ริก อัลเลน มือกลองแขนเดียวแห่งวง Def Leppard ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

ริก อัลเลน มือกลองแขนเดียวแห่งวง Def Leppard ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา
       หนึ่งในเรื่องราวที่น่ากลัวและสร้างแรงบันดาลใจที่สุดในประวัติศาสตร์วงการดนตรีร็อก เกิดขึ้นเมื่อปี 1984 หลัง ริก อัลเลน (Rick Allen) มือกลองของวงฮาร์ดร็อกชื่อก้อง Def Leppard ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และสูญเสียแขนซ้ายของเขาไปตลอดกาล หลังเกิดเหตุทุกคนต่างพูดถึงเขาเป็นเสียงเดียวกันว่า “ริก อัลเลน ไม่มีวันกลับมาตีกลองได้แล้ว อนาคตของเขากับ Def Leppard คงจบแล้ว!” แม้การสูญเสียอวัยวะที่สำคัญที่สุดของมือกลองจะเหมือนเป็นการตอกฝาโลงอนาคตของอัลเลน แต่ด้วยมิตรภาพของเพื่อนร่วมวง รวมถึงการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาของอัลเลน สุดท้ายเขาได้ค้นพบหนทางแห่งความหวังอีกครั้ง ย้อนกลับไปในวันที่ 31 ธันวาคม ปี 1984 Def Leppard ที่กำลังประสบความสำเร็จอย่างมากกับอัลบั้มสาม Pyromania ต้องพบกับเรื่องช็อกและจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต เมื่อ ริก อัลเลน มือกลองของพวกเขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงดึกของคืนวันขึ้นปีใหม่ คืนนั้นอัลเลนและแฟนสาว มาเรียม บาเรนด์เซน กำลังกลับจากงานฉลองวันปีใหม่ที่บ้านของอัลเลนใกล้ ๆ กับเมืองเชฟฟิลด์ เพื่อเตรียมเดินทางไปอัดอัลบั้มใหม่ที่เนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่อัลเลนกำลังซิ่งเชฟโรเลต คอนเว็ท ตัวใหม่บนถนนสาย A57 อยู่ดี ๆ เขาก็ขับมาเจอกับโค้งหักศอก ความตกใจทำให้เขาตัดสินใจหักหลบโค้งนั้นทันทีจนรถคว่ำหลายตลบ ก่อนที่จะชนเข้ากับกำแพงอีกที ความแรงของการชนทำให้แขนซ้ายของอัลเลนขาดทันที อีกทั้งตัวยังกระเด็นหลุดออกมาจากรถอีกด้วย ส่วนบาเรนด์เซน โชคดีที่เข็มขัดนิรภัยของเธอยังทำงานได้ดี จึงบาดเจ็บไม่มากเท่าอัลเลน บวกกับหลังเกิดเหตุไม่กี่นาที ก็มีพยาบาลที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นเข้ามาช่วยปฐมพยาบาลทั้งคู่ อัลเลนกับแฟนสาวถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลในเชฟฟิลด์ทันที พร้อมกับแขนของอัลเลนที่พยาบาลคนดังกล่าวรีบแช่น้ำแข็งไว้ให้ “ผมรู้สึกได้ว่า...แขนผมติดอยู่ที่รถนะ ผมได้ยินคำแรกจากคนที่มาช่วย เขาถามผมว่า ‘คุณยังอยู่ไหม’” อัลเลนเล่า [caption id="attachment_25805" align="aligncenter" width="1399"] ริก อัลเลน มือกลองแขนเดียวแห่งวง Def Leppard ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา สภาพรถของอัลเลนในที่เกิดเหตุ[/caption]        เมื่อครอบครัวของอัลเลนมาถึงโรงพยาบาล พวกเขาได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ ปีเตอร์ เมนสช์ (Peter Mensch) ผู้จัดการของวงทราบ เพื่อให้กระจายข่าวไปสู่เพื่อนร่วมวงของอัลเลน โจ เอลเลียต (Joe Elliott) นักร้องนำ ที่กำลังฉลองคริสต์มาสกับครอบครัวที่เซอเรย์ เมื่อรู้ข่าวก็ถึงกับช็อกอย่างหนัก “หลังจากที่เมนสช์โทรหาผม ผมตาเหลือกทันที ย่าของผมไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พ่อของผมเดินมาพร้อมกับเหล้าแก้วหนึ่ง เขาตบไหล่ผมและบอกให้ผมดื่มซะ เขาเหมือนรู้ว่าเรื่องหนัก ๆ กำลังรอเราอยู่” เอลเลียตเล่า มือเบส ริก ซาเวจ (Rick Savage) คือสมาชิกในวงคนแรกที่เดินทางถึงโรงพยาบาล เขาจำคำพูดห้วน ๆ ที่เมนสช์พูดกับเขาได้ “เมนสช์พูดว่า มือกลองของคุณเพิ่งแขนขาดจากอุบัติเหตุรถชน ซึ่งปฏิกิริยาแรกของผมคือ ‘เขาจบแล้ว’” ทีมแพทย์พยายามต่อแขนให้อัลเลนอยู่หลายชั่วโมง แต่โชคร้ายที่แขนส่วนที่ขาดมีการติดเชื้อ บวกกับไหล่ขวาของอัลเลนก็หักและมีอาการอักเสบอย่างหนัก นั่นจึงทำให้แพทย์ไม่สามารถประสานแขนของเขาให้กลับมาเหมือนเดิมได้ อาการของอัลเลนดูร่อแร่หนัก จนเอลเลียตเริ่มรู้สึกกลัวว่าเพื่อนจะเสียแขนไปอีกข้าง หรือหนักถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้ “ช่วงเวลานั้นคือจุดต่ำสุดของชีวิตผมเลย” เอลเลียต เล่า หลัง Mercury Records ค่ายของวงรู้ข่าวว่าอัลเลนแขนขาด ค่ายพยายามโน้มน้าวสมาชิกอีกสี่คนให้หามือกลองมาแทนที่อัลเลน เพราะค่ายคิดว่าอัลเลนคงไม่สามารถกลับมาตีกลองได้เร็วและดีเหมือนเดิมอีกแล้ว บวกกับมองว่านี่คือช่วงเวลาทองของวงในการหารายได้ แต่เงินสำหรับสมาชิกที่เหลือ เมื่อเทียบกับมิตรภาพของเพื่อน มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาเทียบกันได้ สุดท้ายพวกเขายืนกรานว่า Def Leppard จะไม่มีมือกลองคนอื่นนอกจาก ริก อัลเลน “ตอนนั้นพวกเรานึกภาพการประชุมออกเลยว่ามันจะเป็นอย่างไร เราคิดว่านี่คงเป็นจุดจบของความสำเร็จแบบระยะสั้น ๆ หลายคนถามว่าเราจะมีมือกลองอีกคนหรือเปล่า ซึ่งพวกเราไม่มีใครต้องการแบบนั้นเลย” ซาเวจเล่า [caption id="attachment_25936" align="aligncenter" width="1024"] ริก อัลเลน มือกลองแขนเดียวแห่งวง Def Leppard ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา Def Leppard[/caption]        วันที่ 4 มกราคม ปี 1985 อัลเลนฟื้นคืนสติ ก่อนจะพูดประโยคแรกกับเอลเลียตว่า “ฉันจะต้องไม่เป็นอะไร” ซึ่งนักร้องคนดังก็ย้อนความหลังว่า เขาไม่เชื่อในสิ่งที่เพื่อนพูด และไม่เห็นทางเลยว่าอัลเลนจะกลับมาตีกลองได้อย่างไร “ผมไม่ได้คิดแบบนั้นเลย ผมไม่คิดว่าเขาจะสามารถทำมัน (ตีกลอง) ได้อีกแล้ว” อัลเลนพยายามบอกให้เพื่อนทั้งสี่เดินหน้าทำตามแผนเดิมที่วางไว้ต่อไป แม้ว่าจะไม่มีเขาอยู่ด้วยก็ตาม สี่วันให้หลัง สมาชิกที่เหลือเดินทางไปสตูดิโอในฮิลเวอร์ซัมเพื่อลุยงานต่อ เวลานั้นพวกเขาได้รับโทรศัพท์หลายสายจากมือกลองทั่วโลกที่หวังจะเข้ามาออดิชั่นแทนที่อัลเลน “หลายคนโทรมาหาเราแล้วพูดว่า ‘นี่พวก ผมได้ยินว่าพวกคุณต้องการมือกลองคนใหม่’ ผมเลยพูดกลับไปสามคำว่า ‘ไปตายซะ’” นี่คือประโยคที่เอลเลียตตอบกลับทุกสายที่โทรเข้ามา แม้อนาคตของอัลเลนจะเป็นเครื่องหมายคำถาม แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดจะทิ้งเพื่อนไว้กลางทาง หลายสัปดาห์ต่อมา โรเบิร์ต จอห์น “มัทท์” แลงก์ (Robert John "Mutt" Lange) โปรดิวเซอร์มือทอง ที่เพิ่งจะร่วมงานกับวงในอัลบั้มสาม เดินทางไปเยี่ยมอัลเลนที่โรงพยาบาล อัลเลนเล่าให้มัทท์ฟังถึงเรื่องอุบัติเหตุ และแนวทางการบำบัดเพื่อหวังจะกลับไปตีกลองได้อีกครั้ง วันนั้นมัทท์แสดงให้อัลเลนเห็นว่า คนเราสามารถตีกลองในจังหวะที่ซับซ้อนด้วยขาได้ ก่อนจะพูดทิ้งท้ายว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้ “ผมพูดกับเขาว่า ‘มัทท์’ พวกเราต้องการให้คุณช่วยทำอัลบั้มใหม่จริง ๆ เราอยู่ในจุดที่ไม่ดีเท่าไหร่ตอนนี้ คุณช่วยหาเวลามาอยู่กับเรา และบอกเราทีว่าอัลบั้มชุดนี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” อัลเลนพูดกับมัทท์ ขณะเดียวกัน นักออกแบบของบริษัทกลองซิมมอนส์ ก็ได้คิดค้นกลองสำหรับอัลเลนเอาไว้ อัลเลนมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูร่างกายของตัวเองอย่างมาก เพียงสองสัปดาห์หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เขาพยายามลุกขึ้นยืนเป็นครั้งแรก แต่ทุกครั้งเขาก็จะล้มลงตลอด หนึ่งสัปดาห์ต่อมาเขาเรียนรู้การเดินอีกครั้งด้วยวิธีการเปลี่ยนการลงน้ำหนัก เขาพยายามพัฒนาทักษะชีวิตใหม่ ทั้งการกินหรือแม้กระทั่งการผูกเชือกรองเท้าด้วยมือเดียว ซาเวจสะท้อนเรื่องนี้ว่า “เขาต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตใหม่หมด มันต้องใช้ความกล้าอย่างมาก และเมื่อเขาบอกเราว่าเขาจะกลับมาตีกลองให้ได้อีกครั้ง เราก็คิดว่าแม้ว่าเขาจะไม่สามารถทำมันได้อย่างสมบูรณ์ เราก็จะยอมมีมือกลองอีกคน ซึ่งนั่นคือริก เราคิดว่าอย่างน้อยเขาก็ยังอยู่ในวง ยังอยู่กับเรา อัลเลนใช้เวลารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 6 สัปดาห์ แทนที่จะเป็น 6 เดือนตามที่แพทย์คาดการณ์ เขากลับบ้านในดรอนฟิลด์ และเริ่มเรียนรู้วิธีการตีกลองแบบใหม่ สองสัปดาห์ต่อจากนั้นเขาตามไปสมทบกับเพื่อน ๆ ที่ฮิลเวอร์ซัม พร้อมกับแยกซ้อมเดี่ยว ซึ่งเขาจะมาเจอเพื่อน ๆ เฉพาะตอนพักกินกาแฟเท่านั้น “การจะกลับไปยังจุดที่ผมสามารถกลับมาร่วมวงได้อีกครั้งมันเป็นกระบวนการที่ยากมาก ตอนแรกแม้แต่การเดินก็ยังต้องฝึก แต่ผมขังตัวเองอยู่ในห้องกับพ่อและแม่ มีหลายครั้งที่ผมคิดว่าทำไม่ได้หรอกและอยากจะยอมแพ้ แต่ผมก็อดทนและมุมานะ” อัลเลนเล่า “เขาอยู่ที่นั่นตลอดเวลา เขาพยายามเล่น เล่น แล้วก็เล่นอยู่อย่างนั้น เขาต้องการจะแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้นด้วยตัวเอง และวันหนึ่งเขาก็เรียกพวกเราเข้ามา เขาพูดว่าฟังนี่นะ ก่อนที่เขาจะเล่นเพลง ‘When The Levee Breaks’ หลังจบเพลงเราทุกคนร้องไห้ ช่วงเวลานั้นมันทำให้พวกเราเริ่มมีความเชื่อแล้ว” เอลเลียตเล่า ริก อัลเลน มือกลองแขนเดียวแห่งวง Def Leppard ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา        จากคำแนะนำของมัทท์ ทางวงได้ปรับแนวทางของตัวเองเพื่อเอื้อต่อการเล่นของอัลเลน พวกเขาเปลี่ยนดนตรีฮาร์ดร็อกแบบเดิมให้กลายเป็นดนตรีร็อกรูปแบบใหม่ โดยการเพิ่มสีสันที่แฝงไปด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เมโลดี้หวาน ๆ จนออกมาเป็นอัลบั้มชุดที่สี่ Hysteria หนึ่งในอัลบั้มที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของวง อัลเลนกลับคืนสู่เวทีอย่างเป็นทางการในคอนเสิร์ต Monsters of Rock ที่คาสเซิลโดนิงตัน เดือนสิงหาคมปี 1986 และ Def Leppard ก็ไม่เคยมีปัญหาเรื่องมือกลองอีกเลย หลายปีต่อมา อัลเลนอุทิศตนช่วยเหลือเหล่าทหารผ่านศึกที่มีอาการ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือสภาวะป่วยที่เกิดจากเจอเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง “ผมไม่รู้ว่าชีวิตของผมจะเป็นอย่างไรหลังจากวันที่เลวร้ายนั้น มันเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิตของผม... ความปรารถนาของผมคือการสนับสนุนพวกเขาที่ต้องทนทุกข์กับ PTSD ช่วยแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา และเสนอทางเลือกในการปูทางสู่ชีวิตที่ยืดหยุ่นและสุขภาพที่ดี” มือกลองเจ้าของฉายา “The Thunder God" ทิ้งท้ายว่า ท่ามกลางวินาทีความเป็นความตายนั้น ตัวเขาเองก็แทบไม่เชื่อว่าจะรอดมาได้ “ทางเดียวที่ผมจะอธิบายได้คือ คุณจะไปอยู่ในโหมดเอาตัวรอดที่เซนส์ปกติของคุณทั้งหมดหายไป ถึงจะมีสติอยู่บ้าง แต่สิ่งที่มันรบกวนจิตใจจริง ๆ คือการเอาตัวรอด คุณจะไปในที่ที่มันไม่มีความเจ็บปวด และในที่นั้นคุณจะตัดสินใจว่าจะตายไปหรือจะมีชีวิตอยู่ต่อไปดี” ริก อัลเลน มือกลองแขนเดียวแห่งวง Def Leppard ชายผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เรื่องราวของอัลเลนกลายเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้เราได้เห็นว่า มิตรภาพสำคัญกว่าเงินอย่างไร และที่สำคัญทำให้เรารู้ว่า แม้หนทางจะมืดบอดเพียงใด แค่เพียงลุกขึ้นและเดินต่อไป สิ่งดี ๆ ก็อาจรออยู่ข้างหน้าเช่นกัน   ที่มา: https://ultimateclassicrock.com/def-leppard-rick-allen-car-crash-1984/ https://www.express.co.uk/entertainment/music/1308467/Def-Leppard-Rick-Allen-tragic-story-drummer-one-arm-accident