Crash Landing on You ว่าด้วยนัยของการพลัดพราก พื้นที่ ภูมิทัศน์ และพืชพรรณ

Crash Landing on You ว่าด้วยนัยของการพลัดพราก พื้นที่ ภูมิทัศน์ และพืชพรรณ
ความรัก ความสูญเสีย การจากพราก ความทรงจำอันตราตรึง และความหวังในการรวมประเทศ ดูจะเป็นสิ่งที่เราพบได้บ่อย ๆ ในซีรีส์เกาหลี ซึ่ง Crash Landing on You ซึ่งมีสองนักแสดงนำแม่เหล็กอย่าง ฮยอนบิน (Hyun Bin) และ ซนเยจิน (Son Ye Jin) ที่ทำเอาแฟน ๆ ชาวไทยหัวใจละลายกันเป็นแถบ ๆ ก็มีทุกประเด็นที่ว่าครบถ้วน แถมยังทำออกมาครบรส กลายเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ในความทรงจำของคนดูหลายคนไปแล้วเรียบร้อย Crash Landing on You ว่าด้วยนัยของการพลัดพราก พื้นที่ ภูมิทัศน์ และพืชพรรณ พรากจากกันเพื่อพบกันใหม่ นัยของการรวมสองประเทศ ก่อนอื่นต้องย้อนไปถึงแพทเทิร์นการเขียนบทซีรีส์เกาหลีหลาย ๆ เรื่อง คนเขียนบทหลายคนมักเขียนให้ความขัดแย้งในเรื่องสามารถโยงไปถึงเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งมักจะทำให้เกิดการพลัดพราก สูญเสียคนในครอบครัว แล้วก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครเหล่านั้นกลับมาเจอกันอีกครั้ง เพื่อแก้ไข ทำความเข้าใจ เพื่อที่สุดท้ายจะได้กลับมาอยู่ด้วยกัน จะนานหรือสั้น หรือตอนจบจะมีใครตายก็แล้วแต่คนเขียนบทจะขยี้ แม้การพรากจากกันและการได้กลับมาเจอกันจะเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่มาคิดดูอีกแง่ นี่อาจจะเป็นการเปรียบเทียบหรือสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ก็เป็นได้ เรื่องของคนเชื้อชาติเดียวกัน (ครอบครัวเดียวกัน) ถูกทำให้พลัดพรากหรือแยกจากกัน ด้วยสาเหตุที่ตัวเองไม่ได้ทำ และพยายามจะกลับมาอยู่ด้วยกันอีก ถ้าสังเกตดี ๆ ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องจะชอบมีฉากย้อนอดีต และฉายให้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว พระเอกและนางเอกเคยเจอกันมาก่อน บางทีเจอกันเป็นเรื่องเป็นราว หรือเจอแบบผ่าน ๆ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็จะกลับมาเจอกัน ซีรีส์ Autumn in My Heart (2000) ใช้โครงสร้างการพลัดพรากและการได้กลับมาเจอกันอย่างชัดเจน นางเอกถูกสลับตัวมาอยู่บ้านพระเอกในฐานะน้องสาวตั้งแต่ยังเป็นทารก โตมาด้วยกัน พอความจริงปรากฏก็กลับไปอยู่กับครอบครัวที่แท้จริง แต่ก็กลับมาเจอกัน รักกัน แต่สุดท้ายก็มีเหตุให้ต้องแยกจากกันอีก ถึงอย่างนั้นเราก็เห็นได้ว่าทั้งเรื่อง ถึงพระเอกนางเอกถึงจะแยกจากกัน แต่ก็อยู่ได้ด้วยความทรงจำเกี่ยวกับอีกฝ่ายที่มั่นคงจนคนอื่นไม่สามารถเข้ามาแทรกได้ (persistent memory) เรายังพอสังเกตแพทเทิร์นนี้ได้อีกหลายเรื่อง เช่น I Can Hear Your Voice (2013) ที่อีจงซอกเล่นเป็นคนที่สามารถอ่านใจคนอื่นได้ เรื่องนี้พระเอกเจอนางเอกตั้งแต่ตอนยังเป็นเด็ก แล้วก็ฝังใจที่นางเอกช่วยมาเป็นพยานในคดีที่พ่อโดนฆ่า พระเอกโตมาด้วยความหวังว่าจะได้เจอนางเอกอีก และฝึกตัวเองให้เข้มแข็งพอจะปกป้องเธอได้ พอได้เจอกันอีกทีก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายจากคนที่เคยฆ่าพ่อตัวเอง ถึงพระเอกจะความจำเสื่อมไปเป็นปี แต่สุดท้ายก็กลับมาจำนางเอกได้ และยังรักนางเอกเหมือนเดิม ส่วนบางเรื่องจะเป็นการพลัดพรากจากคนในครอบครัว เช่น พระเอกในเรื่อง Legend of the Blue Sea (2016) พลัดพรากจากแม่ตั้งแต่เด็ก ฉากที่สองคนได้เจอกันอีกครั้ง (แบบสโลว์โมชัน) ชวนให้คิดถึงงานพบญาติประจำปีระหว่างคนเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่มักจะจบด้วยการลาจากกันด้วยน้ำตา ซึ่งประเด็นเรื่องความทรงจำในเรื่องนี้ถือว่ามั่นคงระดับข้ามภพข้ามชาติมาก พระเอกกลับชาติมาเกิดแล้วก็ยังรักนางเอกที่เป็นนางเงือกอยู่ดี เพราะสิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงให้คนสองคนกลับมาเจอกันได้คือความทรงจำที่มั่นคงและไม่มีวันหายไปนั่นเอง ถ้าลองมาคิดดูดี ๆ “ความทรงจำและการจดจำ” ดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ยังทำให้การกลับมารวมกันอีกครั้งของสองเกาหลีมีความหมาย เพราะการแยกกันเป็นสองประเทศ ใช้ระบบการปกครองที่ต่างกันสุดขั้ว มันทำให้คนที่เคยรู้จักกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน ต้องกลายเป็นคนแปลกหน้า ถ้าเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ ความแตกต่างที่ก่อตัวจะเริ่มฝังราก และการกลับมารวมกันอีกครั้งก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป “ความทรงจำ” จึงอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ยังเชื่อมสองเกาหลีอยู่ แม้ประชากรรุ่นหลัง ๆ อาจจะไม่รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เคยมีมาตั้งแต่พวกเขายังไม่เกิด วาทกรรมเรื่องการพลัดพราก ความทรงจำ และการกลับมารวมกัน จึงถูกนำมาฉายซ้ำ ๆ อยู่ในเรื่องเล่าจากเกาหลี ถูกนำมาเป็นประเด็นในเรื่องเล่าที่มีบริบททันสมัยมากขึ้น เพื่อให้วาทกรรมนี้ยังทำหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งความหวังที่ว่า “การรวมประเทศยังเป็นสิ่งเป็นไปได้” ตัดกลับมาที่ Crash Landing on You สิ่งที่ รีจองฮยอก หรือ “สหายผู้กอง” พระเอกของเรา บอกกับ ยุนเซรี นางเอก ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า การรอด้วยความหวังคือเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ มิฉะนั้นบาดแผลจากการสูญเสียคนที่รัก (ซึ่งหมายถึงคนในครอบครัว หรือคนเชื้อชาติเดียวกัน) จะเป็นความทรมานที่เราไม่สามารถทนได้เลย Crash Landing on You ว่าด้วยนัยของการพลัดพราก พื้นที่ ภูมิทัศน์ และพืชพรรณ พื้นที่ ภูมิทัศน์ และพืชพรรณ “ถ้าแค่อยู่ในเขตพรมแดนของตัวเองก็ไม่เห็นจำเป็นต้องรบกันเลยนี่” ยุนเซรีบอกผู้กองรีจองฮยอกใน ep 7 Crash Landing on You เล่นกับการใช้พื้นที่มาช่วยเล่าเรื่องเยอะมาก เพราะเกี่ยวกับพรมแดนโดยตรง พรมแดนในเรื่องก็มีลักษณะเฉพาะ (unique) คือเป็นเส้นที่เกิดจากมนุษย์สร้าง และกำหนดลงไปบนพื้นที่ทางธรรมชาติ นั่นก็คือ “เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ” ที่แบ่งเกาหลีเหนือและใต้ เส้นดังกล่าวมีอำนาจมากพอที่จะควบคุมเรือนร่างของมนุษย์ให้ทำตาม ในฉากที่ฝ่ายเหนือและใต้เอานักโทษมาแลกกันที่เส้นแบ่งพรมแดน (ตรงนั้นคือ Inter-Korea Transit Office อยู่ไม่ไกลจากโซลเท่าไหร่) เราเห็นอำนาจของเส้นแบ่งที่ว่านี้ได้อย่างชัดเจน การแลกนักโทษต้องทำพร้อมกัน โดยให้เดินผ่านเส้นพรมแดนสีเหลืองที่ว่าแบบยื่นหมูยื่นแมว พอพระเอกก้าวข้ามไปในพื้นที่เกาหลีเหนือแล้วหันมาเห็นนางเอกวิ่งมาหา พระเอกจึงตัดสินใจสะบัดหนีการควบคุมตัวแล้ววิ่งข้ามกลับมาในพื้นที่เกาหลีใต้ (เกิดเป็นอีกหนึ่งซีนเรียกน้ำตา) แล้วเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายชักปืนออกมาพร้อมกันโดยอัตโนมัติ เท่ากับว่าอำนาจในเส้นพรมแดนสีเหลือง (ซึ่งย้อนแย้ง เพราะมีคำว่า “สันติภาพ” เขียนอยู่บนนั้น) สามารถควบคุมร่างกายของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกลายเป็น predisposed body of violence คือการที่เรือนร่างของคนเราถูกทำให้ชินกับกฏเกณฑ์อะไรบางอย่าง จนกระทำความรุนแรงนั้นออกมาโดยไม่ต้องไตร่ตรองก่อน ทั้งหมดนี้ ตรงข้ามกับการใช้ภูมิทัศน์ของสวิตเซอร์แลนด์มาดำเนินเรื่องอย่างสิ้นเชิง เราต่างก็รู้อยู่ว่าสวิตเซอร์แลนด์มีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง (Swiss neutrality) ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นตั้งแต่สนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1815 และยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น สวิตเซอร์แลนด์จึงไม่เข้าร่วมสงครามใด ๆ ในแง่พื้นที่แห่งการเล่าเรื่อง สวิตเซอร์แลนด์จึงกลายเป็นทางออกให้กับคู่รักที่มาจากประเทศที่ขัดแย้งทางการเมืองอย่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่จริง ๆ แล้วอยู่ติดกัน แต่คนทั้งสองฝั่งไปมาหาสู่กันไม่ได้ เพราะพรมแดนที่มนุษย์สมมติขึ้น อันที่จริงทุกคนก็พอจะเดาได้อยู่แล้วว่า รีจองฮยอกและยุนเซรีต้องไปมีความสุขที่สวิตเซอร์แลนด์แน่นอน และก็เป็นไปตามนั้น จะเห็นได้ว่านางเอกเล่นร่มร่อน (paragliding) ลงมาและพบพระเอกอีกครั้ง (ร่มร่อนเป็นตัวแทนของโชคชะตา เพราะมันควบคุมไม่ค่อยได้เหมือนกัน) บนทุ่งหญ้าสีเขียวอันกว้างใหญ่ของเทือกเขาแอลป์ ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพพรมแดนบริเวณ Inter-Korea Transit ที่ดูขึงขังไม่เป็นมิตร ถูกควบคุมด้วยอำนาจของเส้นแบ่งสีเหลือง ความงดงามของทุ่งหญ้าอันไพศาลที่ไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ บนดินแดนที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง จึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้ความรักของคนจากสองเกาหลีเป็นไปได้ (ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นไม่กี่ประเทศที่คนเกาหลีเหนือเดินทางไปได้ และ คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ก็เคยเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์) อีกอย่างจะเห็นการใช้สะพานมาเกี่ยวข้องในฉากสำคัญ ๆ เช่น สะพานชมวิว Sigriswil ที่พระเอกนางเอกเจอกันเป็นครั้งแรก แล้วอีกทีบนสะพานฮันทันกังในเกาหลีใต้ ที่พระเอกบอกนางเอกว่าทั้งสองคนเคยเจอกันมาก่อน สะพานจึงมีหน้าที่ในการเชื่อมสองฝั่ง และลดความห่างไกลเชิงจิตวิทยาลง อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ที่น่าสนใจคือการใช้พืชพรรณเป็นสัญลักษณ์ ในออฟฟิศของนางเอกจะมีพื้นหลังเป็นต้นไม้จำพวกกระบองเพชร สื่อถึงเจ้าของห้องที่แกร่ง ไม่กลัวใคร เหมือนกระบองเพชรที่มีหนาม ในฉากจบเราเห็นนางเอกจัดช่อดอกไม้ที่มีสีม่วงและสีแดง แล้วเดินไปหาพระเอกที่ยื่นช่อดอกไม้สีขาวที่ทำให้เรานึกถึง "ดอกเอเดลไวส์" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวิตเซอร์แลนด์ที่พระเอกเคยส่งให้นางเอกปลูกมาก่อน และยังเป็นสีของดอกแมกโนเลียภูเขา (magnolia sieboldii) ดอกไม้ประจำชาติของเกาหลีเหนือ อาจตีความได้ว่าดอกไม้สีม่วงสื่อถึง "ดอกมูกุงฮวา" (ดอกชบา) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติเกาหลีใต้ ส่วนที่ออกแดง ๆ ก็อาจแทน "ดอกคิมจองอีเลีย" ซึ่งเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของเกาหลีเหนือที่ตั้งชื่อตามผู้นำคนก่อน เหมือนรวมเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เข้าด้วยกัน โดยมีดอกไม้สีขาวแห่งเทือกเขาในสวิตเซอร์แลนด์มารวมตอนท้ายสุด เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความสัมพันธ์ของคนคู่นี้ อ้อ! ถึงแม้ทุกอย่างจะดูดี ดูสวยงามราวภาพฝันอันแสนหวาน แต่เราก็พึงระลึกว่า โรแมนซ์นี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าพระเอกไม่ได้มาจากตระกูลผู้ดีมีอำนาจในเกาหลีเหนือ ที่หลายครั้งก็อาศัยบารมีพ่อทำเรื่องเสี่ยงต่าง ๆ นานาได้ ส่วนถ้านางเอกไม่รวยเป็นอภิมหาเศรษฐีระดับท็อป 0.1% ของเกาหลีใต้ ก็คงไม่มีทุนหรือพลังมากพอจะก่อตั้งมูลนิธิให้ทุนนักดนตรีคลาสสิก หรือไปอยู่ชาเลต์วิวหลักล้านในสวิตเซอร์แลนด์กับพระเอกได้เหมือนกัน   เรื่อง: แพร จิตติพลังศรี ภาพ: tvN