09 มิ.ย. 2566 | 16:40 น.
“เฉลียงคือความมหัศจรรย์...
“แนวเพลงของเฉลียงเป็นแนวเพลงเชิงทัศนคติของผู้เขียน มีความสุขนิยม มีความเสรีนิยมปนกันอยู่ ซึ่งมันลงตัวพอดีในสมาชิกทั้งหมดของเฉลียง”
‘เจี๊ยบ - วรรธนา วีรยวรรธน’ นักร้อง นักแต่งเพลง ปัจจุบันผันตัวมาเป็นคนเขียนบทละครอย่างเต็มตัว บอกกับเราถึงความประทับใจที่มีต่อเฉลียง วงดนตรีที่ปูทางให้เธออยากเป็นนักแต่งเพลง จนทำให้ ‘เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม’ กลายเป็นบทเพลงอมตะที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ท้องฟ้าที่เธอวาดขึ้นมายังคงงดงามเหมือนอย่างวันวาน
ในวาระครบรอบ 7 ปีการกลับมารวมตัวของวงเฉลียง กับคอนเสิร์ตเฉลียง Rare Item (#เฉลียงRareItem) The People ต่อสายตรงถึง ‘เจี๊ยบ - วรรธนา’ เจ้าของเพลงเธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม บทเพลงและคำร้องอันอบอุ่นที่เธอจะไม่เปิดใจขายให้ใครเป็นอันขาด หากไม่ใช่ชายที่ชื่อ จิก - ประภาส ชลศรานนท์
และนี่คือบทสนทนาในวันฝนพรำที่จะชวนย้อนรำลึกความหลัง รวมถึงความประทับใจตั้งแต่แรกเริ่มที่เธอมีต่ออัลบั้มปรากฏการณ์ฝน (2525)
“ปรากฏการณ์ฝน (2525) คืออัลบั้มแรกที่ทำให้เรารู้สึกว้าวมาก พอฟังก็มีแต่คำว่า ‘เชี่ย! อะไรวะเนี่ย มันอุทานคำนี้เลย’ เนื้อเพลงมันทำงานกับเรามากในแง่ของความว้าว ไม่รู้จะบอกว่าเราชอบเพลงไหนมากกว่ากัน มันพิเศษหมดทุกเพลงเลย”
ก่อนจะเล่าย้อนกลับไปว่าในปี พ.ศ. 2525 ช่วงเวลาที่เฉลียงปล่อยอัลบั้มปรากฏการณ์ฝนออกมา เธอยังเป็นเพียงนักเรียนดนตรี หมกมุ่นอยู่กับตัวโน้ตและเสียงเพลง วรรธนาในวันวานไม่คุ้นชินกับเพลงที่มีเนื้อหานอกเหนือจากรัก ๆ ใคร่ ๆ เท่าไรนัก การเข้ามาของปรากฏการณ์ฝนจึงเป็นเหมือนการเปิดโลกดนตรีให้กว้างขึ้นอีกหลายพันเท่า
“ตอนนั้นเราเป็นนักเรียนดนตรีอยู่ ก็จะมีแก๊งเพื่อนที่เป็นนักดนตรีด้วยกัน เขาแนะนำให้เรารู้จักกับเพลงของวงนี้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่พิเศษมาก เพราะมันเป็นยุคคาบเกี่ยวระหว่างการเปลี่ยนผ่านเพลงไทยโบราณมาเป็นเพลงไทยยุคใหม่ เช่น กลุ่มไนท์สปอต (บริษัทเทป) วงบัตเตอร์ฟลาย คือมันจะเป็นยุคเปลี่ยนผ่านของคนรุ่นใหม่คนรุ่นเก่า
“เพื่อนบอกว่าเขาทำกันเอง ถ่ายกันเองที่จุฬาฯ เลยนะ เราก็นั่งรถไปตามหาซื้อคาสเซ็ทเขาเลย เพราะมันเป็นเหมือนของแรร์ไอเทม เขาทำไม่เยอะ แล้วพอเห็นเนื้อเพลงของเฉลียงในชุดแรกของเขา มันเหมือนเป็นปรากฏการณ์ใหม่จริง ๆ อัลบั้มแรกเขาชื่อว่าปรากฏการณ์ฝน แต่สำหรับเรา มันคือปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของเพลงไทย”
เสียงของเธอที่ส่งมาตามสายเต็มไปด้วยความปลื้มใจ ราวกับว่าเฉลียงได้ฉุดกระชากจิตวิญญาณที่แอบในมุมเล็ก ๆ ออกมาโลดแล่นในโลกแห่งความจริง นับจากนั้นเธอก็เฝ้ามองเฉลียงมาโดยตลอด เพราะเนื้อเพลงที่ไม่เหมือนใครนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้วรรธนาเริ่มจรดปลายปากกาเขียนเพลงในแบบของเธอขึ้นมา โดยไม่อิงเรื่องความรักระหว่างหนุ่มสาวตามสมัยนิยม
“ในแง่ของเนื้อเพลง มันเป็นเนื้อเพลงที่อิสระและหลากหลายมาก เพราะทุกอย่างถูกเขียนขึ้นมาจากทัศนคติของผู้แต่ง ไม่ใช่แค่เรื่องรัก ๆ ฉันเธอ เรารักกัน อกหัก พล็อตมันหลากหลายแล้วมันไปได้กว้างไกลมาก เราตกใจมาก เหมือนไม่ว่าจะเป็นหลาย ๆ เพลงในชุดนั้นมันเป็นเพลงที่แบบ เฮ้ย! เพลงไทยมันพูดเรื่องนี้ได้เหรอวะ แล้วมันดันพูดได้ดีด้วย
“แม้กระทั่งเพลงรักมันก็เป็นเพลงรักที่เป็นมุมมองโคตรเท่ ต้องใช้คำว่าโคตรเท่อะ มันไม่ใช่ทั่วไป เราก็รู้สึกว่าวงนี้มันเหมือนเป็นการจุดประกายการเซ็ตอัพตัวเองในการเป็นนักแต่งเพลงอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ เราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดิมทางเดิม วิธีเดิม พล็อตเดิม ๆ เพื่อคนอื่น”
“เฉลียงสอนให้เราไม่ต้องสนใจตลาด แต่สอนให้เราเป็นตัวของตัวเอง พอมีอัลบั้มนี้ออกมา มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวของตัวเองดิวะ เราต้องพูดเรื่องที่เราอยากพูด”
และนั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดใจนำเพลงที่เขียนขึ้นมาเองอย่าง ‘เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม’ ที่เธอไม่เคยคิดจะขายให้กับใคร แต่หลังจากทนคำรบเร้าของเพื่อนไม่ไหวจึงตัดสินใจว่าเพลงของเธอจะต้องให้ ประภาส ชลศรานนท์ เป็นคนตัดสิน หากไม่ผ่านจะไม่นำเพลงนี้ไปขายที่ไหนอีกเลย
“วันที่เราแต่งเธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม เราใช้วิธีที่เขียนมันออกมาจากความรู้สึก เราไม่ได้เขียนเพลงนี้เพื่อใคร เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะเอาเพลงนี้ไปขาย เราแค่รู้สึกว่าจะทำเพลงที่อยากทำ เป็นเพลงที่พูดถึงเราอย่างแท้จริง ซึ่งเฉลียงมีอิทธิพลต่อเรามาก
“เพราะหลังจากฟังปรากฏการณ์ฝนก็คิดเลยทันทีว่า ถ้าวันหนึ่งฉันจะทำเพลง ฉันจะทำเพื่อตัวเอง และจะนำไปขายให้กับคนที่ชื่อ ประภาส ชลศรานนท์ เท่านั้น ถ้าเพลงนี้ผ่านเขาก็คือผ่าน ถ้าไม่ผ่าน ฉันจะไม่เอาเพลงนี้ไปขายที่ไหนอีกเลย มันเป็นแรงขับที่รุนแรงขนาดนั้นเลยสำหรับเรา”
ปรากฏการณ์ฝนนอกจากจะเปลี่ยนวงการเพลงไทย ยังสร้างนักร้อง - นักแต่งเพลงแห่งยุคสมัยขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ในวันนี้เส้นทางของวรรธนาจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่บทเพลงของเธอยังคงไม่จางหายไปจากความทรงจำ
ใยแมงมุม คือเพลงที่ทำให้เธอถึงกับอุทานออกมาไม่หยุดปากว่านี่คือผลงานชิ้นเอก ด้วยเนื้อหาที่ไม่เหมือนใคร แถมยังแฝงไปด้วยข้อคิดอะไรบางอย่าง
เหมือนแขวนนิ่งลอย
แมงมุมน้อยกางสายใย
เหนียวแน่นซับซ้อนแต่อ่อนไหว
ทุกเส้นสาย
ล้วนสร้างสรรค์
ใยแมงมุมที่ขับร้องผ่านน้ำเสียงใส ๆ ของวรรธนา ทำให้เราตกอยู่ในภวังค์ ก่อนที่เธอจะร้องอยากมีหมอน ออกมาเคล้าคลอบทสนทนา
อยากมีหมอน อยากมีหมอน
อยากมีหมอนไว้นอนเล่น
เผื่อกลับมาเวลาเย็น
จะได้เล่นเกมง่วงนอน
“เราว่ายุคนั้นมันเป็นเนื้อหาที่แอดวานซ์แถมยังลงตัว เป็นทางเลือกใหม่ในการฟังเพลงของคนไทยได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราไม่รู้นะว่าเจตนาของเขาคือทำเพื่อสนุก หรือว่าอะไร แต่แค่รู้สึกว่ามันเป็นการยืนยันกับเราว่าชิ้นงานที่ลงตัว เป็นตัวของตัวเอง อายุจะยืนยาวมาก เหมือนคอนเซ็ปต์ของเพลง ณ วันนี้ มันยังไม่มีอันไหนไม่ได้
“แม่ง ยังเท่อยู่เลยอะ”
หากจะบอกว่าเธอเป็นติ่งเฉลียง เราว่าสามารถยกคำนี้ให้กับเธอได้เต็มปากเต็มคำ เมื่อถามถึงเสน่ห์ของวงดนตรีที่เธอประทับใจเพิ่มเติม เธอบอกกับเราสั้น ๆ ว่า เสน่ห์ของเฉลียงก็คือสมาชิกแต่ละคนที่รวมตัวกันอยู่ในเฉลียง ความเป็นธรรมชาติ อารมณ์ดี และมุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ทำให้เสน่ห์ของพวกเขาอยู่เหนือกาลเวลา
“ด้วยความที่เขาเป็นเพื่อนกัน ทัศนคติ หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันไปคนละทิศคนละทาง แต่พอมารวมกลุ่มกันกลายเป็นเฉลียง มันทำให้เกิดความหลากหลาย นี่คือจุดเชื่อมโยงที่แข็งแรงมากจุดหนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ที่ลงตัวและล้ำมากสำหรับเรา”
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมายที่เธอโดนมนตร์สะกดของเฉลียงตรึงเอาไว้ “เรารู้สึกว่าอื่น ๆ อีกมากมายเป็นอะไรที่ล้ำอีกแล้ว เคยพูดกับพี่จิกเรื่องเพลงนี้เหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันเป็นทั้งธรรมะอ่อน ๆ และเป็นการให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่น มองในมุมของคนอื่น มองในมุมของเขา มองหลาย ๆ มุม”
“ซึ่งมันสุดยอดมากนะในความเป็นนักแต่งเพลงอะ ไม่รู้ว่าจะบอกว่าอย่างไร แต่ว่ามันเป็นเพลงที่ยุคสมัยนี้หากเรามองตามนะ เรายังใช้มันได้ในชีวิตประจำวัน เรายังใช้เพื่อที่จะได้เข้าอกเข้าใจมุมมองของคนอื่น เห็นปลายเหตุ เห็นผลที่มันเกิดขึ้น หากเรามองในมุมของเราคนเดียว มันอาจจะไม่ใจกว้างพอที่จะตระหนักรู้ว่าความจริงของเรื่องนี้คืออะไร อาจไม่ใช่อย่างที่เราคิด เหตุมันมากมาย แล้วมันมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย
“แล้วเรามักใช้คำนี้เสมอเวลาพี่อธิบายคนอื่นในอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น เวลาเพื่อนถามว่าทำไมมึงเป็นคนแบบนี้วะ ทำไมคนนี้มันทำแบบนี้วะ พี่ก็จะแบบว่า เฮ้ย! แม่ง อื่น ๆ อีกมากมายเว้ยมึง เรารู้สึกว่ามันแทบจะเป็น motto ของเราในการที่จะแบบใช้ชีวิตเลย
“เพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลเป็นของตัวเอง มีเหตุมีปัจจัยเป็นของตัวเอง การที่เราตัดสินคนในเบื้องต้นเลยทันที โดยเฉพาะในยุคนี้ แค่คิดว่าถ้าเราใช้คำนี้ในการพิจารณาอะ เราจะพบว่าเราอาจจะเข้าใจเขาได้มากขึ้น มันเป็นเพลงของการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจในมุมมองของแต่ละคน แล้วมันก็ไม่ต้องเห็นด้วยเลย แต่ว่ายอมรับหรือเข้าใจได้ว่า คนเรามันมีอะไรอื่น ๆ อีกมากมาย มันเหมาะกับยุคนี้มาก”
เฉลียงจะกลับมาสร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนวงการเพลงไทยอีกครั้งในวันที่ 26 - 27 สิงหาคม 2566 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ติดตามรายละเอียดจากช่องทางต่าง ๆ (คลิกดูรายละเอียดที่นี่) หรือ เพจเฟซบุ๊ก เฉลียง Rare Item