ชีวิต ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ตำนานศิลปินที่แฟนตาซีกว่านิยาย เคยถูกวิจารณ์ในไทย ไปดังในต่างแดน

ชีวิต ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ตำนานศิลปินที่แฟนตาซีกว่านิยาย เคยถูกวิจารณ์ในไทย ไปดังในต่างแดน

‘ถวัลย์ ดัชนี’ ตำนานศิลปินชาวไทยที่ชีวิตจริงแฟนตาซีไม่แพ้นิยาย ผลงานที่จัดแสดงในไทย เคยถูกวิจารณ์ ตกเป็นเป้าจนโดนกรีด จนไปทำผลงานและโด่งดังระดับโลกในต่างแดน

วาดภาพเก่งเหมือนผู้ใหญ่ได้เองตั้งแต่เด็ก

ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่เชียงรายเป็นบุตรชายคนสุดท้องจาก 4 คน ของนายศรี ดัชนี จ่านายสิบทหารผู้เคยร่วมอุดมการณ์กับกบฏบวรเดช และหลังสู้รบมารับราชการในกรมสรรพสามิต กับนางบัวคำ พรมสา

ตั้งแต่เล็ก ๆ กิจกรรมซุกซนที่เด็กชายถวัลย์มักทำเป็นประจำคือการเก็บเอาก้อนถ่านมาวาดภาพตามกำแพงจนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนจนแม่บัวคำเอ็ดตะโรอยู่บ่อย ๆ ถวัลย์เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ถวัลย์ ฉายแววเก่งกาจด้านศิลปะตั้งแต่สมัยเล็ก ๆ แล้ว

ในวิชาวาดภาพ ถวัลย์ไม่ได้วาดครอบครัวมนุษย์ก้าง กับบ้านสองมิติที่มีปล่องไฟบนหลังคาเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่ผลงานของถวัลย์กลับเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งแต่ละตัวที่มีลักษณะ และรายละเอียดยุบยิบไม่ผิดเพี้ยน ใครได้เห็น ถ้าไม่บอกก็ต้องคิดว่าเป็นฝีมือของผู้ใหญ่ ไม่มีทางรู้ว่าเป็นผลงานจากมือจิ๋ว ๆ ของเด็กประถมแน่ ๆ ราวกับถวัลย์มีพรสวรรค์ด้านวาด ๆ เขียน ๆ ติดตัวมาโดยธรรมชาติตั้งแต่ชาติปางก่อน

แอบอาศัยอยู่ในซอกอาคารเรียน

เมื่อถวัลย์เรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ก็ได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนทุนของจังหวัดเชียงรายให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างในกรุงเทพ

ถวัลย์ในวัย 14 เลยต้องเดินทางรอนแรมโดยลำพังจากบ้านเกิดด้วยรถขนหมูเพื่อมาต่อรถไฟเข้าเมืองกรุง ที่เพาะช่าง ถวัลย์ได้ขัดเกลาฝีมือทางช่างแทบจะทุกแขนงทั้งวาดภาพ เลื่อยไม้ เย็บหนัง ฉลุลาย และงานประดิดประดอยอีกร้อยแปด

และขณะเป็นนักศึกษาเพาะช่างอยู่ถึง 3 ปี ถวัลย์เลือกที่จะไม่เช่าห้องพัก แต่ใช้อาศัยซุกหัวนอนซ่อนอยู่ตามซอกหลืบของอาคารเรียนไม่ให้ใครเห็น พอเวลาจะนอนก็เอามุ้งที่ม้วนติดกับเอวไว้มากางออก หมอนก็ไม่ต้องมี ใช้รองเท้าเกี๊ยะหนุนหัว เวลาจะถูสบู่ แปรงฟันก็ย่องไปที่สระน้ำยามลับตาคน ถึงอาจารย์จะสงสัยแต่ก็จับคาหนังคาเขาไม่ได้สักทีว่า มีนักศึกษาจากเชียงรายอุตริมาแอบใช้อาคารเรียนเป็นบ้านอยู่นานหลายปี

 

สอบตกวิชาวาดภาพ

พอเรียนจบหลักสูตรได้วุฒิครูประถมการช่างจากโรงเรียนเพาะช่างแล้ว แทนที่ถวัลย์จะกลับไปเป็นครูสอนวาดเขียนที่บ้านเกิดเหมือนกับนักเรียนส่วนใหญ่ที่ได้ทุนของจังหวัดมา ถวัลย์กลับยิ่งอยากจะเข้าใจศิลปะให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม เลยไปสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งยุคนั้นควบคุมการสอนโดยอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี

ณ ศิลปากร ถวัลย์ได้รับการบ่มเพาะจนแตกฉานทั้งในด้านเทคนิคและทฤษฎีศิลปะ มีผลงานเป็นที่โจษขานของทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง

งานเรียนยุคแรก ๆ สมัยที่ถวัลย์เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยเป็นภาพวิว ภาพวัด ปาดด้วยสีน้ำมันเป็นปื้นหนา ๆแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ สมัยนั้นจะให้วาดให้เหมือน โมเนต์ แวนโก๊ะ โกแกง ปีกัสโซ หรือใครก็แล้วแต่ ถวัลย์สามารถก๊อปปี้ออกมาได้เนียนกริบ

เพราะเหตุนี้ ตอนเรียนปีหนึ่งที่ศิลปากร ถวัลย์จึงได้คะแนนวิชาวาดภาพหนึ่งร้อยเต็มบวก ๆ แต่เกิดเหตุพลิกผัน พอขึ้นปี 2 กลับสอบตกวิชาวาดภาพ ได้แค่ 15 คะแนนจากร้อย สร้างความฉงนสงสัยให้กับถวัลย์มาก ทั้งที่ฝีมือก็ไม่ได้ตกไปจากปีหนึ่ง

ถวัลย์จึงไปถามอาจารย์ศิลป์ถึงเหตุผล จึงได้รับคำแนะนำว่า

“งานของนายมีแต่ถูกต้อง มันเป็นงานเรียน เป็นอคาเดมิคนะนาย ไม่มีชีวิต ปลาของนายว่ายน้ำไม่ได้ ไม่มีกลิ่นคาว ม้าของนายตายแล้ว ยืนตาย วิ่งไม่ได้ ร้องไม่ได้ วัดของนายเหมือนฉากลิเก ฟ้าของนายไม่มีอากาศ หายใจไม่ได้”

หลังจากสอบตกและโดนอาจารย์ศิลป์ติเตียนซะชุดใหญ่ ถวัลย์ไม่ท้อใจ กลับยิ่งตั้งใจปรับปรุงผลงานให้มีชีวิต มีพลัง ไม่ได้ใช้แค่มีฝีมือเลียนแบบผลงานให้เหมือนของคนนั้นคนนี้ จนในที่สุดก็ค้นพบสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

 

นายคนภูเขา ศิษย์รุ่นท้าย ๆ ของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี

นายคนภูเขา เป็นชื่อที่อาจารย์ศิลป์ใช้เรียกถวัลย์อย่างติดปาก เหตุเพราะถวัลย์มาจากดอยสูงในเชียงราย ในห้วงเวลาที่ถวัลย์เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2505 ก็เป็นเวลาเดียวกับที่อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมพอดี ถวัลย์จึงเป็นลูกศิษย์รุ่นท้าย ๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยผู้นี้

ภาพจาก theartauctioncenter.com/

เรียนจบดอกเตอร์จากเมืองนอก

ถวัลย์เป็นคนขยัน ถ้าไม่ฝึกวาดภาพ ก็จะอ่านหนังสือเรื่องต่าง ๆ อยู่ตลอด เลยมีความรู้รอบตัวสูง พูดได้ทั้งภาษา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ได้คล่องปรื๋อ จำและร่ายบทกวีโบราณ และร่วมสมัยทั้งของไทยและต่างประเทศได้อย่างขึ้นใจ

ด้วยความสามารถที่มีหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการศึกษาของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ให้ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ และผังเมือง และเพื่อให้เข้าใจความงามของศิลปะอย่างลึกซึ้ง ถวัลย์เลยเลือกเรียนต่อปริญญาเอกด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ที่ราชวิทยาลัยศิลปะ Rijks Akademic van Beeldende Kunsten ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ช่วงเวลาที่เรียนอยู่ในยุโรป ถวัลย์ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยลัทธิศิลปะแบบตะวันตก ได้เห็นผลงานศิลปะชิ้นสำคัญของจริงในพิพิธภัณฑ์ แต่ยังคงไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นไทย ตลอดเวลาที่อยู่ในต่างประเทศถวัลย์จึงพยายามเสาะแสวงหาวิธีการที่จะสร้างผลงานอันสามารถผสมผสานรูปแบบศิลปะ ทั้งของแบบตะวันตก และแบบตะวันออก อย่างกลมกลืนออกมาให้สำเร็จ

แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO

หล่อเหลาระดับนายแบบ

สมัยวัยรุ่นนั้น ถวัลย์ถือว่าหล่อเหลาเอาการ มีหุ่นเฟิร์มดุจนายแบบไม่อายที่จะปลดกระดุมถอดเสื้อโชว์มัดกล้าม และซิกแพค ถวัลย์ไว้ผมตีโป่งด้านบน มีจอนเลื้อยยาวลงมาแทบถึงคางแบบเดียวกับเอลวิส เพรสลีย์ ชอบใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์แบบเจมส์ ดีน พอไปเรียนเมืองนอกก็เริ่มแต่งตัวจัด ใส่สูทแบรนด์เนมเนี้ยบไปทุกกระเบียดอย่างกับหลุดออกมาจากแมกกาซีนแฟชั่นเล่มล่าสุด

ถวัลย์ในวัยรุ่นเคยมีความเชื่อว่ายิ่งทำตัวฝรั่งเท่าไหร่ก็ยิ่งโก้เก๋ จนเมื่อมีวุฒิภาวะทางความคิดสูงขึ้นถึงรู้สึกตัวว่า การเอาแต่จะลอกฝรั่งนั้นเหมือนเป็นการลืมตัวตน จะหาเครื่องแต่งกายอย่างฝรั่งยี่ห้อที่วิเศษวิโสเท่าไหร่มาห่มกายก็เป็นได้แค่กากเดนของตะวันตก เหมือนทาสที่ไม่ยอมเป็นอิสระ

หลัง ๆ ถวัลย์จึงเลิกแต่งตัวตามฝรั่ง และเริ่มลดความสำคัญของเปลือกนอก เน้นใส่แต่เสื้อผ้าสีดำ ประดับประดาร่างกายด้วยสร้อย กำไล แหวน ที่ทำจากเขี้ยว งา กรงเล็บ เอาไว้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจในการเขียนภาพ

ลุคที่ออกมาเลยดูดุเดือดคล้ายคลึงกับงานศิลปะที่ถวัลย์สร้างสรรค์ จนนานวันเข้าก็ยิ่งกลับคืนสู่สามัญกลายเป็นถวัลย์ที่สาธารณชนคุ้นตา คือชายหัวล้านร่างท้วม ท่าทางใจดีที่มีเคราสีขาวยาวเหมือนซานตาคลอส ใส่ชุดม่อฮ่อม คีบรองเท้าแตะยางไปแทบจะทุกที่จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ใคร ๆ ก็จำได้

ภาพจาก theartauctioncenter.com/

ไม่ได้ตาบอดสี

ผลงานจิตรกรรมของถวัลย์ที่สาธารณชนชนคุ้นตามักเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ที่มีแต่สีดำกับสีขาว จนมีคนนึกว่าถวัลย์นั้นตาบอดสี เลยเลือกใช้สีให้น้อยเท่าที่จำเป็น แต่ความจริงนั้นเป็นคนละเรื่อง

ผลงานของถวัลย์สมัยวัยรุ่นนั้นมีสีที่ฉูดฉาดมาก ทั้งน้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ปาดด้วยเกรียงหนา ๆ ดูสนุกสนาน ต่อมา หน้าตาผลงานของถวัลย์ในยุคหลังนั้นก็มีพัฒนาการจนดูแตกต่างกับที่ริเริ่มสร้างในยุคแรกอยู่พอสมควร

สีที่ใช้ในงานจิตรกรรมนั้นค่อย ๆ ลดทอนไปเรื่อย ๆ จนเหลือสีหลัก ๆ เพียงสีดำขาว แดง และทอง ผลงานในยุคนี้ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ มักเป็นภาพสัตว์ดุร้าย มีเขี้ยวมีเล็บแหลมคมน่าเกรงขามอย่างเสือ สิงห์ กระทิง ควายป่า พญาอินทรี มีผลงานหลายชิ้นที่ถวัลย์ผสมผสานภาพความเป็นไทยด้วยใบหน้าพระพุทธเจ้าที่งดงามไร้ที่ติแบบสุโขทัย หรือเส้นสายลายกนกที่อ่อนช้อยพริ้วไหว เข้าไปอยู่ท่ามกลางความขึงขังของเนื้อหาภายในภาพ

ภาพจาก theartauctioncenter.com/

โด่งดังเพราะงานพัง

หลังจากที่ถวัลย์เรียนจบจากยุโรป ถวัลย์เริ่มให้ความสนใจกับปรัชญาทางพุทธศาสนาทั้งแบบหินยาน มหายาน และศาสนาพราหมณ์ ตามความเชื่อของโลกตะวันออก ผลงานของถวัลย์ในยุคถัดมาจึงมักมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวเช่น ทศชาติ มารผจญ รามเกียรติ์ จักรวาล ซึ่งก็ไม่ได้สื่อออกมาแบบโจ้ง ๆ ชนิดที่ชาวบ้านเห็นแล้วร้องอ๋อ แต่แฝงไปด้วยนัยที่สื่อสารผ่านทางภาพท่วงท่าของมนุษย์ สัตว์ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งคนที่มาดูบางทีก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง

พอตัวศิลปินไม่ได้มานั่งอธิบายก็ตีความกันไปเอง จนครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2514 ภาพของถวัลย์ที่จัดแสดงอยู่ ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนกลายเป็นข่าวใหญ่โตตามหน้าหนังสือพิมพ์ หาว่าถวัลย์เป็นศิลปินผีบ้าลบหลู่ศาสนา เพราะมีภาพเรือนร่างของมนุษย์อันเปลือยเปล่า อยู่ร่วมเฟรมกับภาพวัด พระพุทธรูป และพระสงฆ์ ทั้ง ๆ ที่ถวัลย์ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น และในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันก็มีนักเรียนอาชีวะแห่กันมาเอาคัตเตอร์กรีดทำลายภาพวาดจนขาดวิ่นเสียหาย ทำเอาถวัลย์เข็ดขยาดตัดขาดจากการแสดงในประเทศไทยไปนานหลายปี

 

แตกฉานในศิลปะวิทยาการรอบด้าน

นอกจากฝีมือในเชิงจิตรกรรมที่ไม่เป็นรองใคร ถวัลย์ยังมีฝีไม้ลายมือทางด้านวรรณกรรมชนิดที่หาตัวจับยาก เวลาถวัลย์เขียนบทกลอน หรือข้อความพรรณนาอะไร ภาษาที่เลือกใช้ รวมถึงเนื้อหาล้วนแล้วแต่วิเศษไม่ต่างอะไรกับผลงานของกวีระดับมืออาชีพ

อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นโบว์แดงของถวัลย์หาใช่ภาพจิตรกรรม บทวรรณกรรม หรืองานศิลปะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่คือ ‘บ้านดำ’ สถานที่ที่รวบรวมความรู้ความสามารถในศาสตร์ทุกแขนงเอาไว้ในที่เดียว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 สมัยที่เพิ่งเรียนจบกลับมาจากเมืองนอกใหม่ ๆ ทุนรอนอะไรก็ยังไม่มี ถวัลย์เริ่มสร้างบ้านโดยการตัดไม้ไผ่ผูกกันเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมสูง ๆ แขวนเขาควายไว้เหนือจั่วเป็นกาแล

เมื่อมีพายุพัดมาที บ้านก็พังทีจนต้องคอยซ่อมแซมอยู่เรื่อย ๆ หลังจากนั้น อีกหลายปีเมื่อถวัลย์เริ่มมีรายได้เป็นกอบเป็นกำถึงได้รื้อบ้านเดิมออกและสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยไม้จริงทั้งหลังในรูปแบบไทยล้านนาประยุกต์ ทุกอย่างที่นี่ ถวัลย์ออกแบบด้วยตนเองทั้งหมดในสไตล์ที่คิดเองจึงผิดแผกแหวกแนวไม่เหมือนใคร ทั้งเส้นสายของหลังคา เชิงชาย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประตู หน้าบัน ป้านลม คันทวย หรือแม้แต่ของตกแต่งภายในทั้งเก้าอี้ โต๊ะ ตู้ ตั่ง เตียง หอก มีด ดาบ ล้วนแล้วแต่บรรจงออกแบบมาอย่างวิลิสมาหราและน่าเกรงขามตามแบบของถวัลย์ไม่มีผิดเพี้ยน

ถวัลย์ทยอยสร้างบ้านทีละหลังไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบัน บ้านดำมีอาคารหน้าตาแตกต่างกันราว 40 หลัง แต่ละหลังก็มีชื่อตั้งตามลักษณะไว้อย่างเพราะพริ้ง เช่น บ้านดำกาแลเกี่ยวฟ้า อูปเปลวปล่องฟ้า อูปหยาดน้ำตาบนแก้มกาลเวลา อูปนอแรดในรุ้งดาว

อาคารที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า มหาวิหาร ทั้งหมดตั้งอยู่ ณ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมประจำจังหวัดที่ดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวโลกให้มาเยี่ยมเยียนนับพัน ๆ คนในแต่ละวัน สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล

ภาพจาก theartauctioncenter.com/

จักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบ ศิลปินไทยผู้ครองสถิติผลงานราคาสูงที่สุด

ตั้งแต่วัยหนุ่มเมื่อถวัลย์ตัดสินใจประกอบอาชีพศิลปินอิสระ โดยเรียกตัวเองอย่างถ่อมตนว่าเป็น ‘ช่างวาดรูป’ ถวัลย์สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับ ได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้รับรางวัลทางศิลปะทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติอีกร้อยแปด เช่น รางวัลศิลปวัฒนธรรมแห่งเอเซีย รวมถึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) เมื่อปี พ.ศ. 2544

เงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงและชื่อเสียง ถวัลย์ยังแจกจ่ายเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนศิลปะ สมาคม ชมรมต่าง ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์เป็นประจำทุก ๆ ปีผ่านทางมูลนิธิ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

ถวัลย์ตระเวนแสดงงานไปแล้วทั่วโลก ทั้งใน อเมริกา อาร์เจนตินา เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี โปรตุเกส ออสเตรีย ฝรั่งเศส สเปน อิสราเอล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ครั้งหนึ่งเจ้าชายเยอรมันนามว่า เฮอร์มันกราฟ ฟัน ฮาร์ดเฟลด์ ยังเคยเชิญถวัลย์ให้ไปวาดภาพประดับปราสาทคอร์ททอร์ฟ (Gottorf Castle) ของพระองค์ ในช่วงปีพ.ศ. 2519 -2520

ถวัลย์ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในปราสาทอายุ 700 ปีแห่งนี้ จนเมื่อเสร็จสิ้นก็เป็นที่ถูกอกถูกใจเจ้าชายมากจนถึงกับมอบเช็กเปล่าให้ถวัลย์ไปเขียนตัวเลขจำนวนเงินเอาเองเพื่อเป็นค่าตอบแทน

สมัยที่ถวัลย์ยังมีชีวิตอยู่ ผลงานประเภทที่ปาดฉุบฉับไม่กี่นาทีนั้นขายได้สบาย ๆ รูปละราวครึ่งล้าน ส่วนประเภทอื่น ๆ ที่ค่อย ๆ วาดนั้นมีราคาสูงกว่านี้หลายเท่า ถ้าคำนวณกันเป็นนาที ถวัลย์น่าจะเป็นศิลปินไทยที่ค่าตัวแพงที่สุด ตราบถึงทุกวันนี้ ถวัลย์ก็ยังครองอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่น ในรายชื่อศิลปินสัญชาติไทยที่ทำสถิติราคาสูงที่สุดในงานประมูลทั้งในเมืองไทย และเมืองนอก ภาพวาดขนาดใหญ่ยังมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันในหลักหลายสิบล้านบาทอยู่บ่อย ๆ

ถวัลย์สร้างผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบอย่างสม่ำเสมอมาตลอดชีวิตด้วยความรัก แม้ในวาระสุดท้ายขณะที่นอนป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาลก็ยังขอกระดาษกับปากกามาเขียนภาพ และแล้วถวัลย์ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557 สิริอายุได้ 74 ปี ปิดตำนานจักรพรรดิแห่งผืนผ้าใบจากดอยสูง หนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงและความสามารถมากที่สุดที่ประเทศไทยของเราเคยมีมา

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ภาพ ‘วิทรูเวียนแมน’ ของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่เพิ่งเผยสู่โลกกว้าง ทำไมราคาพุ่งแตะ 25.5 ล้านบาท

 

เรื่อง: ตัวแน่น

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHTO ประกอบกับภาพจาก theartauctioncenter.com