[5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด

[5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด

วาระสุดท้ายของเบิร์ด

ก่อนการเสียชีวิตของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเขามากมาย ส่วนหนึ่งจากมุมมองของ ไอรา กิทเลอร์ ที่บันทึกไว้ในหนังสือ  The Masters of Bebop : A Listener's Guide (จัดพิมพ์โดย Da Capo Press) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับห้วงอารมณ์ ความคิด ชีวิต ตลอดจนการดื่มอย่างหนัก และเงินทองในกระเป๋าของ เบิร์ด อย่างละเอียดละออ ตอนหนึ่งคือการเดินผ่านหน้านักแอคคอเดียนตาบอด ซึ่งบรรเลงอยู่ริมทางเท้าในย่านบรอดเวย์ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ เคยหยุด เพื่อขอให้เขาเล่นเพลง All The Things You Are พร้อมกับหยอดเศษสตางค์ทั้งหมดที่มีเหลือติดตัวไว้ในหมวกของนักดนตรีคนนั้น อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือการบรรเลงประจำทุกวันอาทิตย์ที่คลับแห่งใหม่ชื่อ Open Door ซึ่งดำเนินกิจการโดย บ๊อบ ไรส์เนอร์ ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1953 จนถึง ค.ศ. 1954 ซึ่งมีเสียงร่ำลือว่าแฟนเพลงที่นั่นต่างลุ้นจนตัวโก่งว่า เบิร์ด จะมาเล่นในสัปดาห์นั้น ๆ หรือไม่ บางครั้ง แฟนเพลงพบว่าเขาไม่ได้มา เพราะมัวแต่ไปบรรเลงอยู่ที่ไนท์คลับฝั่งตรงกันข้าม เพียงเพื่อแลกกับค่าเครื่องดื่ม 2 ดริงค์ ! ช่วงปลายฤดูร้อนปี ค.ศ. 1954 คลับ เบิร์ดแลนด์ จองตัว ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ไปแสดงที่นั่น พร้อมกับวงเครื่องสาย บนเวที เขาระบุว่าจะเล่นเพลงหนึ่ง แต่แล้วกลับไปเล่นเพลงหนึ่ง สติสัมปชัญญะของ เบิร์ด ในระยะนี้แย่ลงอย่างต่อเนื่อง เขามีปากเสียง ไล่นักดนตรีออกจากวง กลับบ้านแล้วดื่มไอโอดีนด้วยต้องการจะฆ่าตัวตาย [caption id="attachment_15997" align="aligncenter" width="1200"] [5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด วงควิทเท็ทของชาร์ลี พาร์คเกอร์ ซึ่งเล่นที่ ธรี ดุยเซส ราวปี 1947[/caption] สถานการณ์แย่ลงเป็นลำดับ วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1954 เบิร์ด เข้าโรงพยาบาลเป็นเวลา 9 วัน เขากลับมาอีกครั้งในวันที่ 28 กันยายน เพื่อเข้ารับบำบัดทางจิต บ๊อบ ไรส์เนอร์ ช่วยเหลือด้วยการจัดหางานให้ เบิร์ด แสดงคอนเสิร์ตอีกครั้งที่ ทาวน์ ฮอลล์ ช่วงปลายเดือนตุลาคม และเช่นเคย นักอัลโตแจ๊สบรรเลงได้อย่างสุดฝีมือ ทั้งนี้ในคอนเสิร์ตดังกล่าว เลียวนาร์ด ฟีเธอร์ บันทึกไว้ว่า เบิร์ด ดูสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขดี จากการเดินทางไปมาระหว่างบ้านที่นิวโฮป และไปบำบัดจิตที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ความสุขดังกล่าวเกิดขึ้นสั้น ๆ ฟีเธอร์ กล่าวถึงการพบกับ เบิร์ด อีกครั้ง ก่อนการเสียชีวิตราว 1 เดือนว่า เบิร์ดแต่งกายไม่เรียบร้อย เขาบอกว่าไม่ได้กลับไปนิวโฮปอีกแล้ว (เพราะแยกทางกับ ชาน) และนัยน์ตาของเขาดูโศกเศร้ายิ่งนัก เดือนธันวาคม ค.ศ. 1954 เบิร์ดมีงานบันทึกเสียงซึ่งจัดว่าเป็นครั้งสุดท้าย ประกอบด้วยเพลง Love For Sale และ I Love Paris ซึ่งหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นอัลบั้มเพลงของ โคล พอร์เทอร์ จากนั้นเขาปรากฏตัวครั้งสุดท้ายที่ เบิร์ดแลนด์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1955 โดยบรรเลงร่วมกับ เคนนี ดอห์แรม, บัด พาวล์, ชาร์ลส์ มิงกัส และ อาร์ต แบล็กกีย์ แฟนเพลงจำนวนหนึ่งต่างเฝ้ารอจะได้ชมการแสดงของนักดนตรีทั้ง 5 ทว่าระหว่างการบรรเลง เบิร์ด ซึ่งมีปัญหาด้านจิตใจ เกิดปากเสียงกับผู้คน ในจำนวนนั้นคือ บัด พาวล์ ซึ่งเรียกเขาอย่างเคารพรักว่า Daddy โดยตลอด เบิร์ด มีปัญหาในการเลือกเพลง และเลือกคีย์ที่จะเล่น เมื่อ บัด บอกว่าไม่มีใครที่มีความสามารถจะเล่นคีย์ไหนและเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น เขาให้เจาะจงคีย์ที่จะเล่นอย่างชัดเจน เบิร์ดตอบว่าให้เล่น คีย์ S ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีอยู่ในสารบบคีย์ ! ถึงตอนนี้ นักดนตรีไม่มีอารมณ์จะเล่นดนตรีกันแล้ว บัด หันหลังลงจากเวที เบิร์ด จับไมโครโฟนส่งเสียงเรียก บัด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จน ชาร์ลส์ มิงกัส ทนไม่ไหว ต้องคว้าไมค์เพื่อบอกกล่าวกับผู้ฟังในคลับว่า ทุกอย่างจบสิ้นลงแล้ว "ถ้าขืนยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีก เท่ากับคุณกำลังฆ่าตัวเองชัด ๆ" ชาร์ลส์ มิงกัส มือเบสที่เคารพรัก เบิร์ด พูดออกมาตรง ๆ อย่างยั้งไม่ไหว ห้วงเวลานั้น มีคนพบเบิร์ดเมาแอ๋ออกไปจากคลับ บางคนเห็นเขาโซเซบนถนนเบซิน บ้างเห็นอยู่ตามหัวมุมของถนนสายที่ 51 บนใบหน้าของเขาเจิ่งนองด้วยน้ำตา 5 วันต่อมา (9 มี.ค. ค.ศ. 1955) เบิร์ด หยุดแวะที่อพาร์ตเมนต์ของเพื่อนคนหนึ่ง คือ บารอน นิกา ดี โคนิกสวอร์เตอร์ ซึ่งเรียกกันในวงการว่า แจ๊ส บารอนเนสส์ ตั้งอยู่ในโรงแรมสแตนโฮป ย่านฟิฟธ์อะเวนิว ความตั้งใจของ เบิร์ด คือการเดินทางไปแสดงดนตรีที่เมืองบอสตัน แต่เขามีอาการป่วยอย่างหนักจนเดินทางต่อไปไม่ไหว [5] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: วาระสุดท้ายของเบิร์ด เมื่อถึงห้องพัก เบิร์ด อาเจียนออกมาเป็นเลือด นิกา จึงโทรศัพท์ตามแพทย์ให้มาตรวจอาการ พบว่า เบิร์ด มีอาการตับแข็ง และลงความเห็นให้ย้ายไปโรงพยาบาล แต่ เบิร์ด ปฏิเสธ พวกเขาจึงปล่อยให้ เบิร์ด พักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ดังกล่าว มีเรื่องขำขันที่เล่ากันว่า ระหว่างตรวจสุขภาพ นายแพทย์ฟรีย์แมน ถาม เบิร์ด ว่าเขาดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยแค่ไหน เบิร์ด ตอบกลับเล่น ๆ ว่า "ครับ คุณหมอ แค่เหล้าองุ่นเป็นครั้งคราวก่อนอาหารเย็นเท่านั้นแหละ" ระหว่างนี้ นิกา และลูกสาวดูแล เบิร์ด อย่างดี โดยที่มีนายแพทย์ฟรีย์แมนแวะมาตรวจอาการวันละ 2-3 หน วันที่ 3 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ เบิร์ด อาการดีขึ้นมาก แพทย์จึงอนุญาตให้ลุกขึ้นมานั่งดูทีวีได้ แต่ระหว่างส่งเสียงหัวเราะดัง ๆ ในการดูโชว์ตลกของ ทอมมี ดอร์ซีย์ อยู่นั้น จู่ ๆ เบิร์ด เกิดอาเจียนออกมาเป็นเลือด และเสียชีวิตลงในช่วงเวลาที่ ทอมมี ดอร์ซีย์ กำลังจับทรอมโบนบรรเลงเพลง Marie ในทีวีพอดี เดอะ แจ๊ส บารอนเนสส์ ย้อนความจำว่า ระหว่างที่ เบิร์ด กำลังสิ้นลมนั้น มีเสียงฟ้าร้องดังมาก แต่เธอไม่ได้ใส่ใจ จนเมื่อกลับมาคิดอีกครั้ง จึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลกอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ข่าวการเสียชีวิตยังไม่ได้เผยแพร่ออกไป เพราะ นิกา ต้องการให้ ชาน ภรรยาของเบิร์ด ซึ่งแยกกันอยู่ในเวลานั้น ได้ทราบเรื่องด้วยตนเอง แทนที่จะรับรู้ผ่านทางวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ ดังนั้น เธอจึงไม่ได้แจ้งข่าวบอกใครจนกระทั่งยามค่ำของคืนวันจันทร์ เมื่อติดต่อ ชาน ได้ เธอแจ้งไปยังมารดาของเบิร์ดที่แคนซัส ซิตี้ ณ เวลานั้น แม่ของเบิร์ดทราบข่าวจาก ดอริส พาร์คเกอร์ ภรรยาคนก่อน ซึ่งเธอทราบข่าวจาก อาร์ต แบล็กกีย์ ที่โทรศัพท์บอกข่าวอีกทอดหนึ่ง วันอังคารถัดมา เรื่องราวการเสียชีวิตของเบิร์ดปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการลงบันทึกที่ผิดพลาดเกี่ยวกับ เบิร์ด พอสมควร ตั้งแต่อายุของ เบิร์ด ที่ระบุว่า 53 ปี (ในบันทึกของนายแพทย์ฟรีย์แมน ประมาณอายุของเบิร์ดไว้ที่ 58 ปี) แทนที่จะเป็น 34 ปี (ตามอายุจริง) หรือแม้กระทั่งวันเสียชีวิต บางแห่งระบุวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1955 แทนที่จะเป็นวันที่ 12 มีนาคม นอกจากนี้ นายแพทย์ฟรีย์แมน ก็มิได้เป็นผู้ลงนามการเสียชีวิตบนมรณบัตรด้วยตนเอง พร้อมกับคำถามที่ติดตามมาว่า เหตุใด เบิร์ด จึงเสียชีวิตนานถึง  2 วัน กว่าจะร่างของเขาจะได้รับการบรรลุลงในโลงศพ ฯลฯ คำถามเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบ   Selected Bibliography Davis, Francis. Bebop And Nothingness. Schirmer Books, 1996 Geoffrey, Haydon. Quintet of the Year. Aurum Press, 2002 Giddin, Gary. Vision of Jazz : The First Century. Oxford University Press, 1998 Gitler, Ira. The Masters of Bebop : A Listerner’s Guide. Da Capo Press , 2001 Reisner, Robert. Bird : The Legend of Charlie Parker. Quartet Books, 1974 Williams, Martin. The Jazz Tradition. Oxford University Press, 1993   อ่านบทความ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ตอนอื่น ๆ ได้ที่

[1] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: หล่อหลอมจากหัวใจแคนซัส

[2] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จับเทเนอร์แซ็ก ในวง เอิร์ล ไฮน์ส

[3] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: จุดเริ่มต้นของตำนานบีบ็อพ

[4] ชาร์ลี พาร์คเกอร์ อัจฉริยะดนตรีผู้ใช้ชีวิตอย่างบ้าคลั่ง: กลับคืนสู่นิวยอร์ก