ชาร์ลส์ ดาว ผู้มีส่วนกำหนดทิศทางตลาดหุ้นว่าพรุ่งนี้จะขึ้นหรือลง

ชาร์ลส์ ดาว ผู้มีส่วนกำหนดทิศทางตลาดหุ้นว่าพรุ่งนี้จะขึ้นหรือลง
คนชอบพูดกันว่าให้ดูฤกษ์ยาม “ดาวโจนส์” ก่อนลงมือทำอะไรเสมอ แม้จะเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่สำหรับตลาดทุนทั่วโลกแล้ว ดาวโจนส์ มีผลต่อทิศทางตลาดในวันพรุ่งนี้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคนที่คิดค้นดาวโจนส์ขึ้นมาคือ ชาร์ลส์ ดาว บุคคลระดับตำนานผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีดาวอันลือลั่นนั่นเอง ดัชนีดาวโจนส์ หรือ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average - DJIA) เป็นดัชนีที่มีนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะ ดาวโจนส์ และตลาดทุนอื่น ๆ มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน  ชาร์ลส์ เฮนรี ดาว (Charles Henry Dow) เป็นสื่อมวลชนชาวอเมริกัน เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 1851 ในครอบครัวชาวนาที่เมืองสเตอร์ลิง รัฐคอนเนตทิคัต ฟาร์มของเขาอยู่บนเนินเขาทางตะวันออกไม่ห่างจากรัฐโรดไอแลนด์มากนัก พ่อของดาวจากไปขณะที่เขาอายุเพียงแค่ 6 ขวบ ทิ้งให้แม่ของดาวกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว จุดนี้เองมีส่วนที่ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้เรียนสูงมากนัก  แต่ด้วยความพยายาม ดาวในวัย 21 ได้งานที่หนังสือพิมพ์ Springfield Daily Republican ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เขาทำงานที่นี่ได้สามปี ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวท้องถิ่นให้กับ ซามูเอล โบว์ลส์ (Samuel Bowles) นักข่าวรุ่นเก่าผู้สอนวิชาการทำข่าวให้กับดาว  พอฝึกวิชาเขียนข่าวจนแกร่งกล้า ดาวได้ย้ายมาที่หนังสือพิมพ์ Providence Star รัฐโรดไอแลนด์ เพื่อทำหน้าที่กองบรรณาธิการภาคค่ำอยู่เกือบสองปี ระหว่างนั้นเขาได้ทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ Providence Evening Press ไปด้วย หลังจากนั้นก็ได้เลื่อนมาทำกับ Providence Journal ซึ่งออกเป็นแผ่นพับ ตอนแรกบรรณาธิการไม่อยากได้ตัวดาวมาร่วมทีม แต่ด้วยประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่ดาวสั่งสมมาตลอด ตั้งแต่ทำงานร่วมกับ ซามูเอล โบว์ลส์ ทำให้บรรณาธิการไม่สามารถปฏิเสธดาวได้ จึงให้เขาทำงานในตำแหน่งคนเขียนข่าวธุรกิจ ดาวนำเรื่องราวธุรกิจที่ดูน่าเบื่อมาร้อยเรียงใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น บางครั้งนำความเป็นมาของแต่ละอุตสาหกรรมมาเรียบเรียงไทม์ไลน์ใหม่ โดยอธิบายกำกับอย่างละเอียดให้เข้าใจง่าย แถมวิเคราะห์โอกาสทางธุรกิจในอนาคตให้ด้วย  ตัวอย่างเช่น ประวัติย่อของการเดินทางด้วยไอน้ำจาก นิวยอร์ก ถึง พรอวิเดนซ์ ในปี 1877 หรือ นิวพอร์ต : เมืองเคียงสมุทร ในปี 1880 ที่เผยให้เห็นภาพรวมของเมืองนิวพอร์ต เมืองท่าสำคัญของรัฐโรดไอแลนด์ ตั้งแต่การอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกราก ช่วงเจริญรุ่งเรือง ยุคซบเซา และการกลับขึ้นมาเติบโตอีกครั้ง รวมถึงการเงินการลงทุนในเมืองแห่งนี้ นอกจากนี้เขายังได้เรียบเรียงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนรัฐบาล และระบบเรือนจำอีกด้วย  การค้นคว้าหาข้อมูลที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อมาประกอบงานเขียนของดาว สร้างความประทับใจให้กับบรรณาธิการของ Providence Journal มาก เขาเลยให้โอกาสนักข่าวคนนี้ได้ติดตามคณะของนายธนาคารที่กำลังเดินทางไปดูงานเหมืองเงิน ในเมืองลีดวิลล์ รัฐโคโลราโด ซึ่งนายธนาคารกลุ่มนี้ต้องการประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดพวกนักลงทุน และการเดินทางเพียงสี่วันนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งในชีวิตของชาร์ลส์ ดาว  ตลอดช่วงเวลาเดินทางบนรถไฟอันยาวนาน นักข่าวไฟแรงคนนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับ เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ นักธรณีวิทยาที่มีชื่อเสียง นักกฎหมายมากฝีมือ รวมถึงนักลงทุนระดับหัวกะทิ เขาได้ซึมซับเอาความรู้ทางการเงินที่หาเรียนจากที่ไหนไม่ได้ระหว่างยืนสูบซิการ์ นั่งเล่นไพ่โป๊กเกอร์ กับคนเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด  ด้วยบุคลิกเฉพาะของดาว ทำให้เหล่านักธุรกิจต่างชื่นชอบและเชื่อใจเขา โดยเฉพาะการที่เขาเป็นคนยึดมั่นความถูกต้อง รายงานซื่อตรงตามความเป็นจริงไม่มีบิดเบือนข้อมูล ดาวเลยมีโอกาสสัมภาษณ์บรรดานักการเงินที่ประสบความสำเร็จ และเริ่มจับจุดว่าอะไรคือสิ่งที่พวกนักลงทุนในวอลล์สตรีทต่างต้องการ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการโกยกำไรจากตลาด  ดาวลงมือเขียนบันทึกประสบการณ์ที่ได้ในการเดินทางครั้งนี้จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งเขาได้ใช้ตัวอักษรบรรยายให้คนอ่านได้เห็นภาพความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาร็อกกี้ บริษัทเหมืองแร่ บรรยากาศในเมือง ทั้งบาร์เหล้า ร้านพนัน และ ลานเต้นรำ  เขากระตุ้นความกระหายของนักลงทุน ด้วยการให้ข้อมูลการทำเหมืองแร่เงิน ที่เปลี่ยนคนให้กลายเป็นมหาเศรษฐีภายในพริบตา แล้วกระตุกฝันด้วยสถิติเหมืองจำนวนมากที่ขาดทุน ท้ายสุดเขากระทุ้งเตือนว่า ธุรกิจการทำเหมืองแร่ไม่เหมาะสำหรับทุกคน มันเหมาะสำหรับนักธุรกิจที่กล้าได้กล้าเสียยอมรับความเสี่ยงได้ เพื่อแลกกับโอกาสทำเงินมหาศาล และไม่มีการลงทุนไหนที่น่าหวาดเสียวเท่าการลงทุนในหุ้นเหมืองแร่อีกแล้ว  หลังการเดินทางจบลง ดาวได้ยื่นใบลาออกเพื่อตามล่าหาความฝันที่มหานครนิวยอร์ก ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เขาใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นใบเบิกทางสมัครงานกับ สำนักข่าวการเงิน Kiernan Wall Street ที่ทำหน้าที่กระจายข่าวการเงินให้กับธนาคารและโบรกเกอร์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากในขณะนั้น ทำให้ดาวไปเชิญตัว เอ็ดเวิร์ด เดวิส โจนส์ (Edward Davis Jones) นักข่าวมากฝีมือ อดีตนักศึกษาที่เรียนไม่จบจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งทั้งคู่เคยร่วมงานกันสมัยที่อยู่ Providence Evening Press โจนส์มีความชำนาญเรื่องเขียนรายงานวิเคราะห์ทางการเงิน แต่สิ่งที่ทำให้สองคู่หูถูกคอกันก็คือ ทัศนคติของการเป็นคนข่าว ที่ยึดมั่นรายงานความจริงโดยปราศจากอคติ ซึ่งยุคนั้นนักข่าวเศรษฐกิจบางคนแอบเขียนข่าวเพื่อปั่นราคาหุ้นของบริษัทที่ตนมีเอี่ยว ด้านมืดของนักข่าวบางคนที่บิดเบือนข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ทำให้ดาวเห็นว่า ตอนนี้สิ่งที่วอลล์สตรีทต้องการมากที่สุดคือสำนักข่าวการเงินน้ำดี อีกสักแห่ง ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเขาไม่เป็นคนที่ลงมือปั้นมันขึ้นมาเอง ในปี 1882 ชาร์ลส์ ดาว ร่วมกัน เอ็ดเวิร์ด เดวิส โจนส์ ก่อตั้ง บริษัท ดาวโจนส์แอนด์คอมพานี แม้ชื่อบริษัทจะดูยิ่งใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วมีสำนักงานใหญ่อยู่ใต้ถุนร้านขายลูกอมแห่งหนึ่งเท่านั้นเอง ทั้งคู่ได้ ชาร์ลส์ เบิร์กสเตรสเซอร์ (Charles Bergstresser) หัวหน้าฝ่ายการเงินในบริษัทแห่งหนึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยง ครั้งหนึ่งดาวพูดติดตลกว่า เบิร์กสเตรสเซอร์เชี่ยวชาญเรื่องการสัมภาษณ์คนเป็นพิเศษ จนสามารถพูดกับตุ๊กตาไม้หน้าออฟฟิศให้ยอมสารภาพความจริงได้ ปี 1883 บริษัทของดาว เริ่มวางสรุปข่าวการเงินในรอบบ่ายวันนี้ ความยาวขนาดสองหน้า ที่ชื่อว่า Customers' Afternoon Letter ซึ่งได้เสียงตอบรับดีมาก มีผู้สมัครสมาชิกกว่า 1,000 ราย มันได้กลายเป็นข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก  ต่อมา ปี 1889 ทั้งสามได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ชาร์ลส์ ดาว ผู้มีส่วนกำหนดทิศทางตลาดหุ้นว่าพรุ่งนี้จะขึ้นหรือลง หนังสือพิมพ์รายวันที่ตีพิมพ์ในมหานครนิวยอร์ก โดยดาวโจนส์แอนด์คอมพานี มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนข่าวสารและประเด็นด้านการเงิน  เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่มีพนักงาน 50 คน พร้อมแล้วที่จะสยายปีก พวกเขาคิดการใหญ่ว่าถึงเวลาที่แผ่นสรุปย่อสองแผ่นจะขยายสู่การเป็นหนังสือพิมพ์เต็มรูปแบบ โดยฉบับปฐมฤกษ์วางแผงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 1889 จำหน่ายราคาฉบับละสองเซนต์ หรือจ่ายเพียง 5 ดอลลาร์สหรัฐ แลกกับหนังสือพิมพ์รายปี  ดาว และ โจนส์ แบ่งงานกันทำ ดาวนั่งแท่นบรรณาธิการ ส่วนโจนส์ดูแลหลังบ้าน ทั้งคู่ยึดหลักความจริง โดยไม่ถูกครอบงำจากเม็ดเงินจากโฆษณา วอลล์สตรีทเจอร์นัลมีเนื้อหาครอบคลุมราคาหุ้น ตราสารหนี้ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ มีผู้สื่อข่าวกระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐฯ และอีกหลายเมืองทั่วโลก อย่างเช่น กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร  ด้วยการทำงานอย่างซื่อตรง ไม่รับสินบนจากบริษัทต่าง ๆ และการรายงานตามความเป็นจริงว่ามีกิจการใดบ้างที่พยายามปกปิดข้อมูลกำไรขาดทุน ทำให้เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล กลายเป็นสื่อทรงอิทธิพลทางด้านธุรกิจ โดยดาวมีความเชื่อมั่นว่า ข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจควรเป็นอาวุธที่พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ไม่จำกัดเพียงแค่โบรกเกอร์หรือนักธุรกิจใหญ่เท่านั้น ในปี 1898 เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล วางแผงฉบับเช้าเป็นครั้งแรก มีเนื้อหาครอบคลุมไปไกลกว่าเรื่องการเงิน เพราะมีการอัพเดทความคืบหน้าของสงครามสเปนกับอเมริกา โดยยังคงยึดมั่นความเที่ยงตรงของข้อมูลตามแบบฉบับของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลไม่เปลี่ยน นอกจากนี้ ดาวยังเพิ่มคอลัมน์ใหม่ ทั้งการรีวิวบริษัท วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาด ตอบคำถามที่นักลงทุนอยากรู้ แม้ต่อมาโจนส์จะเกษียณตัวเองไป แต่ดาวยังคงทำงานต่อ โดยขยายการรายงานข่าวครอบคลุมการเมืองอีกด้วย หลายสิบปีในอาชีพนักข่าว โดยเฉพาะการคลุกคลีในสายธุรกิจ และทำงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ดาวสั่งสมประสบการณ์การทำข่าวมาแล้วหลายหมื่นชั่วโมง นั่นเพียงพอแล้วที่ทำให้ดาวพอเห็นทิศทางความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจประเทศ เขาจับจุดได้ว่าบริษัทใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่บริษัทนั้นสามารถกำหนดทิศทางตลาดในอนาคตได้ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว ในช่วงปี 1890 ธุรกิจต่าง ๆ มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นมากมาย ทำให้บริษัทจำนวนมากต้องการข้อมูลธุรกิจ ดังนั้นในปี 1894 ดาวจึงได้คิดค้น “ดัชนีดาวโจนส์ขนส่ง” (Dow Jones Transportation Average) ขึ้นมา ต่อมาในปี 1896 เขาคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์” โดยติดตามราคาของหุ้นบริษัทใหญ่ ๆ จำนวน 12 บริษัท เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ปี 1896 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และภายในปีเดียวดัชนีนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในตัวกำหนดทิศทางตลาดทุนโดยรวมของสหรัฐฯ ปัจจุบันดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มจากการรวมราคาของหุ้น 12 หุ้น เป็น 30 หุ้น และคำนวณโดยหารด้วย Divisor Dow ตัวเลขที่มีไว้เพื่อความถูกต้องแม่นยำของดัชนี ปี 1902 ดาวเริ่มมีปัญหาสุขภาพ บวกกับหุ้นส่วนคือเบิร์กสเตรสเซอร์ต้องการเกษียณอายุ ทั้งคู่จึงตัดสินใจขายหุ้น ดาวนั่งแท่นบรรณาธิการฉบับสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน ปี 1902 แปดเดือนต่อมา ชาร์ลส์ ดาว ก็เสียชีวิตลงในวันที่ 4 ธันวาคม ปี 1902 ด้วยวัย 51 ปี ต่อมาได้มีผู้นำบทบรรณาธิการของดาวที่เคยเขียนให้กับเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลไปรวบรวม กลายเป็น “ทฤษฎีดาว” ทฤษฎีวิเคราะห์พฤติกรรมตลาดอันโด่งดังที่สามารถทำนายการขึ้นลงของตลาดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนักลงทุนรุ่นหลังจำนวนมากยังคงยืดถือมาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะผ่านมานานกว่าร้อยปี แต่สิ่งที่ ชาร์ลส์ ดาว สร้างขึ้น ทั้ง เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ และ ทฤษฎีดาว ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก เป็นเพราะสิ่งที่ดาวยึดมั่นมาตลอดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต นั่นคือ การรายงานข่าวอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง  ที่มา : https://www.dowjones.com https://en.wikipedia.org https://www.finnomena.com