แจน กุดมันด์-เฮเยอร์ : ชาวเดนมาร์กผู้ผลักดัน Cohousing บ้านบรรเทาความเหงาที่คนทุกวัยได้ดูแลกันและกัน

แจน กุดมันด์-เฮเยอร์ : ชาวเดนมาร์กผู้ผลักดัน Cohousing บ้านบรรเทาความเหงาที่คนทุกวัยได้ดูแลกันและกัน
เคยจินตนาการถึง ‘บ้าน’ หลังวัยเกษียณไหม ? เมื่ออัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่ผู้คนอายุยืนขึ้น ยิ่งในสังคมเมืองที่เราแทบไม่รู้จัก ‘เพื่อนบ้าน’ ยิ่งชวนให้ความโดดเดี่ยวค่อย ๆ คืบคลานมาปกคลุมเมืองใหญ่ จนอดคิดไม่ได้ว่าบ้านหลังวัยเกษียณจะเป็นภาพของ ‘home’ หรือ ‘house’ กันแน่ ท่ามกลางฤดูหนาวในปี 1964 ‘แจน กุดมันด์-เฮเยอร์’ (Jan Gudmand-Høyer) สถาปนิกช่างคิดผู้จบการศึกษาจาก Copenhagen Academy of Arts และ Harvard University ได้ริเริ่มไอเดียการสร้างบ้านที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้คน พร้อมกับชวนเพื่อน ๆ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้ แจนมองว่า บ้านแบบเดิมในยุค 1950s ถูกออกแบบให้เหมาะกับโมเดลที่คุณพ่อทำงาน คุณแม่ดูแลบ้าน แต่ปัจจุบันผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น บางครอบครัวเป็นคุณพ่อ/คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว หลายครอบครัวมีขนาดเล็กลงหรืออาศัยอยู่คนเดียว จนเริ่มเผชิญกับปัญหาการดูแลเด็ก ๆ ไปจนถึงความโดดเดี่ยวในสังคม ความไม่พอใจกับชีวิตในเมืองหรือบ้านเดี่ยวในเขตชานเมืองอันห่างไกล ทำให้เขาเริ่มคิดว่า คงจะดีกว่านี้ ถ้าผู้คนจะ ‘อยู่ด้วยกัน’ ในบ้านที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของพวกเขา และช่วยกันแบ่งเบาภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การทำมื้อเย็นไปจนถึงการดูแลเด็ก ๆ หรือผู้สูงอายุ โดยบ้านรูปแบบดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ‘Cohousing’   Cohousing พื้นที่ส่วนตัวที่อยู่ร่วมกัน แนวคิดของ Cohousing คือการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัว กับความเป็นชุมชน โดยบ้านแต่ละหลังเหมือนบ้านทั่วไป แต่จะกระจุกตัวอยู่รอบ ๆ ‘บ้านส่วนกลาง’ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เช่น สวน ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร สนามเด็กเล่น โฮมออฟฟิศ พื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะและงานฝีมือ บริการซักรีด ฯลฯ โดยความแตกต่างของ Cohousing กับคอนโดฯ คือ ‘การมีส่วนร่วม’ ตั้งแต่การออกแบบ วางแผน การทำกิจกรรม รวมทั้งการบำรุงรักษาพื้นที่ แจน กุดมันด์-เฮเยอร์ : ชาวเดนมาร์กผู้ผลักดัน Cohousing บ้านบรรเทาความเหงาที่คนทุกวัยได้ดูแลกันและกัน Photo by: Jim Stephenson/View Pictures/Universal Images Group via Getty Images ไมก์ วิกิง ผู้เขียนหนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก ได้เล่าถึงบ้านแบบ Cohousing แห่งหนึ่งในเดนมาร์กว่า แต่ละครอบครัวจะมีบ้านพักส่วนตัว โดยกระจุกตัวอยู่รอบพื้นที่ส่วนกลาง และทุก ๆ วันจันทร์-พฤหัสบดี ผู้คนใน Cohousing จะมากินมื้อเย็นร่วมกันตามความสมัครใจ ซึ่งแต่ละครอบครัวจะผลัดเวรกันทำอาหาร ครอบครัวละ 1 สัปดาห์ โดยมีเด็กโตเข้ามาช่วยเป็นลูกมือ แต่ละคนจึงมีโอกาสพบปะพูดคุยกัน จนรู้จักเพื่อนบ้านไปโดยปริยาย  หากเฉลี่ยเวลาจะพบว่า หนึ่งครอบครัวจะได้ทำมื้อเย็นราว 2 สัปดาห์ต่อปีเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นคือการนั่งรอเสียงระฆังบอกเวลาอาหารแสนอร่อย ดังนั้นพวกเขาจะมีเวลาเพิ่มขึ้น เพราะแทนที่จะต้องนั่งคิดเรื่องซื้อของมาตุน ไปตลาด ทำอาหาร พวกเขาจะสามารถใช้เวลาเหล่านี้ไปกับการเล่น สอนการบ้านลูก และทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน แถมยังประหยัดเงินในกระเป๋าอีกต่างหาก เพราะบางมื้อราคาถูกกว่าค่ากาแฟ 1 แก้วในโคเปนเฮเกนเสียอีก นอกจากนี้ การมีพื้นที่ส่วนกลางทั้งสวนผัก สตูดิโอศิลปะ สนามเด็กเล่น สนามกีฬากลางแจ้ง และพื้นที่อื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย ทำให้ผู้คนอยากใช้เวลากับพื้นที่เหล่านี้มากขึ้น เด็ก ๆ ที่นี่จึงมักจะมีเพื่อนเล่นอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก หรือกังวลใจเมื่อต้องออกไปทำธุระข้างนอก ส่วนผู้สูงวัยก็ไม่ต้องนั่งเหงา ๆ อยู่ในห้องคนเดียว แต่มีกิจกรรมให้ทำ มีเพื่อนบ้านให้พูดคุย หรือแม้แต่พึ่งพาอาศัยยามเจ็บป่วย [caption id="attachment_41112" align="aligncenter" width="905"] แจน กุดมันด์-เฮเยอร์ : ชาวเดนมาร์กผู้ผลักดัน Cohousing บ้านบรรเทาความเหงาที่คนทุกวัยได้ดูแลกันและกัน Photo By Jerry Cleveland/The Denver Post via Getty Images[/caption]  บรรเทาความเหงา เติมคุณภาพชีวิต โมเดลแบบ Cohousing นอกจากจะถูกออกแบบเพื่อคนทุกช่วงวัยแล้ว ยังถูกนำไปปรับใช้กับบ้านพักคนชราได้อีกด้วย ซึ่งเคยมีงานวิจัยโดย มักซ์ เพเดอร์เซิน (Max Pedersen) นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์กที่พบว่า ผู้คนกว่า 98% ในบ้านพักแห่งนี้รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในชุมชนของตัวเอง และ 70% บอกว่ามีเพื่อนบ้านอย่างน้อย 4 คนในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งความสำคัญของคำว่า ‘เพื่อนบ้าน’ นี้ไม่ใช่แค่คนที่ทำให้เราหายเหงาจากการนั่งคุยสัพเพเหระเท่านั้น หากเป็นผู้คน ‘ใกล้ตัว’ ที่เราสามารถ ‘ไว้วางใจ’ พึ่งพาอาศัยได้ในยามเจ็บป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม การทำ Cohousing ในช่วงแรก ๆ แจนต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านการเงิน ด้วยราคาของ Cohousing ที่สูงเกินเอื้อม ทำให้มีคนแค่ไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้  แจนจึงร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในปี 1978 เพื่อจัดตั้งสมาคม SAMBO (แปลว่า อยู่ด้วยกัน) ก่อนจะเริ่มมีการสนับสนุนอื่น ๆ ตามมา เช่น การออกกฎหมายของรัฐบาลที่สนับสนุนการก่อสร้าง Cohousing ทำให้เริ่มมีราคาที่จับต้องได้และเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ส่วนสถาบันทางการเงินและธนาคารก็เริ่มให้ความสนใจตามไปด้วย เพราะ Cohousing หลายแห่งจะเปิดจองและขายก่อนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จเสียอีก หลังจากนั้นแนวคิดแบบ Cohousing ได้ค่อย ๆ ซึมซับสู่สังคมเดนมาร์กทีละน้อย บ้างก็นำไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ บ้างก็นำไปใช้กับย่านที่เก่าแก่ เช่น การจัดกลุ่มกินมื้อเย็นร่วมกัน  หากมองอีกมุม Cohousing คงเหมือนกับการหวนคืนสู่ชุมชนขนาดเล็กหรือหมู่บ้านในสมัยก่อน ซึ่งหาได้ยากในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมืองที่ถูกออกแบบมาให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้น โมเดลแบบ Cohousing อาจเป็นความหวังหนึ่งที่ช่วยให้ house หลาย ๆ หลังค่อย ๆ หลอมรวมกันจนกลายเป็น home ขนาดใหญ่ที่แสนจะอบอุ่นหัวใจ ประหยัดเงินในกระเป๋า แถมยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อีกด้วย   ที่มา: https://second.wiki/wiki/jan_gudmand-hc3b8yer  https://cohousing.ca/about-cohousing/history-of-cohousing/ https://journal.theaou.org/news-and-reviews/the-popularity-of-cohousing-in-demark/ https://www.cohousingco.com/blog/2017/3/8/rip-jan-gudmand-hyer-a-visionary-in-cohousing https://cohousing.ca/about-cohousing/what-is-cohousing/ https://cohabitas.com/2016-12-19-091448/ https://riversongcohousing.org/about-cohousing/ หนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก เขียนโดย Meik Wiking (ลลิตา ผลผลา แปล) สำนักพิมพ์ Bookscape   ที่มาภาพ  Jim Stephenson/View Pictures/Universal Images Group via Getty Images https://www.information.dk/moti/2017/03/liv-forbi-jan-gudmand-hoeyer