เมื่อความจริงอาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว...ชวนสำรวจความจริงหลากมิติของวัดพระธรรมกายผ่าน ‘เอหิปัสสิโก’ (Come and See)

เมื่อความจริงอาจไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว...ชวนสำรวจความจริงหลากมิติของวัดพระธรรมกายผ่าน ‘เอหิปัสสิโก’ (Come and See)
ย้อนไปในปี 2560 เป็นเวลา 20 กว่าวันที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอปิดล้อมและตรวจค้นวัดพระธรรมกาย หลังจากพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัด ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ภาพการเผชิญหน้ากันระหว่างศิษยานุศิษย์ที่นั่งสมาธิปิดกั้นทางเข้าของวัด กับกองกำลังตำรวจ ทหาร กว่าสี่พันนายถูกเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ในวันนั้น ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากคนไทยจำนวนมากเช่นเดียวกับ ‘ไก่-ณฐพล บุญประกอบ’ ที่กำลังเรียนปริญญาโทในนิวยอร์ก เขาจึงตัดสินใจทำปริญญานิพนธ์ออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘เอหิปัสสิโก’ (Come and See) ที่เกือบจะถูกพิจารณา ‘ห้ามฉาย’ ในประเทศไทย แต่ท้ายที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้เข้าฉายในเรต ‘ทั่วไป’ (ท) โดยไม่ถูกตัดทอนเนื้อหา ‘เอหิปัสสิโก’ หมายถึง ท่านจงมาดูธรรมนี้ ท่านจงมาดูเถิด หรือแปลตามชื่อภาษาอังกฤษของภาพยนตร์ว่า Come and See ซึ่งตอนแรกผู้เขียนยังไม่แน่ใจนักว่าภาพยนตร์นี้จะนำเสนอเรื่องราวในแง่มุมใดของวัดพระธรรมกาย จนกระทั่งตัวอย่างซึ่งเป็นฉากแรกของภาพยนตร์ เปิดมาด้วยประโยคสะท้อนมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว “พี่เช่าพระจากเขา ทำบุญห้าพันบาท จากวัดนี้แหละมาที่บ้าน ปรากฏ โอ้โห มีกลิ่นเหม็นเน่า เรื่องจริง แล้วก็รู้ว่าไอ้วัดนี้มันแบล็คเมจิค “ที่นี่ไม่ได้มีเรื่องของไสยศาสตร์เข้ามาปนเลย ความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ประเภทความงมงายอะไรบางอย่าง ที่ไม่ใช่พุทธศาสตร์ ที่นี่ไม่เป็นค่ะ” เท่านี้ก็ชวนให้เราอยากจะก้าวเข้าไปหาคำตอบในโรงภาพยนตร์เสียแล้ว โดยทั้งภาพ เสียง และเนื้อหาที่เข้มข้นตลอดเรื่องทำให้สารคดีที่นำเสนอประเด็นอ่อนไหว กลายเป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ ชี้ชวนให้อยากติดตามและขบคิดจนฉากสุดท้าย ซึ่งตอนจบเป็นอย่างที่หลายคนบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มี ‘คำตอบ’ ให้เราว่าใครถูกผิดหรือไขคดีวัดพระธรรมกาย แต่เป็นการชวนให้เรา ‘ตั้งคำถาม’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ ทั้งกับแนวคิดของผู้ศรัทธา แนวคิดของผู้ต่อต้าน ไปจนถึงท่าทีของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “หนังเรื่องนี้มันเป็นเหมือนกระบวนการเรียนรู้ของผมที่มีต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แล้วผมก็ได้เรียนรู้จากการไปสัมภาษณ์นักวิชาการต่าง ๆ ที่อยู่ในหนัง แล้วมันอาจจะให้คำตอบผมว่า อ๋อ...จริงด้วย สิ่งที่เราคาใจ สิ่งที่เราสงสัยหรือว่าข้อถกเถียงที่เราเห็น ที่เกิดขึ้น มันถูกตอบด้วยความคิดเห็นของคนเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่ามุมมองที่ผมมี ณ วันนี้ ก็คือมุมมองที่เกิดขึ้นในหนังจากปากคำของพี่ ๆ เหล่านั้น” (ที่มา https://youtu.be/ZGf8EBV2hig) ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการตัดสลับมุมมองของผู้ศรัทธาในวัดพระธรรมกาย อย่างพระผู้ทำงานใกล้ชิดกับพระธัมมชโยและศิษยานุศิษย์ที่กล่าวว่าชีวิตดีขึ้นอย่างไรบ้างจากการเป็นศิษย์ของวัดนี้ ผู้ต่อต้านวัดอย่างอดีตพระที่เคยทำงานใกล้ชิดกับพระธัมมชโยและอดีตศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ซึ่งเล่าถึงผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นกับผู้ศรัทธา รวมทั้งมุมมองจากบุคคลที่สามอย่างนักวิชาการที่ออกมาให้ความรู้ในแง่ศาสนาและการเมือง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นมากกว่า ‘ความขัดแย้ง’ ของสองฝ่าย แต่ทำให้เข้าใจในภาพกว้างมากขึ้น คล้ายกับการเปลี่ยนจากมองในแนวราบ ไปมองในมุมที่เห็นภาพกว้างหรือ bird eye view ขณะที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ บางคนอาจตั้งธงหรือไม่ได้ตั้งธงในใจ แต่เราเชื่อว่ามีบางความคิดเห็นที่ผู้ชมอาจจะพยักหน้าตาม แต่แล้วภาพก็ตัดสลับไปยังอีกคนที่เห็นต่างอย่างสุดขั้ว บ้างก็มีเหตุผลที่ฟังแล้วอาจจะขมวดคิ้วส่ายหน้า บ้างก็เป็นเหตุผลที่เราเข้าใจและฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ยังไม่เคยมองในมุมนี้มาก่อน ต่อด้วยการให้ความรู้ของนักวิชาการ เช่น การตั้งคำถามว่า ‘พุทธพาณิชย์’ ของธรรมกายนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากการทำบุญในวัดอื่น ๆ อย่างการบริจาคทรัพย์สิน เพียงแต่วิธีการค่อนข้างสุดโต่งและชัดเจนกว่าวัดทั่วไป หรืออีกคนที่บอกว่า วิธีการปฏิบัติของวัดพระธรรมกายนั้นไม่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติแบบของนิกายเถรวาทซึ่งเก่าแก่ที่สุดในพุทธศาสนา หากวิธีการของวัดพระธรรมกายแพร่หลาย ก็อาจจะทำให้หลักปฏิบัติแบบเถรวาทอันเก่าแก่ค่อย ๆ เลือนหายไป เป็นต้น หากย้อนมองในชีวิตประจำวัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงเรื่องราวของวัดพระธรรมกายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละคนในสังคมต่างมีความคิด ความเชื่อและเหตุผลของตนเอง แต่อาจจะยังไม่มีพื้นที่ตรงกลาง ให้คนที่คิดเห็นแตกต่างกันได้เล่าเรื่องออกมาอย่างเต็มเสียง และรับฟังกันและกันอย่างเปิดกว้าง อีกประเด็นหนึ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นคือ บ่อยครั้งที่เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่สนับสนุนความเชื่อเดิมของตัวเอง แต่น้อยครั้งที่จะมีโอกาสได้หยุดคิดและฟังเรื่องราวจากมุมที่แตกต่างออกไป หากเรามองโลกด้วยวิธีที่สารคดีเรื่องนี้พยายามมองวัดพระธรรมกายจากหลากหลายมุม ก็อาจจะทำให้เราได้เห็นเรื่องราวอื่น ๆ ‘ในภาพกว้าง’ และเข้าใจคนที่เห็นต่างได้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพราะเราจะไม่ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมถึงเชื่อแบบนั้น’ ‘ต้องเชื่อแบบนี้เท่านั้นจึงจะถูกต้อง’ แต่ชวนเข้าไปสำรวจว่าคนที่เชื่อเหมือนหรือต่างจากเรา มีวิธีคิด วิธีการมองโลก และเหตุผลอย่างไร ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นสิทธิ์ของเรา เพราะความ ‘เข้าใจ’ ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง ‘เห็นด้วย’ เสมอไป อย่างที่ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับเอหิปัสสิโกกล่าวว่า “ถ้าสมมติว่ามันจะมีคนดูที่เข้าใจสถานการณ์นี้มากขึ้นแล้วศรัทธาหรือไม่ศรัทธาวัดพระธรรมกายก็ตาม แต่ว่าได้ขบคิดกับภาพใหญ่ของสังคมไทยมากขึ้น ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำให้ได้” (ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=GrWitKHKwYA )