ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ

ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ
“เจ็ดปีที่เขาเป็นผู้นำ คือช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานของพวกเราชาวเกาหลีใต้” ปัจจุบันเกาหลีใต้ขึ้นชื่อเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศแถบเอเชีย แต่ก่อนพวกเขาจะก้าวสู่วันที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ก็ต้องผ่านการต่อสู้สาหัสไม่แพ้ใคร พวกเขาอดทนอยู่กับระบอบเผด็จการทหารมานานหลายสิบปี ทนฟังคำโกหก ทนดูโฆษณาชวนเชื่อ ยอมอยู่ใต้กฎอยุติธรรม ส่งต่ออำนาจกันรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งความอดทนถึงจุดแตกหัก ก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่กวางจู หลังจากวันแห่งการสูญเสียสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม ประชาชนชาวเกาหลีใต้ที่เหลือพร้อมใจลุกขึ้นสู้ ช่วยกันนำประเทศออกจากกรอบล้าหลัง กลายเป็นเกาหลีใต้เหมือนอย่างปัจจุบัน     ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เกาหลีใต้มักถูกจีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่นบุกยึดอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งรับเอกราชอย่างเป็นทางการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง กองทัพฝั่งสัมพันธมิตรปลดแอกเกาหลีใต้จากการครอบครองของญี่ปุ่น ชาวเกาหลีหวังว่าประเทศต้องพัฒนา ทิ้งเรื่องน่าเศร้าไว้ข้างหลังพร้อมกับซากปรักหักพัง แต่กลายเป็นว่าเมื่อต้องดูแลตัวเอง เกาหลีใต้ตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการซ้ำซาก มีการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก จนติดอันดับประเทศยากจนที่เคยมี GDP น้อยกว่าประเทศแถบแอฟริกาอย่างเคนยาเสียด้วยซ้ำ ประเทศเกาหลีต้องรับผลกระทบจากการต่อสู้ทางแนวคิดระหว่างเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์จากสงครามเย็น จนเกิดสงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950-1953) แบ่งประเทศออกเป็นสองดินแดน ฝั่งเกาหลีใต้จัดการเลือกตั้งได้ อี ซึงมาน (Rhee Syngman) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ พร้อมกับการโกหกครั้งใหญ่ที่ใช้คำว่า“ต่อต้านคอมมิวนิสต์” มาเป็นฉากบังหน้า อี ซึงมาน ชนะการเลือกตั้ง 4 ครั้งติด ปกครองประเทศอยู่ 12 ปี แต่หลังจากประชาชนทนมาพักใหญ่กับเศรษฐกิจย่ำแย่ ประชาชนออกมาประท้วงจนเขาต้องออกจากตำแหน่งในปี 1960 แต่ปีถัดมาทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองด้วยการทำรัฐประหารของ นายพล พัค จองฮี (Park Chung-hee) อ้างว่าเข้ามาเพื่อป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ (อีกครั้ง) แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมกับแผนพัฒนา 5 ปี สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และร่วมมือกับกลุ่มบริษัทนายทุนใหญ่ที่เป็นแชโบล (กลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่) ช่วงแรกเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาจริงดั่งเขาว่า แต่เงินในกระเป๋าที่มากขึ้นแลกมาด้วยเสรีภาพของชาวเกาหลีใต้ ประชาชนเริ่มมองเห็นความจริงของกลุ่มการเมืองเมื่อ พัค จองฮี ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมทิ้ง เปลี่ยนกฎใหม่เพื่อปูทางให้เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 จากเดิมกำหนดไว้ว่าเป็นได้ไม่เกิน 2 สมัย ท่ามกลางข่าวไม่น่าไว้ใจเกี่ยวกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แต่กลายเป็นว่าหลังควบคุมประเทศแบบเบ็ดเสร็จนาน 18 ปี (1961-1979) ในปี 1979 เขาถูกสังหารโดย คิม แจกยู (Kim Jae-gyu) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  [caption id="attachment_22736" align="aligncenter" width="1200"] ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ ชอน ดูฮวาน (ซ้าย) โรนัลด์ เรแกน (ขวา)[/caption] อย่างไรก็ตาม ฝันของ คิม แจกยู หวังลดอำนาจเก่ายังดูห่างไกลนัก เมื่อทหารรวมตัวกันทำรัฐประหารหลังประธานาธิบดีพัค จองฮี ถึงแก่อสัญกรรม เกาหลีใต้ได้ผู้นำคนใหม่นามว่า ชเว คยูฮา (Choi Kyu-hah) แต่เป็นประธานาธิบดีไม่กี่เดือนก็ถูก ชอน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ผู้บัญชาการความมั่นคงกลาโหมทำการรัฐประหารขึ้นเป็นผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 1979 ท่ามกลางความสับสนของกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาออกมาเดินขบวนประท้วงระบอบเผด็จการ เพราะเมื่ออำนาจเผด็จการเก่าถูกล้มไปอีกกี่ครั้ง มีประธานาธิบดีใหม่อีกกี่คน เกาหลีใต้ยังคงถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการอยู่เหมือนเดิม   ชอน ดูฮวาน มีสไตล์การควบคุมประเทศไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อน ๆ เท่าไหร่นัก ช่วงประกาศบังคับใช้กฎอัยการ เขาเข้มงวดเรื่องการแสดงออกของประชาชน จำกัดเสรีภาพในการพูด ควบคุมการเสนอข่าวสาร กำจัดประชาชนที่เห็นต่างด้วยการจับกุม อ้างว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ พอประชาชนเริ่มลุกฮือก็เพิ่มบทลงโทษทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้คนกล้าออกมาเดินถนน ดูเหมือนว่าประชาชนเบื่อหน่ายกับการเปลี่ยนผู้นำแต่ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง พูดถึงเรื่องปากท้องประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำ การถูกลิดรอนสิทธิจากรัฐบาลเผด็จการ กลุ่มนักศึกษาต้องการเสรีภาพในการแสดงออก ระบอบการปกครองที่มีประสิทธิภาพ คุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ จนทำให้การชุมนุมมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมนับแสนคน   เมื่อออกกฎเข้มงวด แต่กลุ่มนักศึกษายังออกมาประท้วง ชอน ดูฮวาน โต้ตอบการกระทำด้วยการบังคับใช้กฎอัยการศึก อ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ เพื่อนำกำลังบุกจับแกนนำนักศึกษาได้ 27 คน ข้อหายุยงให้เกิดความแตกแยกจนเกิดการชุมนุมประท้วง เช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 กลุ่มนักศึกษาโต้ตอบด้วยการรวมตัวกันในเมืองกวางจู จนเกิดการปะทะกันของนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวลาล่วงเลยเข้าสู่ช่วงเย็น แต่การต่อสู้ยังไม่มีทีท่าจบลง ชอน ดูฮวาน ออกคำสั่งใหม่ส่งหน่วยรบพิเศษแห่งเกาหลีใต้ร่วมกับทหารพลร่มเกือบ 700 นาย เข้าปราบปรามผู้ต่อต้านที่กวางจู ผลจากการนำกำลังรบเต็มรูปแบบหันปากกระบอกปืนใส่ประชาชน ความรุนแรงจึงแผ่ขยายกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีคนเห็นทหารใช้กระบองทุบตีผู้ประท้วง ใช้ดาบปลายปืนสังหารคนไม่มีอาวุธ แถมผู้เสียชีวิตรายแรกยังเป็นแค่ชายหูหนวกที่ไม่ได้เข้าร่วมประท้วงกองทัพเลยด้วยซ้ำ ความตึงเครียดเข้าปกคลุมประเทศ ระดับความรุนแรงทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนบุกเข้าไปสถานีตำรวจ ยึดอาวุธจากเจ้าหน้าที่ ปะทะกับทหารอย่างไม่กลัวตาย กลุ่มคนขับแท็กซี่ในเมืองกวางจูตัดสินใจเลิกทำงานชั่วคราว เข้าร่วมขบวนประท้วง นำรถมาจอดเรียงกำบังกันกระสุน ด้วยจำนวนประชาชนที่มากเกินควบคุม ทหารและตำรวจต้องล่าถอยออกจากเขตกวางจู แถมเรื่องราวของกลุ่มแท็กซี่กวางจูสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ภายหลังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง A Taxi Driver (2017) ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ ประชาชนที่จะไม่ยอมอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการสามารถยึดกวางจูได้สำเร็จ การต่อสู้ถูกพักไว้ชั่วคราว ประชาชนในเมืองช่วยกันคนละไม้คนละมือ แบ่งปันอาหารกับของจำเป็นให้กัน คนที่มีรถยนต์ส่วนตัวตัดสินใจนำรถของตัวเองมาจอดเป็นแนว เพื่อป้องกันทหารที่เฝ้าอยู่รอบนอก รวมตัวกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากการปะทะ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก และปล่อย คิม แดจุง แกนนำการเรียกร้องประชาธิปไตยที่โดนจับไปก่อนหน้านี้ ส่วนฝั่ง ชอน ดูฮวาน พยายามนำเสนอข่าวว่านักศึกษากับชาวเมืองเป็นพวกใช้ความรุนแรง สนับสนุนคอมมิวนิสต์เพราะถูกพวกสายลับเกาหลีเหนือปั่นหัว การเมืองของเกาหลีใต้ถูกสหรัฐอเมริกาจับตามองมาตลอด ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองบัญชาการร่วมสหรัฐ-เกาหลีใต้ เห็นการต่อสู้ยืดเยื้อกว่า 10 วัน ของคนในเมืองกวางจูกับ ชอน ดูฮวาน จึงสั่งเคลื่อนพลทหารจำนวนมากบริเวณชายแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ ให้เข้าร่วมปฏิบัติการยึดเมืองกวางจู สุดท้ายกองทัพสามารถตีฝ่ากลุ่มผู้ประท้วง จับกุมผู้ก่อความไม่สงบกว่า 1,700 ราย ยึดเมืองคืนได้สำเร็จ เป็นชัยชนะที่แลกมาด้วยชีวิตของชาวเกาหลีใต้ที่ล้มตายไปกว่า 174 ราย และบาดเจ็บนับ 2,000 คน กันยายน 1980 ชอน ดูฮวาน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เป็นผลจากการบิดเบือนข่าวสาร ปิดปากสื่ออย่างเข้มงวด จากนั้นนำตัว คิม แดจุง แกนนำการประท้วงถูกนำตัวขึ้นศาล เขากับผู้ประท้วงหลายคนถูกตัดสินให้มีความผิดจริง ต้องโทษประหารชีวิต ท่ามกลางเสียงด่าทอของประชาชนและการตำหนิของต่างชาติ เพราะเหตุการณ์ที่เมืองกวางจูส่งผลให้นานาประเทศให้ความสนใจเกาหลีใต้มากขึ้น ด้วยแรงกดดันหลายทาง โทษของ คิม แดจุง กับคนอื่น ๆ จึงถูกลด จากประหารชีวิตกลายเป็นจำคุกตลอดชีวิต จากนั้นเปลี่ยนอีกครั้งเหลือเพียงจำคุก 20 ปี ขณะที่ ชอน ดูฮวาน เป็นประธานาธิบดี เหตุการณ์การสังหารหมู่ที่กวางจูไม่เคยถูกหยิบมาพูดถึงอย่างจริงจัง ไม่มีการไต่สวนที่ยุติธรรม เขาอยู่ในอำนาจถึง 7 ปี เตรียมส่งไม้ต่อให้ โร แทอู (Roh Tae-woo) ทายาททางการเมืองที่จะขึ้นมาควบคุมประเทศแทนเขา ประธานาธิบดีดูฮวานจัดการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ว่ากันว่าเขาโกงเลือกตั้ง ทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าอำนาจยังคงอยู่ในกำมือ ผลออกมาน่าเศร้าใจเมื่อ โร แทอู สามารถชนะการเลือกตั้งตามที่ ชอน ดูฮวาน คาดการณ์ไว้ อำนาจถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการจับจ้องของประชาคมโลก ทำให้ทหารไม่สามารถออกมาทำรัฐประหารได้อีก อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจูถูกมองข้ามจากผู้มีอำนาจ ประธานาธิบดี คิม ยองซัม (Kim Young-sam) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1992-1997 ยืนยันว่าการดำเนินคดีย้อนหลังอดีตประธานาธิบดีชอน ดูฮวาน กับอดีตประธานาธิบดีโร แทอู อาจทำให้การเมืองเกาหลีใต้ไร้เสถียรภาพ ส่งผลให้บ้านเมืองไม่สงบ แต่สุดท้ายชาวเกาหลีใต้กดดันอย่างหนัก จนต้องยอมตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่ และการคอร์รัปชันของอดีตประธานาธิบดีทั้งสองคน [caption id="attachment_22739" align="aligncenter" width="1200"] ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ โร แทอู (ซ้าย) และ ชอน ดูฮวาน (ขวา)[/caption] เสียงเรียกร้องอันกึกก้องของชาวเกาหลีใต้ ส่งผลให้ปี 1995 สภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยวันที่ 18 พฤษภาคม ดำเนินคดีย้อนหลังบุคคลที่มีส่วนการกระทำผิดทางกฎหมายและละเมิดรัฐธรรมนูญ ออกหมายเรียกตัว ชอน ดูฮวาน กับ โร แทอู มาขึ้นศาล ปี 1996 ศาลตัดสินว่าทั้งสองคนมีความผิดจริงฐานก่อรัฐประหารในปี 1979 เป็นผู้สั่งการให้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน สังหารหมู่ และคอร์รัปชัน สุดท้าย ชอน ดูฮวาน ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนโร แทอู ถูกสั่งจำคุก 17 ปี แต่น่าเศร้าที่พวกเขาติดคุกได้ 250 วัน ก็ถูกนิรโทษกรรมโดย คิม ยองซัม ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ รวมถึงยุคของประธานาธิบดีหญิงคนแรก พัค กึนฮเย (Park Geun-hye) ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีเผด็จการ พัค ซองฮี ที่ถูกลอบสังหาร ก็เมินเฉยต่อหตุการณ์กวางจู เมื่อผลออกมาไม่เป็นดั่งหวัง ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่แสดงความไม่พอใจ เพราะนักการเมืองฉ้อฉลถูกลงโทษเบาเกินไป ชอน ดูฮวาน ไม่เคยแม้แต่จะแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต แถมการไต่สวนคดีก็ยืดเยื้อยาวนาน เพียงเพราะเขาเคยมอบผลประโยชน์ให้หลายคน มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในกองทัพ นอกจากนี้ เขายังได้ใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ติดคุกจนกระทั่งปี 2017 ชอน ดูฮวาน หาเรื่องให้ตัวเองอีกครั้ง ด้วยการกล่าวประณามบาทหลวงที่เคยขึ้นเป็นพยานเมื่อปี 1996 ว่าเป็น “ไอ้คนโกหก” เพราะอดีตประธานาธิบดียืนยันว่าเขาไม่ได้สั่งให้ทหารบนเฮลิคอปเตอร์กราดยิงผู้ชุมนุมที่กวางจูในปี 1980 หลังข่าวการด่าทอบาทหลวงของ ชอน ดูฮวาน เริ่มเป็นที่สนใจของประชาชน บาทหลวงคนดังกล่าวจึงตัดสินใจฟ้องอดีตประธานาธิบดีฐานหมิ่นประมาท เรื่องราวเริ่มบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ  เกิดการตามตัวพยานผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เมืองกวางจูมาให้การซ้ำ กลายเป็นว่าเสียงของประชาชนเริ่มส่งถึงกันอีกครั้ง เมื่อ มุน แจอิน (Moon Jae-in) นักเคลื่อนไหวทางสังคมชนะการเลือกตั้งปี 2017 สั่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์นองเลือดที่กวางจู รื้อคดีสังหารหมู่กลับมาใหม่ เพราะเขาเชื่อว่าทุกวันนี้ยังมีหลายฝ่ายพยายามปกปิดข้อเท็จจริง เพิกเฉยกับความสูญเสียของประชาชน แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ของเขาจะไม่ยอมนิ่งดูดายกับเรื่องนี้ ชอน ดูฮวาน ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนเกาหลีใต้โค่นล้มจนพินาศ ผลจากการสั่งรื้อคดีใหม่ทั้งหมดของประธานาธิบดีมุน แจอิน ทำให้ ชอน ดูฮวาน ที่ปัจจุบันอายุ 89 ปี ยังต้องมาขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้ง ถูกสื่อใหญ่ของเกาหลีตีข่าววันวานที่เขาสังหารประชาชนโดยไม่รู้สึกผิด ถึงเขาจะโดนสังคมสาปแช่ง แต่คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า สิ่งที่ชายคนนี้ได้รับยังไม่เท่ากับตอนเขาสั่งยิงประชาชนด้วยซ้ำ เรื่องราวการต่อสู้ที่เมืองกวางจูของประชาชนที่ไม่ยอมอยู่ใต้เผด็จการ ถูกใส่ไว้ในการเรียนการสอนปัจจุบัน ถูกเล่าผ่านรุ่นสู่รุ่น มีพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเหตุการณ์ไว้ครบถ้วน มีการจัดงานนิทรรศการวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 อยู่บ่อยครั้ง ชาวเกาหลีไม่ลืมเหตุการณ์วันนั้น เพราะหากวันหนึ่งพวกเขาลืม “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจดจำจะทำให้เราเดินซ้ำรอยเดิม” และการเปิดเผยความจริงกับการไม่ถูกลืม มีส่วนให้ประชาธิปไตยของเกาหลีใต้เบ่งบานจนถึงปัจจุบัน   ที่มา http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2019/05/251_269006.html http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20190515000699 http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/893879.html? https://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=3011054&ref=mobile   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์