ชาร์ลี แชปลิน: The Tramp คนจรหนวดจิ๋ม ในชุดหลวมโพรก ที่เบื้องหน้าทำให้โลกหัวเราะ เบื้องหลังแบกโลกไว้

ชาร์ลี แชปลิน: The Tramp คนจรหนวดจิ๋ม ในชุดหลวมโพรก ที่เบื้องหน้าทำให้โลกหัวเราะ เบื้องหลังแบกโลกไว้
ท่ามกลางเสียงเปียโนที่เร่งเร้า ในภาพของหนังขาว-ดำยุคโบราณ ปรากฏร่างของชายหนุ่มแต่งตัวมอซอไร้หัวนอนปลายเท้า แต่เขากลับได้ไปเกี่ยวพันกับสถานการณ์ที่ชวนหัวและเรียกเสียงฮา ไม่ว่าจะเป็นคณะละครสัตว์ / โรงงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม / เวทีมวย ไปจนถึงสมรภูมิสงคราม  โลกนิยามผู้ชายคนนี้ในฐานะผู้บุกเบิกการสร้างเสียงหัวเราะให้เหนือชั้น เป็นโกลเด้นบอยผู้สร้างมาตรฐานสำคัญให้ฮอลลีวูด เป็นผู้ชายมากรักมากภรรยา ไปจนถึงเป็นผู้ที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ แม้เรื่องราวบนหน้าจอจะสร้างเสียงหัวเราะ แต่หลังจอกลับเต็มไปด้วยเรื่องขื่นขมระทมทุกข์  หากบนจอคือด้านสว่างที่ฉายผ่านฟิล์มเพื่อบ่งบอกด้านที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ของชายหนุ่มไร้นามที่มักถูกเรียกขานว่า The Tramp อีกด้านที่เต็มไปด้วยความมืดดำที่เขาต้องเผชิญนั้นกลับเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง จนใครต่อใครต่างนิยามชีวิตของเขาว่า ‘หัวเราะร่า น้ำตาริน’ นี่คือชีวิตทั้งสองด้านของผู้ชายคนนี้...ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin)   ชีวิตที่เริ่มต้นด้วยความลำบาก เสมือนจุดเริ่มของหนังดรามาเรียกน้ำตา ชาร์ลส์ สเปนเซอร์ แชปลิน เกิดในเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เขาสืบสายเลือดนักแสดงตั้งแต่ลืมตาดูโลก จากพ่อผู้เป็นนักร้องและนักแสดงผู้มีความสามารถ และแม่ที่เป็นนักร้องโอเปราเสียงใส เขามีพี่ชายต่างมารดาแต่รักกันดีนามว่า ซิดนีย์ จอห์น แชปลิน เขามักจะอยู่ข้าง ๆ เวทีเฝ้ามองพ่อและแม่แสดงละครและร้องเพลงด้วยสายตาอันชื่นชมและซึมซับความสามารถทางการแสดงตั้งแต่ยังจำความไม่ได้  แต่น่าเสียดายที่ผู้เป็นพ่อแยกทางกับแม่ตั้งแต่พวกเขายังเล็ก และเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากอาการพิษสุราเรื้อรัง แม่ของแชปลินเสียใจจนกล่องเสียงของเธอมีปัญหาจนไม่สามารถร้องเพลงได้ วันที่สิ้นสุดในอาชีพการเป็นนักร้องของผู้เป็นแม่ กลับฉายแววของแชปลิน เมื่อขณะที่เธอร้องนั้นเสียงเกิดแหบแห้งจนไม่สามารถร้องได้ เสียงโห่ฮาจากผู้ที่มาดู ทำให้แม่ต้องหยุดร้องเพลงไป แต่เด็กชายแชปลินในวัยที่ไม่ประสีประสากลับหยุดสถานการณ์เลวร้ายในค่ำคืนนั้นด้วยการร้องและเต้นจนเปลี่ยนเสียงโห่เป็นเสียงเฮให้ความไร้เดียงสาของเด็กน้อยแชปลินแทน แต่ก็เป็นเพียงความสุขเพียงชั่วขณะ เมื่อผู้เป็นแม่ไม่อาจจะเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักร้องได้อีกต่อไป ความยากจนก็จู่โจมครอบครัวเธอทันทีทันใด เธอเริ่มมีอาการหวาดระแวงซึมเศร้าจนสุดท้ายก็กลายเป็นโรคทางจิต เด็กน้อยแชปลินถูกจับแยกไปอยู่ในโรงเรียนกินนอนอนาถาห่างแม่และพี่ชายตั้งแต่วัย 7 ขวบ ส่วนแม่ก็ต้องย้ายไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลจิตเวชแทน ด้วยความที่สนใจในการแสดงตั้งแต่แรกเริ่ม เด็กชายแชปลินไม่รอช้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรมบนเวทีในงานโรงเรียน ด้วยการเริ่มต้นจากการเต้นแท็ปจนได้บรรจุในคณะ The Eight Lancashire Lads และลีลาการเต้นของเขาก็ไปเตะตาเจ้าของโรงละครที่เชิญชวนเขาไปเล่นละครเวทีตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ความยากจนข้นแค้นทำให้เขาไม่ลังเลที่จะตอบรับคำเชื้อเชิญนั้น และเขาเริ่มค้นพบว่าเสียงหัวเราะของผู้ชมนั้นมีค่ายิ่งใหญ่และเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเขา เขาจึงเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตัวเองให้เป็นดาวตลกที่มีฝีมือขั้นเทพในตอนที่เขาอายุเพียง 18 ปี โดยมีพี่ชายเป็นคนดูแลและเป็นผู้จัดการส่วนตัว  ชื่อเสียงเริ่มต้นของแชปลินคือบทบาทชายกลางคนขี้เมาที่ถูกพูดถึงปากต่อปากในฐานะนักแสดงตลกเจ็บตัวหัวคิดสร้างสรรค์ จนโด่งดังไปทั่วเกาะอังกฤษ และถูกเชิญให้ไปเล่นต่างประเทศเป็นครั้งแรกที่เขาออกนอกมาตุภูมิไปยังดินแดนแห่งเสรีภาพ นั่นก็คือสหรัฐอเมริกานั่นเอง แชปลินยังคงสร้างเสียงหัวเราะผ่านบทลุงขี้เมาได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้จะเปลี่ยนจากอังกฤษสู่อเมริกา จนกระทั่งวันหนึ่ง ระหว่างที่พักงานแสดง เขาเดินเล่นไปยังสถานที่ใกล้ ๆ ที่พัก ได้ยินเสียงหัวเราะเล็ดลอดออกมาจากที่แห่งหนึ่ง แชปลินเดินตามเสียงหัวเราะนั้น แล้วเขาก็ได้พบห้องมืดที่ฉายแสงสาดใส่ผ้าใบสีขาว ปรากฏภาพเคลื่อนไหวสุดแสนอัศจรรย์ มันตรึงเขาจนต้องดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งนั้นเรียกว่า ‘ภาพยนตร์’    ฉายแววสู่นักแสดงตลกที่ทั้งโลกหลงรัก แม้จะเป็นศิลปะแขนงใหม่และไม่อาจจะรับประกันได้ว่ามันจะดังหรือดับ แต่เมื่อมีคนมอบโอกาสให้ดาวตลกอย่างเขาได้แสดงฝีไม้ลายมือ ด้วยการส่งโทรเลขเชิญชวนเขาไปแสดงในหนัง แชปลินไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนั้น แม้จะได้ค่าจ้างเพียงสัปดาห์ละ 150 เหรียญเท่านั้น โดยคนที่พิมพ์โทรเลขเชิญชวนให้เขามาแสดงนั้นคือ ‘แมค เซนเน็ตต์’ เจ้าของค่ายหนัง Keystone Studios ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน โดยแรกเริ่มแมคแปลกใจว่าคนที่เขาชวนคือลุงขี้เมา ไม่ใช่เด็กหนุ่มหน้าละอ่อนที่ยืนอยู่ตรงหน้า จนกระทั่งแชปลินต้องแสดงให้ดูตรงหน้า แมคถึงเชื่อว่าเขาเชิญมาถูกคน  หนังเรื่องแรกที่ชาร์ลี แชปลิน แสดงภายใต้สตูดิโอ Keystone คือหนังเรื่อง Making a Living (1914) ซึ่งชาร์ลี แชปลิน ยังไม่ได้อยู่ในยูนิฟอร์มที่ทั้งโลกรู้จักกัน แต่เขาก็ได้รับบทนำเป็นเรื่องแรกในบทบาทจอมต้มตุ๋นที่ไปปั่นป่วนกวนประสาทนักข่าว การแสดงเรื่องแรกของเขาได้รับการชื่นชมในการเล่นหนังด้วยภาษากายที่เป็นธรรมชาติ จนเป็นที่ถูกใจของทั้งคนดูและเจ้าของสตูดิโอ Keystone  แต่ที่ไม่ถูกใจกลับกลายเป็นทีมงาน โดยเฉพาะผู้กำกับอย่าง เฮนรี เลอหร์แมน ที่รู้สึกว่าแชปลินก้าวก่ายการทำงานของเขามากจนเกินไป รวมไปถึงการไม่เล่นตามบทที่เขาวางเอาไว้ “ไอ้หนูนี่มันจองหองและรู้เยอะจนเกินไป รับรองได้ว่าอนาคตมันสั้นอย่างแน่นอน”  แต่หาได้เป็นอย่างที่ผู้กำกับได้ปรามาสไว้ เพราะหนังเรื่องที่สอง แชปลินก็ฉายแววการแสดงในหนัง Kid Auto Races at Venice (1914) ที่เขาค้นพบคาแรคเตอร์ The Tramp หนุ่มพเนจรไร้หัวนอนปลายเท้าที่ไปปั่นป่วนตากล้องที่กำลังถ่ายทำการแข่งรถเยาวชน ที่เราจะได้เห็นการไปโฟโต้บอมบ์เรียกร้องความสนใจหน้ากล้องตลอดเวลา แม้จะเป็นหนังเรื่องแรกที่ได้เห็นชาร์ลี แชปลินในบทบาทซำเหมาพเนจร หนวดจิ๋ม เสื้อผ้าหลวมโพรก เดินปลายเท้าห่างเหมือนเป็ด และถือไม้เท้าโทรม ๆ แต่หนังความยาวเพียง 6 นาที แชปลินกลับรู้สึกว่าเขาถูกกลั่นแกล้งจากผู้กำกับที่หั่นการแสดงชั้นดีของเขาทิ้งไปด้วยความหมั่นไส้ส่วนตัว (แต่ในความเป็นจริงแล้วหนังเรื่อง Mabel’s Strange Predicament (1914) ควรนับว่าเป็นหนังเรื่องแรกของเขาในคาแรคเตอร์ The Tramp เนื่องจากเรื่องนี้ถ่ายทำก่อน แต่หนังได้ฉายทีหลัง Kid Auto Races at Venice)  ชาร์ลี แชปลิน ได้กล่าวถึงที่มาของการแต่งชุดจนกลายเป็นคาแรคเตอร์ประจำตัวตลอดกาลในหนังสือ My Autobiography ว่า “ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าจะแต่งหน้าแต่งตัวแบบไหนดี เพราะผมไม่ชอบตอนที่เล่นในเรื่อง Making a Living เลย ผมจึงเดินไปที่ตู้เสื้อผ้าและหยิบกางเกงทรงหลวม รองเท้าขนาดใหญ่ ไม้เท้า และหมวกดาร์บี้มาวางเพื่อให้ทุกอย่างมันดูขัดแย้งกัน เพื่อไม่ให้รู้ว่าตัวละครของผมนั้นดูแก่หรือเด็ก เพราะเจ้าของ Keystone คาดหวังว่าผมจะเป็นผู้ชายที่มีอายุ ผมเลยเพิ่มหนวดเล็ก ๆ ก่อนจะแต่งตัวผมไม่รู้เลยว่าตัวละครนั้นต้องมีบุคลิกอย่างไร แต่พอได้แต่งตัวเสื้อผ้าหน้าผมครบถ้วน ทำให้ผมรู้สึกทันทีว่าจะเดินเหินในแบบใด และเมื่อถึงเวลาถ่ายทำ มันก็ซึมซับตัวตนโดยสมบูรณ์”  ในปี 1914 ชาร์ลี แชปลิน ได้แสดงหนังให้กับสตูดิโอ Keystone ถึง 11 เรื่อง เป็นหนังสั้นความยาว 1-2 ม้วน ระหว่างที่เขาแสดงก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ พร้อมทั้งศึกษาและเรียนรู้การถ่ายทำไปพร้อม ๆ กับการกวนประสาททีมงาน จนท้ายที่สุดผู้กำกับในสังกัดก็ทนความอวดดีของเด็กหนุ่มอย่างแชปลินไม่ไหว แต่สตูดิโอก็ไม่กล้าที่จะไล่เขา เพราะหนังของแชปลินนั้นทำเงินทำทองและทำกำรี้กำไรให้กับสตูดิโออย่างมาก  สุดท้ายแชปลินก็ยื่นเจตจำนงว่า มันถึงเวลาแล้วที่เขาจะลงมือทำหนังด้วยตัวเอง จนเป็นที่มาของหนังเรื่องแรกที่กำกับและเขียนบทในนาม ชาร์ลี แชปลิน นั่นก็คือ Twenty Minutes of Love (1914) เรื่องราวของ The Tramp ที่ไปขวางการพลอดรักของคู่รักในสวนสาธารณะ แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็ทำให้แชปลินหลงใหลทั้งการแสดงและกำกับหนังไปพร้อม ๆ กัน  แต่ความอีโก้ อวดดี พร้อมกับการขอค่าตัวเพิ่มขึ้นหลังจากสร้างกำไรให้กับสตูดิโอได้เป็นกอบเป็นกำ กลับทำให้ Keystone เลือกที่จะปล่อยแชปลินไปอยู่สตูดิโออื่นที่ให้ค่าตัวสูงกว่า แต่ถึงแม้จะอยู่ร่วมกันไม่ถึงเดือน แชปลินก็ผลิตภาพยนตร์ให้ Keystone ทั้งในฐานะนักแสดงนำและกำกับเขียนบทถึง 35 เรื่องเลยทีเดียว  และสตูดิโอที่ 2 ที่อ้าแขนรับแชปลินเข้ามาสู่อ้อมกอดก็คือ Essanay Studios ที่เพิ่มเงินให้เขาเป็นเท่าตัว ในขณะที่แชปลินเริ่มรู้สึกว่าหนังของเขาวนอยู่กับที่ไม่ยอมไปไหน เขาจึงลองทำงานตลกที่แหวกไปจากการเป็นหนังตลกเจ็บตัว (Slapstick Comedy) โดยเพิ่มแง่มุมอันหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง The Tramp (1915) ที่เกี่ยวกับชายพเนจรที่ไปช่วยครอบครัวนางเอกจากการถูกปองร้ายจากเหล่านักเลงจนเกิดเป็นความรัก แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อนางเอกมีคนรักแล้ว  การเปิดเรื่องด้วยตลก ตบด้วยซีนแอ๊กชัน และปิดท้ายด้วยความซาบซึ้งและเศร้าใจ กลายเป็นทางถนัดของตัวแชปลินที่ยึดเป็นแบบอย่างตลอดไป แต่น่าเสียดายที่ทำหนังด้วยกันเพียง 16 เรื่อง แชปลินก็โบกมือลาค่าย Essanay Studios อีกครั้ง เนื่องจากไม่ปลื้มในการทำงานที่พิถีพิถันจนยาวนานเกินไปเมื่อเทียบกับคนทำหนังคนนอื่น ๆ ที่ทำงานอย่างรวดเร็วเพื่อออกฉายให้ทันเวลา  หลังจากนั้นแชปลินก็ย้ายไปค่าย Mutual Films ด้วยค่าตัวที่สูงที่สุดในบรรดาผู้สร้างและนักแสดงในยุคนั้น นั่นคือจำนวน 670,000 เหรียญต่อปี แถมยังได้โรงถ่ายและเปิดโอกาสให้ทำงานได้อย่างอิสระอีกด้วย แต่แชปลินก็ยังไม่สบายใจอยู่ดีในเรื่องการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา สุดท้ายเขาก็โบกมือลาหลังจากทำที่ Mutual Films ได้ 2 ปี  จนเขาได้ย้ายมาทำที่ First National Pictures เจ้าของเครือข่ายโรงหนังชื่อดัง ขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่นเวลาในการทำงานอย่างละเมียดให้กับแชปลิน ขณะเดียวกันวงการหนังก็ค่อย ๆ พัฒนาไปไกล จากหนังยาว 2-3 ม้วน กลายเป็นหนังที่มีความยาว 6 ม้วน พร้อมด้วยเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น แชปลินเองที่อยากหาแนวทางใหม่ให้กับหนังตัวเองอยู่แล้ว ไม่รอช้าที่จะทำ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำหนังยาวอย่างจริงจังครั้งแรกของเขา  The Kid (1921) คือความท้าทายเรื่องนั้น เรื่องราวของชายจรจัดกับเด็กกำพร้าที่เก็บได้จากถังขยะ ที่มอบทั้งความซาบซึ้งเรียกน้ำตาในเชิงดรามา และความฮาในความใสซื่อของเด็กน้อยและชายพเนจร ซึ่งต้นกำเนิดของหนังมาจากการสูญเสียลูกกับภรรยาคนแรกหลังจากคลอดเพียง 10 วัน ซึ่งชาร์ลีทำใจแทบไม่ได้ เขาจึงทำหนังเพื่อเติมเต็มช่วงชีวิตที่ขาดวิ่นในช่วงเวลานั้น แม้ว่าจะใช้เวลาและเม็ดเงินในการถ่ายทำมากกว่าหนังยาว 2-3 ม้วน แต่เมื่อออกฉาย หนังทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ ยกสถานะของชาร์ลี แชปลิน ให้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะซูเปอร์สตาร์ และนักสร้างหนังขั้นเทพได้อีกขั้น  แต่ถึงแม้หนังจะทำเงินทำทองมากมาย แต่แชปลินก็รู้สึกว่าเขาได้รับความไม่เป็นธรรมจากการทำงานจากค่าย ในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อนร่วมวงการของเขาทั้งแมรี พิกฟอร์ด นางเอกสาวแสนสวย / ดักลาส แฟร์แบงค์ส พระเอกเจ้าเสน่ห์ และผู้กำกับจอมผลาญเงินอย่าง ดี.ดับบลิว.กริฟฟิท ก็รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมจากสตูดิโอเช่นกัน ทั้ง 4 จึงร่วมลงนามเปิดสตูดิโอที่ชื่อ United Artist หรือ UA เพื่อสร้างหนังและยกระดับการทำงานให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก    ราชาตลกในช่วงเวลามาสเตอร์พีซ แชปลินเริ่มทำงานที่แปลกและแตกต่าง เริ่มต้นด้วยการทำหน้าที่กำกับเพียงอย่างเดียวในหนัง A Woman in Paris (1923) ที่แม้จะได้รับเสียงชื่นชมในความเก่งกาจในการสร้างหนังที่แตกต่าง แต่มันกลับเป็นความล้มเหลวเมื่อคนดูหนังต้องการเห็นเขาบนจอมากกว่าจะกำกับเพียงอย่างเดียว  เขาหลบเลียแผลใจไปถึง 2 ปี แต่เป็น 2 ปีแห่งการประคบประหงมผลงานระดับมาสเตอร์พีซในหนัง The Gold Rush (1925) ที่พูดถึงยุคตื่นทองที่ผู้คนพากันไปขุดทอง หลายคนเป็นมหาเศรษฐี แต่อีกหลายคนก็พบความจนยาก แน่นอนว่า ชายพเนจรอย่างแชปลินต้องพบพานเรื่องซวย ๆ มากมาย แชปลินเพิ่มดีกรีความตลกด้วยการใส่ซีนเสี่ยงตายมากขึ้น จึงเป็นหนังยุคแรก ๆ ที่มีความลุ้นระทึก / ซาบซึ้ง และชวนขบขัน  หลายซีนในหนังจึงกลายเป็นซีนที่คลาสสิกชั้นครูของหนังในกาลต่อมา และสะท้อนภาพความอดอยากที่แม้กระทั่งรองเท้ายังสามารถเอามาเป็นอาหารได้อย่างชวนน่าสังเวชใจ ขณะเดียวกันก็มีซีนน่ารักน่าเอ็นดูอย่างซีนขนมปังเต้นรำบนโต๊ะอาหาร จนกลายเป็นซีนที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอจวบจนปัจจุบัน และเมื่อหนังออกฉาย เขาก็ได้กลับมาเป็นขวัญใจคนดูหนังอีกครั้ง แต่กราฟของแชปลินก็มาสะดุดครั้งใหญ่ เมื่อเรื่องราวเลวร้ายเข้ามาในชีวิตเขาอย่างไม่มียั้ง ไม่ว่าจะเป็นโดนภรรยาคนที่ 2 ฟ้องหย่าและเรียกค่าเลี้ยงดูเป็นเงินมหาศาล โรงถ่ายที่กำลังถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ถูกเผาวอดวายจนฟิล์มส่วนหนึ่งที่เพิ่งถ่ายถูกเพลิงเผาไหม้ไม่เหลือซาก การถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ไม่นับรวมความกดดันที่เขาต้องแบกรับความคาดหวังของคนดูที่ตั้งธงไว้ว่าหนังเรื่องต่อไปของเขาต้องดีกว่าเก่า แถมยังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบสู่หนังเสียง (Talkie Pictures) ที่แชปลินปฏิเสธนวัตกรรมใหม่ชิ้นนี้เนื่องจากเขาเชื่อมั่นว่าภาษากายนั้นไม่แบ่งชนชั้นหรือภูมิภาค  แต่ถึงกระนั้นผลงาน The Circus (1928) ก็ยังเป็นผลงานระดับมาตรฐานที่ยังเปล่งประกายความอัจฉริยะของเขาอยู่นั่นเอง ด้วยความฝันที่อยากทำหนังสะท้อนชีวิตของคนเต้นกินรำกินผ่านกองคาราวานเดินสายไปยังที่ต่าง ๆ แชปลินหยิบนำความฝันในวัยเด็กที่มีความสุขกับการดูโชว์ของคณะละครสัตว์มาทำเป็นหนังที่มีซีนเสี่ยงตายบนเส้นลวดที่เขาเล่นเอง หรือการอยู่ในกรงขังร่วมกับสิงโตได้ชวนขบขัน ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพความเดียวดายของการอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้เป็นอย่างดี แต่ในช่วงปีที่หนัง The Circus ออกฉายนั้น เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่ทำให้เขาเสียศูนย์ไปก็คือการสูญเสียแม่จากโรคร้ายนั่นเอง และในปี 1929 โลกก็พบสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง เมื่อโลกตกอยู่ในสภาวะ The Great Depression ผู้คนอดอยากตกงานกันมากมาย แม้แชปลินจะไม่โดนผลกระทบนี้ แต่ภาพความยากจนในช่วงเยาว์วัยก็ผลักดันให้เขาต้องทำหนังสักเรื่องที่ช่วยฟื้นฟูและประโลมจิตใจของผู้คนที่พังทลายจนนำมาซึ่งผลงานอมตะที่ทุกคนรักและบูชานั่นก็คือ City Lights (1931) เรื่องราวของหนุ่มพเนจรกับความรักและความเสียสละที่มีต่อหญิงสาวตาบอดที่พยายามทำงานหาเงินทุกทางเพื่อช่วยให้หญิงสาวได้มองเห็นอีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงเขาไม่ใช่มหาเศรษฐีดังที่หญิงสาวจินตนาการไว้  หนังมอบความประทับใจและความซาบซึ้งจนมันกลายเป็นหนึ่งผลงานขึ้นหิ้งที่เป็นจุดสูงสุดของชีวิต แต่มันก็แบกด้วยระยะเวลาการทำงานอันยาวนานในขั้นตอนการถ่ายทำ เพราะแชปลินรักหนังเรื่องนี้มาก เขาจึงตั้งใจทำมันเป็นพิเศษ นำมาสู่การถ่ายทำที่หนักหนาโดยเฉพาะการถ่ายนางเอกซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่า 300 เทค ซึ่งก็ส่งผลให้การตัดต่อเต็มไปด้วยความยุ่งยาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็นับว่าคุ้มค่า เพราะแม้กระทั่งอัจฉริยะอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือ จอมเผด็จการอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็หลั่งน้ำตาให้กับความประทับใจของหนังเรื่องนี้ รวมไปถึงผู้คนมากมายที่พังจากวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหญ่ต่างก็ได้รับแสงแห่งความหวังจากหนังเรื่องนี้ที่เรืองรองในจิตใจกันอย่างถ้วนหน้า หลังจาก City Lights ดูเหมือนแชปลินจะค้นพบว่าเสียงหัวเราะและความประทับใจนั้นช่วยเยียวยาจิตใจได้ พร้อมกันนั้นภาพยนตร์ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้เช่นกัน ในหนังเรื่องต่อมา Modern Times (1936) ทิ้งช่วงจากหนังเรื่องก่อนถึง 5 ปี นอกจากแชปลินจะพักใจจากการโหมทำงานมาอย่างยาวนานด้วยการเดินทางท่องเที่ยวพบบุคคลสำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น อินุไค สึโยชิ ไปจนถึง มหาตมะ คานธี แล้ว  ความหวาดกลัวต่อเทคโนโลยีที่รุดหน้าไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เสียงที่เขาเคยปรามาสว่ามันจะมาประเดี๋ยวประด๋าวก็จากไป กลับกลายเป็นหนังเงียบของเขาต่างหากที่สูญพันธุ์ ไปจนถึงการเข้ามาแทนที่ของเครื่องจักรที่แทนแรงงานคน ก็ส่งผลให้เขาทำหนัง Modern Times ที่ยังคงคมคาย ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเปรยการทำงานจนเป็นบ้าเป็นหลังไม่ต่างกับฟันเฟืองของเครื่องจักรที่กำลังพัง รวมไปถึงการสะท้อนภาพความยากจนด้วยการแสดงให้เห็นภาพนางเอกที่ยากจนข้นแค้นถึงขีดสุด และการวิพากษ์การเอารัดเอาเปรียบของนายจ้างดังเช่นฉากการเดินขบวนประท้วงของเหล่าผู้ใช้แรงงานที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้แชปลินถูกเป็นที่หมายหัวของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ เจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่เพ่งเล็งและปรักปรำแชปลินว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์มานานแสนนาน ก็เริ่มรุกฆาตกำจัดดาวตลกขวัญใจอเมริกันชนให้พ้นไว ๆ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครา เพราะท้ายที่สุด Modern Times ก็ยังเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นความยอดเยี่ยมและชาญฉลาดของเขาอีกหนึ่งชิ้นเช่นเดิม และถือเป็นการสั่งลาหนังเงียบของเขาอย่างงดงามเพื่อประกาศทำหนังเสียงในผลงานเรื่องต่อไป แต่มันกลับกลายเป็นหายนะแบบที่เขาไม่ทันตั้งตัว   บทสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความเศร้า จากการที่เขาได้ดู Triumph of the Will (1935) หนังโฆษณาชวนเชื่ออันแสนน่ากลัวที่บันทึกภาพของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในช่วงเวลาที่ยังไม่กลายเป็นบุคคลที่โหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปลุกระดมเหล่าทหารเยอรมัน ด้วยท่วงท่าและลีลาของฮิตเลอร์ นำมาสู่การทำหนังเพื่อล้อเลียนและเย้ยหยันของแชปลินที่เกิดปีเดียวกันกับฮิตเลอร์ ห่างกันเพียงแค่ 4 วัน มีอัตลักษณ์ที่คล้ายกันโดยเฉพาะหนวด เขาจึงสร้างหนังเรื่อง The Great Dictator (1940) ที่ล้อเลียนตัวตนและการพูดปราศรัยแบบมั่วซั่วของเขาในบทบาทเผด็จการนั้นอย่างเผ็ดร้อน ขณะเดียวกันเขาก็รับอีกหนึ่งบทบาทในหนังคือช่างตัดผมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและต้องปกป้องชุมชนชาวยิวจากการรุกรานของทหารที่มีภาพลักษณ์คล้ายทัพนาซี แม้ว่าแชปลินจะไม่ใช่ชาวยิวและมีพี่ชายต่างมารดาเป็นลูกครึ่งยิว แต่เขาก็ตั้งใจทำหนังเรื่องนี้เพื่อส่งสารให้กับฮิตเลอร์ที่กำลังลุกลามไล่ล่าอาณานิคมอย่างบ้าคลั่งในช่วงเวลานั้น  และหนังเรื่องนี้เอง จากดาวตลกที่คนทั้งโลกหลงรักก็ถูกแบ่งขั้วทันที เขากลายเป็นที่เกลียดชังของทัพนาซีที่บังอาจมาเล่นของสูงส่งอย่างฮิตเลอร์ ขณะเดียวกันคนที่ยังไม่ทันได้ดูหนัง การได้เห็นแชปลินในภาพลักษณ์ของจอมเผด็จการก็พานคิดไปว่าแชปลินฝักใฝ่ในนาซี แม้หนังเรื่องนี้จะไปได้สวยในแง่ของการพยายามโหยหาสันติภาพในโลกที่คุกรุ่นไปด้วยไฟสงครามด้วยการล้อเลียน และทำเงินมากมายมหาศาลในประเทศที่แอนตี้นาซี แต่หลายคนกลับไม่รู้สึกตลกด้วย นั่นทำให้โครงการที่แชปลินตั้งใจจะทำหนังล้อเลียนพระเยซูของเขาต้องพับโครงการลง เสร็จสิ้นหนังสุดฉาว แชปลินก็พบหายนะของชีวิตส่วนตัว เมื่อเขาถูกนักแสดงหญิงที่เคยมีความสัมพันธ์เพียงชั่วข้ามคืนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากเธอท้องและเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง แม้ว่าแชปลินจะพยายามพิสูจน์ด้วยการให้ไปตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าเขาไม่ใช่พ่อของเด็ก แต่กลับถูกไม้เบื่อไม้เมาอย่าง เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ใช้ประเด็นนี้ในการทำลายชื่อเสียงของเขา  คดีสุดฉาวนี้ส่งผลต่อหนัง 2 เรื่องสุดท้ายในแผ่นดินอเมริกาที่แชปลินพยายามจะสลัดคราบ The Tramp ออกด้วยการรับบทเป็นฆาตกรต่อเนื่องในหนังที่ร่วมคิดพล็อตกับออร์สัน เวลล์ แห่ง Citizen Kane ในหนัง Monsieur Verdoux (1947) หนังตลกร้ายที่เฉียบคมแต่เจ๊งไม่เป็นท่า และ Limelight (1952) ที่สะท้อนภาพของการหมดไฟในการทำงานที่ค่อย ๆ หรี่แสงและหมดช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ของเขาโดยสมบูรณ์ และสะท้อนช่วงเวลาแห่งความปวดร้าวอันแสนสาหัส ระหว่างที่เขาเดินทางไปโปรโมตหนัง Limelight ที่อังกฤษบ้านเกิด เจ.เอ็ดการ์ก็ฉวยเวลาอันแสนสกปรกเพิกถอนวีซ่าและกีดกันให้แชปลินไม่สามารถกลับมายังอเมริกาได้อีกเลย  หนัง 2 เรื่องสุดท้าย A King in New York (1957) และ A Countess from Hong Kong (1967) เป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายในการทำหนังที่อังกฤษของแชปลิน แต่กลับสะท้อนให้เห็นความเบื่อหน่ายและความพ่ายแพ้ต่อยุคสมัยที่ไม่อาจจะหวนคืนความรุ่งโรจน์ให้เขาอีกต่อไป แชปลินใช้ชีวิตอย่างสงบในสวิตเซอร์แลนด์จวบจนห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต  ชีวิตอันแสนเศร้าของแชปลินที่ขาดแคลนความรักในวัยเยาว์และมีแม่ที่มีอาการทางจิตทำให้แชปลินพยายามโหยหาความรักจากหญิงสาว แต่สุดท้ายการแต่งงานครองคู่ของเขาก็พังทลายถึง 3 ครั้ง จากการที่เขาชอบและรักในหญิงสาวที่อายุยังน้อย ก่อนจะพบคู่แท้ที่อยู่กินกับเขาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต  ความยากจนในวัยเด็กทำให้เขาพยายามจะเติมเต็มส่วนที่ขาดหายด้วยชื่อเสียงและเงินทอง และปมของการเป็นคนไร้รากจากคาแรคเตอร์ชายพเนจรไร้หัวนอนปลายเท้า ก็สะท้อนถึงตัวตนจริง ๆ ของเขาที่ไม่ได้รับความเหลียวแลทั้งบ้านเกิดเมืองนอนอย่างอังกฤษ ที่เขาถูกค่อนขอดว่าไม่กลับมารับใช้ชาติในตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปจนถึงการถูกเนรเทศจากอเมริกา คือชะตากรรมอันแสนเศร้าของชายผู้สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับโลกใบนี้  แม้ท้ายที่สุดเวลาผ่านไปอีกหลายปี การที่คณะกรรมการออสการ์ตัดสินใจเชิญแชปลินกลับมาร่วมงานเพื่อมอบรางวัลเกียรติยศในปี 1972 จะเป็นจดหมายขอโทษอย่างเป็นทางการในการละเลยช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดทรมานกับการถูกใส่ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนชังชาติ น้ำตาของเขาและเสียงอันสั่นเครือยามที่รับรางวัลเต็มไปด้วยความตื้นตันและขื่นขม เสียงปรบมือกึกก้องยาวนานกว่า 12 นาทีเป็นเสียงแห่งความชื่นชมของคนยุคหลังที่มีต่อศิลปินตลกผู้อับโชคที่สร้างผลงานอันล้ำค่าที่สร้างรอยยิ้มอันเฮฮาและน้ำตาที่ชวนขื่นขม แชปลินจากไปอย่างสงบในปี 1977 แม้กระทั่งตัวสิ้นไป ยังไม่วายเกิดเป็นข่าวครึกโครม เมื่อโจรร้อนเงินพากันขุดร่างไร้วิญญาณของเขาจากหลุมศพมาเรียกค่าไถ่ จนหลุมศพของเขาต้องได้รับการคุ้มกันอย่างแน่นหนาในภายหลัง  แม้ตัวของแชปลินจะจากไปกว่า 40 ปีแล้ว แต่มรดกสำคัญที่มอบให้กับโลกใบนี้คือผลงานอันยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ที่แม้จะไร้ซึ่งบทพูด แต่เป็นภาษาสากลที่คนทั้งโลกต่างเข้าใจ คือความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเชื่อมต่อโลกทั้งใบในอุดมคติ โลกที่ไร้ซึ่งสงคราม การแบ่งแยกทางยศถาบรรดาศักดิ์ โลกที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสวยงาม แม้ท้ายที่สุดโลกแห่งความเป็นจริงจะทำร้ายเขา แต่โลกในหนังของเขานั้นสวยงามเสมอตราบนานเท่านาน   ข้อมูล ภาพยนตร์เรื่อง Chaplin (1991) หนังสือชีวประวัติ My Autobiography: Charlie Chaplin