ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: 80 ปีแห่งความสำเร็จและล้มเหลว

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: 80 ปีแห่งความสำเร็จและล้มเหลว
“ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคุ้นตาของผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นอย่างดี แต่หลายคนคงไม่นึกว่า ชาญวิทย์มีอายุครบ 80 ปีแล้วในวันนี้  ในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอชีวประวัติของเขาอย่างย่อถึงกำเนิด การศึกษา การทำงาน ผลงาน ปิดท้ายด้วยความสำเร็จและล้มเหลวในชีวิตเขา กำเนิด ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แผ่ขยายมาถึงประเทศไทยเพียงไม่กี่เดือน  ณ ห้องแถว ถนนทรงพล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีทารกน้อยผู้หนึ่งบุตรของนายเชิญกับนางฉวีรัตน์ถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2484 โดยได้ชื่อว่า “ชาญวิทย์” เมื่อชาญวิทย์อายุได้ 7 เดือน ญี่ปุ่นก็บุกไทย บ้านโป่งอันเป็นบ้านเกิดของเขา ก็มีค่ายทหารญี่ปุ่นที่มาตั้งเพื่อควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ กล่าวได้ว่า ชีวิตของชายผู้นี้เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้ การศึกษา ชาญวิทย์เรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนเฉลิมวิทยา ซึ่งคุณตาคุณยายของเขาเป็นเจ้าของ ที่ปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นย้ายมาเรียนชั้นประถมศึกษาที่บ้านโป่ง ในโรงเรียนนารีวุฒิวิทยาลัย และโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย เมื่ออายุได้ 14 ปี ใน พ.ศ. 2498 ชาญวิทย์มาชุบตัวที่กรุงเทพฯ เมื่อเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นปี 2503 จึงเข้าเรียนแผนกการทูต ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็น “สิงห์แดงแข็งขัน” ชาญวิทย์สำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมดี เป็นที่ 1 ของรุ่น จึงได้รับพระราชทานทุนภูมิพล เมื่อปี 2507 ด้วยวัย 22 ปี ชาญวิทย์ทำงานครั้งแรกเป็นข้าราชการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ทำงานได้เพียง 6 เดือนก็ย้ายมาสังกัดกองกลาง กระทรวงการต่างประเทศ แต่ทำได้เพียง 3 เดือนก็ลาออก เพราะได้ทุนไปเรียนต่อสหรัฐอเมริกา ในห้วงบรรยากาศแห่งสงครามเย็น ชาญวิทย์ได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อปริญญาโททางการทูตที่ Occidental College เป็นเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2508-2510) และปริญญาเอกด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล 5 ปี (พ.ศ. 2510-2515) โดยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง The Rise of Ayutthaya ตาสว่าง แม้ชาญวิทย์จะเรียนที่ธรรมศาสตร์ แต่ก็เป็นยุคที่ชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้ประศาสน์การ (ปรีดี พนมยงค์) มีมลทินมัวหมองมาก นักศึกษาในยุคนั้นบางคนยังเข้าใจว่า กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นผู้สถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยซ้ำไป ระหว่างเรียนหนังสือที่คอร์แนลนั้นเอง พ.ศ. 2513 ชาญวิทย์จึงได้ “ตาสว่าง” เมื่อมีโอกาสเดินทางไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ที่ห้องชุด มองปานาส กรุงปารีส (เวลานั้นปรีดีเพิ่งย้ายมาจากเมืองจีน) การได้สนทนากับมหาบุรุษผู้นั้น ทำให้ชาญวิทย์ประทับใจในความรู้และสติปัญหาของรัฐบุรุษอาวุโส อคติที่เคยมีต่อบุคคลผู้นี้จึงมลายไป และทำให้แลเห็นความยิ่งใหญ่ของผู้ประศาสน์การ การทำงาน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ชาญวิทย์กลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ จากนั้นก็ได้รับตำแหน่งบริหาร เช่น รองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐานสมัยนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พ.ศ. 2518-2519) รองผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษาของนายเสน่ห์ จามริก (พ.ศ. 2524-2528) รองอธิการบดีฝ่าย 50 ปี ธรรมศาสตร์ ยุคคุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี (พ.ศ. 2529-2531) คณบดีคณะศิลปศาสตร์ (พ.ศ. 2534-2537) อธิการบดี (17 มิถุนายน 2537 - 9 มีนาคม 2538) และผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พ.ศ. 2542-2545) แม้ชาญวิทย์จะทำงานกับป๋วยเพียงไม่นานนัก แต่ก็ผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง เขารู้สึกว่าป๋วยเป็นครูบาอาจารย์ที่รักลูกศิษย์ เป็นสุภาพบุรุษ รับฟังความเห็นคนอื่น ไม่มีพิธีรีตอง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนร่วมงานได้  หลังจากป๋วยครองสถิติการเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ที่สั้นที่สุดมายาวนานเกือบ 20 ปี ชาญวิทย์ก็มาทำลายสถิตินี้ลงด้วยการเป็นอธิการบดีเพียงประมาณ 9 เดือนเท่านั้น (โดยลาออกในวันคล้ายวันเกิดของป๋วย) แต่เขามักกล่าวด้วยความภูมิใจเสมอถึงการดำรงตำแหน่งอันสำคัญนี้ งานสำคัญในชีวิตของชาญวิทย์นอกจากการทำงานประจำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว คือ การบริหารมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งเป็นอนุสนธิมาจากงานที่ป๋วยเริ่มต้นไว้นั่นเอง ปัจจุบันชาญวิทย์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิแห่งนี้ ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นจำนวนหลายร้อยเล่ม โดยเฉพาะทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีให้ดาวน์โหลดอ่านได้ฟรีอีกด้วย หนังสือและหนัง แม้ชาญวิทย์จะมีชื่อเสียงพอสมควร จากการเป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ แต่ตำราทางวิชาการของเขาก็มีอยู่ไม่มากนัก เช่น อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง, ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500 เป็นต้น  หากบทบาทสำคัญของชาญวิทย์ในวงวิชาการไทย คือ การเป็นบรรณาธิการที่สนับสนุนให้มีการผลิตหนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความรู้ทางอุษาคเนย์และอาณาบริเวณศึกษา  ดังที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวถึงชาญวิทย์ไว้ว่า “ชาญวิทย์อุทิศตนเพื่อศิษย์ค่อนข้างมาก ไม่แต่เป็นกัลยาณมิตรกับผู้เยาว์จำนวนน้อยที่มุ่งมั่นทางด้านวิชาการ หากถ้าเขาเห็นว่างานเขียนของใครมีแวว ก็จะอุดหนุนให้ได้ตีพิมพ์เผยแผ่ออกไปในวงกว้างอีกด้วย” ไม่เพียงด้านวิชาการ ชาญวิทย์ยังสนใจวรรณกรรมด้วย ดังเขามีผลงานแปลอมตะอยู่หลายเรื่อง เช่น โจนาทาน ลิฟวิงสตัน: นางนวล, พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ เป็นต้น นอกจากนี้ ชาญวิทย์ยังสนใจเรื่องภาพยนตร์ ดังมีหนังสือ ภาพยนตร์กับการเมืองไทย เป็นพยานอยู่ แต่ที่สำคัญก็คือเขาเป็นคนนำภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” (2484) ของนายปรีดี พนมยงค์ กลับมาฉายใหม่อีกครั้งหลังจากหายไปจากสังคมไทยถึง 40 ปี! จนปัจจุบันนี้ ภาพยนตร์ที่ว่านี้เป็นอนุสรณ์อย่างสำคัญถึงแนวคิดสันติภาพของหัวหน้าขบวนการเสรีไทยผู้นั้น ความสำเร็จและล้มเหลว โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ชาญวิทย์ประสบความสำเร็จที่ปักหมุดให้ชื่อของเขาจะคงอยู่คู่กับสังคมไทยสยามไปอีกนาน ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา-2475-2516-2519-2535 ฯลฯ เลี่ยงไม่พ้นที่จะมีงานของชาญวิทย์เป็นฐานให้สืบสานต่อยอด ใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก็จะได้ประโยชน์จากงานที่ชาญวิทย์เคยทำไว้  ใครที่สนใจเรื่องการเมืองกับภาพยนตร์ก็จะเจอร่องรอยของความคิดชาญวิทย์  มิพักต้องเอ่ยถึงโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ชาญวิทย์ตั้งขึ้นและยังสอนอยู่จนถึงทุกวันนี้ แต่หากมองในแง่ความล้มเหลว ชาญวิทย์เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมากว่า 50 ปี แม้วันนี้จะล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้วก็ยังต้องออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในแนวทางของสันติวิธีอยู่เสมอ จะโทษว่านี่เป็นความล้มเหลวของชาญวิทย์ได้ไหม ที่การสอนและเผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา-ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคประชาธิปไตยของเขา แทบจะไม่เป็นบทเรียนอะไรให้กับสังคมไทยสยามนี้เลย เรายังวนเวียนอยู่ในวังวนของปัญหาที่ดูท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกทีอย่างที่มองไม่เห็นทางออก บรรณานุกรม
  • กาญจนี ละออง และวารุณี โอสถารมย์, “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อธิการบดีนักประวัติศาสตร์วิพากษ์สังคม”, http://cwweb2.tu.ac.th/emc/shelftu/@tubookshelf3/pdf/13_charnvit.pdf
  • ส. ศิวรักษ์, อ่านคน-ไทย, (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2548).
เรื่อง: กษิดิศ อนันทนาธร ภาพ: จากเพจ textbooks foundation - มูลนิธิโครงการตําราฯ