‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เปิดพื้นที่ถ่ายทอดวิชาจากกูรูตัวท็อปในวงการสื่อ ส่งต่อให้ว่าที่ Content Creator รุ่นใหม่ได้เข้ามาลับฝีมือให้เฉียบคมมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การทำงานสายคอนเทนต์ได้อย่างมืออาชีพ

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เปิดพื้นที่ถ่ายทอดวิชาจากกูรูตัวท็อปในวงการสื่อ ส่งต่อให้ว่าที่ Content Creator รุ่นใหม่ได้เข้ามาลับฝีมือให้เฉียบคมมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การทำงานสายคอนเทนต์ได้อย่างมืออาชีพ

โครงการ ‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ คือจุดสตาร์ตของการสร้างการรับรู้ให้ผู้คนรู้จักกับ ‘HOMECOMEMUAN’ (โฮมคำม่วน) สื่อออนไลน์น้องใหม่สไตล์อีสานสร้างสรรค์ ที่เตรียมจะแนะนำตัวต่อสายตาของนักเสพคอนเทนต์ทั่วโลก โดยที่มาของคำว่า ‘ปั้นข้าวเหนียว’ นั้น สื่อถึงการค้นหาข้าวเมล็ดงาม (คนเขียนคอนเทนต์ออนไลน์) ที่ซ่อนตัวอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

เราได้รวบรวมและคัดสรรผลงานสุดสร้างสรรค์จากเหล่านักเขียนรุ่นใหม่นำมา ‘ปั้นรวมกัน’ อย่าง ‘เหนียวแน่น’ เพื่อส่งออกคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ ผ่านการนำเสนอเสน่ห์และอิลิเมนต์ในทุกมิติความเป็นอีสานสู่สายตาผู้คนทั่วโลกได้อย่างภาคภูมิใจ

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

ทางโครงการฯ ได้เปิดรับสมัครผลงานนิสิต นักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน จนมีผลงานส่งเข้ามาถึง 160 ผลงาน จากนั้นคณะกรรมการได้ตรวจสอบและคัดเลือกบทความที่มีประเด็นโดดเด่น มีวิธีการเล่าเรื่องน่าสนใจ มีความรอบด้าน และเป็นผลงาน Original Content ให้ผ่านเข้ารอบมาได้จำนวน 20 ผลงาน ซึ่งได้ประกาศรายชื่อผู้เข้ารอบผ่านทางเพจ ‘HOMECOMEMUAN’ (โฮมคำม่วน) ไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้แก่ 

1. ภัทร  ชุมสาย ณ อยุธยา

2. สิรีธร  เรืองรัมย์

3. นิตยา  ภูมิดอนชัย

4. กวินทรา  คัญชิง

5. วงศกร  ลอยมา

6. อธินันท์  อรรคคำ

7. พิชามญชุ์  ทองเปี่ยม

8. ภริตา  ดุจจานุทัศน์ 

9. ชัยวัฒน์  ท่ากั่ว 

10. ณัฐกิตต์  พัฒน์ลำภู

11. กฤษฎิ์  บุญสาร

12. ทศพล  สังมีแสง

13. เสฎฐวุฒิ  สุขสวัสดิ์

14. ดานุชัช  บุญอรัญ

15. ชัยวัฒน์  แดงทุมมา

16. ญาณาธิป  สิงห์ทอง

17. เฉลิมชัย  โยธานันต์

18. เสาวลักษณ์  เหมือนแววเพ็ชร์

19. จุฑาทิพย์  สมสุข 

20. สุทธิราช  หงษ์ชุมแพ

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

โดยเจ้าของผลงานทั้ง 20 คน ได้รับสิทธิ์ร่วมอบรม ‘ปั้นคนปั้นคอนเทนต์’ กับเหล่าวิทยากรตัวตึงแห่งวงการคอนเทนต์ออนไลน์ ทั้ง 4 ท่านที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำงานสายคอนเทนต์ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ‘ทรงกลด บางยี่ขัน’ บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้ง THE CLOUD, ‘สุรศักดิ์ ป้องศร’ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ (ยอดสตรีมอันดับหนึ่งบน NETFLIX), ‘รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์’ อดีตบรรณาธิการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และ ‘ธนพงศ์ พุทธิวนิช’ บรรณาธิการ จาก The People พร้อมกันนั้นในช่วงท้ายการอบรมก็มีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 3 รางวัล รวมมูลค่า 30,000 บาทอีกด้วย

สำหรับบรรยากาศการอบรมในกิจกรรม ‘ปั้นคนปั้นคอนเทนต์’ นั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรมทั้ง 20 คนอย่างจัดหนักจัดเต็ม โดยในแต่ละเซกชั่นของการอบรมนั้นก็จะมีหัวข้อที่แตกต่างกันออกไป

 

เริ่มจากกิจกรรมละลายพฤติกรรมผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่ง ‘พี่ก้อง - ทรงกลด บางยี่ขัน’ ให้ทุกคนแนะนำตัวเองผ่านการเขียนบรรยายโดยไม่ต้องเขียนชื่อ แล้วให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนโหวตเพื่อนที่อยากจะทำความรู้จักมากที่สุด ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รู้จักกันและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในวันแรก ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในพื้นฐานของการนำเสนอคอนเทนต์เช่นกัน 


‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

“การแนะนำตัวเองเป็นการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง เหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย พูดเรื่องตัวเองมากไปก็ไม่ดี พูดน้อยไปก็ทำให้คนอื่นไม่รู้จักเรา จึงต้องหาจุดสมดุลตรงกลางให้เจอ นั่นคือความยากในการเล่าเรื่องและถ่ายทอดเรื่องราว นอกจากนี้อีกหนึ่งทักษะจำเป็นในการสายงานคอนเทนต์ นั่นคือ การสัมภาษณ์คนอื่นเพื่อให้ได้ข้อมูลมา โดยการสัมภาษณ์ไม่ใช่แค่การเตรียมคำถามไปถามแหล่งข่าว แต่สิ่งที่ดีกว่าคือ ความอยากรู้เรื่องของเขา! นำไปสู่การพูดคุยที่มีการทำความเข้าใจและโต้ตอบกัน โดยไม่ต้องพะวงกับคำถามในมือ” ก้องอธิบาย

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

ด้าน ‘สุรศักดิ์ ป้องศร’ ก็ได้มาให้ความรู้และหลักการของ Story Telling ในภาพยนตร์สไตล์อีสาน โดยเล่าถึงขั้นตอนการทำงานในการผลิตหนังและการบริหารงานในกองถ่าย, โครงสร้างการคิดบทและเขียนบท, เบสิกในการทำงานในกองถ่าย เป็นต้น โดยเฉพาะในส่วนของการเขียนบทหนัง ก็มีหลักการในการเล่าเรื่องจากบทความให้กลายเป็นภาพ โดยผู้เขียนควรจะหามุม หาเจตนาที่จะเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ได้ หาคอนฟลิกต์ของเรื่องราวให้เจอ แล้วจะทำให้เรื่องราวนั้นน่าสนใจมากขึ้น

อีกทั้งต้องเล่าเรื่องให้มีความเป็นสากลให้ได้ เช่น เล่าเรื่องความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนในโลกสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังภาษาอีสานออกเลยก็ได้ ก็จะสามารถทำให้คนอ่านหรือคนดูสามารถเข้าถึงและอินไปกับเรื่องราวที่เราอยากถ่ายทอดออกไปได้ 

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

ขณะที่ “รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์” ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์คอนเทนต์ด้านวัฒนธรรมในรูปแบบ “ซอฟต์พาวเวอร์” และให้ความรู้เกี่ยวกับการลงพื้นที่ทำงานภาคสนาม เพื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลนำมาเขียนคอนเทนต์ ผ่านกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทำความเข้าใจและรู้จักการคัดกรองข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ พร้อมให้ทุกคนได้แชร์ความคิดเห็นและไอเดียเกี่ยวกับโจทย์ที่สื่อถึงพลังของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่กำลังเป็นประเด็นมาแรงในระดับโลก

“คนทำคอนเทนต์ต้องเอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีในสนามด้วย เข้าไปซึมซับวัฒนธรรมในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย ต้องทำให้ตัวเองไม่ใช่คนนอกชุมชน การทำแบบนี้จะช่วยให้เราเก็บเกี่ยวข้อมูลเพื่อมาทำคอนเทนต์ได้ในเชิงลึก โดยได้ข้อมูลแท้จริงจากเจ้าของพื้นที่นั้นๆ ในขณะเดียวกันการเขียนงานจากข้อมูลเหล่านั้นก็ต้องให้ความรู้แก้ผู้อ่านโดยไม่เลือกข้าง และต้องให้ทัศนคติที่ได้ โดยไม่ตัดสินคนในชุมชน”

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

ปิดท้ายกับ “ป๊อป - ธนพงศ์ พุทธิวนิช” บรรณาธิการ จาก THE PEOPLE ได้เสริมทัพความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมในมุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยเล่าว่า บริบทของแพลตฟอร์มยุคสมัยนี้แน่นอนว่าเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ธุรกิจสื่อในปัจจุบันได้ปรับตัวจากสื่อสิ่งพิมพ์ เข้ามาสู่การเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์กันหมดแล้ว และมีแพลตฟอร์มสื่อจำนวนมากที่แข่งขันกันในสนามธุรกิจนี้ ดังนั้นในฐานะคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ จะทำอย่างไรให้คนอ่านสามารถมองเห็นและเข้าถึงคอนเทนต์ของเราให้ได้มากที่สุด

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

“แต่ถ้าถามหาสูตรสำเร็จในการทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ปัง ต้องบอกว่า การทำคอนเทนต์ออนไลน์ไม่มีสูตรสำเร็จ! แต่มีหลักการบางอย่างที่เอามาปรับประยุกต์ได้ นั่นคือ ต้องทำคอนเทนต์ปล่อยให้ถูกที่ ถูกเวลา ด้วยเนื้อหาที่ถูกใจ (กลุ่มเป้าหมาย) อีกทั้งต้องลงคอนเทนต์ในฟอร์แมตที่ตรงตามความต้องการของแต่ละแพลตฟอร์มด้วย” ธนพงศ์ กล่าวย้ำ

 

นอกจากการอบรมลับคมความรู้ให้เหล่าว่าที่ Content Creator ทั้ง 20 คนแล้ว ยังมีกิจกรรมแถมท้ายที่ช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ผ่อนคลายและเบรกความเครียดหลังจากคลาสเรียนที่เข้มข้น ด้วยการเดินทางลงพื้นที่ ณ ‘บ้านพ่อสวาทอุปฮาด’  ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านโนนหนองลาด ดู อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดินทางไปถึงบ้านพ่อสวาทในช่วงค่ำ ทุกคนก็ได้ล้อมวงกันกินมื้อเย็นสไตล์อีสานแท้ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตำไหลบัวปลาร้า, ตำรวมของส้ม (ตำผลไม้รสเปรี้ยว), ปลาเผา, หมูหัน, ไก่ย่าง, แกงปลาแห้งสไตล์อีสาน, ข้าวเหนียวนึ่งห่อใบบัว ฯลฯ ท่ามกลางบรรยากาศริมทุ่งนาสุดชิล 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างก็ได้ซึมซับความเป็นอีสานผ่านบรรยากาศท้องทุ่งและอาหารพื้นถิ่น ได้แลกเปลี่ยนไอเดียและพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกันนั้นยังได้มีโอกาสเข้าชมโรงหมักสาโทอีสานของพ่อสวาท และรับฟังเรื่องราวเส้นทางของการทำคราฟต์สาโทอีสานจากพ่อสวาทอีกด้วย

 

หลังจากเสร็จสิ้นการอบรมไปทั้ง 4 คลาส ก็เข้าสู่ช่วงของการประกาศผลบทความที่ได้รับรางวัลชนะเลิศของโครงการ ‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ โดยแบ่งเป็น 3 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท รวมมูลค่า 30,000 บาท ซึ่งเมื่อมีการประกาศรายชื่อของผู้ชนะเลิศทั้ง 3 คน ก็เรียกเสียงฮือฮาและเสียงปรบมือจากเพื่อน ๆ ร่วมอบรมได้อย่างกึกก้อง

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ

หนึ่งในผู้ที่ผ่านเข้ารอบมาร่วมอบรมใน ‘ปั้นคนปั้นคอนเทนต์’ และยังเป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้อย่าง ‘แป้ง - นิตยา ภูมิดอนชัย’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เล่าว่า เธอทราบข่าวโครงการปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์ จากฟีดบนโซเชียลมีเดีย และมีความสนใจในไอเดียของโครงการฯ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า ความเป็นอีสานควรถูกต่อยอดและเผยแพร่สู่สายตาของคนภาคอื่น ๆ ในแง่ที่สร้างสรรค์มากกว่าที่เคย และเธออยากมีส่วนร่วมในการทลายภาพจำเดิม ๆ ของชาวอีสานที่หลายคนยังนึกถึงแต่ความแห้งแล้ง ความจน ความต่ำต้อยกว่าคนภาคอื่น ๆ ในไทย ทั้งที่ความจริงในยุคนี้ อีสานไม่ได้สะท้อนภาพเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว 


“ส่วนตัวหนูเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจจะไม่ได้เรียนตรงสายด้านนิเทศศาสตร์อย่างเพื่อน ๆ หลายคนที่มาร่วมอบรมครั้งนี้ แต่เนื่องจากมีความชอบด้านการอ่านและเขียน และรู้สึกว่าการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นอีสานผ่านคอนเทนต์ออกสู่สายตาคนอ่านภายนอก สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศไทยมองอีสานเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งในทุก ๆ ช่วงของการอบรมได้รับความรู้จากวิทยากรกลับมาฝึกวิธีคิด วิธีสัมภาษณ์คนอื่น​ และวิธีเล่าเรื่องผ่านคอนเทนต์ เพื่อพัฒนาตนเองได้อีกมากเลยค่ะ” นิตยากล่าว


ขณะที่ ‘ควีน - พิชามญชุ์ ทองเปี่ยม’ และ ‘นัด - ณัฐกิตต์ พัฒน์ลำภู’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เข้าร่วมการอบรมและเป็นอีก 2 คนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเช่นกัน ได้พูดถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเวทีอบรม ‘ปั้นคนปั้นคอนเทนต์’ ในโครงการปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์ว่าเป็นโครงการที่ได้ความรู้กลับมามากกว่าที่คาดไว้เสียอีก


ควีน - พิชามญชุ์ บอกว่า ชอบกิจกรรมในพาร์ตแรกมากที่สุด เพราะได้รับความรู้เกี่ยวกับการฝึกสัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น และระหว่างทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ก็เป็นพาร์ตที่สนุกมากที่สุด แต่โดยรวมการอบรมทั้ง 4 พาร์ต ควีนเล่าว่าเธอได้รับความรู้กลับมาเยอะมาก มากกว่าค่ายอื่น ๆ ที่เคยไปร่วมอบรมมา 


“ตอนนี้หนูกำลังเรียนด้านภาษาเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ แล้วก็ต้องใช้ทักษะการสัมภาษณ์คนอื่นเยอะมาก แล้วถ้าหลังจากนี้มีโอกาสได้ทำงานตรงสายกับที่เรียนมา ความรู้ที่ได้มาจากการอบรมครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่จะช่วยพัฒนาให้หนูมีทักษะที่ดีมากขึ้นได้ รู้สึกว่าได้ความรู้จากพี่ก้องเยอะมาก เพราะตัวเองยังไม่รู้ทิศทางที่ถูกต้องในการสัมภาษณ์เท่าที่ควร 


“แต่ตอนนี้ก็คิดว่าได้เปิดประสบการณ์และได้รู้มากขึ้น ส่วนพาร์ตที่สองก็ได้รับแรงบันดาลใจในการคิดไอเดียเพื่อนำมาต่อยอดสู่การเขียนคอนเทนต์ ส่วนพาร์ตที่สามก็ได้เรียนรู้เรื่องซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น คือมันเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับมันให้มากขึ้นในยุคนี้ ซึ่งก็ได้ความรู้จากเพื่อน ๆ ร่วมคลาสที่มาแชร์ไอเดียกันไปมา ซึ่งเราเองไม่ค่อยรู้เรื่องนี้ ก็ทำให้ได้ไอเดียมากขึ้นเช่นกัน” พิชามญชุ์อธิบาย


ด้าน นัด - ณัฐกิตต์ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ว่า ชื่นชอบพาร์ตการฝึกสัมภาษณ์และพาร์ตการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการทำหนังเป็นพิเศษ เพราะส่วนตัวชอบฟังคอนเทนต์เกี่ยวกับการ Talk จากสื่ออื่น ๆ อยู่แล้ว และชอบการฝึกคิดไอเดียหาคอนเทนต์เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบด้วยเหมือนกัน 


“โดยเฉพาะขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์ที่มองว่าหลักการของมัน นำไปต่อยอดสู่การเขียนคอนเทนต์รูปแบบอื่น ๆ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย บทความ เรื่องสั้น อีกทั้งศาสตร์ด้านภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้ลึกขนาดนี้มาก่อน พอได้ความรู้ตรงนี้ก็อาจจะนำไปสร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งประกวดในเวทีอื่น ๆ ได้ด้วย ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นประโยชน์กับผมมาก และส่วนตัวก็อยากเข้ามาทำงานในสายอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้วยครับ” ณัฐกิตต์อธิบาย


อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการอัปสกิลเพื่อก้าวไปสู่สายงาน Content Creator เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายก้าวที่เหล่าว่าที่คนทำคอนเทนต์เหล่านี้จะต้องเรียนรู้และฝ่าฟันเพื่อเข้าสู่วงการนี้ได้อย่างมืออาชีพ

 

‘ปั้นข้าวเหนียวโปรเจกต์’ เฟ้นหาเมล็ดพันธุ์สายคอนเทนต์สู่โลก Content Creator ระดับมืออาชีพ