เงินเธอ เงินฉัน ภาระผูกพัน หลังวันจดทะเบียนสมรส

เงินเธอ เงินฉัน ภาระผูกพัน หลังวันจดทะเบียนสมรส

ว่าด้วยข้อกฎหมายภายใต้ปัญหาคู่รัก เงินเธอหรือเงินฉัน เพราะเรื่องเงินทองไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งเป็นความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา ด้วยตัวแปรนี้อาจทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

KEY

POINTS

  • เมื่อแต่งงาน สิ่งที่ผูกมัดไม่ใช่เพียงร่างกาย แต่เป็นเรื่องทรัพย์สิน
  • บางคู่จึงเลือกไม่จดทะเบียนสมรสในการทำธุรกิจ และไม่อยากผูกมัดกันให้แน่นหนาเกินไปนัก
  • นอกจากการจัดการทรัพย์สินแล้ว ยังมีเรื่องหนี้สินที่สามีภรรยาต้องตกเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และยากไปอีก หากเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งระหว่างสามี-ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรส เรื่องหนึ่งที่มีมาสม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนแปลง และมีมาแต่โบร่ำโบราณนั่นคือ เรื่องทรัพย์สิน

อย่างที่รู้กัน ‘เงินทองไม่เข้าใครออกใคร’ 

อีกทั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา มีเรื่องความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง รัก ใคร่ ชอบพอ และตัวความรู้สึกนี้เองที่แปรเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลา และปัจจัยแวดล้อม

เมื่อถึงวันหนึ่งที่เกิดความขัดแย้งขึ้น ก็มักจะโยงมาที่ทรัพย์สินในที่สุด

ถ้าตกลงกันได้ จบสวย สบายใจทุกฝ่าย

แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ เกิดความคิด ‘ได้เปรียบเสียเปรียบ’ กันขึ้น ความขัดแย้งก็ตามมา

การจดทะเบียนสมรสของชาย หญิง เป็นการมัดรวมกันไว้ทั้งสิทธิและหน้าที่ภาระผูกพันต่อกันไว้ค่อนข้างแน่นหนา กฎหมายบัญญัติว่า “สามีภรรยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะแห่งตน” อันถือว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำ ถ้าไม่ทำ คือไม่อุปการะ ไม่เลี้ยงดู ก็อาจโดนอีกฝ่ายใช้กฎหมายบังคับให้ต้องกระทำสิ่งที่งดเว้นนั้นได้ 

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติว่าด้วย เรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา กำหนดไว้ว่า สิ่งใดเป็นทรัพย์สินส่วนตัว  สิ่งใดเป็นสินสมรส และสินสมรสก็คือทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส  (ซึ่งการสมรสตามกฎหมาย มิได้หมายถึงพิธีสมรสหรือพิธีแต่งงาน แต่เป็นการจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียน)

อีกทั้งกฎหมายยังได้ กำหนดการจัดการในเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเอาไว้ด้วยกัน ไม่อาจจัดการโดยเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เพียงลำพัง

ดังนั้น สามีภรรยาบางคู่ก็เลือกที่จะไม่จดทะเบียนสมรส เพื่อความคล่องตัวในการทำธุรกิจ และไม่อยากผูกมัดกันให้แน่นหนาเกินไปนัก

หรือบางคนจดทะเบียนสมรสก็จริง แต่ขอมี ‘สัญญาก่อนสมรส’ ติดไว้ เพื่อตกลงในเรื่องทรัพย์สินกันไว้ก่อนเลย

เรามาดูกันทีละเรื่อง

สัญญาก่อนสมรส คืออะไร มีไว้เพื่ออะไร มีผลอย่างไร และจะต้องทำอย่างไร 

สัญญาก่อนสมรส คือ สัญญาที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันในเรื่องของการจัดการทรัพย์สิน โดยกำหนดได้ว่าสิ่งใดคือสินส่วนตัว สิ่งใดคือสินสมรส การทำสัญญาก่อนสมรสนั้นจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด 

นั่นคือต้องจดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรส พร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรืออาจทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อย 2 คนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อม ๆ กับการจดทะเบียนสมรสว่า มีสัญญา เรื่องทรัพย์สินกันไว้ระหว่างสมรส แนบไว้ด้วย  

หากทำไม่ถูกต้องตามแบบ ผลก็คือจะตกเป็นโมฆะคือไม่สามารถบังคับใช้ได้นั่นเอง ซึ่งก็ต้องย้อนกลับไปดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีและภรรยา 

โดยที่การจดทะเบียนสมรส ก่อให้เกิดสิทธิหน้าที่ ระหว่างสามีภรรยาในการจัดการทรัพย์สินที่หาได้มาระหว่างสมรสหรือสินสมรส ว่าสามีและภรรยาจะต้องจัดการทรัพย์สินนั้นร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้ (อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) คือ

(1) ขาย* แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจดจำนองได้

(*จะเห็นได้ว่า มีแต่การขาย แต่ไม่มีการซื้อ นั่นเป็นเพราะการขายคือการทำให้ทรัพย์ลดน้อยลง เป็นผลเสียต่อคู่สมรส จึงต้องมีการจัดการร่วมกัน ส่วนการซื้อ เป็นการเพิ่มทรัพย์สินเข้ามา เป็นคุณต่อคู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม)

(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอมสิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี 

(4) ให้กู้ยืมเงิน 

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา 

(6) ประนีประนอมยอมความ 

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย 

(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล  

 

ถ้าสามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการสินสมรสแตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติข้างต้น คือ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าเผื่ออีกฝ่ายหนึ่งรู้เข้า เขาอาจจะฟ้องศาลให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ 

เว้นแต่ว่าคู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้เห็นชอบด้วยหรืออนุญาตให้ทำนิติกรรมหรือรับรู้ให้ทำนิติกรรมนั้นจะได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือว่าบุคคลภายนอกที่ได้มาทำนิติกรรมด้วยได้กระทำไปโดยสุจริต คือไม่รู้ว่าฝ่ายที่มาทำนิติกรรมด้วยนั้นมีคู่สมรสอยู่ และบุคคลภายนอกนั้นได้เสียค่าตอบแทน อย่างนี้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วยจะมาฟ้องเพิกถอนไม่ได้

ข้อที่ต้องรู้ก็คือว่า ระหว่างที่ยังเป็นสามีภรรยากันอยู่นั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมายึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ เว้นแต่ว่าจะเป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือว่ารักษาสิทธิระหว่างสามีภรรยาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ หรือเป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ยังไม่มีการชำระกันตามคำพิพากษาของศาล

นอกเหนือจากการจัดการทรัพย์สินแล้วยังมีเรื่องหนี้สินอีก ที่สามีภรรยาต้องตกเป็นลูกหนี้ร่วมกัน โดยกฎหมายบัญญัติเอาไว้ว่า ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภรรยาได้ก่อขึ้นระหว่างสมรสดังต่อไปนี้ (อ้างอิงจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)  คือ

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ 

(2) หนี้ที่เกี่ยวกับสินสมรส 

(3) หนี้ที่เกิดเนื่องจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกัน 

(4) หนี้ที่สามีหรือภรรยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

นี่กล่าวเฉพาะความเกี่ยวพันระหว่างสองคนสามีภรรยา

ถ้ามีบุคคลที่สามเกี่ยวข้องเข้ามาด้วยจะยิ่งยุ่งอีนุงตุงนังเข้าไปอีก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่สามที่ว่า คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด  

เพราะกฎหมายถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นเป็นนิติบุคคล หรือ เป็นบุคคลอีกคนหนึ่งแยกต่างหากจากผู้ที่เป็นหุ้นส่วน ที่จะต้องมีการจัดทำบัญชี ต้องยื่นแสดงบัญชีรายรับรายจ่าย ต้องชำระภาษีเงินได้จากกำไรของผลประกอบการ 

ถ้าลองเอาเงินจากนิติบุคคลมาใช้ระคนปนกับเงินส่วนตัว มั่วจนไม่รู้แยกไม่ออกว่า รายการไหนของส่วนตัว รายจ่ายอันไหนเป็นของนิติบุคคล ดังนี้ มีโอกาสจะยุ่งเหยิงยับเยินเพิ่มขึ้นมาอีก