พอล โทลเลตต์ ผู้จัด ‘โคเชลลา’ เทศกาลดนตรีกลางทะเลทราย ไม่มีใครคิดว่าจะปังแต่ดันดังได้

พอล โทลเลตต์ ผู้จัด ‘โคเชลลา’ เทศกาลดนตรีกลางทะเลทราย ไม่มีใครคิดว่าจะปังแต่ดันดังได้

เทศกาลดนตรี ‘โคเชลลา’ (Coachella) ที่จัดกันกลางทะเลทราย เริ่มต้นจัดโดย พอล โทลเลตต์ เดิมทีแล้ว ไม่มีใครคิดว่า งานจะได้รับความนิยม แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

  • เทศกาลดนตรี ‘โคเชลลา’ เป็นอีเวนต์ทางวัฒนธรรมแถวหน้าของโลก ที่จัดกลางทะเลทราย ซึ่งเดิมทีไม่มีใครคิดว่าจะโด่งดัง
  • พอล โทลเลตต์ คือผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการจัดงาน

เทศกาลดนตรีและศิลปะที่เรียกกันติดปากว่า ‘โคเชลลา (Coachella) งานประจำปี 2022 แพร่หลายในชุมชนออนไลน์ในไทยเป็นพิเศษ เมื่อแรปเปอร์สาว MILLI สร้างปรากฏการณ์หน้าใหม่ให้อุตสาหกรรมดนตรีในไทย จากที่เธอเป็นศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรกซึ่งขึ้นแสดงในเทศกาลระดับโลกแห่งนี้ แถมหิ้วข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินด้วยในช่วงหนึ่งของโชว์ด้วย

แต่กว่าที่เทศกาล ‘โคเชลลา’ จะเป็นที่รู้จักและยอมรับจากคนทั่วโลกในฐานะเทศกาลดนตรีระดับแถวหน้าของวงการ สำหรับคนทั่วไปแล้ว คงมีน้อยคนที่คิดว่าไอเดียจัดเทศกาลกลางสนามโปโลซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทราย พื้นที่เวิ้งว้างในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จะประสบความสำเร็จ แต่เจ้าของไอเดียนี้มีสิ่งที่เขาเชื่อส่วนตัวอยู่

****บทความเปิดเผยเนื้อหาส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สารคดี Coachell : 20 Years in the Desert****

เจ้าของไอเดียเทศกาลดนตรี Coachella (Coachella Valley Music And Arts Festival) คือ ‘พอล โทลเลตต์’ (Paul Tollet) ชายหนุ่มผู้นำเทศกาลดนตรีและกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เบ่งบานในแคลิฟอร์เนียไปจัดกลางทะเลทรายที่ไม่มีใครคิดว่าเวิร์กหลังจากผ่านยุคเทศกาล Woodstock มาแล้ว และสามารถทำให้เทศกาลนี้ยืนหยัดมาได้ร่วม 2 ทศวรรษ เป็น 20 ปีแห่งแลนด์มาร์กของอุตสาหกรรมดนตรีและวัฒนธรรมคน(ชนชั้นกลาง)รุ่นใหม่

แบล็กพิงก์ (BLACKPINK), บียอนเซ่ (Beyoncé), มาดอนน่า (Madonna), สนู๊ปด็อกก์ (Snoop Dogg), ดร.เดร (Dr. Dre) (พร้อมโฮโลแกรม ‘ทูพัก’ - Tupac), พอล แม็กคาร์ทนีย์ (Paul McCartney), กันส์ แอน โรสส์ (Guns N' Roses), โพสต์ มาโลน (Post Malone), คานเย (Kanye West), บิลลี่ ไอลิช (Billie Eilish), วู ทัง แคลน (Wu-Tang Clan), มิลลิ (MILLI) และอีกมากมาย

นี่คือรายชื่อศิลปินข้างต้นที่ขึ้นแสดงในโคเชลลา เทศกาลดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งยุคของฝั่งสหรัฐฯ นอกเหนือจากเทศกาล ลอลลาปาลูซา (Lollapalooza) ในชิคาโก และกลาสตันบิวรี (Glastonbury) ของฝั่งอังกฤษ เทศกาลโคเชลลา ในสหรัฐฯ เวลานี้มีสถานะเสมือนอีกหนึ่งหมุดหมายของศิลปินทั่วโลก เหมือนแลนด์มาร์ก เช่นเดียวกับคติว่าถ้าศิลปินได้ไปจัดโชว์แสดงที่ลาส เวกัส หรือที่งานนี้ พอจะเทียบได้ว่าขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพ

กว่าจะเป็นเทศกาลประจำปีที่ติดตลาดได้และสตรีมภาพสดผ่านทาง YouTube มาหลายสิบปีหลัง โคเชลลาเริ่มมาจากไอเดียที่ไม่มีใครคิดว่าเวิร์ก ไปจัดเทศกาลดนตรีกลางทะเลทราย ในปี 1999 ที่สำคัญคือ เปิดตัวในจังหวะนรก เมื่อประกาศจัดเทศกาลหลังจากเทศกาล Woodstock 99 เกิดเหตุวายป่วงกันจนยังไม่ได้จัดใหม่มาจนถึงวันนี้ (ตอนปี 2019 ที่มีข่าวว่าจะจัดในวาระครบรอบ 50 ปีหลังจากเทศกาลปี 1969 แต่งานโดนยกเลิก)

จุดแรกเริ่ม

ย้อนกลับไปราวปี 1986 พอล โทลเลตต์ ยังโปรโมตงานดนตรีทั่วไป ในสถานที่ขนาดเล็ก โปรโมตงานแสดงวงแนวเพลงสกา (Ska) ในแคลิฟอร์เนีย เขาได้ยินว่ากลุ่ม ‘โกลเดน วอยซ์ โปรดักชั่น’ (Golden Voice Production) อันมีชื่อเรื่องจัดงานดนตรีพังก์ ในยุค 80s กำลังจะมาจัดโชว์ที่พาโมนา (Pamona) ในแคลิฟอร์เนีย ทำให้พอล โทลเลตต์ หวาดวิตก

ยุค 80s เป็นช่วงที่พังก์จากฝั่งอังกฤษเข้ามาในสหรัฐฯ แล้ว ในแคลิฟอร์เนียมีกลุ่มผู้จัดโชว์วงพังก์คือกลุ่ม โกลเดน วอยซ์ นำขบวนมาโดยแกรี่ โทวาร์ (Gary Tovar) โชว์แนวพังก์ของแกรี่ ขึ้นชื่อเรื่องความเดือด จัดครั้งใดน่าจะต้องภาวนากันว่า หลังโชว์จบ สภาพสถานที่จะเหลือรอดสมบูรณ์ได้สักกี่เปอร์เซ็นต์

พังก์ร็อกที่เริ่มต้นในช่วงยุค 70s ในอังกฤษ ส่วนหนึ่งก่อตัวขึ้นมาจากวัยรุ่นรายได้น้อยที่เผชิญปัญหาสังคม ไม่มีงาน ไม่เห็นอนาคตของตัวเอง ก็แสดงออกแบบเชิงวัฒนธรรมต่อต้าน หลังจากนั้น พัฒนาเข้ามาสู่คนชนชั้นกลางที่หยิบจับดนตรีแบบนี้มาเล่นในฮอลลีวูด แคลิฟอร์เนีย ดินแดนแหล่งบันเทิงในสหรัฐฯ ก็มีกับเขาด้วย โดยหัวหอกที่จัดโชว์ก็คือกลุ่มโกลเดน วอยซ์ พอจัดแล้วก็มักเกิดเหตุคนตีกัน หรือพังข้าวพังของกันเละเทะ นั่นทำให้แกรี่ โทวาร์ มีชื่อเป็นที่รู้จักในวงการกันอย่างดี

พอล โทลเลตต์ ที่ยังโปรโมตโชว์ทั่วไปในแคลิฟอร์เนีย พอได้ยินว่าแกรี่ จะมาเยือนถิ่นพาโมน่า ถึงกับต้องเดินทางไปเจอ หวังว่าจะอธิบายให้มองข้ามจัดงานแถวที่เขาทำธุรกิจเพื่อให้พวกเขาอยู่อย่างสงบ

เมื่อพอล ไปเจอแกรี่ กลับพบว่า แกรี่ ไม่ได้ก้าวร้าวอะไร เป็นคนที่เจ๋งคนหนึ่ง ทั้งคู่เริ่มคลิกกัน คุยกันยาวทั้งคืน แล้วพอล โทลเลตต์ จึงมาเริ่มร่วมงานกับโกลเดน วอยซ์

เวลาผ่านมาถึงหัวโค้งเปลี่ยนผ่านของยุค 80s พังก์เริ่มซบเซาลง มีกระแสดนตรีแบบใหม่อย่างวงเจนส์ แอดดิกชั่น (Jane's Addiction) หรือ เร้ด ฮอต ชิลี เปปเปอร์ส (Red Hot Chili Peppers) เริ่มกำลังก่อตัวขึ้นมา โกลเดน วอยซ์ ยังคงพยุงตัวอยู่ได้ แม้มีคนทำงานแค่ไม่กี่คนในบริษัท ส่วนใหญ่เป็นพวกคนรักดนตรีซึ่งจัดโชว์ของวงที่ตัวเองชอบ

จุดเปลี่ยนของบริษัทโกลเดน วอยซ์

เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงยุค 80s ในแอลเอ เป็นแหล่งเสือสิงห์กระทิงแรดของสายดนตรี คนดนตรีหนุ่มหน้าใหม่ก่อตัวจากที่นี่หลายราย มีทั้งสายกระแสหลัก และกระแสรอง ส่วนหนึ่งที่เรียกว่า อัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) อันมีสับเซ็ตอย่างกรันจ์ (Grunge) ก็มาสุมหัวกัน (ส่วนคนเล่นมักมาจากซีแอตเทิล) บรรดาโปรโมเตอร์รายเล็ก ๆ ได้เปรียบที่รู้จักศิลปินที่โปรโมเตอร์รายใหญ่ไม่รู้จัก คนจัดโชว์ใหญ่เวลานั้นยังจัดงานของศิลปินแบบเจเน็ต แจ๊กสัน (Jenet Jackson) กันอยู่

ยิ่งเมื่อ โกลเดน วอยซ์ จับกับซีนดนตรีสายนี้ ตัวตนของโกลเดน วอยซ์ ยิ่งชัดเจนขึ้น จากเดิมที่สร้างชื่อจากจัดงานพังก์ ไต่ระดับมาเป็นอัลเทอร์เนทีฟ จัดโชว์ของ Nirvana / Red Hot Chili Peppers ในยุคต้น ถึงบริษัทจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง แต่จริง ๆ แล้ว มีปัญหาการเงิน โชว์โดยศิลปินเหล่านี้ในยุคก่อร่างสร้างตัวยังไม่ได้ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ แกรี่ โทวาร์ เองก็มีธุรกิจอีกขา เขาขายกัญชาด้วย

สังคมในเวลานั้น รัฐเริ่มกวาดล้างยาเสพติดกันมากขึ้น โทวาร์ เป็นอีกคนที่โดนจับตา สุดท้ายก็ ‘เกม’ ในปี 1991 แกรี่ โทวาร์ โดนจับจนปิดฉากธุรกิจ เป็น พอล โทลเลตต์ ซื้อบริษัทต่อจากแกรี่ แล้วยังใช้ชื่อเดิมว่าโกลเดน วอยซ์ สักระยะหนึ่ง

ปี 1993 ซีนอัลเทอร์เนทีฟบูมมาก สายกรันจ์มีวงอย่างเพิร์ลแจม (Pearl Jam) กำลังสร้างชื่อขึ้นมาหลังอัลบั้ม เทน (Ten) ได้กระแสดี มีช่วงหนึ่งวงเกิดเปรี้ยวไปมีปัญหากับ Ticket Master กล่าวหาว่าบริษัทจัดจำหน่ายตั๋วรายใหญ่ที่สุดในวงการขายตั๋วคอนเสิร์ตราคาแพงเกินควร ส่วนบริษัทก็ไม่ยอมลดค่าธรรมเนียมตามที่วงเรียกร้อง จนวงยกเลิกทัวร์ ปัญหาสำหรับวงคือ เพิร์ลแจม หาตัวเลือกแทน Ticket Master ไม่ได้ ขณะที่ตัวบริษัทยังกุมสถานที่จัดโชว์ขนาดใหญ่ในแคลิฟอร์เนียตอนใต้

เพิร์มแจม ไปคุยกับ พอล โทลเลตต์ ให้ช่วยหาฮอลล์ที่ไม่ใช่สถานที่ของ Ticket Master สองฝ่ายคุยกันว่าอาจต้องไม่เล่นในแอลเอ ไปจัดโชว์ที่ปาร์มสปริง (Palm Springs) แต่ก็ยังหาสถานที่จัดไม่ได้ เวลานั้นมีคนแนะนำที่หนึ่งคือสนามโปโล ในอินดิโอ (Indio) ซึ่งดันไกลกว่าแอลเอมากกว่าเดิมอีก คนก็ไม่ค่อยรู้จัก การเดินทางก็ต้องขับรถจากแอลเอไปทางฝั่งตะวันออก ในยุคนั้น การขับรถไปยังรู้สึกไกลเลย แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาต้องไปจัดกันที่อินดิโอ

เพิร์ลแจม จัดโชว์แบบโลว์คอสต์ มีแค่เวทีกับสนาม แต่สามารถขายตั๋วได้ 25,000 ใบ สื่อท้องถิ่นพาดหัวใหญ่ว่า “เพิร์ลแจม (และคนอีก 25,000 คน) ไปจัดงานกันที่อินดิโอ เขย่าสนามโปโล” (ตอนนั้นคดีของเพิร์ลแจมกับบริษัทจัดจำหน่ายตั๋วเป็นข่าวดังที่สังคมจับตา มีเจ้าหน้าที่รัฐถึงกับบอกว่าจะลงมาตรวจสอบราคาตั๋ว)

ยุคนั้นวงอย่างเพิร์ลแจม, เนอร์วานา (Nirvana) และ เรด ฮอต (Red Hot Chili Peppers) กำลังเริ่มมีกระแสมาแรง พอล โทลเลตต์ บอกว่า ถึงจะมาแรงแต่คนจัดยังไม่มีงบพอจะไปลงทุนกับสถานที่ที่มีศักยภาพขายตั๋วหมดได้ เลยเริ่มไปสนใจโชว์แบบ 'เรฟ' (Rave) ที่กำลังฮิตกัน

ในส่วนนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมคนมักรำลึกยุค 90s กัน ส่วนหนึ่งคือเป็นเวลาที่วัฒนธรรมหลายอย่างเบ่งบาน ซีนดนตรีก็ด้วย วัฒนธรรมดนตรีหรือปาร์ตี้แตกหน่อ มีทั้งสายใต้ดิน สายคลับ และเริ่มมีดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ฮิตกันมากขึ้น เรฟ (Rave) ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมบริติช เป็นปาร์ตี้ที่จัดในโกดังร้าง ซึ่งต่างจากโชว์แบบพังก์ร็อกที่เคยมีมา

ปี 1996 ถึงกับมีเทศกาลเรฟ ในสหรัฐฯ จัดที่สกีรีสอร์ท ใช้ชื่อเทศกาลว่า ออร์แกนิก (Organic) เป็นเทศกาลดนตรีข้ามคืน 6 โมงเช้าก็ยังได้ยินเสียงตื๊ดได้
แปรรูปไอเดีย

พอล โทลเลตต์ สัมผัสซีนตั้งแต่พังก์ ร็อก และอิเล็กทรอนิกส์ มายาวนาน เส้นทางพวกนี้ทำให้เขาปะติดปะต่อภาพชิ้นเล็กๆ แล้วเห็นภาพอนาคตภาพใหญ่ขึ้น พอเห็น เทศกาลออร์แกนิก ทำให้ได้ไอเดียว่า อยากผสมวงร็อกที่กลุ่มของเขาคุ้นเคย กับศิลปินหน้าใหม่ที่กำลังเป็นกระแสขึ้นมา แล้วก็จัดเป็นอีเวนต์รวมกัน

พอล เริ่มไปตระเวนดูคอนเสิร์ตในยุโรป พอกลับมาก็บอกไอเดียว่า อยากจัดเทศกาลดนตรีในสถานที่แบบที่วงเพิร์ลแจม เคยเล่น แล้วเรียกชื่อเทศกาลว่า ‘โคเชลลา’ ซึ่งใครก็บอกชื่อเห่ยมาก โดยเฉพาะถ้าจะเรียกว่า เทศกาลดนตรีและศิลปะแห่งโคเชลล่า วัลเลย์ (Coachella Valley Music And Arts Festival) แบบชื่อเต็มที่เรียกกันในวันนี้

ช่วงที่พอล ออกไอเดียเป็นช่วงไล่เลี่ยกับ Woodstock 99 วายป่วงในช่วงท้าย เกิดความรุนแรง จุดไฟในพื้นที่งาน ภายหลังยังปรากฏคดีล่วงละเมิด แล้วพอล โทลเลตต์ ดันประกาศจัดเทศกาลในวันจันทร์ หลัง Woodstock คืนสุดท้ายปิดฉากในวันอาทิตย์แล้วเป็นคืนวันอาทิตย์ที่เละเทะกันสุด ๆ

จังหวะนรก’ คงเป็นคำที่คนสมัยนี้เรียกกัน ใครก็บอกว่าขายตั๋วเทศกาลดนตรีแบบนี้ได้ยากมาก แม้แต่ฝ่ายท้องถิ่นก็มีท่าทีอยากให้ยกเลิก เพราะมองว่า Woodstock เพิ่งผ่านไปไม่นาน จะเอาเทศกาลอีกเวอร์ชั่นมาจัดในทะเลทรายอีกหรือ

พอล บอกว่า ไม่ได้คิดว่างานที่จัดจะเกี่ยวกับ Woodstock ฝ่ายจัดแค่ตามรอยวัฒนธรรมแคลิฟอร์เนียฝั่งตะวันตก โดยที่ตัวงานมีโทนแบบงานในแคลิฟอร์เนีย (โคเชลลา ออกไปอยู่ทางแคลิฟอร์เนียฝั่งตะวันออก)

เทศกาลดนตรีที่พอล วางไว้คืออยากให้เป็นแบบยุโรป ขณะที่เทศกาลดนตรีในสหรัฐฯ มักเจอปัญหาฝนตกแล้วโคลนเพียบ น้ำท่วมขัง เหนอะหนะ แต่ที่จัดโคเชลลา พื้นที่จัดเป็นสนามโปโล ซึ่งแหวกเส้นทางเดิม

เริ่มต้นเทศกาลดนตรี

โคเชลลา ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1999 ตอนนั้นยังไม่มีเทศกาลที่มีศิลปินร็อก อิเล็กทรอนิกส์ และฮิปฮอป มารวมกันในเทศกาลเดียว นึกภาพว่าออกจากเวทีร็อก เดินผ่านเต็นท์เพลงอิเล็กทรอนิกส์ ได้ยินเพลงที่ไม่เคยฟังแล้วสนใจอยากเข้าไปดู ปีนั้นอากาศก็ร้อนไม่เบาอีกต่างหาก

โดยรวมแล้วงานไปได้ราบรื่น กระแสเหมือนจะดี แต่จริง ๆ แล้ว เชิงตัวเลขบัญชีไม่ค่อยดี โกลเดน วอยซ์ เข้าเนื้อไปประมาณ 8.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสถานะที่เป็นบริษัทอิสระ ไม่มีใครช่วยพวกเขาได้ สถานการณ์ก็ไม่ค่อยดี

สารคดี Coachella : 20 Years in the Desert เผยแพร่ใน YouTube เล่าช่วงเวลานั้นไว้ว่า โกลเดน วอยซ์ เหมือนเป็นพวกหนังเหนียว ตายยาก มีทรงว่าจะล่มตั้งแต่แกรี่ โทวาร์ ติดคุกแล้ว แต่ที่ยืนได้นั้น พอล โทลเลตต์ มองว่า เพราะมีชื่อเสียงที่ดี วงอย่าง Rage Against the Machine และศิลปินอย่าง Beck ให้เงินมา โปรดิวเซอร์ของลอลลาปาลูซา ก็ช่วยด้วย ใครๆ ก็บอกว่า เดี๋ยวค่อยจ่าย เอ็งทำได้น่า”

ประกอบกับช่วงเวลานั้นบริษัท AEG กำลังเข้ามาในธุรกิจคอนเสิร์ต โกลเดน วอยซ์ ปิดดีลกับ AEG ได้ ทำโชว์ให้กับ AEG ที่เพิ่งสร้างอารีน่าใหม่ ขณะที่ AEG เสนอว่า บริษัทน่าจะจัดโคเชลลาอีก

โคเชลลา ครั้งที่ 2 ในปี 2001 เป็นงานแบบวันเดียว ฝ่ายจัดไปได้ไฮไลต์ที่ศิลปิน Jane's Addiction ซึ่งเล่นคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ไปเมื่อ 1991 โชว์ที่เพอร์รี่ ฟาร์เรลล์ (Perry Farrell) นักร้องนำปล่อยเนื้อปล่อยตัวขั้นแก้ผ้าไปบนเวที พอได้วงนี้มาแสดงเท่ากับได้วงที่คนอยาก(กลับมา)ดูโชว์อีกครั้งในรอบหลายปีเป็นแม่เหล็ก ตอนนั้นยังมีข้อผิดพลาดแบบมือใหม่อยู่ เช่น ลืมวางถังขยะไว้ในงาน สภาพหลังงานจบ พื้นสนามเลยเกลื่อนไปด้วยกระป๋องน้ำ

พอปี 2002 เริ่มเข้าที่เข้าทาง ถึงจะไม่ได้ทำเงินมาก แต่ก็ไม่ได้เข้าเนื้อมาก ปีนี้มีบียอร์ก (Björk) ขณะกำลังตั้งครรภ์ขึ้นเล่นเป็นไฮไลต์ ช่วงนั้นกระแสอินดี้ร็อกกำลังมา คนรุ่นใหม่สนใจ วงอินดี้จากฝั่งอังกฤษมีวงดังแจ้งเกิดไม่น้อย เทศกาลไปได้เรื่อย ๆ

กระทั่งปี 2004 เทศกาลเริ่มทำกำไรเป็นครั้งแรก วงอย่างเรดิโอเฮด (Radiohead) และอีกหลายวงมาแรงตอนนั้นมาเล่นทำให้คนอยากเข้ามาดู

เวลาพัฒนามาหลายสิบปี ศิลปินเฮดไลน์เริ่มเบอร์ใหญ่ขึ้น มีถึงขั้นมาดอนน่า ปี 2006 (แม้จะผ่านช่วงพีกของเธอแล้วก็ตาม) ไปเล่นในเวทีรอง เพราะเวทีหลักศิลปินเต็มหมดแล้ว

หลังจากนั้นมา เทศกาลมีศิลปินดังขึ้นแสดงอีกเพียบ ช่วงราวทศวรรษ 2010s ที่กระแสดนตรี EDM ครองตลาด ยิ่งทำให้คนสนใจงานเยอะกว่าเดิม ขณะที่ช่วงหลัง เทศกาลก็ผสมศิลปินป๊อปกระแสหลักด้วย

ปีที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งคือปีที่โฮโลแกรมทูพัก (Tupac) แรปเปอร์ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้วกลับมาขึ้นเวทีอีกครั้งจนเป็นข่าวไปทั่วโลก มาจนถึงปีที่บียอนเซ่ มาวาดลวดลายใหญ่และเผยแพร่เป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับโชว์นี้ในภายหลัง แล้วก็แบล็กพิงก์ ในปี 2019 ที่ทำให้ฟากเอเชียสนใจอย่างมาก หรือที่ MILLI ศิลปินเดี่ยวชาวไทยขึ้นแสดงในงานปี 2022

จากเส้นทางเริ่มต้นของผู้จัดงานแนวทางเลือก มาสู่งานแนวพังก์ร็อก จัดงานให้วงร็อกจอมแสบที่งัดข้อกับธุรกิจใหญ่ในสนามโปโลที่ห่างไกล แต่กลับประสบความสำเร็จ ผสมผสานกับซีนอิเล็กทรอนิกส์ และดนตรีร่วมสมัยกระแสหลัก จนถึงวันนี้นี้โคเชลลา กลายเป็นเทศกาลวัยรุ่นชนชั้นกลางที่นอกจากมาฟังดนตรี มาดูโมเมนต์สำคัญของศิลปินเช่นการกลับมารียูเนียน หรือฟีเจอริ่งพิเศษแล้ว คนรุ่นใหม่ยังมาเฉิดฉายแสดงออกทางแฟชั่นด้วย

 

อ้างอิง:

Coachell : 20 Years in the Desert. YouTube. Online. 11 APR 2020.