19 มี.ค. 2566 | 19:05 น.
- แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ ศิลปินที่มีสไตล์การผลิตงานวาดภาพบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ให้เบลอ เลือนราง ถือเป็นศิลปินคนสำคัญของวงการ
เห็นเทรนด์ไวรัล #ด่วนมาก #แล้วแกจะรีบเพื่อ กับภาพถ่ายเบลอ ๆ เหมือนจะรีบถ่ายไปไหน ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ ทำให้เราอดนึกถึงผลงานของศิลปินผู้หนึ่งที่มักจะวาดภาพถ่ายบุคคลหรือสิ่งของในภาพวาดให้เลือนราง ไม่ชัดเจน เหมือนภาพถ่ายที่ตากล้องรีบถ่ายจนภาพเบลอหรือหลุดโฟกัส จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะตัวอันโดดเด่นไม่ได้
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter) จิตรกรชาวเยอรมันผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 และ 21
เดิมทีเขาฝึกฝนด้านการทำงานจิตรกรรมแบบเหมือนจริง ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่แนวทางการทำงานศิลปะร่วมสมัยที่หลากหลายกว้างไกลขึ้น ผลงานของเขามักเป็นการสำรวจความเป็นภาพในฐานะสื่อทางสายตา เขามักเล่นกับเส้นบาง ๆ ของความแตกต่างระหว่างภาพวาดเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย และภาพวาดที่ไม่ใส่ใจกับความเหมือนจริงอย่างภาพวาดนามธรรม และตั้งคำถามถึงพลังอำนาจของ ‘ภาพ’ ในฐานะ ‘ภาพแทนความเป็นจริง’ ทั้งในภาพจิตรกรรม, ภาพถ่าย และภาพในสื่อต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน
เขาทำงานควบคู่ไปกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เฟื่องฟูในยุคปลายศตวรรษที่ 20 อย่างแอบสแตรค เอ็กเพรสชั่นนิสม์, ป๊อปอาร์ตของอเมริกันและอังกฤษ, มินิมอลลิสม์ และคอนเซ็ปชวลอาร์ต ถึงแม้เขาจะซึมซับรับอิทธิพลจากแนวคิดของกระแสศิลปะเหล่านี้มา แต่ก็ยังคงความคิดและปรัชญาการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
เขามักจะหยิบยืมภาพจากหนังสือพิมพ์ และภาพจากอัลบั้มภาพถ่ายเก่า ๆ ของครอบครัวของเขาหรือแม้แต่ภาพถ่ายของใครสักคนที่เขาไม่รู้จักมาสุ่มเลือกใช้เป็นแบบวาดภาพ โดยฉายภาพด้วยโปรเจกเตอร์ลงบนผืนผ้าใบแล้ววาดตาม
เขามักจะวาดภาพบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ในภาพวาดให้เบลอ เลือนราง ไม่ชัดเจน เพื่อแสดงถึงความยากเย็นจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ศิลปินจะแสดงออกถึงความเป็นจริงอันเที่ยงแท้ของสิ่งที่เขาวาดออกมาได้อย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าในขณะที่ศิลปินกำลังวาดภาพ เขาไม่อาจสื่อสารถึงสาระสำคัญของแบบที่ถูกวาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการโน้มน้าวผู้ชมด้วยสีสัน น้ำหนัก และฝีแปรงในภาพวาดเท่านั้น แนวทางการทำงานเช่นนี้ของริตช์เตอร์ แสดงให้เห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของสื่อทางศิลปะอย่างจิตรกรรมนั่นเอง
แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ เกิดในปี 1932 ในเมืองเดรสเดิน, เยอรมนี ในช่วงเวลาที่พรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจ ญาติของเขามีส่วนร่วมโดยตรงกับกระแสเคลื่อนไหวของพรรคนาซี เขามีพรสวรรค์ด้านการวาดภาพตั้งแต่สมัยเด็ก เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปฝึกงานเป็นนักวาดฉากให้โรงละคร แต่การปะทุขึ้นของสงครามสร้างประสบการณ์อันเลวร้ายให้กับเขาอย่างมาก
ลุงของเขาตายในสงคราม พ่อของเขาก็ตกงาน ความทุกข์ยากในครอบครัวและการฝึกฝนทางศิลปะภายใต้อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้เขามักจะเสาะหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะจากธรรมชาติ มากกว่าแนวคิดทางการเมือง ศาสนา หรือปรัชญา
ในช่วงปี 1951 เขาเข้าเรียนที่สถาบันศิลปะ Kunstakademi ที่เมืองเดรสเดิน และหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังและป้ายโฆษณาอุดมการณ์ทางการเมือง ในช่วงนั้นเองที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจในเยอรมันตะวันออก กำหนดให้ศิลปะโซเชียลเรียลลิสม์ (Social Realism) เป็นแนวทางหลักของนักศึกษาศิลปะทุกคน ซึ่งเป็นนโยบายที่เปลี่ยนศิลปะให้กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้รัฐบาลแบนนิทรรศการศิลปะป๊อปอาร์ตอเมริกัน และผลงานของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าของอเมริกาและยุโรปอย่าง ฟลักซัส (Fluxus) ที่ขัดกับอุดมการณ์รัฐ สิ่งนี้ส่งผลให้ริตช์เตอร์ต้องถูกบังคับให้ทำแต่งานศิลปะในรูปแบบอันจำกัดจำเขี่ย อย่างการวาดภาพบุุคคลและภูมิทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะโรแมนติกเท่านั้น
แต่ในปี 1959 เขาได้ไปเยือนเยอรมันตะวันตก และได้ดูผลงานของศิลปินสมัยใหม่ที่มาแสดงที่นั่นอย่าง แจ็คสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) และ ลูซิโอ ฟอนตานา (Lucio Fontana) ร่องรอยสาดกระเซ็นของสีสันอันรุนแรงบนผืนผ้าใบของพอลล็อก และการกรีดผืนผ้าใบทะลุเป็นช่องของฟอนตานา สั่นสะเทือนความคิดเขาอย่างมาก และกระตุ้นให้เขาหันมาตั้งคำถามว่า เหตุใดภาพวาดเหมือนจริงจึงไม่อาจจับเอาพลังความรู้สึกของความเป็นจริงและจิตวิญญาณอันเสรีของศิลปะได้เช่นเดียวกับงานศิลปะนามธรรมของศิลปินอเมริกันและยุโรปเหล่านั้น หนำซ้ำ ผลงานภาพเหมือนจริงของเขาดูเหมือนจะล้มเหลวในการสะท้อนถึงแก่นแท้ของความเป็นจริงอันทรงพลังออกมาได้ด้วยซ้ำไป
ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลังจากนั้นในช่วงปี 1961 เขาจึงเริ่มหันมาทำงานศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ด้วยกระบวนการที่เป็นการทบทวนเกี่ยวกับการทำงานศิลปะของเขาเอง เขาถึงกับทำลายผลงานที่ทำในช่วงเวลาก่อนหน้าไปหลายชิ้น ถึงแม้ต่อมาเขาจะกลับมาวาดภาพเหมือนจริงที่มีต้นแบบมาจากภาพถ่ายต่าง ๆ โดยฉายภาพถ่ายเหล่านั้นด้วยโปรเจกเตอร์ลงบนผืนผ้าใบแล้ววาดตาม
แต่ด้วยความหงุดหงิดรำคาญใจในการไล่ตามหาความสมบูรณ์แบบของความเหมือนจริง ริตช์เตอร์ จึงพัฒนาการวาดภาพแนวทางใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวาดภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเบลอภาพให้ดูสั่นเทา เลือนราง ขูดขีด และทาสีทับหลายชั้น จนทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลในภาพเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ชมต้องพิจารณารายละเอียดพื้นฐานของภาพวาดเหล่านั้น อย่างองค์ประกอบ, โทนสี และน้ำหนัก มากกว่าจะถูกชี้นำโดยเรื่องราว เนื้อหา หรืออารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้าของบุคคลในภาพ
ริตช์เตอร์ยังทดลองการทำงาน ด้วยการใช้ฝีแปรงหนาหนัก หรือใช้ลูกกลิ้งและแปรงปาดสีอย่างรุนแรงจนดูไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร ด้วยการวาดภาพแบบนี้ ริตช์เตอร์ ลดแรงปะทะทางสายตาของภาพเหมือนจริง และสร้างพื้นที่ลวงตาจากร่องรอยจากการวาดภาพอันรุนแรงขึ้นมา ภาพชุดสีเทา (Grey Paintings) ในปี 1966 – 70 หรือภาพวาดสีโทนต่าง ๆ เป็นช่องสี่เหลี่ยมเรียงกันเป็นตารางขนาดใหญ่บนผืนผ้าใบ จนดูคล้ายกับตารางสีแพนโทน ในภาพวาดชุด Colour Charts ในช่วงปี 1971 และภาพวาดนามธรรมที่เป็นรูปทรงและร่องรอยสีสันอันไร้ที่มาที่ไป ปล่อยให้ผู้คนตีความเอาเองโดยที่เขาไม่อธิบายอะไรเลย ในภาพวาดชุด Abstract Painting ในปี 1976
ในปี 1977 เขากลับมาวาดภาพบุคคลในผลงานชุด Baader-Meinhof ที่บันทึกเหตุการณ์เสียชีวิตอันอื้อฉาวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวเยอรมันในคุกสตัมไฮม์ ซึ่งมีต้นแบบมาจากภาพถ่ายของเหล่าบรรดาผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงปีกซ้ายแห่งกองทัพแดง (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Baader-Meinhof) ด้วยเทคนิคการวาดภาพที่เบลอ เลือนราง ไม่ชัดเจน แสดงนัยถึงปริศนาที่ยังไม่คลี่คลายของการฆ่าตัวตายหมู่ในคุกของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นได้อย่างแหลมคม
ในช่วงยุค 1980 และ 1990 ริตช์เตอร์ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จากผลงานภาพวาดนามธรรมที่ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นภาพวาดแบบแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ แต่ความจริงภาพวาดของเขาแสดงออกถึงกระบวนการในการวาดภาพด้วยร่องรอยของสีสันและฝีแปรง ต่างกับการแสดงออกถึงสภาวะทางอารมณ์ หรือจิตวิญญาณและความรู้สึกภายในของศิลปินแบบเดียวกับศิลปินแอบสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์
ผลงานของเขาตัดขาดจากสิ่งเหล่านั้น และแสดงออกถึงความรื่นรมย์ทางสายตาอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เขายังขยับขยายขอบเขตของการวาดภาพ ด้วยการทดลองทำงานจิตรกรรมนามธรรมบนพื้นผิวอันลื่นไหลด้านหลังของกระจก ไปจนถึงศิลปะจัดวางจากกระจก หรือแม้แต่ศิลปะกระจกสีในโบสถ์ ในช่วงปี 2000
ในฐานะจิตรกร ริตช์เตอร์ท้าทายกระแสเคลื่อนไหวในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ ด้วยผลงานจิตรกรรมอันก้าวล้ำนำหน้า หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่กระแสศิลปะแบบหัวก้าวหน้าอันแปลกใหม่หวือหวาอย่าง คอนเซ็ปชวลอาร์ต แผ่อิทธิผลไปทั่วยุโรปและอเมริกา จนเบียดบังศิลปะในรูปแบบเดิม ๆ ที่สืบต่อกันมายาวนานอย่างงานจิตรกรรม ที่ถูกมองว่าตายไปแล้ว ด้วยความที่ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ สนใจในศักยภาพทางความคิดของศิลปะมากกว่าการฝึกฝนเรียนรู้เทคนิคแบบประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน แต่ถึงอย่างนั้น ริตช์เตอร์ก็ยังแสดงให้เห็นว่า งานจิตรกรรม หรือการวาดภาพก็ยังคงเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามถึงความเป็นจริงของ ‘ภาพ’ ต่าง ๆ ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ไม่ว่าภาพเหล่านั้นจะมีที่มาจากภาพถ่ายครอบครัว, ภาพข่าว, ภาพยนตร์ ไปจนถึงโฆษณา หรือแม้แต่ภาพในสื่อออนไลน์จากอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่ในทุกหนแห่งก็ตามที
ในวงการศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ ที่มองความปรารถนาในความงามและสุนทรียะเป็นเรื่องเฉิ่มเชย, ล้าสมัย และน่าอับอาย แต่แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ พลิกฟื้นคืนชีวิตให้แนวความคิดในการใฝ่หาความงามและสุนทรียะในการทำงานศิลปะ ให้กลับมาเปี่ยมเสน่ห์น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง
ผู้เขียนเคยได้ชมผลงานจริงของ แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ ที่พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ แห่งเมืองบิลบาว (Guggenheim Museum Bilbao) ประเทศสเปน อย่าง Seascape (with Olive Clouds) (1969) ภาพวาดทิวทัศน์ท้องทะเลคลื่นแตกฟองและท้องฟ้าหม่นมัว ที่ดูเลือนรางราวกับเป็นภาพวาดนามธรรม ริตช์เตอร์วาดภาพนี้ด้วยการปะติดปะต่อภาพถ่ายสองภาพจากสองช่วงเวลา
หนึ่งคือภาพท้องฟ้าเบื้องบน อีกหนึ่งคือภาพทะเลเบื้องล่าง เพื่อสร้างภาพลวงอันสมบูรณ์แบบของธรรมชาติ ริตช์เตอร์ ยังวาดภาพนี้ด้วยการใช้เทคนิคยางปาด เพื่อลดความชัดเจนของฝีแปรงให้เลือนรางลงจนเหมือนภาพถ่ายเบลอ ๆ อันเป็นแนวทางเฉพาะตัวของเขา พอริตช์เตอร์วาดภาพนี้ให้ดูเหมือนภาพถ่ายเบลอ ๆ ก็เลยทำให้ผู้ชมหลายคนที่ไม่รู้จักเขา มองข้ามภาพนี้ และเดินผ่านไปอย่างน่าเสียดาย เพราะคิดว่าเป็นแค่ภาพถ่ายเบลอ ๆ ภาพหนึ่งเท่านั้นเอง
ล่าสุด ผลงานภาพวาดชิ้นนี้ [Matrosen (Sailors) (1966)] เพิ่งถูกประมูลขายโดยสถาบัน Sotheby's, โดยเคาะราคาขายให้พิพิธภัณฑ์ Weserburg ในเมืองเบรเมิน ประเทศเยอรมนี ไปสด ๆ ร้อน ๆ ไปในราคา 8.4 ล้านยูโร หรือ 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวกว่า 455 ล้านบาท
เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนพงศ์
ภาพ: แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ เมื่อปี 2018 ไฟล์จาก Getty Images กับฉากหลังเป็นภาพงาน Matrosen (Sailors) (1966) โดย แกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์, ภาพจาก Twitter @gerhardrichter