เอนนิโอ มอร์ริโคเน สิ้นปรมาจารย์แห่งวงการเพลงประกอบหนัง ชายผู้เนรมิตเพลงอันสวยงามใน Cinema Paradiso

เอนนิโอ มอร์ริโคเน สิ้นปรมาจารย์แห่งวงการเพลงประกอบหนัง ชายผู้เนรมิตเพลงอันสวยงามใน Cinema Paradiso

       เพลงประกอบภาพยนตร์ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์แต่ละเรื่องออกมาสมบูรณ์ ชื่อของ เอนนิโอ มอร์ริโคเน (Ennio Morricone) นักประพันธ์เพลงชาวอิตาลี อาจจะไม่ใช่ชื่อที่คนทั่วไปคุ้นหูหรือให้ความสนใจมากนัก แต่ถ้าพูดถึงความสมบูรณ์แบบของผลงานดนตรีอันงดงามและเปี่ยมไปด้วยพลังของมอร์ริโคเน ที่เขาฝากไว้ในเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง A Fistful of Dollars (1964), Once Upon a Time in America (1984), The Mission (1986), The Untouchables (1987) หรือ Cinema Paradiso (1988) สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่แฟนหนังหลายคนจดจำเขาได้ไม่เคยลืม

แต่แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องลาจากมอร์ริโคเนหรือที่ทุกคนในวงการฮอลลีวูดเรียกเขาว่าท่านปรมาจารย์เสียชีวิตในวัย 91 ปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม ที่บ้านเกิดของตัวเองในกรุงโรม ประเทศอิตาลี หลังเจ้าตัวมีอาการเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ มาตลอดช่วงห้าปีหลัง มอร์ริโคเนถือเป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการเพลงประกอบภาพยนตร์ ที่ฝากผลงานระดับขึ้นหิ้งไว้มากกว่า 500 เรื่อง

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกในปี 1928 มอร์ริโคเนใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่กับสมุดโน้ตบรรทัดห้าเส้น ที่ทุกหน้ากระดาษในนั้นมักจะเต็มไปด้วยโน้ตที่ถูกบันทึกมาจากเสียงในหัวของเขา มอร์ริโคเนได้รับอิทธิพลในการเล่นดนตรีมาจากคุณพ่อที่เป็นอดีตนักทรัมเป็ตแจ๊ส ในวัย 6 ขวบเขาเริ่มต้นอ่านโน้ตและฝึกเป่าทรัมเป็ตตามรอยคุณพ่อก่อนจะเริ่มค้นพบตัวเองว่าตนมีความหลงใหลในการเขียนเพลง

ผมเริ่มแต่งเพลงมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ซึ่งย้อนกลับไปผมยังเด็กมาก ๆ พอ 10 ขวบผมก็ทิ้งเพลงทั้งหมดไปเลย ดังนั้นมันจึงไม่มีร่องรอยงานแรก ๆ ที่ผมเขียน ซึ่งมันเป็นเรื่องเศร้าอยู่นะมอร์ริโคเนเคยเล่าไว้

เอนนิโอ มอร์ริโคเน สิ้นปรมาจารย์แห่งวงการเพลงประกอบหนัง ชายผู้เนรมิตเพลงอันสวยงามใน Cinema Paradiso

       พออายุ 12 ปี มอร์ริโคเนก็เลือกเดินในเส้นทางสายดนตรีเต็มตัว เขาเข้าเรียนที่ ซานตา เซซิเลีย หนึ่งในสถาบันดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก พร้อมกับเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวกับเรื่องทรัมเป็ต ทำนอง การประพันธ์ดนตรีและเสียงประสาน มอร์ริโคเนใช้เวลาเพียง 6 เดือนในการเรียนหลักสูตร 4 ปี ตลอดระยะเวลาที่ซานตา เซซิเลีย มอร์ริโคเนได้รับการบ่มเพาะวิชาจากกอฟเฟรโด เปตราสซี นักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยที่เปรียบเสมือนเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นผู้เปิดประตูให้มอร์ริโคเนรู้จักโลกของงานประพันธ์ดนตรีอย่างแท้จริง (มอร์ริโคเนยกย่องเปตราสซีมาก ถึงขั้นแต่งเพลงให้ในคอนเสิร์ตเมื่อปี 1941)

หลังเรียนจบ มอร์ริโคเนหาเลี้ยงชีพด้วยการไปเป็นนักแต่งเพลงประกอบวิทยุ รายการโทรทัศน์ และเรียบเรียงเสียงประสานให้ผลงานของศิลปินป๊อปยุคนั้นหลาย ๆ คน กว่าที่มอร์ริโคเนจะเดินเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะนักประพันธ์เพลงประกอบ เขาต้องรอถึงทศวรรษที่ 60s เลยทีเดียว

ย้อนกลับไปตอนนั้น มอร์ริโคเนได้รับโอกาสทำเพลงประกอบเรื่องแรกให้กับภาพยนตร์เรื่อง The Fascist (1961) ก่อนที่สามปีต่อมาแสงของสปอทไลท์ดวงใหญ่ก็สาดส่องลงมาที่เขา เมื่อ เซอร์จิโอ เลโอเน อดีตเพื่อนร่วมห้องในวัยเด็ก มาชักชวนให้เขาไปเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่มี คลินต์ อีสต์วูด เล่นเป็นพระเอก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนั้นมีชื่อว่า A Fistful of Dollars (1964)

เซอร์จิโอ เลโอเน ผู้กำกับระดับตำนาน คือผู้บุกเบิกทำภาพยนตร์คาวบอยโหดดิบสไตล์อิตาเลียน หรือที่คนมักเรียกว่าหนังคาวบอยสปาเก็ตตี้ภาพยนตร์ประเภทนี้จะมีจุดเด่นอยู่ที่ตัวละครนำที่มาพร้อมกับความโหดและเท่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะแตกต่างจากคาวบอยแบบดั้งเดิมที่ชอบแฝงค่านิยมแบบอเมริกันจ๋า ๆ แถมไม่นิยมยิงกันเลือดสาดเหมือนภาพยนตร์ของทีมงานคนอิตาเลียน

เลโอเนต้องการใครสักคนที่สามารถทำเพลงประกอบที่มีดนตรีที่สอดรับกับโทนของภาพยนตร์แบบนี้ สุดท้ายเขาจึงหันไปหาเพื่อนสนิทในวัยเด็กอย่างมอร์ริโคเนให้เข้ามาดูแลโปรเจ็กต์ ตอนนั้นงานประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับมอร์ริโคเน แต่ด้วยอัจฉริยภาพด้านดนตรี สุดท้ายเขาก็สามารถสร้างผลงานที่น่าทึ่งออกมาได้

[caption id="attachment_24678" align="aligncenter" width="672"] เอนนิโอ มอร์ริโคเน สิ้นปรมาจารย์แห่งวงการเพลงประกอบหนัง ชายผู้เนรมิตเพลงอันสวยงามใน Cinema Paradiso มอร์ริโคเน กับเพื่อนซี้ เซอร์จิโอ เลโอเน[/caption]

       มอร์ริโคเนเล่าว่า ตอนแรกเขาต้องการจะสร้างเสียงเครื่องสายให้ออกมาอลังการแบบหนังคาวบอยยุคแรก ๆ แต่ด้วยงบที่จำกัด สุดท้ายเขาเลยแก้ปัญหาด้วยการใช้เสียงกีตาร์ไฟฟ้าทแวงค์ ๆ บวกกับเสียงหมาป่าไคโยตีแทน อีกทั้งยังเลือกใช้ซาวนด์เอฟเฟ็กต์ที่หลากหลายมาสลับกับฉากแอ็กชั่นโหด ๆ ในหนัง

ผมรู้สึกรำคาญนิด ๆ นะ ที่ผู้คนต่างคิดว่าผมคือผู้เชี่ยวชาญหนังคาวบอยน่ะเขาเคยพูดถึงประเด็นที่ว่า คนมักมองว่าเขาทำแต่หนังแนวสปาเก็ตตี้คาวบอยพวกนั้นน่ะคือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของเพลงทั้งหมดที่ผมเคยแต่งมาด้วยซ้ำ

การร่วมงานกับเลโอเนใน The Dollars Trilogy (A Fistful of Dollars (1964), For a Few Dollars More (1965) และ The Good, the Bad and the Ugly (1966) กลายเป็นก้าวใหญ่ก้าวสำคัญที่ทำให้ชื่อของ เอนนิโอ มอร์ริโคเน โด่งดังไปทั่วฮอลลีวูด จนต่อมามอร์ริโคเนได้รับโอกาสให้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ของผู้กำกับเชื้อสายอิตาเลียนหลายคน ไล่ตั้งแต่เรื่อง The Battle of Algiers (1966) ของกิลโล ปอนติโคโว, The Hawks and the Sparrows (1966) ของปิแอร์ เปาโล ปาโซลินี  The Untouchables (1987) ของไบรอัน เดอ ปาลมา รวมไปถึงการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของเขาและเลโอเน อย่าง Once Upon a Time in the West (1968) และ Once Upon a Time in America (1984)

ผลงานทุกชิ้นของมอร์ริโคเนจะเริ่มต้นจากห้องทำงานที่บ้านของเขาในกรุงโรม บ่อยครั้งที่เขามักจะเริ่มเขียนเพลงออกมาโดยไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีช่วย อีกทั้งผลงานของมอร์ริโคเน ส่วนใหญ่จะแต่งเสร็จก่อนค่ายหนังจะเริ่มถ่ายทำด้วยซ้ำ ครั้งหนึ่งเลโอเนเล่าว่าเพลงที่เสร็จก่อนกำหนดการเหล่านั้น คือวัตถุดิบชั้นดีในการขยายความต่อจนกลายมาเป็นบทภาพยนตร์ที่สมบูรณ์

เพลงธีมของเอนนิโอ ช่วยให้ผมแต่งตัวให้กับตัวละครได้ง่ายขึ้น เขาไม่เคยต้องอ่านสคริปต์ของผมเพื่อทำเพลงออกมาให้เสร็จ เพราะหลาย ๆ ครั้งเขามักจะแต่งเสร็จก่อนสคริปต์จะเสร็จด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมทำคือคอยเล่าให้เขาฟังว่าตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไร จากนั้นเขาก็แต่งกลับมา แถมบางทีก็แต่งออกมาห้าเพลงต่อหนึ่งตัวละครด้วยซ้ำเลโอเนเล่าถึงการทำงานกับมอร์ริโคเน

มอร์ริโคเนเชี่ยวชาญดนตรีหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นแจ๊ส คลาสสิก ร็อก หรืออิเล็กทรอนิกส์ ดนตรีของเขาจะนำเสนอทำนองที่สวยงาม แต่ก็มาพร้อมกับซาวนด์ที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ นอกจากพรสวรรค์ในการจัดเรียงตัวโน้ตให้สวยงามแล้ว ทักษะการตีความเรื่องราวลงในบทเพลงของมอร์ริโคเนก็เป็นสิ่งที่พิเศษมาก ๆ มอร์ริโคเนเล่าว่า การที่ผู้สร้างให้อิสระกับเขาในการสร้างสรรค์งานศิลปะประเภทนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ต่อการสร้างเพลงที่ดีขึ้นมา

ผู้กำกับหนังคือลูกค้าของผมและเป็นคนที่ติดต่อผมมามอร์ริโคเนเล่าจากห้องทำงานที่เพลงมากมายเกิดขึ้นที่นั่นมีหลายวิธีในการทำงานร่วมกัน บางครั้งผมก็ปรึกษาหารือกับผู้กำกับ หรือเขาอาจให้บทผมมาอ่าน อีกด้านหนึ่ง ผมก็ดูจากการแก้ไขครั้งแรก ครั้งล่าสุด และครั้งสุดท้าย และเมื่อได้ไอเดียที่กระจ่างจากการคุยกันแล้ว ผมก็บอกถึงไอเดียของผมบ้าง ผมมีความสนิทสนมกับบรรดาผู้กำกับที่ผมทำงานด้วยนะ การร่วมมือร่วมใจกันนี่สำคัญมาก ๆ แต่เขาก็ต้องให้ความไว้วางใจกับนักแต่งเพลงด้วย ผู้กำกับบางคนมีความคิดที่แน่วแน่ บางครั้งก็มีข้อจำกัด มีไอเดียเกี่ยวกับมุมมองทางดนตรีมาอยู่แล้ว มันเลยกลายเป็นว่ามาจำกัดความคิดสร้างสรรค์ของนักแต่งเพลง

[caption id="attachment_24677" align="aligncenter" width="683"] เอนนิโอ มอร์ริโคเน สิ้นปรมาจารย์แห่งวงการเพลงประกอบหนัง ชายผู้เนรมิตเพลงอันสวยงามใน Cinema Paradiso มอร์ริโคเน กับห้องทำงานของเขา[/caption]

       เควนติน ทาแรนติโน ผู้กำกับชื่อดัง ถือเป็นลูกค้าคนสำคัญของมอร์ริโคเนในช่วงท้ายของชีวิตนักประพันธ์ชาวอิตาเลียน ทั้งคู่ร่วมงานกันมาหลายเรื่อง ไล่ตั้งแต่ Kill Bill ทั้งสองภาค, Inglorious Basterds (2009) และ Django Unchained (2012) แม้ภาพยนตร์ของทาแรนติโนอย่าง The Hateful Eight (2015) จะส่งให้มอร์ริโคเนได้รับออสการ์ตัวแรกในชีวิต แต่ทาแรนติโนก็ถือเป็นผู้กำกับที่สร้างความลำไยให้กับมอร์ริโคเนเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งมอร์ริโคเนถึงขั้นพูดออกสื่อว่า

เป็นไปได้ผมก็ไม่อยากจะร่วมงานกับเขาอีกแล้ว เขาเป็นพวกปุ๊บปั๊บจะเอางานเลย แถมมาแบบไม่มีไอเดียอะไรเลยด้วย งานแบบนี้ผมทำไม่ได้ เพราะเขาไม่ให้เวลาผมมากพอ สุดท้ายเขาก็เลยเอาเพลงที่ผมแต่งไว้ก่อนหน้านี้เอาไปใช้ มอร์ริโคเนพูดถึงทาแรนติโน

แม้ทั้งชีวิตจะต้องทำงานกับคนฝั่งฮอลลีวูด แต่เขาไม่เคยอยากจะฝึกภาษาอังกฤษ หรือต้องการซื้อบ้านในเบเวอร์ลี ฮิลล์ เลยสักครั้ง มอร์ริโคเนเผยว่า เขาชอบใช้ชีวิตหรือทำอะไรในแผ่นดินเกิดของตัวเองมากกว่า เคยมีคนจะยกวิลล่าในฮอลลีวูดให้ผมฟรี ด้วยนะ แต่ผมก็บอกกลับไปว่าไม่ล่ะ ขอบคุณผมขออยู่ที่โรมแบบนี้ดีกว่า

ในบรรดาเพลงประกอบภาพยนตร์หลายร้อยเรื่องของมอร์ริโคเน ชิ้นที่ถือเป็นผลงานไฮไลท์ชิ้นสำคัญของนักประพันธ์เพลงประกอบคนนี้ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นผลงานสุดไพเราะในภาพยนตร์เรื่อง Cinema Paradiso (1988) ของจูเซปเป้ ตอร์นาตอเร ด้วยท่วงทำนองที่สวยงามและสะท้อนให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของความรักและความผูกพันใน Cinema Paradiso กลายเป็นผลงานที่ทำให้เห็นว่า แม้ร่างกายของมอร์ริโคเนจะจากโลกไปแล้ว แต่ผลงานเพลงที่เขาฝากเอาไว้ให้กับโลกจะยังคงอยู่เหนือกาลเวลาและความตายเสมอ

[caption id="attachment_24675" align="aligncenter" width="680"] เอนนิโอ มอร์ริโคเน สิ้นปรมาจารย์แห่งวงการเพลงประกอบหนัง ชายผู้เนรมิตเพลงอันสวยงามใน Cinema Paradiso มอร์ริโคเน กับออสการ์ตัวแรก[/caption]

การทำงานให้กับวงการภาพยนตร์เป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับผม เพราะมันทำให้ผมมีโอกาสทดสอบความคิดของตัวเอง ได้ฟังเพลงเหล่านั้นที่เล่นโดยวงออร์เคสตรา และใช้มันพุ่งตรงไปที่เป้าหมายเอนนิโอมอร์ริโคเน