ฉุย ยงหยวน เอาชนะโรคซึมเศร้า มาเปิดโปงปัญหาทุจริตในจีน

ฉุย ยงหยวน เอาชนะโรคซึมเศร้า มาเปิดโปงปัญหาทุจริตในจีน

ฉุย ยงหยวน เอาชนะโรคซึมเศร้า มาเปิดโปงปัญหาทุจริตในจีน

"Cell Phone" เป็นภาพยนตร์จีนแนวคอมเมดี-ดรามาเผยแพร่เมื่อปี 2003  เป็นเรื่องราวของ พิธีกรทีวีชื่อดังรายหนึ่งที่มีสัมพันธ์ลับๆ กับสาวสวยในที่ทำงาน เขาต้องคอยลบข้อความและบันทึกการโทรเข้าโทรออกที่มีกับสาวรายนี้ทุกครั้งที่กลับบ้านเพื่อปกปิดสัมพันธ์ไม่ให้ภรรยาที่บ้านรู้  จนกระทั่งวันหนึ่งความสัมพันธ์ลับๆ ของเขาไม่เป็นความลับอีกต่อไป กระทบถึงชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงาน จนเขาต้องลาออกจากการเป็นพิธีกร ทำให้ชู้รักสาวของเขาก้าวขึ้นมารับหน้าที่แทน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ทำรายได้สูงสุดเป็นสถิติของสมัยนั้น ด้วยเรื่องราวที่ถูกจริตคนดู และยังมีนักแสดงยอดนิยมอย่าง "ฟ่าน ปิงปิง" ร่วมนำแสดง แต่หลังการออกฉายก็ทำให้เกิดข่าวลือว่า นี่มันเป็นภาพยนตร์ล้อเลียนที่เอาชีวิตของ "ฉุย ยงหยวน" (Cui Yongyuan) พิธีกรทอล์กโชว์ยอดนิยมของจีนมาดัดแปลงหรือไม่? ชื่อของ ฉุย ยงหยวน เพิ่งเป็นที่คุ้นเคยไปทั่วโลกหลังเขาออกมาแฉปัญหาการโกงภาษีในแวดวงบันเทิงของจีนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ฟ่าน ปิงปิง ทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรของจีนดิ้นพล่าน และดาราสาวก็ต้องยอมจ่ายเงินค่าปรับและภาษีย้อนหลังหลายพันล้านบาท แต่ในเมืองจีน ฉุยมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากเขาเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ยอดนิยมในช่วงปลาย 90s ถึงต้น 2000s จนมีหลายรายการเลียนแบบเป็นเยี่ยงอย่าง จุดเริ่มต้นของฉุยหลังเรียนจบด้านสื่อสารมวลชนก็คือการเป็นนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ จากนั้นจึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ Tell It Like It Is ทางช่อง CCTV ทำให้เขามีชื่อเสียงระดับประเทศด้วยการใช้มุกตลกเสียดสีกับการนำเสนอเรื่องราวแบบบ้านๆ ซึ่งเป็นที่ถูกใจของชาวบ้านทั่วไป แต่หลังจัดรายการซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งได้ราวหกปี อยู่ดีๆ เขาก็ลาออกในปี 2002 รายงานของ South China Morning Post บอกว่า ตอนนั้นฉุยกำลังประสบกับปัญหาโรคซึมเศร้าและคิดฆ่าตัวตายจึงต้องออกจากงานพักรักษาตัวเป็นเวลาราวหนึ่งปี (ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการออกฉายภาพยนตร์เรื่อง Cell Phone พอดี) หลังจากนั้นเขาก็กลับมาทำรายการใหม่อีกครั้ง และหันไปให้ความสนใจกับงานสารคดี ชื่อเสียงที่สั่งสมมานานของฉุยทำให้เขามีผู้ติดตามใน Weibo กว่า 20 ล้านบัญชีและเขาได้ใช้มันเป็นพื้นที่สำหรับการจุดกระแสประเด็นทางสังคม เช่นในปี 2013 เขาได้ออกมารณรงค์ต่อต้านอาหารตัดต่อพันธุกรรมผ่านโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายที่ให้การสนับสนุนอาหารที่มีการตัดต่อพันธุกรรม เขาอ้างว่ามีคนข่มขู่ปองร้ายเขาบ่อยครั้ง เขาตัดสินใจถอนตัวจากธุรกิจอาหารปลอดจีเอ็มโอที่ทำร่วมกับเพื่อน เพื่อไม่ให้เพื่อนต้องเดือดร้อน ในขณะเดียวกันมีคนพยายามจะจ่ายเงินเพื่อปิดปากเขาเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านหยวนแต่เขาปฏิเสธ (supchina) ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2018 ฉุยได้ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับปัญหาการฉ้อโกงภาษีของดารานักแสดงในประเทศจีน เมื่อเขาได้โพสต์ภาพหนังสือสัญญาว่าจ้าง 2 ฉบับในภาคต่อเรื่อง "Cell Phone" (ภาพยนตร์ซึ่งฉุยยอมรับว่าเนื้อหามีส่วนคล้ายชีวิตบางส่วนของเขา) ที่มีลายเซ็นของ ฟ่าน ปิงปิงอยู่ด้วย การทำสัญญาคู่แบบนี้ เป็นรูปแบบการฉ้อโกงภาษีด้วยวิธีการที่รู้จักกันในชื่อ "หยิน-หยาง" ซึ่งสัญญาว่าจ้างฉบับหนึ่งจะระบุค่าจ้างไว้ต่ำๆ เพื่อใช้ยื่นประเมินภาษี แต่สัญญาอีกฉบับคือค่าจ้างที่แท้จริงซึ่งมีตัวเลขที่สูงกว่า อย่างสัญญาสองฉบับที่ฉุยเอามาแฉในคราวนั้นสัญญาฉบับหนึ่งระบุค่าจ้างไว้ที่ 10 ล้านหยวน สำหรับการถ่ายทำ 4 วัน แต่อีกฉบับกลับระบุตัวเลขค่าตอบแทนที่สูงกว่าถึง 5 เท่า (South China Morning Post) ผลที่ตามมาก็คือ ความตื่นตัวของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนต่อปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีในแวดวงบันเทิงที่มีมานานแล้ว ซึ่งหลายกรณีก็เกิดจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับดารานักแสดงจึงเกิดการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ในขณะเดียวกันนั้น ฉุยก็ได้ทำให้ผู้เสียประโยชน์หรือแฟนๆ ของดาราดังโกรธแค้น เขาถูกข่มขู่คุกคามเอาชีวิตหลายครั้งและยังลามไปถึงการเอาข้อมูลส่วนตัวของลูกสาวเขามาเปิดเผย เขาอ้างว่าได้ไปแจ้งความแล้วหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเพิกเฉยมิได้ดำเนินการสอบสวน และในเดือนมิถุนายนเขาก็ออกมาขอโทษฟ่าน ปิงปิง โดยบอกว่าสัญญาทั้งสองฉบับนักแสดงสาวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนฟ่าน ปิงปิง แม้ตอนแรกจะออกมายืนยันความบริสุทธิ์ และเตรียมดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท แต่สุดท้ายเธอก็ออกมาขอโทษต่อสาธารณะและยอมจ่ายเงินค่าปรับและภาษีย้อนหลังเป็นจำนวน 884 ล้านหยวน หลังจู่ๆ เธอก็หายตัวไปจากพื้นที่สาธารณะเป็นเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมปีเดียวกัน ผ่านไปไม่กี่เดือน กระแสข่าวเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีของดาราก็เริ่มจืดจางลงไป ฉุย ยงหยวน กลับมาแฉเรื่องทุจริตอีกครั้งในช่วงปลายปี 2018 คราวนี้เป็นเรื่องราวพิพาทเกี่ยวกับการให้สัมปทานเหมืองถ่านหินมูลค่ากว่าแสนล้านหยวน ซึ่ง "ผู้พิพากษาศาลฎีกา" อาจมีส่วนในการทุจริตครั้งนี้ด้วย โดยฉุยได้เผยแพร่บันทึกวิดีโอภาพของบุคคลที่เชื่อว่าเป็นผู้พิพากษาในคดีพิพาทซึ่งกล่าวว่าเขาได้เอาเอกสารสำคัญทางคดีเก็บไว้ในออฟฟิศ และตอนนี้กล้องวงจรปิดในออฟฟิศของเขาก็เสีย ซึ่งหลังจากนั้นเอกสารสำคัญดังกล่าวก็ได้หายไป ด้านสำนักงานศาลฎีกาประชาชนแม้ตอนแรกจะปฏิเสธว่าเป็นแค่ข่าวลือ สุดท้ายก็ออกมายอมรับว่า เอกสารสำคัญที่ส่งผลต่อคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้หายไปจริง และพวกเขาก็กำลังสอบสวนว่าการหายไปของเอกสารดังกล่าวมีผู้ใดเกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร? ไม่นานจากนั้น ผู้พิพากษารายนี้ก็หายตัวไปโดยฉุยเชื่อว่าเขาน่าจะตกอยู่ในการควบคุมของทางการ (The Economist) ฉุย ยงหยวน ถือเป็นนักกิจกรรมต่อต้านการทุจริตที่โดดเด่นกล้าชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ สามารถทำให้สังคมและภาครัฐยอมรับฟังและแก้ไขปัญหาทุจริตได้ ต่างจากนักกิจกรรมบางส่วนที่เคลื่อนไหวแล้วโดนอุ้มหาย (เช่นกลุ่มนักศึกษามาร์กซิสต์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานที่หายตัวไปหลังการบุกตรวจที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ - South China Morning Post) ซึ่งครั้งหนึ่งเขาก็ทำให้แฟนๆ ใจหายเหมือนกันเมื่อจู่ๆ ก็เงียบหายไป หลังออกมาแฉปัญหาการทุจริตของตำรวจเซี่ยงไฮ้สืบเนื่องกับคดีของฟ่าน ปิงปิง และสำนักงานตำรวจเซี่ยงไฮ้ก็ออกมาอ้างว่าติดต่อเขาไม่ได้ แต่สุดท้ายเป็นเพียงเรื่องเข้าใจผิด ทำให้เขายังสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐต่อไปได้แม้ว่ามันจะมีความกดดันสูงมากก็ตาม "ผมอยู่ใต้ความกดดันเป็นอย่างมากจนทำให้ผมถูกส่งโรงพยาบาลมาแล้วสองครั้ง แต่ผมก็ปฏิบัติตามกฎหมายเสมอมา ผมพยายามปกป้องสิทธิของตัวเองด้วยวิธีทางกฎหมายและเชื่อมั่นในกฎหมาย" ฉุยโพสต์ลงใน Weibo ในช่วงที่มีข่าวว่าเขาหายตัวไป (South China Morning Post)