จุฬญาณนนท์ ศิริผล: ศิลปินผู้นอนบนพื้นถนนเพื่อประท้วงการควบคุมโดยอำนาจรัฐ

จุฬญาณนนท์ ศิริผล: ศิลปินผู้นอนบนพื้นถนนเพื่อประท้วงการควบคุมโดยอำนาจรัฐ
จะเป็นอย่างไร ถ้าในขณะที่คุณกำลังเดินทางไปทำงานหรือกลับบ้าน เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติตอนเช้าหรือเย็นในที่สาธารณะแล้วคุณหยุดเดินเพื่อยืนเคารพธงชาติ แต่สายตาของคุณดันบังเอิญเหลือบไปเห็นคนใกล้ตัวคุณกำลังนอนราบอยู่บนพื้นถนน แทนที่จะยืนตรงเหมือนคุณและคนอื่น ๆ รอบข้าง คุณอาจจะประหลาดใจ ขบขัน หรือแม้แต่หงุดหงิดขุ่นเคือง แต่ถ้าคุณคุ้นเคยกับการดูงานศิลปะร่วมสมัย ก็อาจจะคาดเดาว่านี่คืองานศิลปะแสดงสดของศิลปินคนไหนสักคน ซึ่งคุณก็เดาถูกแล้วแหละ เพราะการแสดงที่ว่านี้เป็นผลงานของศิลปินผู้มีชื่อว่า จุฬญาณนนท์ ศิริผล นั่นเอง จุฬญาณนนท์ ผู้มีชื่อเล่นว่า ‘จะเข้’ หรือที่หลายคนเรียกสั้น ๆ ว่า ‘เข้’ เป็นคนทำภาพยนตร์ชาวกรุงเทพฯ ผลงานของจุฬญาณนนท์เป็นส่วนผสมของการดัดแปลงเรื่องเล่า ตำนานพื้นบ้าน นิทานปรัมปราเข้ากับประวัติศาสตร์สังคมการเมืองและนวนิยายวิทยาศาสตร์ เขาหลอมรวมข้อมูลแอนะล็อกเข้ากับจิตวิญญาณแบบดิจิทัล ผสานเทคนิคภาพยนตร์เข้ากับการทำงานศิลปะร่วมสมัย เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นปัญหารอบตัว ถึงแม้ผลงานของเขาจะเกี่ยวพันกับความตึงเครียดของการเมืองหรือความขัดแย้งทางสังคมอันหนักหน่วง ทว่าอารมณ์ขันในเชิงเสียดสีอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ทำให้ผลงานของเขาสามารถสื่อสารกับผู้ชมได้อย่างน่าสนใจเสมอมา เดิมที จุฬญาณนนท์เริ่มต้นการทำภาพยนตร์สั้นตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนมัธยมฯ วัยกระเตาะ เขาส่งประกวดภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นต่าง ๆ หลายต่อหลายครั้ง ผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง หัวลำโพง (2004) ของเขาเป็นเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลช้างเผือกพิเศษ (ระดับนักเรียน) จากเทศกาลภาพยนตร์สั้น เขายังทำหนังสั้นส่งประกวดและคว้ารางวัลมาอีกหลายต่อหลายรางวัล กระทั่งเข้าศึกษาในสาขาวิชาภาพยนตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จนได้รับการขนานนามว่าเป็น โกลเด้นบอยแห่งวงการภาพยนตร์สั้น เลยทีเดียว ผลงานภาพยนตร์จบการศึกษาของเขาอย่าง ภัยใกล้ตัว (ฉบับผู้กํากับ) (2008) ยังได้รับรางวัลช้างเผือก จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 12 ก่อนที่เขาจะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านทัศนศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากคว้ารางวัลในระดับประเทศแล้ว ผลงานภาพยนตร์สั้นของจุฬญาณนนท์ก็คว้ารางวัลในระดับนานาชาติมาอีกหลายรางวัล เช่นผลงาน A Brief History of Memory (2010) ที่คว้ารางวัล Alternative Visual Art Award จากเทศกาลภาพยนตร์และสื่อใหม่นานาชาติกรุงโซล ครั้งที่ 12 (Seoul International New Media Festival - NeMaf 2012) เกาหลีใต้ หรือผลงาน Vanishing Horizon of the Sea (2014) ก็คว้ารางวัล Special Mention ในสายประกวดภาพยนตร์สั้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Short Film Competition) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ ครั้งที่ 25 (Singapore International Film Festival) จุฬญาณนนท์ยังเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่ได้เข้าร่วมสร้างผลงานภาพยนตร์ร่วมกับอีก 3 ผู้กำกับชาวไทยอย่าง อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในโครงการร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น อย่าง Ten Years Thailand (2018) ที่ประกอบด้วยภาพยนตร์สั้น 4 เรื่อง ที่ตั้งคำถามถึงความหมายของ ‘อนาคต’ ผ่านมุมมองของผู้กำกับแต่ละคน ทั้งผู้กำกับที่มีชื่อเสียงและมีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จัก และผู้กำกับรุ่นใหม่ที่มีผลงานที่มีความโดดเด่น เพื่อผลักดันให้มีโอกาสสร้างผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวในอนาคต โดยผลงานของจุฬญาณนนท์อย่าง ท้องฟ้าจำลอง (PLANETARIUM) (2018) เป็นภาพยนตร์สั้นแนวแฟนตาซีเหนือจริงเชิงเสียดสีสังคม ที่จำลองการทำงานขององค์กรสื่อสารในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะพาเราสำรวจความทันสมัยก้าวไกลของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 4.0 ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อทัศนคติและการดำเนินชีวิตของคนในสังคม จนทำให้คนรุ่นใหม่ยินยอมเข้าร่วมทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกตรวจสอบ โดยมีพลังแสงแห่งความดี ชำระล้างความไม่ถูกต้องเพื่อให้คนเป็นคนดี เพื่อให้สังคมสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างสงบสุข ผลงาน PLANETARIUM ของเขา (และอีก 3 เรื่อง) ได้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 2018 และในอีกหลายเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำทั่วโลก นอกจากการทำภาพยนตร์แล้ว จุฬญาณนนท์ยังมีอีกบทบาทในฐานะศิลปินร่วมสมัย ผู้ทำงานศิลปะในสื่อภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย และวิดีโอแสดงสดที่ใช้ร่างกายของเขาเป็นสื่อในการทำงาน ผลงานของเขาครอบคลุมตั้งแต่ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์ทดลอง สารคดี วิดีโอ และศิลปะจัดวาง เขาเข้าร่วมในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยหลายเทศกาล ไม่ว่าจะเป็น มหกรรมศิลปะแสดงสดและวิดีโอจัดวาง Ghost:2561 (2018) กับผลงาน Golden Spiral (2018) วิดีโอจัดวาง/ภาพยนตร์สั้นไซไฟที่เล่าเรื่องราวของ ‘วงก้นหอย’ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์, นิยายพื้นบ้าน, การ์ตูนไซไฟ, ในรูปแบบของทฤษฎีสุนทรียศาสตร์, งานศิลปะ, งานสถาปัตยกรรม ไปจนถึงโฆษณาชวนเชื่อที่ล้อเลียนความพยายามในการเอาชนะริ้วรอยและความชราจากกาลเวลาด้วยเมือกหอยทาก ทั้งหมดถูกเล่าด้วยท่าทีครื้นเครง ตลกร้าย และเสียดสีอย่างเจ็บแสบ โดยขับเน้นความแปลกประหลาดด้วยประติมากรรมรูปก้นหอยสีทองอร่ามขนาดน้อยใหญ่ที่ติดลายพร้อยไปทั่วห้องแสดงงาน หรือในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 กับผลงาน กำเนิดหอยทากทอง (Birth of Golden Snail) (2018) ภาพยนตร์สั้นเชิงทดลองที่สร้างจากตำนานของเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่ แต่งเติมด้วยเรื่องแฟนตาซีผนวกกับข้อมูลประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยยืนอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับนิทานพื้นบ้าน เติมแต่งด้วยจินตนาการและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ผลงานชิ้นนี้ยังเล่นกับลักษณะทางกายภาพของถ้ำที่เป็นทั้งฉากในภาพยนตร์และถูกใช้เป็นพื้นที่ฉายภาพยนตร์ด้วย ความเป็นฟิล์มขาว-ดำในภาพยนตร์และการใช้เครื่องฉายภาพยนตร์เป็นเสมือนการอุปมาถึงต้นกำเนิดของภาพยนตร์ในยุคแรก ๆ และต้นกำเนิดของมนุษย์ที่เริ่มต้นจากการอาศัยอยู่ในถ้ำ (อันเป็นอุปมาถึงมดลูก) อันมืดมิดของมารดา ออกมาสู่แสงสว่างของโลกภายนอก เดิมทีผลงานเรื่องนี้จะถูกจัดฉายในถ้ำเขาขนาบน้ำ อันเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 แต่มันกลับถูกสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสั่งเซ็นเซอร์และห้ามฉายก่อนพิธีเปิดงานเพียงหนึ่งวัน เนื่องจากมีเนื้อหาซึ่งอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ตามมาด้วยยกเลิกการสนับสนุนผลงานชิ้นนี้ในเวลาต่อมา ในภายหลังผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ (ที่ได้รับการพิจารณาจากสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่าเป็นภาพยนตร์ประเภทที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป) ถูกนำไปฉายรอบเวิลด์พรีเมียร์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Film Festival) ครั้งที่ 30 และเทศกาลภาพยนตร์สั้นนานาชาติที่ปักกิ่งปี 2019 และอีกหลายเทศกาล (อ่านแถลงการณ์ของจุฬญาณนนท์ได้ที่นี่ https://bit.ly/3C7hKRt) เขายังจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มอีกหลายนิทรรศการอย่างเช่นนิทรรศการเดี่ยว Behind the Painting (2015) ในหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) และนิทรรศการ MUSEUM OF KIRATI (2017) ใน บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ที่นำเสนอผลงานศิลปะสื่อผสมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่จำลองความทรงจำถึงหม่อมราชวงศ์กีรติ ผ่านผลงานภาพเคลื่อนไหว จิตรกรรม, ประติมากรรม และสื่อผสม โดยได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา นิทรรศการนี้ยังถูกต่อยอดออกมาเป็นภาพยนตร์ขนาดยาว Forget Me Not (2018) ที่ตีความต่อจากนวนิยายข้างหลังภาพ โดยสอดแทรกประวัติศาสตร์การเมืองไทยเข้าไปด้วย ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งในนิทรรศการและในภาพยนตร์ จุฬญาณนนท์เป็นผู้รับบททั้งนพพรและกีรติด้วยตัวเองเพียงคนเดียว หรือในนิทรรศการ GIVE US A LITTLE MORE TIME (2020) ใน บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ที่เขาเริ่มทำงานคอลลาจ (ตัดปะ) จากหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่วันที่เกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย และปฏิญาณกับตัวเองว่าจะทำเป็นกิจวัตรไปจนกว่าจะมีการประกาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้เขาต้องใช้เวลาถึง 1,768 วัน หรือเกือบ 5 ปีในการทำงานชุดนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นจุฬญาณนนท์ทำการเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกดัดแปลงด้วยกระบวนการคอลลาจเหล่านี้ มาตัดต่อร้อยเรียงใหม่ให้กลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเชิงทดลอง ที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอจัดวางสี่จอ อันแปลกล้ำ แสงสีเสียงฉูดฉาดบาดตาเสียดหู ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและถ้อยคำชวนคุ้นเคยและแทงใจดำประชาชนชาวไทยผู้อึดอัดคับข้องใจจากการขาดไร้สิทธิเสรีภาพอยู่เอาการ โดยจุฬญาณนนท์หยิบเอาท่อนหนึ่งของเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ ที่ไม่ต่างอะไรกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ ไร้ความหมายอย่าง ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ หรือ ‘GIVE US A LITTLE MORE TIME’ มาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการของเขาในครั้งนี้นั่นเอง ส่วนผลงานของจุฬญาณนนท์ที่เรากล่าวถึงไปข้างต้นนั้น เป็นผลงานที่เขาร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่มในปี 2017 อย่าง The concept of self: On power, identity and labels ในหอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ตเซนเตอร์ ที่นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินร่วมสมัยคลื่นลูกใหม่ของไทยและอินโดนีเซีย ผลงานที่ว่านี้มีชื่อว่า Planking (2012) เป็นวิดีโอบันทึกภาพตัวจุฬญาณนนท์ที่เดินทางไปตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ และทำท่านอนราบ หรือที่เรียกว่า แพลงกิ้ง ซึ่งเป็นอะไรที่ฮิตเหลือเกินในสังคมโซเชียลฯ ยุคสมัยหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ เขาดันไปทำท่านี้ตอนที่ทุกคนกำลังยืนตรงในช่วงเคารพธงชาติกันอยู่นี่สิ! จุฬญาณนนท์สนใจในการหยิบเอาวัฒนธรรมการเคารพธงชาติ กับวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ที่ทำแพลงกิ้ง เขาคิดว่าถ้ามันมาอยู่ด้วยกันน่าจะเกิดบทสนทนาอะไรสักอย่างขึ้นมาได้ ในแง่กายภาพเราจะเห็นว่ามันเป็นการล้อกันระหว่างคนนอนแพลงกิ้งกับคนที่ยืนตรงเคารพธงชาติอยู่ แต่ถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้น วัฒนธรรมการเคารพธงชาติเป็นธรรมเนียมที่ถ้าได้ยินเพลงชาติแล้ว คนไทยต้องยืนตรง แต่ถ้ามีคนที่ไม่หยุดยืนตรงก็จะถูกมองและถูกตั้งคำถามว่า ไม่รักชาติหรือ? ซึ่งจุฬญาณนนท์คิดว่ามันเป็นอำนาจนิยมชนิดหนึ่งที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสงคราม พอถูกใช้ผ่านระบบการศึกษาในการให้นักเรียนยืนตรงเคารพธงชาติ มันก็เป็นการสร้างแนวคิดชาตินิยมขึ้นมาในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เลยอยากวิพากษ์วิจารณ์ ประจวบเหมาะกับกระแสแพลงกิ้งฮิตขึ้นมาพอดี เขาเลยคิดว่ามันน่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สนุกสนานดี เขาตั้งใจนำเสนอกิจกรรมนี้ในเชิงอารยะขัดขืนที่แฝงเอาไว้ด้วยความตลกขบขัน นอกจากผลงาน Planking แล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานอีกชิ้นของเขาอย่าง Blinding (2014) วิดีโอบันทึกภาพศิลปินตอนที่ออกจากบ้านในช่วงปี 2014 ในช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารมีการบังคับใช้กฎเคอร์ฟิวหลังจากการทำรัฐประหาร ที่ประชาชนไม่สามารถออกจากบ้านได้ในช่วงสี่ทุ่มถึงตีห้า สิ่งที่เขาออกไปทำก็คือการออกไปในสถานที่สาธารณะในช่วงเคอร์ฟิวแล้วทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการยืนถือกระดาษเปล่าปิดใบหน้าของตัวเอง ผลงานชิ้นนี้เป็นการแสดงถึงสถานการณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุม การที่สื่อต่างๆ ถูกควบคุมจนเหมือนกับถูกปิดหูปิดตา ประชาชนไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นออกมาได้ ไม่ต่างอะไรกับกระดาษเปล่า จุฬญาณนนท์สนใจในการหยิบเอาไอเดียเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกกับการเซ็นเซอร์มาเล่นกับช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การควบคุม เมื่อเอามารวมกันแล้ว ผลงานทั้งสองชิ้นนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับร่างกายที่ถูกอำนาจรัฐควบคุม ถ้าการนอนบนพื้นถนนของจุฬญาณนนท์เป็นผลงานศิลปะที่แสดงออกถึงการต่อต้านอุดมการณ์ชาตินิยมและการควบคุมร่างกายและความคิดประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จโดยอำนาจรัฐฉันใด ภาพของประชาชนที่นอนอยู่บนถนนจากอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาเยียวยา กระทั่งบางคนถึงกับเสียชีวิตอยู่บนถนน (โดยไม่ได้ถูกจัดฉากหรือจ้างวานมาดังที่ใครกล่าวหา) ก็เป็นความจริงอันไม่อาจปฏิเสธได้ที่แสดงออกถึงความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดและความไร้ประสิทธิภาพและไร้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐในปัจจุบันฉันนั้นนั่นเอง   ข้อมูลจาก: http://www.chulayarnnon.com บทสัมภาษณ์ศิลปิน จุฬญาณนนท์ ศิริผล   เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์