เวนดี้ คาร์ลอส ทรานสเจนเดอร์ ผู้พาเสียงอิเล็กทรอนิกส์และซินธิไซเซอร์สู่ดนตรีกระแสหลัก

เวนดี้ คาร์ลอส ทรานสเจนเดอร์ ผู้พาเสียงอิเล็กทรอนิกส์และซินธิไซเซอร์สู่ดนตรีกระแสหลัก

       คุณอาจไม่รู้จักว่า เวนดี้ คาร์ลอส (Wendy Carlos) คือใคร หรือไม่รู้จักอัลบั้มเดบิวต์อันโด่งดังของเธอว่ามีเสียงอย่างไร นั่นหมายถึงว่าคุณก็อาจจะไม่รู้ว่าเธอนี่แหละเป็นคนแนะนำให้โลกรู้จักกับเครื่องดนตรีแปลก ๆ ที่ชื่อว่า ซินธิไซเซอร์ เมื่อ 50 กว่าปีก่อน และถ้าคุณเป็นสาวกของวงร็อกยุค 70s ที่ชอบใช้เสียงซินธ์แปลก ๆ หรือวงซินธ์ป๊อปทั้งหลายในยุค 80s รวมไปถึงเหล่าวงแดนซ์สะโพกดินระเบิดยุค 00s เพลงใด ๆ ก็ตามที่สร้างสรรค์โดยแป้นขาว ๆ ดำ ๆ จากคีย์บอร์ด ทุกคนล้วนเป็นหนี้บุญคุณคนคนนี้ เพราะถ้าไม่มีเธอ ทุกวันนี้เราคงจินตนาการไม่ออกว่าเสียงอิเล็กทรอนิกส์จะไปสู่ดนตรีกระแสหลักได้อย่างไร

เวนดี้ คาร์ลอส หรือ ชื่อเดิม วอลเตอร์ คาร์ลอส เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานในเมืองพอว์ทักเก็ต รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา เธอเริ่มเล่นเปียโนเมื่ออายุ 6 ขวบ แน่นอนใครที่เริ่มเรียนดนตรีคลาสสิก ส่วนใหญ่มักจะต้องรู้จักบทเพลงซิมโฟนีหมาย 9 ผลงานประพันธ์อันลือลั่นของยอดคีตกวีชาวดอยซ์ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) หรือท่วงทำนองอันสวยงามของ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) แต่สำหรับคาร์ลอสที่เติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลงานขึ้นหิ้งเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับเธอ (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผยแพร่สิ่งต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเยอรมัน) นั่นจึงทำให้คาร์ลอสต้องมาเริ่มต้นจากการเรียนรู้ดนตรีของ เฟรเดริก โชแปง (Frédéric Chopin) หรือ ฟรานซ์ ลิสต์ (Franz Liszt) แทน

เหมือนยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ ในวัย 14 ปี คาร์ลอสตกหลุมรักผลงานของบาคเข้าอย่างจัง จากการไปแอบฟังตามสถานีวิทยุคลาสสิกต่าง ๆ ด้วยความหลงใหลนี้เธอจึงต่อยอดเข้าเรียนดนตรีอย่างเป็นระบบในสาขาดนตรีและฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ โดยระหว่างศึกษาที่บราวน์ คาร์ลอสเริ่มมีความสนใจในเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเจ้าซินธิไซเซอร์ ก่อนจะหันไปศึกษาต่อด้านการประพันธ์ดนตรีที่ศูนย์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กับสองเกจิแห่งโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่าง อ็อตโต้ ลูนิง และ วลาดิเมียร์ ยูซาเชฟสกี้ และที่นั่นเองทำให้เธอได้รู้จักกับชายที่ชื่อ โรเบิร์ต โม้ก (Robert Moog)

เวนดี้ คาร์ลอส ทรานสเจนเดอร์ ผู้พาเสียงอิเล็กทรอนิกส์และซินธิไซเซอร์สู่ดนตรีกระแสหลัก

       โม้ก ถือเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่ผลิตซินธิไซเซอร์ออกมาขายจนได้รับความนิยม และถ้าพูดถึงลูกค้ารายแรกของเขา จะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก เวนดี้ คาร์ลอส โม้กที่ผลิตเครื่องดนตรีของเขาในชื่อตัวเองว่า Moog กลายเป็นเครื่องดนตรีที่เข้ามาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมดนตรีโลกอย่างแท้จริง แต่ด้วยเสียงที่มีคาแรคเตอร์ของอิเล็กทรอนิกส์และเป็นของใหม่ในวงการ บางครั้งมันจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องดนตรีเสียงประหลาด

ย้อนกลับไปในปี 1968 ถ้าบอกว่าเสียงของซินธิไซเซอร์จะเข้ามาอยู่ในดนตรีกระแสหลักคงเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่สำหรับคาร์ลอส เสียงที่ว่าแปลกนี้มันไม่ต่างกับของขวัญจากพระเจ้า หลังจากทดลองเสียงรวมถึงแต่งเพลงจาก Moog ไม่นาน คาร์ลอสก็เริ่มทำสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อน เธอนำเอาผลงานอันโด่งดังของบาคอย่าง "Brandenburg Concerto No. 3" มาบรรเลงผ่านเสียงซินธิไซเซอร์ จนได้เป็นอัลบั้มที่มีชื่อว่า "Switched on Bach"

ทำอย่างงี้ก็ได้เหรอคาร์ลอส? อัลบั้มชุดดังกล่าวสร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกกลายเป็นอัลบั้มคลาสสิกชุดแรกที่มียอดขายระดับแพลตินัมและทำให้เธอได้แกรมมี่อวอร์ดสถึงสามสาขาส่วนผสมที่ลงตัวของดนตรีคลาสสิกและเสียงอันร่วมสมัยจากซินธิไซเซอร์กลายเป็นข้อความที่ส่งออกไปทั่วโลกว่าเจ้าสิ่งนี้เป็นเครื่องดนตรีไม่ใช่เสียงจากหุ่นยนต์แปลกๆเหมือนที่ใครหลายคนคิด

ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงแรกไม่ใช่แบบที่คุณจะเอาโน้ตมาเล่น หรือตัดแปะออกมาเป็นเพลง ตอนนั้นฉันก็ได้ทำตัวอย่างให้ทุกคนเห็นว่า การที่เราลงมือทำในทุก ๆ ทางที่เราจะทำได้ เรียกได้ว่าทุกวิถีทางที่ในหัวเราสามารถเผชิญหน้าได้ ทุกการแสดงออก หรือการเคลื่อนไหวของมือ การพยายามนำเอาสิ่งเหล่านี้มาสร้างสรรค์ มันกลายเป็นผลงานศิลปะขนานแท้ คาร์ลอสพูดถึงกระบวนการสร้างสรรค์ดังกล่าว

[caption id="attachment_19977" align="aligncenter" width="600"] เวนดี้ คาร์ลอส ทรานสเจนเดอร์ ผู้พาเสียงอิเล็กทรอนิกส์และซินธิไซเซอร์สู่ดนตรีกระแสหลัก Switched on Bach[/caption]

       หลายปีต่อมา คาร์ลอส ช่วย Moog พัฒนาซินธิไซเซอร์ที่มีระบบ touch sensitive ที่ช่วยทำให้คีย์บอร์ดมีไดนามิกและเป็นธรรมชาติมากขึ้น เวนดี้ได้สร้างเสียงและไอเดียที่ไม่เคยมีใครได้ยินมาจากดิจิทัลซินธิไซเซอร์มาก่อน ไม่มีใครเทียบเธอได้เลยโรเบิร์ต โม้ก พูดถึงลูกค้าเบอร์หนึ่งของเขา

ในปี 1971 เธอได้มีโอกาสเข้ามาโลดแล่นในเวทีภาพยนตร์ จากการทำเพลงประกอบให้หนังดังของผู้กำกับชื่อดัง สแตนลีย์ คูบริก อย่าง A Clockwork Orange และ The Shining รวมถึงหนังไซไฟสุดล้ำที่เสียงซินธิไซเซอร์ของเธอเข้ามามีบทบาทมาก ๆ อย่าง Tron

ด้านชีวิตส่วนตัว คาร์ลอสเริ่มเปิดตัวว่าเป็นหญิงข้ามเพศในปี 1979 โดยเธอปกปิดเรื่องนี้กับสาธารณชนมานานกว่าทศวรรษ เธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Playboy ถึงสาเหตุที่ยอมเปิดตัวว่าตัวนิตยสารเกี่ยวข้องกับการปลดปล่อย (ทางเพศ) มาโดยตลอด และฉันอยากจะปลดปล่อยตัวเอง ตอนนี้ในวันที่ประชาชนรับกับเรื่องนี้ได้ หรืออีกแง่นึงก็คือไม่แยแสแล้ว

หลังจากนั้นหลายปี คาร์ลอสได้ปล่อยอัลบั้ม Digital Moonscapes ผลงานที่เธอทำดนตรีในรูปแบบวงออเคสตราที่ใช้เสียงดิจิทัลซินธิไซเซอร์ แทนที่อนาล็อกซินธ์อันเป็นเครื่องหมายการค้าของเธอ อัลบั้มนี้เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากการโลดแล่นของดวงจันทร์ในระบบสุริยะที่ลึกลับ โดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ที่ฟังก็แนะนำว่าอัลบั้มนี้เหมาะสำหรับการนั่งฟังในท้องฟ้าจำลองเป็นอย่างมาก

เวนดี้ คาร์ลอส ทรานสเจนเดอร์ ผู้พาเสียงอิเล็กทรอนิกส์และซินธิไซเซอร์สู่ดนตรีกระแสหลัก

       คาร์ลอสขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่ไม่ชอบให้สปอตไลท์มาส่องที่ตัวเอง ปัจจุบันเธออายุ 75 ปี ใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบที่นิวยอร์ก ในการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของเธอกับ แฟรงก์ เจ. โอเตรี นักข่าวสายดนตรีในปี 2007 คาร์ลอสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานะของโลกดนตรีในปัจจุบันว่า

"ฉันพบว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่กลองไฟฟ้าได้เข้ามาแทนที่เหล่ามือกลอง และมันกลายเป็นสิ่งที่ผู้ฟังจำนวนมาก เสียงที่เราได้ยินไม่ต่างกับเครื่องตอกเสาเข็มหรืออุปกรณ์ตามโรงงาน หลายคนที่ฉันรู้จักต้องปิดคลับแจ๊สของตัวเองที่เบอร์ลินหลังประสบความสำเร็จมานานหลายปี เขาพูดกับฉันว่าตอนนี้เพลงแจ๊สหรือป๊อปทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้ความสวิงที่ได้จากมนุษย์อีกแล้ว เราทุกคนกำลังจะกลายเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก

ซินธิไซเซอร์ กลายเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างสีสันให้กับวงการเพลงอย่างมาก งานนี้คงต้องขอบคุณคาร์ลอส ที่ทำให้ทุกคนได้เห็นว่าเสียงดนตรีจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้จะไม่มีวันประหลาดอีกต่อไป

 

ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=7eaX45pjlj4

https://www.youtube.com/watch?v=Z3cab5IcCy8

หนังสือ Wendy Carlos: A Biography โดย Amanda Sewell