เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน : CITIZENFOUR กับ “อำนาจรัฐ” สามารถแอบดูคุณอาบน้ำได้

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน : CITIZENFOUR กับ “อำนาจรัฐ” สามารถแอบดูคุณอาบน้ำได้
ในเรื่องสั้น “Before the Law” ของนักเขียนชื่อดังระดับโลกอย่าง ฟรานซ์ คาฟคา(1883 – 1924) ได้พูดถึงชาวบ้านคนหนึ่งที่ต้องการจะอ่านกฏหมาย เขาเดินทางมาที่ห้องกฎหมาย ซึ่งประตูกฎหมายเปิดอยู่ ที่หน้าห้องกฏหมาย มีชายเฝ้าประตูซึ่งบอกกับชาวบ้านว่า สามารถเดินเข้าไปได้ แต่ยังไม่ถึงเวลา ชาวบ้านรอแล้วรอเล่า จนถึงเวลาแก่เฒ่า ก็ยังไม่สามารถเดินผ่านประตูเข้าไปได้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ชาวบ้านจึงถามคนเฝ้าประตูว่า ทั้งที่ทุกคนต่างมองหากฎหมาย แต่ทำไมไม่เห็นมีใครเดินเข้ามาที่ประตูนี้ เขาเฝ้าประตูบอกว่า ไม่มีใครที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาที่ห้องนี้ได้ เพราะประตูกฎหมายทำให้ชาวบ้านคนนี้สามารถเข้าได้คนเดียว และตอนนี้มันกำลังจะปิดตัวลง เรื่องสั้นเรื่องนี้ หลัก ๆ สื่อถึงความแปลกแยกระหว่าง คนกับกฎหมาย ทั้งที่อันที่จริง กฎหมายตาม common sense มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เรากลับรู้สึกว่า เราไม่สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับกฎหมาย กับคำพูดที่ว่า “จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้” แต่เรากลับพบว่า ตัวเราเองในฐานะปัจเจกชน กลับถูกช่วงชิงอำนาจในการรับรู้กฎหมายไปกับกลุ่มคนที่มีวิชาชีพทางด้านกฎหมายอย่าง ทนายความ อัยการ หรือผู้พิพากษา อีกมุมหนึ่ง นี่คือความแยบยลของสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” ซึ่งบางครั้งปรากฏออกมาเป็นรูปร่าง เป็นรูปธรรมให้เราเห็นอย่างเด่นชัด ผ่านป้ายต่าง ๆ ประกาศ หรือคำสั่งทางกฎหมายต่าง ๆ นี่เป็นอำนาจที่มองเห็นได้ชัด ที่เราอาจจะทำตาม หรือคัดค้าน ก็ว่ากันไป แต่มันมีอำนาจประเภทที่มองไม่เห็น แต่มันเป็นอำนาจที่จะจำกัดเสรีภาพของเราเอง อุปมาเหมือนกับ อำนาจ ที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ไม่กล้าเดินเข้ามาในห้องกฎหมายในเรื่องสั้นของฟรานซ์ คาฟคา ทั้งที่มันเป็นห้องที่ถูกเปิดให้เขาเข้าไปอยู่แล้ว “อำนาจ” จึงถูกแฝงอยู่ในหลากหลายรูปแบบ เอาเข้าจริงแล้ว ในสังคมการเมืองที่รัฐมีความเป็น “ขวา” มีอำนาจมาก ๆ อาจจะมีอำนาจถึงระดับเผด็จการ อำนาจรัฐอาจจะเข้ามาจัดการชีวิตของผู้คนในระดับการสอดส่องพลเมืองในรัฐ อย่างเช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีมีตำรวจลับเกสตาโปคอยสอดส่องการชีวิตของผู้คนในเยอรมนี หรือในนิยายสุดคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ อย่าง “1984” ในรัฐเผด็จการที่พี่เบิ้ม(Big Brother) คอยจับตาผู้คนอยู่ ก็มีเหล่า “ตำรวจความคิด” ที่คอยสอดส่องหาคนที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐมาลงโทษ แน่นอนว่า อำนาจดังกล่าว ทำให้ผู้คนในรัฐเดือดร้อนก็จริง แต่มันเป็นอำนาจที่มองเห็นได้ไม่ยาก คืออย่างน้อยที่สุดก็รู้ว่า พื้นที่ของอำนาจมันอยู่ตรงไหน ส่วนจะต่อต้าน, วิจารณ์, ยอมจำนน หรือแกล้งไม่เห็นอำนาจตรงนั้นเสียเพราะได้ประโยชน์จากจากอำนาจหรือกลัวว่าการต่อต้านจะนำมาซึ่งความรุนแรง ตามแต่จะสะดวกคิด แต่สำหรับรัฐที่อ้างว่า อยู่บนพื้นฐานเสรีนิยมประชาธิปไตย อำนาจที่มองไม่เห็นที่รัฐเข้ามาจัดการกับชีวิตของพลเมือง มันกลับดูแยบยล ซับซ้อน และซ่อนเร้น มากกว่ารัฐเผด็จการมากมาย (ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐเผด็จการดีกว่า มันไม่ดีกว่าในหลายลักษณะอยู่แล้ว แต่ agenda คือ การซ่อนรูปของอำนาจในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตย) และภาพยนตร์ CITIZENFOUR ที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในปี 2015 คือตัวอย่างชั้นดีว่า รัฐเสรีประชาธิปไตยก็สามารถ corrupt ประชาชนได้แสบสันต์ไม่แพ้ประเทศเผด็จการ ภาพยนตร์เรื่องนี้ พูดถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองของอเมริกา ที่ทางการสหรัฐฯ ต้องการตัวมากที่สุด เพราะเขาคือคนที่ออกมาแฉว่า รัฐบาลอเมริกันแอบติดตามพลเมืองในรัฐของตนผ่านข้อมูลการใช้โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งแม้ว่ามูลเหตุของการติดตามพลเมืองของสหรัฐ(และผู้คนสัญชาติอื่นนอกสหรัฐอเมริกา) รัฐจะอ้างว่า มาจากบรรยากาศทางด้านสังคมของอเมริกันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเหตุการณ์โศกนาฏกกรรม 911 เมื่อปี 2001 ที่หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้ประกาศสงครามกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย จนมีการเฝ้าระวังการก่อวินาศกรรมในรัฐอย่างเข้มงวดขึ้น แม้จะเป็นการสอดส่องในนาม “ความมั่นคง” (ไม่ต่างอะไรกับหลายประเทศที่ใช้ข้ออ้างเช่นนี้เพื่อเฝ้ามองประชาชน) แต่การใช้อำนาจตรวจสอบผู้คนอย่างเกินเลยขอบเขต มักจะนำมาสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คน เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะในขณะที่เราอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ เราพอจะรู้อยู่ว่า ตรงส่วนไหนเราถูกเฝ้ามองและจำกัดเสรีภาพอยู่ แต่สำหรับรัฐที่อ้างหลักเสรีประชาธิปไตยอย่างอเมริกา ภายใต้ปีกของเสรีภาพ เราไม่อาจรู้เลยว่า เราถูกจับตามองผ่านการใช้ชีวิตประจำวันอย่าง การโทรศัพท์ การใช้เครดิตการ์ด หรือการใช้อินเตอร์เน็ต ได้อย่างไรบ้าง เราอาจจะถูกรัฐจับตามองแม้กระทั่งส่วนที่ลึกที่สุดในบ้าน หรือการทำกิจกรรมที่ซ่อนเร้นที่สุดอย่าง การอาบน้ำ โดยที่เราไม่อาจจะรู้ตัว เพราะเราไม่อาจจะมองเห็นหรือตรวจสอบอำนาจดังกล่าวนี้ได้ นี่คือสิ่ง ที่สโนว์เดน ต้องการจะสื่อสารกับผู้ชมผ่าน CITIZENFOUR โดยเหตุการณ์ในภาพยนตร์เริ่มต้นจากตอนที่ลอร่า พอยทราส ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้รับอีเมลลึกลับจากชายที่เรียกตัวเองว่า “พลเมือง 4”(CITIZENFOUR) ซึ่งให้ข้อมูลว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา ลอบดักฟังโทรศัพท์ของประชาชนในประเทศ พวกเขาจึงนัดพบกันในช่วงเดือนมิถุนายน 2013 และเนื้อหาหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้นในช่วง 8 วันที่เขาซ่อนตัวอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในฮ่องกงเพื่อนัดพบกับลอร่า พอยทราส และนักข่าวจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนอย่าง เกล็นน์ กรีนวาลด์ ซึ่งกลุ่ม “ผู้ก่อการ” กลุ่มนี้ ค่อย ๆ เลาะเปลือกอเมริกาผ่านสื่อในฐานะที่หักหลังประชาชนครั้งประวัติศาสตร์ "นี่ไม่ใช่แค่เรื่องว่าใครแอบซุ่มดูใคร และไม่ใช่แค่ประเด็นส่วนตัวผม มันเป็นเรื่องของทุกคน ผมจะบอกพวกนั้นว่า ผมไม่กลัวพวกคุณ คุณจะมาบังคับให้ผมหุบปากเหมือนที่ทำกับคนอื่นไม่ได้ ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาพูด ผมก็จะพูดเอง และหวังว่า ถ้าผมจากไป ไม่ว่าจะเพราะโดนพวกคุณทำอะไร ก็จะมีคนอื่นลุกขึ้นมาทำแบบเดียวกัน” นี่คือคำพูดหนึ่งของสโนว์เดน ที่เปรียบเป็นแก่นของ CITIZENFOUR ในแง่ที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมา มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเขาที่ไม่ชอบพอกับการกระทำของรัฐ แต่มันเป็น “เรื่องของทุกคน” (หมายรวมถึงคนอเมริกัน และคนทั่วโลกที่กำลังถูกทางการอเมริกาจับตาด้วยวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ซึ่งสโนว์เดนได้เปิดประเด็นเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ เขามองความสัมพันธ์เชิงอำนาจของเขากับรัฐบาล ในแง่ที่ว่า เขาเป็นผู้เลือกรัฐบาลผ่านวิถีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น รัฐบาลไม่ใช่อะไรที่เหนือกว่าปัจเจกบุคคลในแง่ที่ว่า รัฐคือผู้ปกครอง แต่ประชาชนคือผู้ถูกปกครอง เพราะฉะนั้น ตัวรัฐเองไม่ได้มีอำนาจอะไรที่เหนือกว่าประชาชนในรัฐ การเข้ามาสอดส่องพื้นที่ส่วนตัว จะในนามความมั่นคง หรืออื่นใดก็ตาม อย่างน้อยที่สุดควรฟังเสียงประชาชนเช่น เขาหรือคนอื่น ๆ บ้าง ที่สุดแล้ว แม้ว่าในตอนนี้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน จะทำการลี้ภัยอยู่นอกอเมริกา อาจจะมีข้อเสนอให้ลี้ภัยที่อื่น ให้กลับประเทศบ้านเกิด หรืออาจจะถูกทางการอเมริกาจับตัวมาสอบปากคำวันไหนก็ไม่รู้ได้ แต่หากเขาต้องหยุดการเคลื่อนไหวลง คงจะมีคนอื่น ๆ มาทำหน้าที่แทนเขาไม่ต่างอะไรจากการแตกตัวของไฮดรา เรื่องราวเหล่านี้เป็นไปได้หมด ประโยคอมตะในหนังสือ “1984” ก็คือ Big Brother is watching you นั่น พี่เบิ้ม(ตัวแทนของอำนาจรัฐ) กำลังจับตามองคุณอยู่ แต่ในทางกลับกัน อย่าลืมว่า ประชาชนกำลังจับตามองรัฐเช่นกัน และพลังประชาชนในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดียกำลังเติบโตอย่างไม่มีขีดสุด มันมีมากกว่าที่รัฐจะจินตนาการไว้แน่นอน