Collective: เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมแก่ผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นผู้มีอำนาจข่มเหงประชาชน

Collective: เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมแก่ผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นผู้มีอำนาจข่มเหงประชาชน
“พวกเราหลับหูหลับตาไว้ใจผู้มีอำนาจ รวมทั้งผมในฐานะนักข่าวเองด้วย ผมเคยกล่าวหลายครั้งว่า เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมแก่ผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นผู้มีอำนาจก็จะข่มเหงประชาชน เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเสมอทั่วโลก” คือคำกล่าวของ ‘กาตาลิน โตลอนตัน’ (Catalin Tolontan) นักข่าวจาก ‘Sport Gazette’ ตัวละครสำคัญในการจุดชนวนการตรวจสอบกลคอร์รัปชันที่ซุกอยู่ใต้พรมแผ่นดินโรมาเนียมาอย่างเนิ่นนาน ในภาพยนตร์สารคดีที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง เรื่อง ‘Collective’ เริ่มจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สถานบันเทิงยามค่ำ ‘Colectiv’ ที่คร่าชีวิตประชาชนไป 27 คน และมีผู้บาดเจ็บ 180 คน ผู้บาดเจ็บทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลในโรมาเนีย และกว่า 30 รายเสียชีวิตเพราะติดเชื้อแบคทีเรียในโรงพยาบาล เหตุใดผู้บาดเจ็บด้วยแผลไฟไหม้เพียงเล็กน้อยถึงต้องตายหลังจากได้รับการรักษา ‘กาตาลิน โตลอนตัน’ และทีมข่าวของเขาคือตัวแทนประชาชนในการขุดคุ้ยไปให้ถึงราก เพื่อพบกับการคอร์รัปชันครั้งใหญ่ และการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยภาคประชาชน *บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์ Collective **ภาพยนตร์ Collective สามารถรับชมได้ผ่านทาง Documentary Club Collective: เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมแก่ผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นผู้มีอำนาจข่มเหงประชาชน เชื้อฆ่าไม่ตายและประกายไฟในColectiv 30 ตุลาคม 2015 ท่ามกลางบรรยากาศสุดเหวี่ยงในคลับ Colectiv วงดนตรีเมทัล Goodbye to Gravity กำลังโหมกระหน่ำเครื่องดนตรีและเปล่งเสียงร้องเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับหนุ่มสาวในยามค่ำคืน ภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นด้วยฟุตเทจถ่ายจากมือถือที่ใครสักคนบันทึกไว้ ประกายไฟเพียงเล็ก ๆ ปะทุขึ้นและลามไปทั่วในเวลาไม่กี่วินาที ผู้คนหนีตายอลหม่าน แต่สถานที่แห่งนั้นกลับไม่มีบันไดหนีไฟสำหรับให้ใครอพยพย้ายได้อย่างทันท่วงที 27 ชีวิตจากไปในคืนนั้น และอีก 180 ชีวิตถูกนำส่งไปรักษาอย่างแออัดในโรงพยาบาลที่บูคาเรสต์ ซึ่งปฏิเสธที่จะเซ็นใบส่งตัวผู้ป่วยบางรายไปรักษาที่ต่างประเทศ - กรุงเวียนนา ภายในระยะเวลาครึ่งเดือนให้หลัง อีก 30 ชีวิตที่ได้รับการรักษาอยู่ก็ทยอยสิ้นลมหายใจ แม้บางรายจะถูกไฟคลอกเพียงเล็กน้อยก็ตาม ผู้คนลุกฮือเต็มท้องถนนพร้อมด้วยสองคำถามคือ ทำไมคลับ Colectiv จึงไม่มีบันไดหนีไฟ และทำไมผู้ป่วยในโรงพยาบาลถึงติดเชื้อแบคทีเรียตาย ทั้งที่รัฐให้การรับรองว่าโรงพยาบาลในบูคาเรสต์นั้น ‘ดีเทียบเท่าเวียนนา’ กาตาลิน โตลอนตัน พร้อมด้วยหนังสือพิมพ์กีฬารายวัน Sport Gazette ตีพิมพ์ข่าวเพื่อรายงานว่าเบื้องหลังความตายของผู้ป่วยในทั้ง 30 ราย คือการทุจริตโดยผู้มีอำนาจ ที่มาในรูปแบบการ ‘เจือจางน้ำยาฆ่าเชื้อ’ โดยโรงพยาบาลกว่าสามร้อยแห่งทั่วโรมาเนียต่างสั่งซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อที่ถูกเจือจางจากบริษัทเดียวกันคือ ‘เฮกซิฟาร์มา’ “พวกเขา (โรงพยาบาล) ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ถูกเจือจาง 10 เท่า กับเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อด้านที่สุดในยุโรป”   ระเบิดชีวภาพในโรงพยาบาล “เราตรวจสอบน้ำยาฆ่าเชื้อจากเฮกซิฟาร์มา พบว่า 95% มีประสิทธิภาพดี มีเพียง 5% เท่านั้นที่ไม่ผ่านมาตรฐาน” คือคำรายงานของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในรอบแรก แต่เมื่อทีมข่าวของโตลอนตันนำน้ำยาเหล่านั้นไปตรวจสอบ กลับพบว่ามันไร้ประสิทธิภาพ และเมื่อเขาลงข่าว เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐก็เริ่มหนาหู พร้อมด้วยป้ายประท้วงตัวโต ‘ฉันคือ 5% ที่เหลือ’ โตลอนตันก็เริ่มปะติดปะต่อจากการโกหกคำโตของรัฐในช่วงที่ผ่านมาได้ว่า แท้จริงแล้วตัวการแห่งการโกงน้ำยาฆ่าเชื้อ อาจไม่ใช่เพียงบริษัทยาเฮกซิฟาร์มา แต่รัฐเองก็อาจเป็นหัวเรือที่ได้ผลประโยชน์ก้อนโตจากเรื่องนี้ “การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ถูกเจือจางก็เหมือนใช้ระเบิดชีวภาพกับประชาชน “พวกเขา (รัฐและเฮกซิฟาร์มา) บีบให้เรารับคนไข้มา และดิ้นรนหาทางรักษากันเอง” พร้อมด้วยแหล่งข่าวหลายรายที่โตลอนตันและทีมติดต่อไป และแหล่งข่าวบางรายที่วิ่งเข้าหาโตลอนตัน เพื่ออยากให้เขาเปิดโปงกลโกงโดยรัฐที่มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน สุดท้ายแล้วผู้บริหารเฮกซิฟาร์มาก็เสียชีวิต โดยระบุไม่ได้ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย อุบัติเหตุ หรือฆาตกรรม ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อหลีกเลี่ยงการขุดคุ้ย และได้ วลาด วอยกูเลสกู (Vlad Voiculescu) อดีตนักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพแห่งกรุงเวียนนา มาประจำการแทนระหว่างรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ Collective: เมื่อใดสื่อมวลชนสยบยอมแก่ผู้มีอำนาจ เมื่อนั้นผู้มีอำนาจข่มเหงประชาชน เน่าหนอนในโรมาเนีย แววตามุ่งมั่นและความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหา คือสิ่งที่เราในฐานะผู้ชมได้เห็นจากท่าทีการให้สัมภาษณ์ของวลาด ตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ภาพยนตร์ตัดสลับไปมาระหว่างเปิดโปงผู้อยู่เบื้องหลังของเหล่าทีมข่าว Sport Gazette และการพยายามจะแก้ปัญหาเชิงระบบของวลาด ที่ทั้งสองฝั่งก็ต่างเจออุปสรรค หรือ ‘ตอ’ ในรูปแบบที่ต่างกันไป ฝั่ง Sport Gazette ได้รับการติดต่อจากแหล่งข่าวผู้มาพร้อมคลิปวิดีโอชวนสะท้อนใจ ในฐานะหมอที่ไร้หนทางในการรักษาคนไข้ เธอได้ถ่ายภาพของผู้ป่วยที่ถูกพันผ้ารอบศีรษะ ขณะที่บริเวณใบหูของเขาหรือเธอมีหนอนหลายตัวกำลังชอนไชอยู่ พร้อมทั้งได้รับรู้ว่าทุกข่าวที่พวกเขากำลังขุดคุ้ย แหล่งข่าวมากมายได้สรุปเป็นรายงานกว่าร้อยหน้าให้กับหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลไปตั้งแต่ปี 2008 หรือเมื่อ 7 ปีก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์น่าสลด ข่าว ‘คาว’ ในโรงพยาบาล ทั้งเรื่องน้ำยาฆ่าเชื้อไม่ได้มาตรฐาน เรื่องการรักษาที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือเรื่องการยักยอกเงินโดยผู้บริหารโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วโรมาเนียนั้นไม่มีเรื่องใดที่ส่งไปไม่ถึงหูรัฐบาล เพียงแต่ว่าพวกเขาเองกลับใช้อำนาจที่มีปิดหูปิดตา รวมทั้งปิดปากประชาชนมาเป็นสิบ ๆ ปี “พวกเขา (โรงพยาบาล) ไม่สนใจ” เธอกล่าว “แม่บอกว่าหมออย่างพวกฉันไม่ใช่มนุษย์แล้ว เราไม่สนใจอะไรอีกแล้วนอกจากเงิน” ส่วนฝั่งวลาดนั้นก็หนักไม่ใช่เล่น เพราะหลังจากที่เขาหารือกับทีมงานและตัดสินใจประกาศมาตรการสำหรับแก้วิกฤตสาธารณสุขออกไป เขาก็กลับถูกต่อต้านโดยนายกเทศมนตรีบูคาเรสต์ทำให้ไม่สามารถออกนโยบายใดให้เป็นชิ้นเป็นอันได้ พร้อมด้วยระยะเวลาเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ใกล้เข้ามาทุกคืนวัน   โลกยังไม่เปลี่ยน หลังการกดดันด้วยการลงถนนของประชาชน จนต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ทีม Sport Gazette และวลาดต่างทำหน้าที่ของตนในทุกวันเพื่อหวังว่าเมื่อถึงปลายทางแล้ว จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของโรมาเนียให้ดีขึ้นได้ แต่ผลการเลือกตั้งกลับออกมาตรงข้ามกับความคาดหวัง เพราะพรรคการเมืองที่ถูกเลือก (ด้วยคะแนนนิยมชนะขาดลอย) ก็ยังคงเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคเดิมกับที่ใช้อำนาจในทางมิชอบมาหลายต่อหลายปี “ลูกจะมาทำอะไรที่นี่ล่ะ ประเทศนี้จะตื่นไม่ขึ้นไปอีก 30 ปี สิ้นหวังแล้ว มันจะไม่เปลี่ยนไปอีกนาน ตอนลูกเกษียณมันก็จะยังไม่เปลี่ยน” คือถ้อยสนทนาผ่านโทรศัพท์ของพ่อของวลาด ที่ส่งให้ตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้มีความ ‘จริง’ และ ‘คล้ายคลึง’ กับประสบการณ์ใกล้ตัวในประเทศแถบนี้อยู่ไม่น้อย แม้จะอยู่ห่างกันเป็นซีกโลก และเรื่องราวตอนท้ายสุดก็ยิ่ง ‘จริง’ ขึ้นไปอีกเมื่อบรรยากาศภายในห้องข่าว Sport Gazette ต้องตกอยู่ในความตึงเครียด เพราะพวกเขาและครอบครัวกำลังถูกขู่เอาชีวิตโดยผู้มีอิทธิพลที่พวกเขาไม่รู้จัก “มีคนบอกฉันมา จากหน่วยข่าวกรอง เตือนให้เราระวังชีวิตคนในครอบครัว เขาบอกว่าคุณเหยียบรังพวกมาเฟียขาโหดเข้าแล้ว” ‘Collective’ จบลงด้วยการไปเยี่ยมเยียนหลุมศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ และแม้หนังเรื่องนี้จะทิ้งเราไว้อย่างนั้น - ทิ้งไว้ระหว่างการถูกขู่ฆ่า หยาดน้ำตาของญาติผู้เสียชีวิต และความไม่สำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขของประเทศ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังน่าประทับใจ และสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าจะทำลาย ด้วยระยะเวลาสองชั่วโมงเศษ ๆ ‘Collective’ ได้บอกเล่าอย่างชัดเจนถึงหน้าที่ของวิชาชีพสื่อและจรรยาบรรณหลากข้อ โดยไม่ต้องอธิบายเป็นศัพท์เฉพาะใด ๆ ให้มากความ ท่ามกลางคืนวันในบ้านเราที่ใครหลาย ๆ คน รวมทั้งสื่อมวลชนเองก็อาจจะหลงลืมไปแล้วว่าฐานันดรที่สี่ของสื่อนั้นมีขึ้นเพื่ออะไร และทำอะไรได้บ้าง ความสำเร็จและล้มเหลวใน ‘Collective’ ก็อาจเป็นกรณีศึกษาที่พาให้เหล่า ‘watchdog’ หวนทบทวนว่ามีครั้งใด (หรือหลายครั้ง) หรือไม่ ที่สื่อมวลชนบ้านเราสยบยอมต่อผู้มีอำนาจ จนผู้มีอำนาจนั้นได้โอกาสในการข่มเหงประชาชน เช่นเดียวกับคำ ‘ความเพิกเฉยฆ่าประชาชน’ ที่อยู่บนป้ายประท้วงของผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มหนึ่งในภาพยนตร์ อีกถ้อยคำจาก ‘Collective’ ที่กินใจเราก็คงจะเป็นคำพูดของโตลอนตันที่ว่า “การปิดปากเงียบของพวกเราในช่วงแรกที่เกิดไฟไหม้นั่นแหละ ที่เป็นการอนุญาตให้รัฐโกหกเรา “ผมคิดว่าอาชีพนี้ไม่มีเป้าหมายสูงสุดหรอก ผมก็แค่พยายามให้คนมีความรู้มากขึ้นเรื่องอำนาจที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา”