โชนัมจู: นักเขียนผู้สะท้อนชีวิตกดขี่ของผู้หญิงเกาหลีใต้ ผ่าน “คิมจียอง เกิดปี 82”

โชนัมจู: นักเขียนผู้สะท้อนชีวิตกดขี่ของผู้หญิงเกาหลีใต้ ผ่าน “คิมจียอง เกิดปี 82”
ช่วงต้นปี 2019 หนึ่งในข่าวบันเทิงของเคป็อปที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งเอเชีย และสร้างความตื่นตระหนกพร้อมทั้งหวาดกลัวไปพร้อม ๆ กัน คงหนีไม่พ้นข่าวของ ซึงรี อดีตสมาชิกวงบิ๊กแบง ที่เกี่ยวข้องกับการพนันและอาชญากรรมทางเพศ โดยมีคลับ Burning Sun เป็นสถานที่เบื้องหลังของจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ทั้งหมด จากข่าวอื้อฉาวดังกล่าว กลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าสังคมเกาหลียังเป็นสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมชายเป็นใหญ่ แม้ตอนนี้จะเป็นปี 2019 แล้วก็ตาม แต่บทบาททางเพศของผู้หญิงในสังคมเกาหลียังถูกกดทับ ความสามารถทั้งในการใช้ชีวิตและการทำงานยังไม่ถูกยอมรับเท่าผู้ชาย ไม่ใช่เพียงแค่วัยทำงานเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้กลับบ่มเพาะ สร้างรากความเชื่อมาตั้งแต่วัยเด็ก วัยประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ทำงานไปจนกระทั่งการแต่งงาน  หากใครที่นึกภาพว่าทุก ๆ วันของผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับบริบทของสังคมที่ว่าจะเป็นอย่างไร “คิมจียอง เกิดปี 82” (년생 김지영- Kim Ji Young, Born in 1982) คือหนังสือที่สะท้อนเรื่องราวของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ได้อย่างครบถ้วน หมดจดทุกแง่มุมผ่านชีวิตของคิมจียอง  คิมจียอง  คือผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ที่เกิดปี 1982 จากเนื้อหาในตอนต้นที่ชีวิตของเธอดูสมบูรณ์ตามอุดมคติของสังคม เธอแต่งงาน เป็นแม่บ้าน มีลูกหนึ่งคน สามีมีหน้าที่การงานมั่นคงและสามารถดูแลครอบครัวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่แล้ววันหนึ่งเธอแสดงบุคลิกภาพที่ไม่ใช่ตัวเองออกมา ราวกับว่าคิมจียองกลายเป็นคนอื่น จากความน่าสะพรึงใจนั้นนำไปสู่จุดเริ่มต้นของสาเหตุทั้งหมดที่ชวนผู้อ่านทั้งเอาใจช่วย ตั้งคำถามกับสิ่งที่เธอต้องเผชิญ หรือแม้แต่เสียน้ำตาให้กับสิ่งที่เธอต้องยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงเพราะว่าสังคมเกาหลีใต้มีคำตัดสินและบรรทัดฐานเช่นนั้น คิมจียองเกิดปี 82 ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ Minumsa ในเดือนตุลาคม ปี 2016 และตีพิมพ์ไปมากกว่า 270,000 เล่ม และในปี 2019 หนังสือ คิมจียองเกิดปี 82 ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยได้ กงยู ซูเปอร์สตาร์เอเชียมาร่วมแสดงด้วย หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเขียนหญิง โชนัมจู (조남주) วัย 41 ปี เธอเคยเป็นนักเขียนสคริปต์รายการโทรทัศน์ที่ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อเป็นแม่บ้าน ดูแลลูกและครอบครัว เรื่องราวของหนังสือจึงกลั่นมาจากประสบการณ์ชีวิตของเธอที่หล่อหลอมมาตั้งแต่วัยเด็กและวัยหนุ่มสาว โชนัมจู เกิดในปี 1978 เติบโตมาในครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพี่ชายที่โตกว่าเธอค่อนข้างมาก และพี่สาวที่อายุไล่เลี่ยกัน และหากใครที่อ่านคิมจียองเกิดปี 82 แล้ว ชีวิตของโชนัมจูก็เป็นเช่นเดียวกับชีวิตของคิมจียอง ในวัยเด็กเมื่อแม่ของโชนัมจูออกไปทำงาน เธอกับพี่สาวต้องทำอาหารให้พ่อและพี่ชาย ตอนนั้นเธอไม่ได้รู้สึกว่าการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ผิดแปลก เพราะเป็นเรื่องปกติของแทบจะทุกบ้าน และเมื่อเข้าวัยประถม มัธยมศึกษา กระทั่งมหาวิทยาลัย เธอก็ยังไม่เข้าใจถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศของสังคม  กระทั่งโชนัมจูเริ่มทำงานที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง หน้าที่การงานไม่ใช่เพียงแค่การทำงานตามตำแหน่งเท่านั้น แต่กลับครอบคลุมไปถึงการจัดโต๊ะ การเตรียมตะเกียบและช้อนบนโต๊ะอาหาร โดยเรียงลำดับตามความอาวุโส และแล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เธอฉุกคิดเรื่องการกดขี่ทางเพศ เธอสั่งอาหารเดลิเวอรีสำหรับทุกคนในทีม เพื่อนร่วมงานผู้ชายในทีมคนหนึ่งบอกกับเธอว่า สั่งแซนด์วิชให้ด้วย แต่ร้านอาหารที่สั่งไม่ได้มีแซนด์วิชขาย นั่นหมายความว่าเธอจะต้องสั่งอาหารเดลิเวอรีร้านแซนด์วิชเพิ่ม นั่นทำให้เธอเริ่มสำรวจและครุ่นคิดกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต อย่างหน้าที่ของแม่บ้านหรือการทำความสะอาด กลับถูกกำหนดว่าต้องเป็นบทบาทของเพศหญิงอย่างไม่ต้องสงสัยอะไร หรือกระทั่งหากผู้หญิงเป็นฝ่ายปฏิเสธความสัมพันธ์ผู้ชาย พวกเธอจะถูกโกรธเป็นอย่างมาก  โชนัมจูยังเล่าต่อว่า การกดขี่บทบาทเพศหญิงนี้ไม่ได้เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก แต่กลับเริ่มตั้งแต่แรกเกิด หากตั้งครรภ์เป็นเด็กชายจะได้รับการยินดีจากครอบครัวมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งจากจุดนี้เองที่เธอคิดว่าเป็นรากแห่งความกดขี่ทางเพศ  โชนัมจู: นักเขียนผู้สะท้อนชีวิตกดขี่ของผู้หญิงเกาหลีใต้ ผ่าน “คิมจียอง เกิดปี 82” การตีพิมพ์ คิมจียองเกิดปี 82 ในเดือนตุลาคม 2016 ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จโดยทันที เพราะหนังสือถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงต้นปี 2017 กระทั่งสามารถทำยอดขายได้ถึง 270,000 เล่ม และที่สำคัญเดือนมีนาคม ปี 2018 หนังสือเล่มนี้เป็นถึงกล่าวถึงและถูกวิพากษ์อีกครั้งจากเหตุการณ์ของ ไอรีน สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Red Velvet ที่ตอบคำถามของแฟนคลับว่า หนังสือที่อ่านเร็ว ๆ นี้ คือเรื่อง คิมจียองเกิดปี 82 ซึ่งแฟนคลับบางส่วนเมื่อรับรู้กลับไม่พอใจ และแสดงข้อความที่เต็มไปด้วยถ้อยคำโมโหว่า  “หยุดแกล้งทำเป็นไม่รู้ความเป็นไปทางโลกสักที” และ “จำเอาไว้ก็ดีนะว่าแฟนคลับจำนวนมากเป็นผู้ชาย” เพราะการบอกว่าอ่าน คิมจียองเกิดปี 82 ก็เหมือนการประกาศว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ เหตุการณ์นี้ลุกลามไปไกล มีทั้งแฟนคลับที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยสาดโคลนกันไปมา ซึ่งสะท้อนว่าสังคมเกาหลีใต้โดยส่วนมากยังมองว่าเรื่องราวต่าง ๆ ภายในหนังสือเป็นเรื่องปกติของสังคม และไม่พอใจที่จะยอมรับว่าเป็นการกดขี่ทางเพศหญิง  ภายหลังความสำเร็จนี้ แม่ของโชนัมจูส่งข้อความบอกกับเธอว่า “ทุกคนอ่านหนังสือเล่มนี้จนแม่ไม่สามารถหาซื้อได้เลย” แต่โชนัมจูกลับรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงกับตัวเธอที่เป็นนักเขียน แต่เป็นหนังสือต่างหากที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก  แรงกระเพื่อมของ คิมจียองเกิดปี 82 ไม่ได้สร้างเกลียวคลื่นเฉพาะในเกาหลีใต้เท่านั้น มีการแปลหนังสือออกไป 18 ภาษาทั่วโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน จีน และมีการตีพิมพ์กว่า 130,000 เล่มในญี่ปุ่นภายในเวลา 3 เดือนเท่านั้น  “ความนิยมของนวนิยายที่มีเรื่องราวของเฟมินิสต์ ได้รับความนิยมมากขึ้นในตลาดหนังสือญี่ปุ่น” ตัวแทนของสำนักพิมพ์ Minumsa กล่าวหลังจากที่ คิมจียองเกิดปี 82 ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น  ยิ่งไปกว่านั้น คิมจียองเกิดปี 82 ยังมีการตีพิมพ์กว่า 300,000 เล่มในจีน และตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในไทยโดยสำนักพิมพ์เอิร์นเนส ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนอย่างเป็นนัยยะว่า หลายประเทศในเอเชียมีรากและความเชื่อแห่งสังคมปิตาธิปไตยไม่แพ้เกาหลีใต้  “ครั้งหนึ่ง ฉันพาลูกสาวไปสวนสาธารณะและนั่งพัก จิบกาแฟในยามบ่าย ฉันยังได้ยินบทสนทนาของพนักงานออฟฟิศผู้ชายว่าผู้หญิงอยู่สุขสบายกว่าผู้ชาย โดยเปรียบว่าผู้ชายต้องคอยหาเงินเลี้ยงผู้หญิง และฉันเคยอ่านบทความที่เขียนโดยคนมีชื่อเสียงว่าเฟมินิสต์อันตรายกว่า IS (Islamic State) ทั้งสองเหตุการณ์นี้ทำให้ฉันรับรู้ว่าการกดขี่ทางเพศในเกาหลีใต้อย่างจริงจัง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฉันตัดสินใจว่าจะต้องเขียนถ่ายทอดบางอย่างออกมา” โชนัมจู กล่าวความในใจที่ผลักดันให้เธอเขียน คิมจียองเกิดปี 82 ออกมาในท้ายที่สุด  “ก่อนที่ฉันจะได้อ่าน คิมจียองเกิดปี 82 ฉันไม่ได้คิดอะไรจริงจังเลย แต่หลังจากที่ฉันได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ฉันรู้สึกว่าฉันโดนปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะฉันเป็นผู้หญิง และฉันไม่เคยรู้ตัวเลย” คำนิยมหนังสือโดย ชเว ซูยอง หนึ่งในสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Girls' Generation ที่คิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้สร้างการตระหนักถึงการรับรู้ถึงรากแห่งสังคมปิตาธิปไตยที่แทรกซึมอยู่ในทุกช่วงชีวิตของผู้หญิงเกาหลีใต้  กระแสทางสังคมที่เกิดจากหนังสือ คิมจียองเกิดปี 82 นี้เอง ทำให้เห็นว่าบทบาทของเพศหญิงในเกาหลีใต้นั้นควรจะได้รับความเข้าใจและได้รับการปฏิบัติอย่างดีขึ้น อย่างที่โชนัมจูต้องการบอกกับผู้อ่านทุกคน   ***หนังสือ “คิมจียอง เกิดปี 82” (Kim Ji Young, Born in 1982) แปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง   ที่มา :  http://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=3038016 https://www.matichonweekly.com/in-depth/article_79642 shorturl.at/klnKZ https://www.simonandschuster.co.uk/authors/Cho-Nam-Joo/158274670 http://koreabizwire.com/130000-copies-of-korean-feminist-novel-kim-ji-young-printed-in-japan/135245   เรื่อง : พลอยแพรว พัฒนเลิศพันธ์