ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’

ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’

นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’

“โลโก้ภาพยนตร์เป็นเหมือนนามบัตรของภาพยนตร์เรื่องนั้น” ‘พิ้งค์ - ฉัตรชนก วงศ์วัชรา’ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘Chatchanok Wong’ (ฉัตรชนก หว่อง) นักออกแบบชาวไทยผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโลโก้ภาพยนตร์ภาษาไทย อธิบายให้ฟังถึงความสำคัญของโลโก้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นเป็นลำดับต้น ๆ แถมยังมีความสำคัญในการสื่อสารอารมณ์ของเรื่อง และเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้คนดูตัดสินใจ ‘เลือก’ หรือ ‘ไม่เลือก’ ชมภาพยนตร์เหล่านั้น ฉัตรชนกเล่าว่า เดิมทีเธอเป็นนักออกแบบที่ทำงานตั้งแต่การวาดภาพประกอบ ทำกราฟิกดีไซน์ และทำแบรนดิ้งให้กับบริษัทโฆษณาและเอเจนซี แต่เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ชื่อเสียงของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์มากขึ้น หลังจากผลงาน ‘ไทโปกราฟี’ (Typography) หรือการออกแบบตัวอักษรสำหรับโลโก้ภาพยนตร์ของเธอเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชน งานของฉัตรชนกคือการเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่นให้กลายเป็นโลโก้ภาษาไทย โดยเธอจะใช้วิธีการออกแบบผสมผสานระหว่างงานกราฟิกและตัวอักษร เพื่อให้เกิดความคล้ายเดิมและบ่งบอกถึงอารมณ์ (mood & tone) ของเรื่องให้ได้มากที่สุด เชื่อว่าใครที่เคยรับชมภาพยนตร์ผ่านบริษัทให้บริการสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ของโลกคงจะเคยผ่านตากับผลงานของเธอมาบ้าง ยกตัวอย่าง โลโก้ภาษาไทยของเรื่อง ‘โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ’ ‘แขนกลคนแปรธาตุ’ ‘เดธโน้ต’ ‘เดอะ วิทเชอร์ นักล่าจอมอสูร’ ‘Sweet & Sour รักหวานอมเปรี้ยว’ ‘โดราเอมอน ตอน โนบิตะสำรวจดินแดนจันทรา’ ‘พริตตี้ การ์เดี้ยน เซเลอร์มูน อีเทอร์นัล เดอะ มูฟวี่’ ‘สตาร์ทอัพ’ และ ‘วัน พันช์ แมน’ The People ชวนพิ้งค์ - ฉัตรชนก วงศ์วัชรา คุยทางไกลจากฮ่องกงถึงเส้นทางการทำงานออกแบบ จนถึงครั้งแรกที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบโลโก้ภาพยนตร์ ซึ่งฉัตรชนกได้อธิบายถึงขั้นตอน เทคนิคการออกแบบ และ 3 สิ่งสำคัญที่นักออกแบบยุคสตรีมมิงไม่ควรพลาด รวมไปถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและความเป็นอยู่ในฮ่องกงสำหรับคนที่สนใจออกตามหาโอกาสครั้งใหม่ในชีวิต [caption id="attachment_39584" align="aligncenter" width="984"] ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ผลงานส่วนหนึ่งของฉัตรชนก[/caption] พรสวรรค์และการแสวงหาโอกาสให้ตนเอง “เราโตมาโดยที่พ่อจบศิลปากร พ่อเก่งศิลปะมากอยู่แล้ว พี่ชายเราก็เก่งมากเหมือนกัน” ฉัตรชนกเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่หลายคนมีความสามารถด้านศิลปะติดตัว แต่หลังจากที่พ่อจากไปตอนเธออายุได้ 13 ปี แม่ก็ได้ให้เธอเข้าเรียนในสายวิทย์เพื่อเป็นหมอ ฉัตรชนกตกลงเรียนตามความต้องการของแม่ แต่แท้จริงแล้วเธอรู้ตัวดีว่าตนเองชอบศิลปะกว่าสิ่งใด “เราวาดรูปเป็นตั้งแต่ 2-3 ขวบ เพราะว่าพ่อวาดรูปเก่ง มันเหมือนเป็นกรรมพันธุ์ แต่ว่าเราไม่เคยมองเป็นอาชีพ จนเราเรียนมัธยมปลายแล้วไม่แน่ใจว่าเราจะมีความสุขกับการเป็นหมอไหม? แล้วการรับผิดชอบชีวิตคนที่เรารักษามันใหญ่เกินไปหรือเปล่า? จนเราได้รู้ว่า ความจริงแล้ว ยังไงเราก็ชอบวาดรูปและชอบทำงานศิลปะมากอยู่ดี และเรารู้ว่าเราทำได้ดี ก็เลยลองดูว่ามีสายงานอะไรบ้างที่สามารถทำศิลปะแบบหาเลี้ยงชีพได้” แรกสุด ฉัตรชนกได้รู้จักกับอาชีพแอนิเมเตอร์ แต่เมื่อเรียนแล้วกลับรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง เนื่องจากต้องเข้าใจเรื่องของการเคลื่อนไหว สรีระร่างกาย และฟิสิกส์ ซึ่งอย่างสุดท้ายคือสิ่งที่เธอไม่ถนัดที่สุด ต่อมาเธอจึงค้นพบอาชีพใหม่ที่โรงเรียนสอนพิเศษด้านศิลปะ ‘Artstudio’ บริเวณสะพานหัวช้าง นั่นคืออาชีพ ‘กราฟิกดีไซเนอร์’ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นใบเบิกทางให้เธอเข้าศึกษาต่อในคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาเรขศิลป์ (creative art - graphic) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน ฉัตรชนกจะได้งานประจำในฐานะครีเอทีฟ อาร์ตไดเรกเตอร์ (Creative Art Director) สายอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) ในบริษัทท้องถิ่นของฮ่องกงแห่งหนึ่ง เธอเล่าว่า โอกาสครั้งสำคัญที่เข้ามาในชีวิตเริ่มต้นตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เธอได้ลงงานใน ‘https://www.behance.net/’ ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดสำหรับนักออกแบบมืออาชีพ (Professional Designers) ทุกสาขา และด้วยความโชคดีที่มีศิลปินดังรวมตัวกันจัดงานนิทรรศการ เธอจึงได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมงาน และผลงานของเธอก็ถูกแสดงอยู่ที่หน้าแรกของ Behance ด้วย “ทีมงานของ Behance เขาเลือกว่างานไหนควรได้ถ่ายทอดสู่สายตาของผู้อื่น พอมันเป็นแพลตฟอร์มนานาชาติทำให้คนทั่วโลกเห็นงานของเรา ก็เริ่มมีงานติดต่อเรามาเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า เราทำงานฟรีแลนซ์มาตลอดชีวิตเลย เพิ่งจะมาทำงานประจำตอนอายุ 26-27” ก่อนที่ฉัตรชนกจะบินไปทำงานที่ฮ่องกง เธอเองก็เคยรับงานในบริษัทเอเจนซีโฆษณาที่ประเทศไทยมาก่อน กระทั่งปี 2018 Behance ก็นำพาโอกาสสำคัญมาให้เธออีกครั้ง นั่นคือการทำงานให้กับบริษัทสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ของโลก [caption id="attachment_39583" align="aligncenter" width="982"] ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ พิ้งค์ - ฉัตรชนก วงศ์วัชรา[/caption] โลโก้ภาพยนตร์ นามบัตรในการทำความรู้จักหนัง “ต้องอธิบายก่อนว่า เราไม่ได้ทำกับบริษัทสตรีมมิงนี้โดยตรง แต่เขาจ้างเอเจนซีชื่อ ‘Wordbank’ ในการดูแลทุกภูมิภาค หนังเรื่องไหน หรือซีรีส์เรื่องที่กำลังจะเข้าสตรีมมิงช่วงนี้ เราก็จะต้องทำล่วงหน้า 2-3 เดือน แต่งานมันค่อนข้างเยอะ เขาก็จะแบ่ง ๆ กัน อย่างในไทย เราว่าน่าจะมีดีไซเนอร์อีกประมาณ 8-10 คนที่ทำงานนี้ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว” ฉัตรชนกเล่าให้ฟังว่า ทางบริษัทจะหาคนที่ทำงาน ‘2D’ และ ‘3D’ แยกกัน เพื่อจับคู่ความสามารถให้เหมาะกับงานแต่ละแบบ ส่วนตัวเธอจะรับงานประเภท ‘ดัดฟอนต์’ มากกว่า โดยก่อนหน้าที่จะได้รับงานนี้จะมีการทดสอบก่อน “เขาจะให้ทำงาน 3 ขั้น เขาจะส่งชื่อเรื่องแบบง่ายสุด แบบยาก และแบบยากที่สุดมาให้เราลอง ถ้าเราสอบผ่านก็เซ็นสัญญาทำงานด้วยกัน หลังจากนั้นก็เลยรู้ว่าได้ทำงานให้สตรีมมิงแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งทุกประเทศจะต้องส่งงานให้กับ Wordbank จัดการทีเดียวทั่วโลก” ส่วนหนึ่งในความท้าทายหลังจากที่ฉัตรชนกรับงานมาคือ การจัดการกับ ‘วรรณยุกต์’ ของภาษาไทย เนื่องจากตัวอักษรภาษาอังกฤษไม่เคยมีปัญหาเหล่านี้ “ต้องคิดประมาณหนึ่งเลยสำหรับภาษาไทย แต่ที่เราทำได้ก็ต้องขอบคุณพวกบริษัท ‘Type Foundry’ ‘Cadson Demak - คัดสรร ดีมาก’ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตัวอักษรด้วย มันเลยเป็นกรณีศึกษาให้เราในการดูว่าจะทำยังไงให้ฟอนต์ไทยอ่านได้และสวยด้วย เรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจ “การทำงานกับฝรั่งง่ายหน่อย คือเขาแค่เช็กว่าสิ่งที่เราทำออกมามันเหมือนกับของเดิมไหม ถ้าเราบอกว่าอ่านออก เขาก็โอเค แต่เราก็มีถามเพื่อนด้วย เราต้องลดความหวือหวาลงหน่อยเพื่อให้คนที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มาอ่านออก” [caption id="attachment_39585" align="aligncenter" width="985"] ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ผลงานส่วนหนึ่งของฉัตรชนก[/caption] ฉัตรชนกเล่าว่า ด้วยความที่งานเหล่านี้ต้องทำแข่งกับเวลา วิธีที่เธอใช้บ่อยที่สุดจึงเป็นการนำฟอนต์ภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงมาดัด แต่บางครั้ง หากต้องใช้ฟอนต์ที่เรียบง่ายฟอนต์เดียวจบ เธอก็จะแนะนำให้ทางบริษัทไปซื้อในเชิงพาณิชย์ “พอทำไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มมีคลังตัวอักษรที่สามารถนำมาดัดต่อในเรื่องอื่น ๆ ได้ แล้วการทำงานกับบริษัทสตรีมมิงนี้และ Wordbank เขาจะให้ไฟล์เวกเตอร์มา ซึ่งจะสะดวกมาก แยกมาก็ทำง่าย แต่บางอันที่ไม่มีอะไรเลย เราก็ต้องทำเหมือนกัน อย่าง โดราเอมอน เขาให้มาเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่น ไม่มีอะไร ไฟล์ภาพ jpg. เราก็ต้องทำใหม่เอง “บางฟอนต์คนไทยมีทำไว้แล้ว ถ้าเกิดว่าสวย เราก็ถือว่านี่คือตัวอย่างที่อ่านออก แทบไม่ต้องดัด ก็ซื้อเชิงพาณิชย์เลย อ่านในสัญญาว่าทำอะไรได้บ้าง แต่บางอันที่เราคิดว่าแก้ได้ เราก็จะทำ ส่วนมากจะเป็นพวกจากอนิเมะ หรือการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะมันเป็นฟอนต์ประดิษฐ์” หลังจากปี 2018 มีชื่อภาพยนตร์ผ่านมือเธอไปเกือบ 500 เรื่อง ซึ่งสามารถติดตามผลงานที่โดดเด่นได้ในเพจเฟซบุ๊กของฉัตรชนก โดยเธอบอกว่า การทำงานที่เธอชื่นชอบที่สุดคือการออกแบบชื่อเรื่องอนิเมะ เนื่องจากเป็นความชอบส่วนตัว “ตอนทำก็จะกระตือรือร้นมากเป็นพิเศษ” ส่วนเรื่องข้อมูลของภาพยนตร์ หรือการทำการบ้านก่อนออกแบบชื่อเรื่อง ฉัตรชนกเล่าว่า บางครั้งจะมีไฟล์อาร์ตเวิร์กมาด้วย ทำให้เธอรู้รูปแบบของภาพยนตร์หรือซีรีส์เหล่านั้น ขณะที่บางเรื่องถึงจะไม่มีข้อมูลมาให้ก็ไม่ส่งผลต่อการทำงาน “บางทีบอกคนอื่นว่าออกแบบตัวอักษรให้สตรีมมิง คนเขาก็ไม่เข้าใจนะ เขาจะถามว่าทำซับไตเติล (คำบรรยาย) เหรอ (หัวเราะ) ถ้าทำซับเราต้องได้ดูหนัง แต่อันนี้เราไม่ต้องดูก็ได้” ฉัตรชนกอธิบายการทำงานของเธอให้ฟัง ทั้งยังบอกถึงความสำคัญของการออกแบบโลโก้ภาพยนตร์ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปด้วยว่า  “โลโก้ภาพยนตร์เป็นเหมือนนามบัตรของภาพยนตร์เรื่องนั้น “มันเป็นสิ่งแรกที่คนจะเห็นก่อนโปสเตอร์ ส่วนใหญ่นะ มันน้อยมากที่บางทีจะไม่มีชื่อของหนัง แต่ส่วนใหญ่แล้วมันจะบอกโทนของหนัง บอกเอกลักษณ์ของหนังจากตัวอักษร หรือโลโก้นี่แหละ เรามองว่ามันเป็นนามบัตรที่ทำให้คนรู้จักกับตัวหนังเรื่องนี้ อย่างบางทีตัวอย่างภาพยนตร์ เราก็เห็นโลโก้ก่อน ไม่มีรูปไม่มีอะไรเลย อันไหนมันเท่ มันก็ทำให้หนังดูดีไปด้วย อย่าง ‘Dune’ ก็เหมือนกัน” ฉัตรชนกไม่ได้เป็นเจ้าของผลงานโลโก้ภาพยนตร์เรื่อง Dune โดยเธอบอกว่า เธอไม่ค่อยได้ทำงานในส่วนของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์มากนัก หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์การออกแบบมาตลอดชีวิต ฉัตรชนกได้เอ่ยถึง 2 สิ่งสำคัญในการออกแบบโลโก้ภาพยนตร์คือ ‘ต้องสวยและอ่านออก’ ส่วนเรื่องการคุมให้โลโก้มีสไตล์เหมือนของเดิม ฉัตรชนกมองว่าเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกสนุกมากกว่าเมื่อได้นำฟอนต์ทั้งสองภาษามาเปรียบเทียบกัน ความสนุกในการทำงานของฉัตรชนกไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เพราะเธอได้คลุกคลีอยู่กับศิลปะที่รักอยู่ตลอด ซึ่งใครที่สนใจงานสายออกแบบหรือการทำงานด้านศิลปะทั้งในไทยและฮ่องกง ฉัตรชนกก็มีเรื่องราวของเธอมาเล่าให้ฟัง ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ [caption id="attachment_39589" align="aligncenter" width="979"] ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ผลงานส่วนหนึ่งของฉัตรชนก[/caption] การเป็นนักออกแบบในไทยและฮ่องกง โอกาสในการทำงานที่ประเทศไทยและต่างประเทศสำหรับฉัตรชนกนั้นแทบไม่ต่างกันมาก เธอบอกว่าการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารในยุคที่อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายเข้าด้วยกันทำให้มีโอกาสไหลมาจากทุกที่ทั่วโลก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการลงงานในแต่ละแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งฉัตรชนกชอบการใช้ Behance เนื่องจากมีความเป็นมืออาชีพมากที่สุดในการสื่อสารถึงกระบวนการทำงานและแนวคิดให้ผู้อื่นได้รับรู้ “เราก็ได้งานทั้งจากของบริษัทสตรีมมิง และงานที่เสนอจากทางฮ่องกงมาจากแพลตฟอร์มนี้ มากกว่า ‘linkedin.com’ ทั้ง ๆ ที่เราก็ลงเยอะเหมือนกัน” ฉัตรชนกบอกอีกว่า เธอเป็นคนที่โชคดี เพราะคนเก่งที่ประเทศไทยมีเยอะมาก “แต่ค่าแรงก็แย่มาก ๆ จนเห็นแล้วหงุดหงิด” ซึ่งจุดนี้ ถึงแม้ค่าตอบแทนรายเดือนของเธอจะเป็นหลักแสน แต่ค่าครองชีพที่ฮ่องกงก็สูงเช่นเดียวกัน ถึงอย่างนั้นความเป็นอยู่ที่ดี สาธารณูปโภค การเดินทางที่ปลอดภัย และสวัสดิการรัฐก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนฮ่องกงสบาย “แต่เรื่องการบริการกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลของไทยถือว่าดีเลย แต่ตัวกระทรวงยังทำงานไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้น” การทำงานที่ฮ่องกงจึงตอบโจทย์ชีวิตของฉัตรชนกมากกว่า เนื่องจากบริษัทที่เธอกำลังทำอยู่สร้าง Work-Life Balance (สมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต) ได้มากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครหลายคนมองหามาโดยตลอด “จริง ๆ บริษัทโฆษณาของฮ่องกงก็ไม่ได้ต่างกับไทยมากขนาดนั้น เพียงแต่สายที่เราทำมันเฉพาะเจาะจงกว่า เน้นอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากที่ฮ่องกงจะเติบโตดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของเศรษฐกิจ เรียกว่าต่อให้ไม่มีงาน หรือว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่าไร บริษัทแนวนี้ก็พอจะมีงานเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ได้ขัดสนเหมือนเอเจนซีโฆษณายุคโควิด-19 ที่ต้องไล่พิทชิง (นำเสนอ-ขาย-โน้มน้าวใจผู้ฟังให้ซื้องาน) กับเขาไปทั่ว” หลังจากเดินทางมาทำงานที่ฮ่องกง เธอก็ได้พบกับการทำงานที่เป็นเวลามากยิ่งขึ้น และด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ การทำงานจึงให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม และสามารถต่อรองรายละเอียดการทำงานได้ “แต่นั่นเป็นเพราะเราทำในบริษัทที่ไม่ใหญ่นะ ถ้าใหญ่หน่อย เขาก็จะมีความบ้างานกันประมาณหนึ่ง” ประสบการณ์ของฉัตรชนกคงจะสามารถจุดประกายความฝันให้ใครสักคนที่กำลังสำรวจเส้นทางการเป็นนักออกแบบอยู่ ซึ่งฉัตรชนกได้ฝาก 3 สิ่งที่นักออกแบบควรมี โดยเริ่มต้นที่ความรับผิดชอบ “การที่มีความรับผิดชอบสูง มันเป็นแบรนดิ้งได้ด้วย คุณอาจจะไม่เก่ง แต่คุณเชื่อถือได้ เหมือนคุณทำงานตรงเวลา ส่งตรงเวลา ถึงมาตรฐาน บางคนเขาก็จะมาจ้างเรื่อย ๆ เพราะเขาสบายใจ เราว่าข้อนี้สำคัญที่สุด แต่คนชอบลืม “อย่างที่ 2 ก็ Passion แรงผลักดัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะทำงานแบบซังกะตาย ทำเฉย ๆ ไม่มีความสุข แล้วพอมันฝืน มันจะไม่สนุก เราโชคดีที่งานประจำเราถึงจะคอมเมอร์เชียลมาก บางครั้งก็ไม่สนุก แต่งานฟอนต์ถือเป็นยาใจ เพราะมันสนุก มันท้าทาย Passion ของเรามี 2 อย่างคือ เงินกับความท้าทาย “ความมั่นใจในตัวเอง ข้อ 3 หลายอย่างที่เราบอกมันอาจจะธรรมดามาก แต่เรารู้สึกว่าการเป็นนักออกแบบที่ดี เราต้องเชื่อในงานของตัวเอง มีความมั่นใจ แต่ก็ไม่ใช่เกินเบอร์นะ มันต้องเป็นความมั่นใจที่ดี รู้ว่าเราอ่อนอะไร แข็งอะไร ต้องมั่นใจเวลาคนถาม ความมั่นใจที่พอดีมันมีเสน่ห์” สุดท้าย ฉัตรชนกได้ฝากถึงผู้ที่สนใจงานออกแบบไว้ว่า “ยิ่งเด็กยิ่งพลาดได้เยอะ เพราะอยู่ในช่วงทดลอง แต่ไม่ต้องกลัวความผิดพลาดเลย เพราะมันคือสิ่งที่สอนเราได้ดีที่สุด ลองเยอะ ๆ และพลาดเยอะ ๆ อยากฝึกลายอะไร แบบไหน ถ้ายังเรียนอยู่ก็ลองหยิบยืมงานคนอื่นมาศึกษา แล้วหาความเป็นตัวเองดู” การเรียนรู้จากความผิดพลาดคือสิ่งสำคัญที่สร้างคนทุกอาชีพ ไม่ใช่แค่ศิลปินหรือนักออกแบบเท่านั้น ซึ่งการทดลองถือเป็นประตูใหญ่ที่เปิดโอกาสให้กับชีวิตในทุกช่วงวัย เช่นเดียวกับฉัตรชนกที่เปิดโอกาสให้ตัวเองล้มและลุกอยู่ตลอด จนสามารถเติบโตเป็นนักออกแบบผู้เปลี่ยนโอกาสจากลูกค้าทั่วโลกเป็นการสร้างผลงานที่น่าติดตามเสมอมา   ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ [caption id="attachment_39593" align="aligncenter" width="981"] ฉัตรชนก วงศ์วัชรา: นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังโลโก้หนังภาษาไทย ทั้ง ‘กันดั้ม’ ‘โจโจ้’ และ ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ผลงานอื่น ๆ ของฉัตรชนก[/caption] เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพและข้อมูล:  เพจ Chatchanok Wong ฉัตรชนก วงศ์วัชรา