ชาลส์ วอเทอร์ทัน นักผจญภัยยุคอาณานิคม ผู้สร้างวีรกรรมขี่จระเข้ และอยากให้ค้างคาวแวมไพร์กัด

ชาลส์ วอเทอร์ทัน นักผจญภัยยุคอาณานิคม ผู้สร้างวีรกรรมขี่จระเข้ และอยากให้ค้างคาวแวมไพร์กัด
คำเตือน: บทความนี้พูดถึงความรุนแรงต่อสัตว์ เราอาจนึกถึง สตีฟ เออร์วิน (Steve Irwin) เมื่อนึกถึงนักสำรวจและนักอนุรักษ์ที่กล้าเผชิญหน้ากับสัตว์อย่างใกล้ชิด คราวนี้ ขอเชิญทุกท่านมาพบ สตีฟ เออร์วิน แห่งศตวรรษที่สิบเก้า ผู้มีชื่อว่า ชาลส์ วอเทอร์ทัน (Charles Waterton) ชายอังกฤษจากเมืองเวคฟีลด์ ผู้กลายเป็นนักสำรวจในทวีปอเมริกาทั้งเหนือ กลาง และใต้ วอเทอร์ทันเคยขึ้นคร่อมจระเข้เคแมน และเคยเล่าไว้ในบันทึกการเดินทางของเขาว่า ต้องการถูกค้างคาวแวมไพร์กัด นอกจากความบ้าบิ่นที่ทำให้วอเทอร์ทันเป็นที่รู้จักแล้ว เขายังเป็นคนเปิดศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์เป็นคนแรก ๆ ในสหราชอาณาจักรด้วย วอเทอร์ทันเกิดเมื่อ ค.ศ. 1782 ในครอบครัวคาทอลิกในเมืองเวคฟีลด์ ครอบครัวของเขาเป็นผู้ดีมีที่ดิน วอเทอร์ทันเติบโตในคฤหาสน์วอลตัน ฮอลล์ และมีความสนใจธรรมชาติตามพ่อของเขา เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนคาทอลิกในเมืองทัดโฮ และเริ่มสนใจรังนก แต่อาจารย์กลับไม่เห็นว่าความสนใจของเขามีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ชีวิตตามประสาเด็กซนอย่างวอเทอร์ทันก็ทำให้เขาได้คลุกคลีกับธรรมชาติและสรรพสัตว์ นอกจากจะได้ออกไปพบนกต่าง ๆ และพบเจอกับชาวนาชาวไร่แล้ว เขายังได้เจอกับเจ้าหน้าที่ทหารจากบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนอังกฤษที่ค้าขายและควบคุมธุรกิจในประเทศอาณานิคมบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ทหารผู้นี้มีสมญาว่า นายพันไทเกอร์ ดัฟฟ์ (Colonel Tiger Duff) ดัฟฟ์เคยถูกเสือขย้ำจนมีแผลเป็น การพบเจอกับนายพันดัฟฟ์อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้วอเทอร์ทันสนใจจะสำรวจสัตว์ต่างแดนก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นนี้ชวนให้คิดว่าเขาไม่ได้แค่สนใจสัตว์ แต่เขาสนใจการผจญภัย ซึ่งดูจะขัดกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ และอาจแสดงถึงภัยอันตรายของลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งกำราบคนและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในดินแดนอาณานิคม หลังจากวอเทอร์ทันเรียนจบระดับวิทยาลัย เขาก็ได้โอกาสไปเผชิญโลกกว้างในประเทศสเปน และภายหลังเดินทางไปยังเดเมรารา ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกายอานา) สาเหตุที่เขาไปยังทั้งสองดินแดนนี้ได้แบบไม่ยากเย็นอะไรนัก ก็ด้วยเส้นสายญาติมิตรและครอบครัว ครอบครัวของแม่เขาซึ่งเป็นคาทอลิกอย่างเหนียวแน่นตัดสินใจย้ายประเทศมาอยู่ที่สเปน เพราะอังกฤษยังไม่ให้โอกาสและเปิดรับคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมากนัก นอกจากนี้ ครอบครัวทางฝั่งพ่อของเขายังมีนิคมเกษตร (plantation) หรือไร่ขนาดใหญ่จำนวนมากในเดเมราราอีกด้วย วอเทอร์ทันขอให้พ่ออนุญาตให้เขาเดินทางไปตรวจดูธุรกิจการเกษตรของครอบครัวที่เดเมรารา เมื่อพ่ออนุญาต เขาจึงได้พบกับญาติพี่น้องทางฝั่งพ่อ ซึ่งทำไร่กาแฟ ไร่อ้อย และไร่ฝ้าย มีแรงงานทาสรวมกว่า 800 คน เขาถือโอกาสเดินทางตรวจดูธุรกิจของทางบ้าน และสำรวจตรวจตราธรรมชาติในดินแดนแปลกใหม่ เขาเดินทางทั่วเดเมรารา ล่องแม่น้ำโอริโนโกในเวเนซุเอลา และเดินทางต่อไปถึงบราซิล ในวงการพิพิธภัณฑ์และวงการชีววิทยา วอเทอร์ทันเป็นที่รู้จักในฐานะผู้พัฒนาวิธีการสตัฟฟ์สัตว์ และผู้สร้างศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์แห่งแรกในอังกฤษ แต่สำหรับคนในสมัยเดียวกัน วอเทอร์ทันเป็นที่รู้จักในฐานะนักผจญภัยตัวยง ผู้ชอบคลุกคลีกับสัตว์ร้าย ซึ่งวีรกรรมโด่งดังที่สุดที่คนสมัยนั้นรู้จักดีคือการขี่จระเข้เคแมน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเขาเดินทางล่องแม่น้ำโอริโนโกในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า และต้องการ “ตก” จระเข้ เมื่อจระเข้ติดกับที่ชาวอเมริกันพื้นถิ่นทำไว้ เขาบอกชาวบ้านและผู้ช่วยทุกคนว่า เขาต้องการให้ทุกคนลากมันขึ้นมาจากน้ำแล้วจับมัน ไม่มีใครยอมทำ ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกันพื้นถิ่น หรือลูกน้องเชื้อสายอัฟริกันที่ติดตามเขามาก็ตาม บางคนเสนอว่าจะยิงธนูหรือปืนเพื่อฆ่ามันในน้ำ เขาโมโหคนเหล่านี้มากเพราะ “ความขี้ขลาด” วอเทอร์ทันกล่าวว่า เขาเดินทางมามากกว่าสามร้อยไมล์ เพราะหวังจะได้จระเข้เคแมนในสภาพไร้บาดแผล ไม่ได้อยากได้ตัวอย่างที่เสียหาย เขาวางแผนอย่างดีว่าจะให้บรรดาลูกน้องดึงเชือกให้จระเข้เข้าใกล้เรือแคนูที่เขานั่งอยู่มากขึ้น จากนั้นเขาจะเอาใบเรือกระทุ้งปากมัน เพื่อฆ่ามันให้ตายโดยไม่ทำให้ผิวหนังภายนอกเสีย แต่แล้ว เมื่อจระเข้เข้าใกล้ เขาก็กระโจนขึ้นคร่อม และให้ลูกน้องช่วยลากมันขึ้นฝั่ง ก่อนจะจัดการมัดปาก มัดเท้า แล้วฆ่ามันภายหลัง เพื่อผ่าศึกษาและนำไปสตัฟฟ์ วีรกรรมขี่จระเข้นั้นเป็นที่เลื่องลือมาก กลายเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เมื่อบันทึกการเดินทางของเขาตีพิมพ์ อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ เขากล่าวอย่างชัดเจนว่า ต้องการจะถูกค้างคาวแวมไพร์กัดและดูดเลือด เขาเอาค้างคาวแวมไพร์ตัวหนึ่งที่เขาตั้งใจจะเลี้ยงเหมือนเป็นเพื่อนระหว่างเดินทางและพักแรมในป่ามาไว้ในบ้าน แถมเรียกค้างคาวตัวนี้ว่า “หมอราตรี” (nocturnal surgeon) เพราะเขามองว่าการดูดเลือดของค้างคาวพวกนี้ไม่ได้ต่างจากการถ่ายเลือดของหมอในสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไร ความคิดแบบนี้ทำให้เพื่อนร่วมห้องชาวสกอต ซึ่งบอกว่าเคยโดนค้างคาวพวกนี้ดูดเลือดจนเกือบตายนั้นโกรธมาก สำหรับวอเทอร์ทันแล้ว เขาคิดว่าการถูกดูดเลือดเพียงไม่กี่ออนซ์ในหนึ่งครั้ง ถือว่าน้อยนิดมากสำหรับทั้งชีวิต เขาอยากจะถูกดูดเลือดเพียงเพื่อจะได้เล่าให้คนอื่นฟังได้ว่าเขาถูกค้างคาวแวมไพร์ดูดเลือดแล้ว นอกจากนี้ ตามความเชื่อเรื่องค้างคาวแวมไพร์ที่ว่า เมื่อค้างคาวมาดูดเลือดนั้น มันจะกระพือปีกช่วยกล่อมให้เราหลับสบายก่อนจะดูดเลือด วอเทอร์ทันกล่าวในบันทึกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การถูกดูดเลือดก็ยิ่งไม่เป็นอันตราย เขาถึงขั้นเลี้ยงค้างคาวแวมไพร์ในห้อง และโผล่เท้าออกไปจากผ้าห่มในขณะหลับ แต่เขาก็ไม่เคยถูกดูดเลือดเลย (ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ค้างคาวที่เขานำมาเลี้ยงในห้องอาจไม่ใช่ค้างคาวแวมไพร์ก็เป็นได้ เพราะในสมัยศตวรรษที่สิบแปด เชื่อว่าค้างคาวแวมไพร์มีขนาดใหญ่ ทั้งที่จริง ๆ ค้างคาวแวมไพร์มีขนาดเล็กประมาณฝ่ามือคนเท่านั้น) แต่อย่างน้อย วอเทอร์ทันก็เป็นคนแรก ๆ ที่รู้ว่าค้างคาวดูดเลือดไม่น่าจะทำให้คนตายได้จริง ๆ ดูเหมือนว่าวอเทอร์ทันจะเห็นว่าการถูกดูดเลือดเป็นการผจญภัยอีกชนิดหนึ่งนั่นเอง ยังมีเหตุการณ์ในชีวิตวอเทอร์ทันซึ่งเกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าดุร้ายอีกมาก เช่น การจับงูหางกระดิ่งด้วยมือเปล่าโชว์ผู้ชม หรือการเลี้ยงแมวป่าที่คฤหาสน์เพื่อช่วยล่าสัตว์ (เขาสตัฟฟ์มันภายหลัง) แต่ “ความรักธรรมชาติ” ของเขาไม่ได้มีด้านเดียว นอกจากการล่าและครอบครองสัตว์ในดินแดนอาณานิคมแล้ว เขายังกลับมาสร้างเขตรักษาพันธุ์นก ณ บริเวณคฤหาสน์ของเขาอีกด้วย นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้นำในการต่อสู้กับมลภาวะทางอากาศจากโรงงานบริษัทผลิตสบู่ฮอดจ์สันและซิมป์สัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านของเขาอีกด้วย เขาชนะคดีและโรงงานผลิตสบู่ต้องย้ายไปที่อื่น ชีวิตของ ชาลส์ วอเทอร์ทัน ชวนให้เรากลับมาคิดถึงที่มาที่ไปของแนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตววิทยา ในขณะที่วอเทอร์ทันมีคุณูปการกับวงการสัตววิทยา และรักสิ่งแวดล้อม แต่จิตวิญญาณนักผจญภัย ซึ่งสนับสนุนโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษ ทำให้วอเทอร์ทันต้องการจะควบคุมและจัดการสัตว์ร้าย การสร้างองค์ความรู้ก็เป็นวิธีการเอาชนะอีกทางหนึ่งเช่นกัน การขี่จระเข้และความต้องการจะให้ค้างคาวดูดเลือดนั้นสะท้อนความต้องการอยู่เหนือกว่าโลกธรรมชาติและดินแดนอาณานิคม ภายใต้ความต้องการผูกพันและอยากจับต้อง มนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างเราอาจต้องกลับมาถามตัวเองว่า หากเรารักสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ เรารักแบบไหน เรารักอะไร และเราต้องการครอบครองมันแค่ไหน   เรื่อง: มิ่ง ปัญหา ภาพ: https://www.lindahall.org/charles-waterton/