ทหารโครแอต แรงงานต่างด้าวผู้เผยแพร่แฟชันผูกเนคไท

ทหารโครแอต แรงงานต่างด้าวผู้เผยแพร่แฟชันผูกเนคไท
เนคไท หรือ ผ้าผูกคอ (ไทมาจากจากคำว่า tie ถ้าเป็นนามแปลว่า เชือก, กริยาแปลว่า ผูก แต่กรณีนี้ไม่ใช่เชือกผูกคอเพื่อเอาชีวิตตัวเองแต่อย่างใด) เป็นแฟชันตะวันตกที่เพิ่งเป็นที่แพร่หลายในเมืองไทยเพียงไม่นาน แต่ได้กลายเป็นมาตรฐานการแต่งกายที่ได้ชื่อว่า “สุภาพ” ที่สุดสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่แรงงานปกเสื้อขาวนั่งห้องแอร์  แฟชันนี้มีมานานหลายร้อยปี หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นพันปีก็ได้ แต่ที่เรียกว่าเป็นอิทธิพลต่อเนื่องโดยตรงนั้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะนับจากสมัยศตวรรษที่ 17 เมื่อธรรมเนียมนี้ได้แพร่หลายจากทหารรับจ้างชาวโครแอตไปถึงสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศส จากข้อมูลของ Washington Post มีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ผ้าผูกคอมีการใช้ในทหารโรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 หรือกว่า 1,800 ปีก่อน แต่เชื่อกันว่ามันถูกใช้เพื่อป้องกันลมฟ้าอากาศเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องของแฟชัน หรือใช้เป็นเครื่องประดับหรือเครื่องแบบ เช่นเดียวกันกับตุ๊กตาทหารจิ๋นซีที่มีอายุอานามเก่าแก่ยิ่งกว่าก็มีการพบลวดลายมีลักษณะคล้ายผ้าผูกคอเช่นกัน แต่ธรรมเนียมนั้นก็สูญหายขาดตอนไปก่อน กลายเป็นกองทหารรับจ้างชาวโครแอตที่เดินทางไปรับใช้กองทัพฝรั่งเศสในช่วงสงครามสามสิบปี คาบเกี่ยวรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ได้รับเครดิตว่าเป็นต้นแบบของผ้าผูกคอที่สืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยสุริยกษัตริย์ (The Sun King) กษัตริย์ผู้นำแฟชันแห่งฝรั่งเศสได้รับเอาธรรมเนียมการแต่งกายของแรงงานต่างด้าวมาปรับแต่งให้กลายแฟชันนำสมัยในราชสำนักของพระองค์ และเรียกผ้าที่ใช้ผูกคอนั้นว่า “คราวัต” (cravate) ซึ่งแผลงมาจากคำว่า “ชาวโครแอต” ในภาษาฝรั่งเศสเป็นการยืนยันว่าพวกเขาเป็นผู้ที่นำแฟชันนี้เข้ามาเผยแพร่ ก่อนที่แฟชันนี้จะแพร่หลายไปยังอังกฤษ และอาณานิคมในทวีปอเมริกา การผูกผ้าผูกคอในยุคแรก ๆ มีรูปแบบที่หลากหลายมาก และผ้าที่ใช้ก็เป็นผืนใหญ่ฟูฟ่อง เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 จึงค่อย ๆ ลดรูปลงกลายเป็นโบว์ที่สวมกับเสื้อคอปกที่หงายขึ้น ตามด้วยการสวมกับปกแบบคว่ำอย่างที่เห็นกันบ่อย ๆ ในภาพถ่ายของอับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือผู้นำร่วมสมัยรายอื่น ๆ  ส่วนการผูกเนคไทแบบสมัยใหม่แบบที่เรียกกันว่า “four-in-hand” นั้น ว่ากันว่าเริ่มขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษ แต่ประวัติที่ชัดเจนนั้นไม่มี มีแต่เรื่องเล่าอันเป็นที่มาอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่า โชเฟอร์รถม้าแบบใช้ม้าลาก 4 ตัว ชอบผูกเชือกบังคับม้าด้วยเงื่อนลักษณะนี้ แล้วก็ลองเอาเงื่อนแบบเดียวกันมาใช้ผูกผ้าผูกคอของตัวเอง  อีกสำนวนอ้างว่า มาจากชื่อของสมาคมรถม้าในลอนดอนที่ชื่อ Four-in-Hand Club เนื่องจากสมาชิกสมาคมนิยมผูกผ้าผูกคอแบบนี้ คนอื่น ๆ เห็นว่างามก็ผูกตามจนเป็นที่แพร่หลาย และเรียกวิธีการผูกตามชื่อสมาคมของสมาชิกที่เป็นต้นแบบ ส่วนสำนวนที่แพร่หลายที่สุดซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกับโชเฟอร์รถม้าเช่นกันเล่าว่า วิธีการผูกแบบนี้เกิดขึ้นระหว่างที่โชเฟอร์บังคับรถม้าอยู่ แล้วจู่ ๆ ผ้าผูกคอจะหลุดจึงรีบคว้าผ้าไว้ ก่อนผูกกลับไปด้วยมือเพียงข้างเดียว เนื่องจากมืออีกข้างยังต้องบังคับม้าอีก 4 ตัว (four-in-hand ของจริง !) ผูกไปผูกมาก็ออกมาหน้าตาอย่างที่เห็น และเป็นที่มาของชื่อการผูกเนคไทที่แพร่หลายกันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ เนคไทจึงเป็นแฟชันที่มีหลายวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่มันกลายเป็นที่นิยมได้ถึงทุกวันนี้ก็ต้องขอบคุณโชเฟอร์รถม้า และพระเจ้าหลุยส์ที่ช่วยส่งเสริม รวมถึงประเทศในเขตร้อนอีกหลายประเทศที่พยายามตามแฟชันในประเทศเขตหนาว จนมีความพยายามเชิงบังคับให้มันเป็นกลายเป็นเครื่องแบบทางการอย่างหนึ่ง  ส่วนที่โครเอเชีย ชาวโครแอตยุคปัจจุบันก็ภาคภูมิใจไม่น้อยที่พวกเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบแฟชันกระแสหลักที่มีความนิยมยืนยาวนับร้อยปี (แม้จีวรจะมีอายุยาวนานกว่าแต่มันก็ไม่ใช่แฟชันกระแสหลัก และเป็นการแต่งตามกฎของชุมชนชาวพุทธเท่านั้น) จนในปี 2008 รัฐสภาโครเอเชียจึงได้ประกาศให้วันที่ 18 ตุลาคม เป็น“วันคราวัต” (Cravat Day) โดยให้ถือเป็นวันหยุดประจำปีเพื่อฉลองถึงความสำเร็จเชิงวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ (Mental Floss)