ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ “ONE Championship” สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน

ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ “ONE Championship” สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน

ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ “ONE Championship” สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน

กราฟชีวิตคนเราจะขึ้นสูงแล้วดิ่งลงสลับไปมาอย่างนี้ได้กี่ครั้ง แล้วถ้าต้องเผชิญความเจ็บปวดซ้ำๆ จะรับมือกับสถานการณ์ได้นานแค่ไหน ใครที่ไม่เคยเผชิญสภาวะบีบคั้นแบบนี้อาจนึกไม่ออก แต่สำหรับ ชาตรี ตรีศิริพิศาล ชายหนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น หรือที่แวดวงกีฬารู้จักในนา“ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ONE Championship รายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานชื่อดังของเอเชีย คุ้นเคยกับสถานการณ์นี้ดี ชาตรีไม่เคยอายที่จะบอกใครต่อใครว่าชีวิตที่ผ่านมาต้องเผชิญอุปสรรคสาหัส อดอยาก ต้องอดมื้อกินมื้อ เจอสารพัดคำดูถูกเหยียดหยาม เพราะเขารู้ดีว่าสิ่งที่ถ่ายทอดออกมานั้นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นฮึดสู้ขึ้นมาแบบเขาได้ ทุกวันนี้ ONE Championship มีมูลค่ากิจการเกินกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งยังเนื้อหอมขนาด Venture Capital (VC) ชั้นนำระดับโลก ทุ่มเงินลงทุนกับรายการนี้แล้วกว่า 100 ล้านเหรียญ เพราะ ONE Championship สามารถเข้าถึงผู้ชมแล้วกว่า 1.7 พันล้านคน ในราว 130 ประเทศทั่วโลก  

ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ “ONE Championship” สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน

  เผชิญฝันร้าย ฉายา “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” ไม่ใช่ได้มาลอยๆ แต่เป็นเพราะชาตรีชื่นชอบศิลปะแม่ไม้มวยไทย เมื่ออายุ 13 ปี เขาขอครอบครัวไปฝึกวิชามวยกับ ยอดธง เสนานันท์ ที่ในแวดวงหมัดเท้าเข่าศอกนับถือเป็น “ครูยอดธง” เจ้าของค่ายมวยศิษย์ยอดธง ใน จ.ชลบุรี ชาตรีฝึกฝนมวยอยู่หลายปี แต่ก็มีช่วงหนึ่งที่เว้นระยะเพราะเดินทางไปเรียนต่อปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ Tufts University สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นเองที่ครอบครัวของเขาเริ่มได้รับผลกระทบจากพิษ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ตามด้วยการล้มละลายในที่สุด จากคนที่ใช้ชีวิตอย่างลูกคุณหนู มีเงินมีทองใช้แทบไม่ขาดมือจนหลายคนแอบอิจฉา แต่แล้ววันหนึ่งก็เหมือนฟ้าผ่า พ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวตัดสินใจเดินแยกทาง ทิ้งภรรยาชาวญี่ปุ่นและลูกๆ 2 คน คือชาตรีและน้องชายให้สู้ชีวิตกันเอง แน่นอนว่านี่คือฝันร้ายชัดๆ!!   "สู้" ทุกเวที “ช่วงนั้นผมร้องไห้บ่อยมาก...เชื่อไหมพูดไปแล้วภาพนั้นยังติดตา ร้องไห้ เพราะไม่มีอนาคต บ้านไม่มี ไม่มีทางออก น้องชายอายุ 15 จะไปโรงเรียนยังไง เหมือนเราโดนทิ้งจากพ่อ และถูกผลักให้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวแบบไม่ได้ตั้งตัว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก” ชาตรีกล่าวในการให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ ภาพที่ 3 คนแม่ลูกกอดคอกันร้องไห้ อดมื้อกินมื้อ ต้องขอยืมเงินคนอื่นเพื่อเอามาประทังชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ เป็นภาพที่ชาตรีจดจำได้ไม่มีวันลืม แต่ท่ามกลางพายุโหมกระหน่ำ ชาตรียังมีความหวัง เมื่อนึกถึงคำสอนของครูยอดธงที่เคยกล่าวไว้ทำนองว่า เป็นนักมวยต้องสู้ทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นเวทีมวยหรือเวทีชีวิต ประกอบกับแม่ที่ไม่เคยทิ้งความเชื่อมั่นในตัวเขา ชายหนุ่มจึง “สู้” ไม่ว่าข้างหน้าจะต้องเจอกับอะไรก็ตาม ชาตรีสมัครหลักสูตร MBA ที่ Harvard Business School สหรัฐอเมริกา ตามคำแนะนำของแม่ที่มองการณ์ไกลว่าถ้าเข้าที่นั่นได้ ก็จะเป็นบันไดที่มั่นคงในการพาชาตรีก้าวไปสู่อนาคตที่ดนับว่าโชคเข้าข้างเพราะเขาทำได้สำเร็จ แม่ เขา และน้องชาย จึงตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าที่ดินแดนแห่งเสรีภาพ ชาตรีกู้ยืมเงินจากธนาคารมาเป็นค่าเล่าเรียน และหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานสารพัด อย่างการเป็นครูสอนพิเศษ พนักงานส่งอาหารจีน และงัดเอาทักษะมวยไทยไปเป็นครูสอนมวยไทย และให้แม่แอบเข้ามาอยู่ในหอพักนักศึกษากับเขาด้วย เพราะไม่มีเงินพอจะไปเช่าที่อยู่ข้างนอก “ผมขอบคุณที่มีโอกาสจน เพราะความจนสอนผมหลายอย่างในชีวิต ผมเรียนรู้ที่จะมีความสุขโดยไม่ต้องมีเงิน ตอนรวยเราอาจกลัวเสียหน้า แต่เมื่อถึงวันที่คุณสูญเสียทุกอย่าง เรื่องหน้าตาก็ไม่สำคัญแล้ว และทำให้ผมแกร่งขึ้น” เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes Thailand    ไล่ล่าความฝัน  "การเป็นผู้ประกอบการ" คือความฝันหนึ่งของชาตรีสมัยเรียนที่ Harvard Business School เขาเคยร่วมก่อตั้งธุรกิจซอฟต์แวร์อินเตอร์เน็ต โดยมี VC ให้ทุนสนับสนุนมาราว 500,000 เหรียญ แต่ความฝันของชาตรีใหญ่กว่าเงินจำนวนนั้น ชาตรีโน้มน้าวให้ VC ใน Silicon Valley เห็นศักยภาพในธุรกิจซอฟต์แวร์อินเตอร์เน็ตของเขา จนระดมทุนมาได้อีก 38 ล้านเหรียญ หลายปีต่อมา เขาก็ขายหุ้นในบริษัทส่วนของตัวเอง ทำให้มีเงินเก็บหลักล้านเหรียญได้เป็นครั้งแรก หลังจากครอบครัวล้มละลาย ชาตรีไล่ล่าความฝันต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เขาพกดีกรี MBA เข้าไปทำงานใน "ตลาดทุน" อย่าง Wall Street ความรู้ความสามารถบวกกับการทุ่มเททำงานหนัก ทำให้ชาตรีก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้บริหารระดับ Managing Director ดูแลกองทุน Hedge Fund (กองเงินสำหรับการลงทุนที่มาจากนักลงทุนหรือสถาบัน โดยมีผู้บริหารกองเงินเป็นผู้ดำเนินการลงทุนให้) มูลค่าถึง 1.5 หมื่นล้านเหรียญ เมื่อฝึกปรือฝีมือจนได้ที่ ชาตรีก็ออกมาตั้งบริษัทกองทุน Hedge Fund ขึ้นเอง ความฝันทั้งการเป็นผู้ประกอบการและการทำงานในตลาดทุนสำเร็จไปแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ “ศิลปะป้องกันตัว”  

ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ “ONE Championship” สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน

  กำเนิด ONE Championship หลังจากชั่งน้ำหนักระหว่างความร่ำรวยกับความฝัน ท้ายสุดชาตรีก็เลือกอย่างหลัง เพราะเป็น “แพสชั่น” ที่จะทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข เขาเห็นว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของโลกตะวันออกคือศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยและผูกพันมาตั้งแต่เด็ก จึงก่อตั้ง Evolve MMA ซึ่งเป็นยิมที่ฝึกสอนศิลปะป้องกันตัวในรูปแบบต่างๆ ขึ้นที่สิงคโปร์ในปี 2552 และไม่ลืมที่จะชักชวนนักมวยจากค่ายศิษย์ยอดธงมาเป็นครูมวยที่นี่ เมื่อ Evolve MMA อยู่ตัวและไปได้ดี ชาตรีที่เห็นว่าโลกทุกวันนี้หมุนไปด้วย “คอนเทนต์” จึงสร้างโอกาสธุรกิจครั้งใหม่ขึ้นในปี 2554 ด้วยการปลุกปั้น ONE Championship รายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน ชูจุดเด่นของความเป็นเอเชียอย่างบุคลิกลักษณะความอ่อนน้อมถ่อมตนผสมความแข็งแกร่งในเชิงต่อสู้เข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม นำนักกีฬาต่อสู้จากประเทศต่างๆ มาชิงชัยบนสังเวียน เพื่อกรุยทางสู่ความเป็นหนึ่ง แม้จะมีชื่อเสียงที่สร้างมาแล้วจาก Wall Street มีงบลงทุนเตรียมไว้หลายสิบล้านเหรียญ และวางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมมาอย่างดีแค่ไหน แต่การขอสปอนเซอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการแข่งขันกีฬารายการใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก ต่อให้อธิบายแผนงานอย่างละเอียดเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้สปอนเซอร์ควักเงินออกมาช่วยได้ แถมยังโดนหาว่า "บ้า" เสียด้วย ถึงอย่างนั้น ดีเอ็นเอความเป็นนักสู้ของชาตรีก็ยังเข้มข้น เขาเลือกสร้าง ONE Championship ให้เป็นจริง โดยไม่สนเสียงเยาะเย้ยจากคนรอบข้างที่ดังเข้าหูว่าธุรกิจนี้อาจล้มเหลวเข้าสักวัน   [caption id="attachment_1047" align="aligncenter" width="1737"] ชาตรี ศิษย์ยอดธง พลิกชีวิตติดลบสู่ “ONE Championship” สังเวียนนักสู้หมื่นล้าน ONE Championship ที่จัดเต็มแสง สี เสียง สร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้ผู้ชมในสนามและทางบ้าน[/caption]   สร้างช่องทางความนิยม กลยุทธ์ที่ชาตรีใช้คือ แทนที่จะจัดการต่อสู้แล้วให้ผู้ชมเข้ามาดูในฮอลล์ที่สลับสับเปลี่ยนไปแข่งตามประเทศในเอเชียเพียงอย่างเดียว เขาก็ใช้การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และโลกออนไลน์เป็น "ช่องทาง" เพื่อสร้างความรับรู้ รวมทั้งสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้คนดูด้วยแสง สี เสียง เต็มขั้น และคอนเสิร์ตสุดมัน นอกจากนี้ การมีนักสู้ดาวเด่นจากแต่ละประเทศมาแข่งขัน อย่าง ริกะ อิชิเกะ นักสู้สาวแกร่งลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น แองเจล่า ลี นักสู้หญิงจากสิงคโปร์ อ่อง ลา เอ็น ซาง นักสู้จากพม่า เจ้าของฉายา "The Burmese Python" ฯลฯ ก็ช่วยสร้างฐานแฟนคลับให้ขยายตัวในวงกว้าง และลงลึกในความชื่นชอบอย่างต่อเนื่อง ความนิยมในคนดูกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ ONE Championship เริ่มเป็นรายการกีฬาที่ใครจะมองข้ามไปไม่ได้อีกแล้ว กระทั่ง VC ระดับโลกหลายราย เช่น บริษัทในเครือ Temasek Holdings รวมทั้ง Sequoia Capital (India) Singapore สนใจลงทุนใน ONE Championship ซึ่งชาตรีก็หวังว่าจะช่วยหนุนให้รายการที่เกิดจากความรักของเขา ที่ขณะนี้เป็น Sports Property อันดับหนึ่งในเอเชีย สามารถขึ้นไปเทียบชั้นสูสีกับรายการแข่งขัน NBA และ NFL ของสหรัฐอเมริกา ได้ในอนาคต “ชีวิตที่ล้ม” ไม่ใช่ชีวิตที่พ่ายแพ้ แต่คือบทพิสูจน์ความอดทนในตัวว่าจะสามารถลุกขึ้นสู้เพื่อผ่านพ้นไปได้หรือไม่ เช่นที่ชาตรีก้าวข้ามมาได้ และประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ เพราะ “ฟ้าหลังฝน” ย่อมสดใสเสมอ   ที่มา https://www.thairath.co.th/content/587350 นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 https://www.voathai.com/a/a-47-2007-04-11-voa1-90635004/920849.html   ภาพ : ONE Championship