วิจารณ์ภาพยนตร์ แสงกระสือ : กระสือคลาสสิค

วิจารณ์ภาพยนตร์ แสงกระสือ : กระสือคลาสสิค

วิจารณ์ภาพยนตร์ แสงกระสือ : กระสือคลาสสิค

จำความรู้สึกตอนดูหนังผีสมัยเด็ก ๆ ได้ไหมครับ? ถ้านึกย้อนให้ดีจะพบว่า หนังผีไทยในสมัยผู้เขียนเด็ก ๆ นั้น เรามักรู้จักตัวผีก่อนจะได้ดูหนังเสียอีก ผ่านเรื่องเล่า ตำนาน นิทานต่าง ๆ ที่รายรอบตัวเรา ทั้งจากปากคนเฒ่าคนแก่, หนังสือ, วิทยุ, การ์ตูน 5 บาท และเพื่อนที่โรงเรียน กระสือ กระหัง ปอบ เปรต นางตะเคียน นางตานี ผีถ้วยแก้ว ผีตายโหง ผีตาโบ๋ ผีพราย ผีโพง สมิง กุมาร และแม่นาก ล้วนเป็นผีที่เราต่างรับรู้เรื่องราวมาก่อนแล้ว ซ้ำแต่ละตนยังมี “กฎและเงื่อนไข” ชัดเจนจนทำให้เราจำได้ เราจะไม่กล้าตากผ้ากลางคืนเพราะกลัวกระสือจะเอาปากมาเช็ด, ต้องหาผ้าสีมาผูกจุดธูปเทียนบูชาเสาไม้ที่ตกน้ำมัน, ไม่ลงเล่นคลองตอนกลางคืนเดี๋ยวผีพรายจะมาเอาตัวไป, เข้าป่าอย่าตอบเสียงเรียกทัก เพราะมันคือผีโพง ฯลฯ ตามมาด้วยดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ของผีแต่ละตน กระสือเราจะเห็นเป็นดวงไฟลอยได้, ตะเคียนอยู่กับไม้ตะเคียน, สมิงคืออมนุษย์ที่กลายร่างเป็นเสือได้ ความกลัวเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้หวือหวาทันสมัย แต่ถูกออกแบบให้เรารู้สึกใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวัน ตามซ้ำด้วยการที่เราได้ดูผ่านหนังและละคร จนในที่สุดความกลัวผีเหล่านี้ก็ผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับความกลัวในสามัญสำนึกคนไทย “แสงกระสือ” ของ สิทธิศิริ มงคลศิริ เป็นหนังเรื่องล่าสุดที่หยิบเอาตำนานกระสือมาทำ สิ่งที่ต่างออกไปจากเรื่องก่อนหน้าและนับจากนี้คือ ความพยายามทำให้กระสือ “ทันสมัยและคลาสสิค” ซึ่งถือเป็นจุดกึ่งกลางยาก ๆ ที่หาหนังไทยน้อยเรื่องเลือกทางนี้ เราอาจนับได้แค่ “นางนาก” (2542) และ “พี่มาก” (2556) เคยทำสิ่งนี้มาก่อน หนังเปิดเรื่องด้วยตัวละครเด็ก 4 คนคือ สาย น้อย เจิด และทิ้ง กำลังไปลองดีที่บ้านร้างกลางป่า ลือกันว่าที่นี่มีกระสือซ่อนตัวอยู่ ความซนครั้งนี้ได้เปลี่ยนชะตาพวกเขาไปตลอดกาล เมื่อสายตัดสินใจขึ้นไปบนบ้านหลังนั้น ผ่านเวลาไปนับสิบปี เด็กทั้ง 4 เติบโต เข้าสู่ช่วงชีวิตวัยรุ่นท่ามกลางบรรยากาศของสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นฉากหลัง สาย กลายเป็นสาวพยาบาลฝึกหัดประจำสุขศาลาของหมู่บ้าน, เจิด หนุ่มหล่อคอยเทียวไล้เทียวขื่อสายทุกวัน ทว่าก็เกิดเหตุประหลาดขึ้นกับสาย เมื่อเธอมักฝันร้ายทุกคืนและตื่นพร้อมเลือดสาวเต็มเตียงทุกเช้า ก่อนสายจะพบว่านี่ไม่ใช่เลือดจากร่างเธอ ทั้งสัตว์น้อยใหญ่ในหมู่บ้านเริ่มล้มตาย ชาวบ้านลือว่าที่นี่มีกระสือ จนวันหนึ่งที่ “น้อย” กลับมายังหมู่บ้าน พร้อมด้วย “ทัต” หนุ่มใหญ่ผู้นำขบวนพรานล่ากระสือมาด้วย เพื่อหมายขจัดกระสือในหมู่บ้านแห่งนี้ โดยที่น้อยไม่รู้เลยว่า ผู้หญิงที่ตัวเองรักตั้งแต่เด็กอย่าง “สาย” จะกลายเป็นกระสือ ในความเป็นหนังกระสือ ผมชอบ “แสงกระสือ” ตรงการออกแบบชุดความรู้ที่เราเคยมีมาใช้เสียใหม่ 1. เรารู้ว่า กระสือสืบทอดทายาทกันผ่านน้ำลาย หนังก็ทรีทให้อาการเป็นกระสือนี้คล้ายโรค คือมีลำดับขั้นตอนความรุนแรงของอาการ และมียาที่ระงับอาการได้ด้วย ฉะนั้นเงื่อนไขการเป็นกระสือในเรื่องจึงไม่ใช่การเป็น “ผี” ตามความเข้าใจเดิมอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขการใช้ชีวิตของตัวสายเอง ที่ไม่ว่าน้อยหรือเจิดซึ่งต่างรักเธอทั้งคู่ ต้องยอมรับและหาทางปรับตัวเข้ากันให้ได้ 2. เลือดที่เราได้เห็นบนเตียงทุก ๆ เช้าของสาย เป็นได้ทั้งเลือดสาวและเลือดสัตว์ที่สายกิน ฉะนั้นความเป็นกระสือ จึงอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ของการก้าวสู่ความเป็น “สาว” ของสายด้วย สายจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเมื่อแตกสาวอย่างรุนแรงเช่นนี้ได้อย่างไร กระสือในหนังเรื่องนี้จึงดึงความเป็นผู้หญิงมาแทนความเป็นผีมากกว่า 3. การ “ติดเชื้อทางน้ำลาย” ไม่ได้หมายแค่การดื่มน้ำร่วมขันร่วมแก้ว ยังหมายรวมถึง “การจูบ” ซึ่งน่าสนใจว่าสำหรับการส่งต่อผ่านจูบ ในหนังใช้ทั้งสองวิธีต่างแบบกัน การดื่มน้ำร่วมแก้วกลายเป็นเหตุบังเอิญ ขณะที่การจูบมีความจงใจเจาะจงมากกว่า ฉะนั้นการจูบสองครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเรื่อง จึงถูกใช้เพื่อเชื่อมต่อระหว่างคนสองคน มากกว่าจะเป็นแค่การแพร่ให้ติดเชื้อไปเรื่อย ๆ ความพิเศษของการจูบนี่เองที่ทำให้ “แสงกระสือ” กล้าชูธีมความรักขึ้นเหนือความสยองขวัญของกระสือได้ เปรียบกันแล้ว การเป็นกระสือในสังคมไทยนั้นถือว่าเป็นความอาภัพประการหนึ่ง ถูกกดจากทั้งทางพระและทางโลก ไม่ได้ถูกบรรจุให้อยู่ในระบบสิ่งมีชีวิต เราอาจนับค้างคาวแม่ไก่หรือนกฮูกให้อยู่ในระบบสิ่งมีชีวิตได้ แต่เราไม่สามารถนับกระสือให้อยู่ในวงจรนี้ได้ ทั้งที่ถ้าจะว่าไป กระสือคือก็นับเป็นคนในตอนกลางวัน มาเป็นผีในตอนกลางคืน แตกต่างจากผีตนอื่น ๆ อาทิ แม่นากก็เป็นผีอยู่วันยังค่ำ ปอบก็เป็นผีในร่างคน เปรตและสมิงนับเป็นอสุรกายมากกว่า ความขาวจัดดำจัดของกระสือเลยเหมือนอีกด้านของมนุษย์ที่หนังพยายามตีแผ่ ด้านที่ควบคุมไม่ได้ ด้านที่สังคมและกฎระเบียบกดไว้ไม่อยู่ ทุกกลางคืนแม้มันไม่ได้ออกมาทำลายหรือฆ่าผู้คนอย่างไร้เหตุผล แต่ความกลัวก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มไล่ล่ากระสือมากกว่าจะกลัวคนด้วยกันเอง ตัวละครอย่าง “ทัต” พรานล่ากระสือจึงเป็นตัวแทนของพวกล่าแม่มด ที่มายังหมู่บ้านเพื่อฝังความเชื่อให้ชาวบ้านว่า หากปล่อยให้เชื้อของกระสือลุกลามใหญ่โต มันจะไม่กินแค่หมูเห็ดเป็ดไก่ แต่จะลามไปถึงการ “กินคน” ในหมู่บ้านเสียเอง อันเป็นผลให้ทั้งหมู่บ้านตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวของการถูกกลืนกิน ถ้าหากมนุษย์กลัวการถูกทำลาย กลไกป้องกันตัวเองของมนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ชนิดอื่นบนโลกคือ ไม่ได้หลบหนี หรือซ่อนเร้น แต่กลับมุ่งหน้าทำลายล้างสิ่งที่เป็นภัยต่อตนให้สิ้นซากแทน กระสือที่มีลักษณะพ้นจากมนุษย์ไป กลับมีท่าทีเลือกจะซ่อนเร้นมากกว่า กระสือไม่ใช่การ “สิง” ร่างอีกคนเพื่อคงอยู่ แต่เป็นการทำให้คนอีกคนกลายเป็นพวกเดียวกับตน ความกลัวของเหล่ามนุษย์ชาวบ้านในแสงกระสือ จึงไม่ได้กลัวกระสือเพราะมันเป็นผี แต่กลัวเพราะกระสือจะทำให้คนในหมู่บ้านนี้กลายเป็นอื่น เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เหนือกฎหมายบ้านเมืองทุกข้อ ทั้งที่ในเนื้อแท้พฤติกรรม กระสือกับมนุษย์นั้นไม่แตกต่าง หากกระสือฆ่าวัวควายตาย ชาวบ้านเองก็เลี้ยงวัวควายไว้เพื่อฆ่าเป็นอาหารเช่นกันไม่ใช่หรือ? มนุษย์ได้ทำให้การกลายเป็นอื่น เป็นเครื่องมือในการฆ่ามาตลอดหลายศตวรรษ ก่อนกระสือเราก็มีการล่าแม่มดในยุคกลาง สตรีที่ถูกประณามว่าเป็นแม่มดจะต้องถูกจับไปเผาไฟให้ตายทั้งเป็น นับเป็นการลงทัณฑ์ทางสังคมที่ทำผิดให้เป็นถูก ทำให้การฆ่ากลายเป็นเรื่องถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เพราะคุณไม่ได้ฆ่ามนุษย์ แต่คุณฆ่ามารที่อยู่ในร่างมนุษย์ “กระสือก็มีหัวใจ” คือสิ่งที่ “แสงกระสือ” พยายามพูดถึง เป็นกระบอกเสียงแทนผีในตำนานของไทยที่ล้วนไม่ได้เป็นใครอื่นเลย พวกเขาและเธอต่างเคยเป็นมนุษย์ที่ถูกทำให้กลายเป็นอื่น เรานับพวกเขาด้วยคำว่า “ตน” แทนคำว่า “คน” วาทกรรมและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์มากมายถูกคิดขึ้นเพื่อปราบผี แพร่กระจายความเชื่อรุนแรงที่เรียกว่าธรรมและความดี ถ้าดวงตากับหัวใจเราไม่มืดบอดด้วยความกลัว ลองดูกระสือที่มีชีวิต มีความรัก และมีน้ำตา แล้วถามตัวเองดูว่า เรายังกลัวเธอเหมือนเคยกลัวเมื่อตอนเด็ก ๆ อยู่หรือเปล่า? นิทานของผู้ใหญ่ทำให้เรากลัวหรือทำให้เรา “เชื่อ” ว่าเรากลัวกันแน่?   เรื่อง: ชาญชนะ หอมทรัพย์