ชาร์ลส ฮอสกินสัน: จาก Ethereum สู่ Cardano บิดาเงินดิจิทัล ‘สีเขียว’ เพื่อโลกและผู้ยากไร้

ชาร์ลส ฮอสกินสัน: จาก Ethereum สู่ Cardano บิดาเงินดิจิทัล ‘สีเขียว’ เพื่อโลกและผู้ยากไร้
“Cardano คือ ระบบปฏิบัติการณ์ทางการเงินสำหรับโลกกำลังพัฒนา” ชาร์ลส ฮอสกินสัน ผู้ก่อตั้ง Cardano แพลตฟอร์มบล็อกเชนเจ้าของเหรียญคริปโตฯ Ada ที่กำลังมาแรง กล่าวถึงผลผลิตของตนเองเมื่อถูกขอให้นิยาม Cardano เพียงสั้น ๆ แค่ประโยคเดียว Cardano และเหรียญ Ada กระโดดขึ้นมาเป็นเงินดิจิทัลสกุลใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจาก Bitcoin และ Ethereum แบบไม่มีใครคาดคิด หลังมูลค่าของมันพุ่งขึ้นกว่า 36% ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2021 โดยมีมูลค่าตลาดขึ้นไปถึง 111,230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จุดเด่นที่ทำให้ Cardano แตกต่างจากคริปโตฯ เจ้าอื่น คือ การเป็นบล็อกเชนสาธารณะเจ้าแรกที่พัฒนาตามหลักวิชาการแบบ ‘peer reveiw’ ใช้อัลกอริธึมประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าช่วยประชากรโลกที่สามเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มาจากแนวคิดของ ชาร์ลส ฮอสกินสัน ชายผู้ร่วมให้กำเนิดเงินคริปโตฯ 2 สกุลดังทั้ง Ethereum และ Cardano   จากฮาวายสู่บิดาสองสกุลเงินดิจิทัล ชาร์ลส ฮอสกินสัน (Charles Hoskinson) เกิดวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 ที่รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา พออายุ 8 ขวบ ครอบครัวย้ายมารัฐโคโลราโด ทำให้เขาได้เข้าศึกษาสาขาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมโทร สเตท เมืองเดนเวอร์ และจบปริญญาโทสาขาทฤษฎีจำนวนเชิงวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด วิทยาเขตโบลเดอร์ บัณฑิตหนุ่มนักคณิตศาสตร์จากฮาวายเริ่มสนใจคริปโตเคอเรนซี ตั้งแต่ปี 2013 และเริ่มทำโครงการศึกษา Bitcoin ก่อนที่ปลายปีเดียวกัน เขาได้รู้จักกับ วิทาลิก บูเทอริน โปรแกรมเมอร์ชาวแคนาดาเชื้อสายรัสเซีย วัย 19 ปี และร่วมกันก่อตั้งแพลตฟอร์มบล็อกเชน Ethereum พร้อมให้กำเนิดเหรียญ Ether ซึ่งต่อมากลายเป็นคริปโตฯ สกุลใหญ่อันดับ 2 รองจาก Bitcoin หลังร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้แค่ปีเดียว ฮอสกินสันมีปัญหาขัดแย้งกับบูเทอรินเกี่ยวกับทิศทางขององค์กร เขาอยากให้ Ethereum เป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ แต่บูเทอรินไม่ต้องการผลกำไร ทำให้สุดท้าย ฮอสกินสันตัดสินใจแยกตัวออกมาสร้างโปรเจกต์ใหม่ของตนเองชื่อ Input Output Hong Kong (IOHK) IOHK ก่อตั้งในปี 2015 เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาซอฟแวร์ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มเทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญา smart contract โดยใช้ชื่อ Cardano ตั้งตามชื่อของเจโรลาโม คาร์ดาโน (Gerolamo Cardano) แพทย์และนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีในศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเขียนตำราพีชคณิตเล่มแรกเป็นภาษาละติน Cardano เป็นแพลตฟอร์มสาธารณะที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าใช้งาน และเป็นเจ้าของเหรียญคริปโตฯ Ada ซึ่งตั้งตามชื่อของ ‘เอด้า เลิฟเลซ’ หรือชื่อจริง ออกัสต้า คิง (Augusta King) ขุนนางหญิงชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 โดยหลายคนยกย่องให้เธอเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์คนแรกของโลก   พัฒนาค่อยเป็นค่อยไปยึดหลักวิชาการ Cardano ก่อตั้งในปี 2015 และเปิดตัวใช้งานครั้งแรกปี 2017 เป็นบล็อกเชนแพลตฟอร์มแรกที่ตั้งขึ้นผ่านกระบวนการวิจัย พัฒนา และประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญตามหลักวิชาการ หรือ ‘peer review’ โดย IOHK ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชื่อดังอย่างมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (สกอตแลนด์) สถาบันเทคโนโลยีกรุงโตเกียว (ญี่ปุ่น) และมหาวิทยาลัยไวโอมิง (สหรัฐฯ) เหตุผลที่ฮอสกินสัน เลือกสร้างบล็อกเชนตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนมากกว่าแพลตฟอร์มรุ่นพี่อย่าง Bitcoin และ Ethereum เนื่องจากเขามองเห็นจุดอ่อนของแพลตฟอร์มทั้งสอง และพยายามพัฒนาระบบใหม่เพื่อแก้ไข pain point เหล่านั้น Cardano ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยและการบริหารปกครอง โดยฮอสกินสันมั่นใจว่า หลักการทั้ง 2 ข้อของ Cardano เหนือกว่า Ethereum และระหว่างที่ Ethereum มุ่งพัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนคริปโตฯ หรือซื้อขายงานศิลปะดิจิทัล (NFTs) เขากลับให้ความสำคัญกับแอปฯ ที่ทำงานเชิงสังคมมากกว่าอย่างแอปฯ แกะรอยห่วงโซ่อุปทาน หรือการลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ ซีอีโอของ IOHK บอกว่า เมื่อระบบของ Cardano เข้าที่เข้าทาง มีนักลงทุนกว่า 100 บริษัท เตรียมย้ายค่ายจาก Ethereum มาอยู่กับแพลตฟอร์มใหม่ของเขา เนื่องจากมีทั้งประสิทธิภาพและค่าธรรมเนียมที่น่าดึงดูดใจมากกว่า “คุณสามารถนำระบบการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi) ของคุณมาใช้งานบนระบบของผม ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า 100 - 1,000 เท่า” ฮอสกินสันกล่าวพร้อมชี้ว่า คติในการพัฒนาแพลตฟอร์มของเขา คือ ‘ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม’ (To go fast, go slow)   ประหยัดพลังงานลบข้อครหาทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าแล้ว Cardano ยังมีจุดเด่นเหนือกว่า Bitcoin และ Ethereum เรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนรายใหญ่ที่สุดที่ใช้อัลกอริธึมตรวจสอบรับรองธุรกรรมด้วยระบบ proof-of-stake (PoS) ในโลกบล็อกเชน การป้องกันการ copy สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเงินคริปโตฯ เพื่อนำไปใช้ซ้ำ ถือเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี ขณะที่ PoS คือ อัลกอริธึมบันทึกธุรกรรมป้องกันการ copy โดยใช้วิธีสุ่มเลือกผู้ได้สิทธิตรวจสอบธุรกรรมใหม่และจะได้รับผลตอบแทน วัดจากจำนวนเหรียญที่ฝากไว้ในระบบ ใครมีเหรียญเดิมพัน (stake) ในบล็อคเชนมาก ยิ่งเพิ่มโอกาสถูกเลือกเป็นผู้สร้างบล็อกใหม่และได้ค่าตอบแทน ส่วนอัลกอริธึมที่ Bitcoin และ Ethereum ใช้เรียกว่า proof-of-work (PoW) เป็นระบบตรวจสอบธุรกรรมที่ให้รางวัลการทำงาน (work) กับนักขุดซึ่งสามารถแก้สมการของบล็อกที่ทำธุรกรรมได้เป็นคนแรก วิธีนี้ใครมีคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพประมวลผลความเร็วสูงกว่า ยิ่งมีโอกาสแก้สมการได้ก่อน การตรวจสอบธุรกรรมแต่ละครั้งต้องทำงานบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน และเป็นข้อเสียหลักที่ถูกหลายฝ่ายโจมตี อุตสาหกรรม Bitcoin มีการประเมินว่าปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 57 ล้านตันต่อปี เทียบเท่าคาร์บอนฟุตปรินต์ของประเทศยุโรปขนาดเล็ก 1 ประเทศ ขณะที่จีนและอิหร่าน ต้องประกาศแบนกิจกรรมขุด Bitcoin ทั้งหมดชั่วคราวในฤดูร้อนปี 2021 เพราะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงาน และกระแสไฟฟ้าดับหลายครั้ง ฮอสกินสันแก้ pain point นี้ด้วยการใช้อัลกอริธึม PoS กับ Cardano ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่า คาดกันว่า แพลตฟอร์ม Cardano ทั้งระบบใช้ไฟฟ้าเพียง 6 กิกาวัตต์/ชม. (GWh) ไม่ถึง 0.01% ของ Bitcoin นอกจากนี้ PoS ยังช่วยกระจายโอกาสทำกำไรให้ผู้ถือเหรียญคริปโตฯ ทุกคน เพราะพวกเขาสามารถนำเหรียญไปฝากรวมกันไว้ใน pool เพื่อเพิ่มโอกาสถูกเลือกให้บันทึกธุรกรรมและได้รับผลตอบแทนตามสัดส่วนเงินเดิมพัน หรือที่เรียกว่า การทำฟาร์มเหรียญ (yield farming) ข้อดีเหล่านี้เป็นที่รับรู้ทั่วไปจน Ethereum พยายามเปลี่ยนแปลงอัลกอริธึมจาก PoW มาสู่ PoS แบบเดียวกับ Cardano ในการอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ Ethereum 2.0     เทคโนโลยีมุ่งพัฒนาชีวิตผู้ยากไร้ แม้ IOHK จะเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งรับงานที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชน แต่ฮอสกินสันนำกำไรที่ได้ไปใช้เป็นทุนวิจัยพัฒนาต่อยอด Cardano โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้ยากไร้ และลดช่องว่างรายได้ระหว่างประชากรในประเทศโลกที่หนึ่งและโลกที่สาม ผู้ก่อตั้ง Cardano เชื่อว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศยากจนกับชาติร่ำรวย สาเหตุหลักมาจากการขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งงาน แหล่งเงินทุน และโอกาสทางการศึกษา ซึ่งรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดมักมาจากระบบคอรัปชัน และมีรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงหวังใช้แพลตฟอร์มบล็อกเชน ซึ่งปราศจากคนกลาง และสามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทั่วโลกมาช่วยแก้ปัญหา โดยมองโกเลีย และเอธิโอเปีย คือ สองประเทศแรกที่ฮอสกินสันมองว่า มีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการหันมาใช้เงินคริปโตฯ เป็นแหล่งเงินทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนและสะสมความมั่งคั่ง นอกจากนี้ Cardano ยังจับมือกับกระทรวงศึกษาธิการเอธิโอเปีย นำระบบรับรองผลการศึกษามาไว้บนบล็อกเชน เพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากในการตรวจสอบ โดยข้อมูลเกรดและคะแนนของนักเรียนกว่า 5 ล้านคน จาก 3,500 โรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล - มัธยมศึกษา ล้วนถูกนำมาใส่ในบล็อกเชน และมีแผนต่อยอดสู่ระดับอุดมศึกษา ด้วยความเชื่อที่ว่า วิธีนี้จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งงานให้นักเรียนนักศึกษา และทำให้นายจ้างค้นหาลูกจ้างที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น “เราเชื่อว่า บล็อกเชนให้โอกาสสำคัญในการยุติความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานที่สูงขึ้น” เกตาฮุน เมคุเรีย รัฐมนตรีศึกษาธิการเอธิโอเปีย แถลงถึงโครงการความร่วมมือกับ IOHK นอกจากความร่วมมือที่กล่าวมา ฮอสกินสันยังมีแผนจับมือกับรัฐบาลโลกที่สาม ที่ไม่มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ร่วมกันพัฒนาวิธีระบุอัตลักษณ์บุคคล และระบบบัตรประจำตัวประชาชนบนบล็อกเชน หากเป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ เชื่อว่า Cardano นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการยกย่องเรื่องการช่วยเหลือสังคม แพลตฟอร์มนี้ยังจะได้ผู้ใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะจากประชากรในโลกกำลังพัฒนานับพันนับร้อยล้านคน นั่นคือวิสัยทัศน์ของ ชาร์ลส ฮอสกินสัน นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้นำจุดอ่อนและข้อบกพร่องของ Ethereum บล็อกเชนแรกที่ตนเองร่วมก่อตั้ง มาปรับปรุงแก้ไขด้วยหลักวิชาการ จนกลายเป็น Cardano แพลตฟอร์มสกุลเงินดิจิทัล ‘รักษ์โลก’ ที่กำลังร้อนแรง ทั้งในแง่ธุรกิจและการรับใช้สังคม   เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.nasdaq.com/articles/charles-hoskinson-interview-from-ethereum-to-cardano-and-iohk-2019-09-23 https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-08-07/developer-behind-surging-cardano-token-talks-crypto-blockchain https://finance.yahoo.com/news/cardano-plans-build-national-id-073828481.html https://www.euronews.com/next/2021/08/23/could-cardano-s-green-cryptocurrency-ada-take-over-bitcoin-and-etherium