เจริญ วาณิชกุลนันทน์ ช่างรองเท้า “ทำมือ” รุ่นสุดท้าย ข้างศาลเจ้าพ่อเสือ

เจริญ วาณิชกุลนันทน์ ช่างรองเท้า “ทำมือ” รุ่นสุดท้าย ข้างศาลเจ้าพ่อเสือ
“เมื่อไม่มีใครรับช่วงต่อ ผมและน้องชายเลยคุยกันว่าเราจะเป็นช่างทำรองเท้าด้วยมือรุ่นสุดท้ายของครอบครัวกันแล้วนะ” เจริญ วาณิชกุลนันทน์ วัย 75 ปี ที่ผูกพันกับอาชีพทำรองเท้ามาเกือบทั้งชีวิต เปิดบทสนทนา แม้น้ำเสียงอาจฟังดูเศร้า แต่แววตาที่ฉายพลังของเจริญ บ่งบอกว่าเขายังไหวและยังมีแรงทำต่อไปอีกหลายปี ท่ามกลางความพลุกพล่านของถนนตะนาว ที่ผู้คนต่างแวะเวียนเข้าไปไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ ไม่ก็ลัดเลาะเสาะหาของอร่อยในย่านนั้น ยังมีบ้านพักเลขที่ 74 ตรอกพ่อเสือ ข้าง ๆ ศาลเจ้าพ่อเสือ ที่เจริญใช้เป็นร้านทำรองเท้าและขายรองเท้ามากว่า 40 ปี จุดเด่นของที่นี่คือไม่ใช้เครื่องจักรในการผลิตรองเท้าแต่อย่างใด แต่ใช้แรงกายและแรงใจทำรองเท้าแต่ละคู่อย่างประณีต เพื่อให้ทุกคนได้สวมใส่อย่างมีความสุขที่สุด เจริญคลุกคลีกับการทำรองเท้ามาตั้งแต่วัยรุ่น เขาเล่าว่าตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนก็ขอให้ครูสอนทำรองเท้าให้แล้ว แต่ก็เหมือนการถ่ายทอดของคนรุ่นก่อน ๆ ที่จะไม่สอนทั้งหมด แต่จะให้คนที่มาเรียนเก็บเล็กผสมน้อย ครูพักลักจำกันเอาเอง “ครูสอนขึ้นโครงรองเท้าให้ แต่เมื่อผมขอให้ครูช่วยสอนการตัดเย็บ ครูก็บอกว่า ผมมีน้องที่เรียนตัดหนังวัวเพื่อทำรองเท้าอยู่แล้ว ไม่ต้องเรียนตัดเย็บหรอก จบไปจะได้ช่วยกันทำคนละอย่าง” เมื่อจบหลักสูตรเรียนทำรองเท้า เจริญมีโอกาสเข้าไปทำงานกับนายช่างใหญ่ที่ส่งออกตัวเองมาจากสิงคโปร์ มาประจำการอยู่ที่ร้านตัดเย็บรองเท้าในห้างไทยไดมารู ย่านราชดำริ ช่วงแรกของการทำงาน เจริญแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากความรู้ที่พกติดตัวมาเลย เพราะนายช่างใหญ่หวงวิชา จะเรียกใช้ก็ต่อเมื่อให้หยิบจับ ส่งเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เท่านั้น เจริญ วาณิชกุลนันทน์ ช่างรองเท้า “ทำมือ” รุ่นสุดท้าย ข้างศาลเจ้าพ่อเสือ “ผมไม่รู้จะทำยังไง ก็ต้องอาศัยครูพักลักจำอีกตามเคย ดูเขาทำแล้วจำมาทำเอา จังหวะที่ผมลงมือหยิบรองเท้าคู่แรกมาขึ้นโครงคือตอนนายช่างไปงีบหลับ คู่แรกผมทำ ใช้ไม่ได้เลย นายช่างต้องมานั่งแก้ให้ แต่ด้วยความตั้งใจที่ผมแสดงให้เห็น นายช่างเลยเริ่มปล่อยให้ผมทำเองในตอนหลัง” เจริญค่อย ๆ สั่งสมฝีมือการทำรองเท้า โดยเฉพาะรองเท้าผู้หญิง ที่ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะตอนนั้นการนำเข้ารองเท้าผู้หญิงจากต่างประเทศยังไม่แพร่หลาย รองเท้าผู้หญิงที่ตัดโดยช่างตัดรองเท้าต่างชาติและคนไทย จึงถือเป็นงานเนี้ยบและทันสมัย ถูกใจสาว ๆ ที่ชื่นชอบแฟชั่น ขณะเดียวกัน ช่างตัดรองเท้าด้วยกันเองก็มีการขับเคี่ยวกันสูง เรื่องจะถ่ายทอดเคล็ดวิชาการตัดรองเท้าให้เพื่อนร่วมอาชีพรู้ไม่ต้องพูดถึง หวงวิชากันแม้กระทั่งไม่ยอมบอกให้คนนอกครอบครัวรู้ก็ด้วย เพราะยุคนั้นต้องแข่งขันอย่างจริงจังว่าใครจะตัดรองเท้าได้ถูกใจลูกค้าและบอกกันปากต่อปากมากที่สุด “เวลาผมออกแบบรองเท้า ต้องซ่อน ต้องแอบ ห้ามให้ใครรู้เด็ดขาด เวลาทำรองเท้าได้แต่ละคู่ ต้องเก็บใส่กล่องแล้วปิดล็อคไว้ เปิดให้คนอื่นดูในวันวางขายเท่านั้น แล้วหลังจากนั้นก็มาวัดกันว่ารองเท้าของใครจะขายดีหรือขายออกไวกว่ากัน นั่นคือค่าวัดความนิยมของแฟชั่นรองเท้ายุคผม” เจริญ เล่า เวลาต่อมา ความนิยมในรองเท้าตัดเย็บด้วยมือโดยฝีมือช่างไทยก็เริ่มสั่นคลอน เมื่อมีรองเท้านำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งจากความทรงจำของเจริญ เขาบอกว่ารองเท้าผู้หญิงนำเข้าจากฝรั่งเศสเป็นสิ่งแรก ๆ ที่เขาเห็น และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยราคาที่สูง ทำให้มีคนนำงานมาให้ช่างตัดรองเท้าลอกแบบงานและตัดเย็บ ช่างตัดรองเท้าหลายคนตัดสินใจรับทำเพื่อแลกกับรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่เจริญเลือกปฏิเสธ เพราะเห็นว่าการออกแบบและตัดเย็บรองเท้าเองคือสิ่งที่ช่างตัดรองเท้าควรจะภาคภูมิใจที่สุด เจริญ วาณิชกุลนันทน์ ช่างรองเท้า “ทำมือ” รุ่นสุดท้าย ข้างศาลเจ้าพ่อเสือ เมื่อเก็บประสบการณ์และทุนรอนจนได้ที่ เจริญในวัย 30 ต้น ๆ ก็ตัดสินใจออกจากร้านทำรองเท้าในห้างไทยไดมารู มาเปิดร้านตัดเย็บรองเท้าผู้หญิงของตัวเองในปี 2519 ข้างศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งนับว่าเป็นทำเลดี เพราะมีผู้คนคึกคัก มาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดสดแถวนั้นกันหนาตา แถมยังอยู่ไม่ไกลจากกระทรวงมหาดไทย ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ของเจริญจึงเป็นข้าราชการที่ทำงานอยู่ที่นั่นเสียเยอะ ด้วยชื่อชั้นที่สั่งสมจากการเป็นช่างตัดเย็บรองเท้าในห้างไทยไดมารู ซึ่งถือเป็นห้างมีระดับในสมัยนั้น ประกอบกับฝีมือการตัดเย็บที่ไม่เป็นสองรองใครในย่าน ทำให้รองเท้าของเจริญได้รับความนิยมในเวลาไม่นาน มีลูกค้าลงชื่อต่อคิวเพื่อให้เขาตัดเย็บรองเท้านับสิบ ๆ ราย เจริญเล่าติดตลกว่า ครั้งหนึ่งมีข้าราชการกระทรวงมหาดไทยขอให้เขาตัดรองเท้าให้ แต่ด้วยคิวลูกค้าที่แน่นมาก ทำให้งานตัดรองเท้าสำหรับข้าราชการคนนี้ต้องใช้เวลานาน ถึงขั้นนานจนเกษียณอายุไปโดยที่ยังไม่ได้ใส่รองเท้าฝีมือเจริญ ไม่ต้องแปลกใจ หากไม่เห็นชื่อยี่ห้อรองเท้าของเจริญ เพราะเขาไม่มียี่ห้อรองเท้าเป็นของตัวเอง แต่ข้าราชการย่านนั้นรู้ดีว่า หากอยากสั่งตัดรองเท้าคุณภาพดี ด้วยฝีมือของช่างฝีมือดี ต้องมาที่นี่ "บ้านเลขที่ 74" เท่านั้น เจริญ วาณิชกุลนันทน์ ช่างรองเท้า “ทำมือ” รุ่นสุดท้าย ข้างศาลเจ้าพ่อเสือ อาชีพช่างทำรองเท้าที่เจริญทำมาตลอดชีวิต ทำให้ครอบครัววาณิชกุลนันทน์สามารถส่งลูกส่งหลานเรียนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคณะบัญชี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปแล้วหลายคน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่มีทายาทในครอบครัวสืบทอดทักษะการตัดเย็บรองเท้า แต่จะบอกว่าไร้ซึ่งคนสนใจ ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ก่อนหน้านี้ เจริญเคยได้รับการทาบทามจากกระทรวงแรงงาน ให้เข้าไปสอนอาชีพให้ผู้ว่างงานที่กระทรวงแรงงาน แต่ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้เขาปฏิเสธไป “ผมไม่เอาที่จะให้ไปสอนอาชีพให้กับใคร เพราะของแบบนี้ต้องเริ่มต้นที่ใจ ต้องรักในงานที่ทำก่อน เพราะการตัดรองเท้าทีละข้าง เพื่อให้ออกมาเป็นคู่ ต้องใช้เวลานาน หากไม่มีใจทำ สิ่งนั้นอาจจะเป็นได้แค่สิ่งรองอุ้งเท้าที่ขาดจิตวิญญาณ” คือเหตุผลในมุมของเขา ทุกวันนี้ เจริญยังคงนั่งทำงานบนม้านั่งตัวเตี้ยตัวเดิมและโต๊ะตัวเก่าที่ประดับโคมไฟใช้อ่านหนังสือ ด้วยอายุที่ล่วงไป 70 กว่าปี ทำให้ความคล่องตัวที่เคยมีน้อยลงมาก ปริมาณรองเท้าที่รับออร์เดอร์สั่งตัดจากลูกค้าเดือนละหลายคู่ ตอนนี้เหลือราว 4 คู่ต่อเดือนเท่านั้น โดยราคาสั่งตัดรองเท้าเริ่มต้นที่ราว 1,300 บาท เขาไม่อยากรับออร์เดอร์มากจนเกินไป เพราะต้องการให้ลูกค้าได้รับรองเท้าที่ดีที่สุดไปสวมใส่ ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่เจริญยึดมาตลอดชีวิต “ตอนนี้ผมไม่ได้รับงานเยอะเหมือนเมื่อก่อน แต่เหตุผลสำคัญที่ยังขอทำงานอยู่ คือการได้ทำในสิ่งที่รัก และหากผมไม่เปิดร้าน เพื่อนเก่า ๆ ก็คงจะหายหมด การได้เปิดร้าน เปิดบ้าน รับมิตรภาพจากเพื่อนเก่าที่สนิทกันมานาน แม้จะเหลือไม่มาก นาน ๆ มาที แต่ผมก็มีความสุข”   เรื่อง: Blacksugar ภาพ: ประเวศ พึ่งแสวงผล