา เลยเอาไปปล่อยลงแม่น้ำดีกว่า ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเห็นและแก่ตัว แค่หย่อนปลาตัวหนึ่งลงไปในแม่น้ำอาจจะทำลายสิ่งแวดล้อมของเราได้ เรื่องนิดเดียวเองนะ แต่มันส่งผลกระทบวงกว้างมาก Animal Space

The People: จะแก้ปัญหาอย่างไรดี

หมออ้อย: วิธีการแก้ปัญหาให้คนตระหนักถึง alien species มีวิธีเดียวคือต้องให้ความรู้ ให้เขาตระหนักถึงว่า การที่เขาเลี้ยงสัตว์ชนิดหนึ่งแล้ว เขาต้องรับผิดชอบต่อสัตว์ของเขา คุณต้องเลี้ยงเขาจนหมดอายุขัยไป ไม่ใช่ว่าคุณเลี้ยงแล้วไม่ชอบ จะเอาไปปล่อยทิ้งให้เป็นภาระของสังคมหรือธรรมชาติไม่ได้ เราต้องมีจิตสำนึกในการเลี้ยงสัตว์ด้วย ทำได้เท่านี้จริง ๆ คุณเอาสัตว์ไปปล่อยแล้วจะให้ผมไปจับเหรอ มันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเขารู้ว่าการที่เขาปล่อยสัตว์ตัวนี้ลงไปแล้วทำให้ระบบนิเวศพัง เขาอาจจะไม่ทำ แต่บางทีเขาอาจจะไม่รู้

The People: คำแนะนำสำหรับคนอยากเลี้ยงสัตว์แปลก

หมออ้อย: คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเลี้ยง exotic pet หรือสัตว์ทุกชนิดเหมือนกันครับ อันดับแรก ถามตัวเองว่าเรามีความพร้อมที่จะเลี้ยงเขาไหม ถ้าเราเอาเขามาเลี้ยงแล้ว เราไม่ได้ต้องดูแลเขาแค่ปีสองปีนะ เราต้องดูแลเขาจนเขาหมดอายุขัย สัตว์บางชนิด อย่างแฮมสเตอร์อายุขัย 2 ปี กระต่ายอายุขัย 10 ปี นกอายุขัย 30-50 ปี ถามว่าเราพร้อมขนาดนั้นไหม ที่จะรับเขามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ถ้าเลี้ยงเขาแล้วก็ต้องรักเขาเหมือนที่เราอยากได้เขามาในวันแรก ไม่ใช่ว่าไปเดินตลาดนัดหรือร้านขายสัตว์ แล้วหยิบมาเลี้ยง อีกสามวัน ไม่เอาแล้วเบื่อ แล้วชีวิตเขาล่ะ เพราะฉะนั้นความพร้อมสำคัญที่สุด

อันที่สองคือ เราจะเลี้ยงสัตว์ชนิดหนึ่ง เราต้องเข้าใจเขา เหมือนเราจะคบเพื่อน เราก็ต้องศึกษานิสัยใจคอของเพื่อนก่อน ต้องศึกษาว่าเขากินอะไร อยู่อย่างไร สุดท้ายก็คือ ทำใจได้ไหมถ้าเขาต้องจากไป บางคนเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก พอถึงวันหนึ่งเขาจากไป ทำใจไม่ได้ ชีวิตตัวเองก็ดิ่งลงเพราะว่าเศร้า ก็อยากแนะนำให้ทุกคนหาความรู้ก่อน และสำรวจความพร้อมตัวเอง

The People: ถ้าสัตว์พูดกับคนได้ คิดว่าเขาจะพูดว่าอะไร

หมออ้อย: ถ้าเป็นเจ้าของที่ไม่ค่อยดูแลสัตว์ สัตว์ก็คงอยากจะพูดว่า 'ช่วยรักฉันให้มากขึ้นหน่อยได้ไหม เหมือนที่ฉันรักคุณ'  

เรื่อง : พัทธมน สินธุวณิชเศรษฐ์, สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)