15 ก.พ. 2566 | 16:20 น.
- ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) ผู้กำกับสไตล์ชัดที่สำเร็จการศึกษาด้านมานุษยวิทยาจาก Harvard แต่ลึกลงไปแล้วหลงรักศิลปะ
- ต้องเชิญชวนคนรอบตัวมาลงทุนคนละ 100 ดอลลาร์เพื่อสร้าง Pi ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก
- การตัดต่อเพื่อปั่นหัวผู้ชมในแบบฉบับของอโรนอฟสกีที่เห็นได้จาก Requiem for a Dream
- สายตาอันเฉียบแหลมกับการดึงเอา เบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) มาแสดงในบทนำภาพยนตร์เรื่อง The Whale
ภาพยนตร์เรื่อง The Whale นับว่าเป็นการพิสูจน์ตัวเองและการกลับมาสู่แนวหน้าฮอลลีวูดอย่างสง่างามของ เบรนแดน เฟรเซอร์ (Brendan Fraser) พระเอกแห่งยุค 90s กับภาพจำในบทบาทจากภาพยนตร์เรื่อง The Mummy ก่อนที่จะจางหายไปหลังมีประเด็นการถูกคุกคามทางเพศ ไม่เพียงแค่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้เขากลับมาอยู่ในสปอตไลท์ของวงการอีกครั้ง แต่มันยังทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาการแสดงเป็นครั้งแรกในชีวิตอีกด้วย
ผู้คนมากมายพากันพูดถึงชื่อเฟรเซอร์เมื่อได้เห็นภาพยนตร์เรื่อง The Whale แต่หารู้ไม่ว่าผู้อยู่เบื้องหลังวิสัยทัศน์ของเรื่องราวเรียกน้ำตาดังกล่าวก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กันเลยแม้แต่น้อย เขาคือผู้กำกับที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ดราม่าสไตล์ชวนปั่นประสาทผู้ชมอย่าง Requiem for a Dream, Black Swan, และ Mother! แม้จะถือเป็นผู้กำกับยุคใหม่ แต่เขาก็ถือว่าเป็นผู้กำกับคนหนึ่งที่มีสไตล์เฉพาะตัวสูงเป็นอย่างมาก เขาคนนั้นคือ ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky)
ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับเรื่องราวของเขา ผู้กำกับที่จบด้านมานุษยวิทยาจากฮาร์วาร์ดกับความรักในศิลปะที่ซ่อนอยู่ภายใน, เรี่ยไรเงินคนรอบตัวคนละ 100 ดอลลาร์เพื่อสะสมเป็นทุนในการสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก, สไตล์การตัดต่อเฉพาะตัวที่กลายเป็นเอกลักษณ์จนใคร ๆ ก็พากันจำได้ รวมถึงสายตาอันเฉียบแหลมของเขาที่ตัดสินใจแคสต์ เบรนแดน เฟรเซอร์ มาแสดงในบทบาทที่เขาหาคนที่เหมาะสมพอมาแสดงเป็นเวลากว่า 10 ปี
พบรักกับหนังที่ฮาร์วาร์ด
ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับสไตล์จัดที่ชื่อถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เส้นทางของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย หากย้อนกลับไปตั้งแต่ในวัยเด็ก เขาไม่มีแม้แต่ภาพในหัวด้วยซ้ำว่าในอนาคต ตนเองจะกลายมาเป็นนักเล่าเรื่องผ่านจอเงิน จนได้มาก่อตั้งบริษัทภาพยนตร์ของตัวเองนามว่า Protozoa
ดังที่เราบอกว่าเส้นทางการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของอโรนอฟสกีไม่ได้อยู่ในหัวของเขาตั้งแต่ทีแรก นอกจากนั้นอโรนอฟสกีเองก็ไม่ได้จบการศึกษาจากด้านภาพยนตร์โดยตรงอีกด้วย เขาจบการศึกษาด้านมานุษยวิทยา (Anthropology) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)
ในตอนแรกอโรนอฟสกีได้เลือกเรียนในด้านสังคมวิทยา (Sociology) แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เขาก็สัมผัสได้ลึก ๆ ว่าการเรียนด้านสังคมวิทยาอาจจะไม่ใช่เส้นทางที่ตอบโจทย์เขาสักเท่าไร เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนเอกไปเรียนด้านมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology) แทน - และนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญของอโรนอฟสกีที่ทำให้เขาสามารถเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของคนในหนังของเขาได้อย่างน่าสนใจ
หลังจากที่ได้เลี้ยวเส้นทางการศึกษาไปด้านมานุษยวิทยา อโรนอฟสกีก็ได้ลองไล่ตามความสนใจในศิลปะของเขาด้วยการยื่นสมัครคลาสเรียนด้านการงานประติมากรรมและด้านภาพยนตร์ด้วย แต่โชคร้าย (หรืออาจจะโชคดี) ที่มีเพียงแค่อย่างหลังรับเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
“มันถือเป็นคลาสแรกเลยที่ทำให้ผมไม่หลับไม่นอนยามกลางคืน”
และจุดนั้นเองที่ทำให้นักศึกษาด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้พบกับเส้นทางและเป้าหมายที่เขาอยากพุ่งไปหาอย่างแท้จริง - ภาพยนตร์
เรี่ยไรคนละ 100 ดอลลาร์เพื่อสร้าง ‘Pi’
หลังจากที่ค้นพบแล้วว่าตัวเองชอบอะไร หลังจากที่อโรนอฟสกีสำเร็จการศึกษาในปี 1991 เขาก็ได้มุ่งหน้าไปศึกษาเพิ่มด้านการทำหนังที่ American Film Institute (AFI) จนได้มีโอกาสฟูมฟักโปรเจกต์ของตัวเองจนกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 1998 เรื่อง ‘π’ หรือ ‘Pi’
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์ที่แจ้งเกิดให้อโรนอฟสกีในฐานะผู้กำกับที่มีสไตล์เฉพาะตัว ผสานกับเทคนิคปั่นประสาทที่สามารถทำให้ผู้ชมปวดหัวไปกับตัวละครได้ โดย Pi เป็นภาพยนตร์ขาว-ดำที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ แม็กซ์ นักคณิตศาสตร์ที่หมกมุ่นในการหาคำตอบและเชื่อมโยงตัวเลขต่าง ๆ เข้ากับสิ่งรอบกายจนต้องเผชิญกับความสยองที่อยู่ภายในหัวของเขาเอง
ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็พาให้ ดาร์เรน อโรนอฟสกี คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในงาน Sundance Film Festival มาครองได้อย่างสวยงาม และมันยังเป็นหนึ่งภาพยนตร์อินดี้แหวกแนวที่ควรลองดูสักครั้งหนึ่งในชีวิต (แต่จะชอบหรือไม่ชอบก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
แต่หลายคนก็คงจะทราบดีกันอยู่แล้วว่าการจะทำหนังขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหนังที่สร้างโดยผู้กำกับโนเนมที่น้อยคนจะรู้จัก แต่ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่อยากจะสร้างภาพยนตร์ของตัวเองขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง อโรนอฟสกีจึงได้ตัดสินใจส่งจดหมายไปหาคนรอบตัวที่เขารู้จักเพื่อเชิญชวนมาลงทุนในภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา
อโรนอฟสกีได้ขอพวกเขาแต่ละคนช่วยกันสมทบคนละ 100 ดอลลาร์ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากหนังไม่เจ๊งไปเสียก่อน เขาเหล่านั้นจะได้เงินคืนกันคนละ 150 ดอลลาร์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมา 50% ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่มาก เฉกเช่นเดียวกับระดับความเสี่ยง แต่ถึงกระนั้นก็มีใครหลายคนกล้าวางเงินจนรวมได้เป็นทุนสร้างกว่า 60,000 ดอลลาร์
ในด้านของทีมงาน อโรนอฟสกีได้ตั้งเงื่อนไขว่าทีมงาน ‘ทุกคน’ ตั้งแต่ผู้ช่วยผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ทีมอำนวยความสะดวกในกองถ่าย รวมไปถึงนักแสดง จะได้ส่วนแบ่งของส่วนกำไร 50% ที่แบ่งเอาไว้อย่างเท่ากันทุกคน นั่นหมายความว่าแทบทุกคนจะได้รับประโยชน์ไปด้วยหากภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีทีมงานหลายคนสมัครใจมาร่วมเสี่ยงไปกับอโรนอฟสกีด้วย
และด้วยความกล้าเสี่ยงของผู้ร่วมลงทุนและทีมงานทุกคน รวมถึงความกล้าหาญที่กล้าเชิญชวนใครหลายคนมาร่วมเสี่ยงด้วยกัน จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Pi สำเร็จลุล่วงเป็นชิ้นเป็นอันและกลายเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่มีใครหลายคนพูดถึงและให้ความสนใจ ทั้งยังทำให้ดาร์เรน อโรนอฟสกี เปิดตัวในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ได้อย่างสง่างาม และได้ปูทางให้เขาได้โอกาสไปทำภาพยนตร์เรื่องถัดไป ซึ่งเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ไม่ผิดนักที่จะนิยามมันว่า ‘ดีที่สุด’ ของเจ้าตัว
‘Requiem for a Dream’ ภาพยนตร์ที่มีจำนวนคัตมากถึง 2,000 ครั้ง
แม้ว่า Pi จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอโรนอฟสกี และยังเป็นเรื่องแรกที่เปรียบเสมือนบทพิสูจน์ในความสามารถของอโรนอฟสกีในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีสไตล์เฉพาะตัวไม่ซ้ำจำเจ แต่ภาพยนตร์เรื่องถัดไปของเขาอย่าง Requiem for a Dream (2000) ถือเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญที่โดดเด่นที่สุด (อาจจะโดดเด่นที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่เขากำกับเสียด้วยซ้ำ)
อาจจะมีความแตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องแรก (และภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ต่อจากนี้) ของอโรนอฟสกีที่จะมุ่งเน้นเล่าเรื่องราวจากมุมมองของตัวละครเอกเพียงตัวเดียว เพราะใน Requiem for a Dream - ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาดัดแปลงมาจากนวนิยายปี 1978 ที่ประพันธ์โดย ฮิวเบิร์ต เซลบี จูเนียร์ (Hubert Selby Jr.) - ผู้ชมจะได้รับชมเรื่องราวและชะตากรรมของตัวละครจำนวน 4 คนด้วยกัน… แต่ทั้ง 4 คนนั้นล้วนเผชิญกับฝันร้ายเดียวกัน - บทสรุปของการข้องเกี่ยวกับยาเสพติด
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาผู้ชมไปดูชีวิตของคนทั้ง 4 ที่ค่อย ๆ ดำดิ่งลงไปในห้วงของยาเสพติดจนถอนตัวไม่ขึ้น และราคาที่ต้องจ่ายกับการตัดสินใจเลือกเส้นทางดังกล่าวก็คือความฝันของพวกเขาเองดังชื่อเรื่อง ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาชวนหดหู่ที่สุดก็ว่าได้ แต่ปัจจัยที่ทำให้ Requiem for a Dream เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นเอามาก ๆ อาจจะไม่ใช่เนื้อหาที่หดหู่เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้เรื่องราวเหล่านั้นถูกนำเสนอออกมาอย่างทรงพลังคือ ‘การตัดต่อ’
โดยเฉลี่ยแล้ว สำหรับภาพยนตร์ความยาวประมาณ 100 นาทีจะมีจำนวนการคัตภายในเรื่องประมาณ 600 - 700 ครั้ง แต่สำหรับจำนวนการคัตใน Requiem for a Dream มีจำนวนมากถึง 2,000 ครั้ง หมายความว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการตัดภาพไป - มาจำนวนหลายครั้งเอามาก ๆ มากกว่าค่าเฉลี่ยราว 3 เท่าตัว
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่น่ายกมาพูดถึงก็คงเป็นการตัดต่อแบบ ‘Hip-Hop Montages’ ที่มักถูกใช้เวลาตัวละครกำลังใช้ยาเสพติด ซึ่งจะเป็นการตัดภาพไปมาด้วยความเร็วสูง - แต่ละคัตจะมีความยาวประมาณครึ่งวินาที - โดยที่สมองของผู้ชมอาจจะไม่ทันรู้เลยด้วยซ้ำว่าภาพที่เห็นคืออะไรกันแน่ เพราะทั้งภาพและเสียงมาและไปอย่างรวดเร็ว สิ่งเดียวที่คนดูจะสัมผัสได้อาจจะเป็นความรู้สึกงุนงงหรือกระวนกระวาย หรือความรู้สึกที่เราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่เห็นอยู่ข้างหน้าได้ เฉกเช่นเดียวกับตัวละครที่กำลังถูกยาเสพติดกลืนกินเข้าไป - บางทีเขาอาจจะไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัวแต่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย… สามารถตอบได้ตามตรงเลยว่ารสชาติที่จัดจ้านของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการตัดต่อนี่แหละ
หากสงสัยว่า Hip-Hop Montages เป็นอย่างไรสามารถไปลองดูได้ที่วิดีโอด้านล่างนี้
นอกจากสไตล์การตัดต่อจะโดดเด่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นที่นิยมอย่างมากก็ต้องยกให้ Lux Aterna เพลงประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประพันธ์โดย คลินต์ แมนเซลล์ (Clint Mansell) ผู้อ่านหลายคนอาจจะนึกไม่ออกเมื่อเราเอ่ยถึง แต่หากได้ลองเปิดฟังแล้วละก็น่าจะร้องอ๋อกันอย่างแน่นอน เพราะเสียงไวโอลินอันแสนหดหู่ในเพลงนั้นถูกนำไปเรียบเรียงอยู่บ่อยครั้ง แต่เวอร์ชันที่คุ้นหูที่สุดก็คงเป็นเวอร์ชันสุด epic ที่ถูกใช้ในตัวอย่างภาพยนตร์ The Lord of the Rings: The Two Towers (2002)
‘The Whale’ กับปรากฏการณ์ ‘Brenaissance’
แรงบันดาลใจในการอยากจะนำเอาบทละครเวทีเรื่อง The Whale มาสร้างเป็นภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ย้อนกลับไปในปี 2012 ณ โรงละครเล็ก ๆ ในมหานครนิวยอร์ก ละครเวทีเรื่องดังกล่าวกำลังถูกเล่นอยู่ มันอาจจะไม่ได้เป็นละครที่ดังและเป็นกระแสมากเท่าไรนัก แต่มันเป็นเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของผู้ประพันธ์อย่าง ซามูเอล ดี. ฮันเตอร์ (Samuel D. Hunter) ในประเด็นปัญหาสุขภาพจากความอ้วนและความรักในเพศเดียวกัน
ดังที่กล่าวว่าแม้มันอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่และแพร่หลายมากจนคนหมู่มากรู้จัก แต่ในโรงละครที่ละครเรื่องดังกล่าวได้ถูกเล่น ดาร์เรน อโรนอฟสกี ก็อยู่ที่นั่นด้วย และเรื่องราวสุดแสนดราม่าของชายอ้วนที่พยายามจะต่อติดความสัมพันธ์กับลูกสาวของเขา และมันก็กินใจทุกคนในนั้น รวมถึงอโรนอฟสกีด้วย
แต่ปัญหาเดียวที่ทำให้เขาไม่สามารถแปลงมันมาสู่ภาพยนตร์ได้ก็เป็นเพราะว่าเขายังไม่สามารถหานักแสดงที่เหมาะสมมากพอมารับบทบาท ชาร์ลี (Charlie) ชายร่างอ้วนผู้โดดเดี่ยวซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง อโรนอฟสกีได้ให้สัมภาษณ์ ABC News ว่าไม่มีนักแสดงคนไหนเลยที่โดนใจเขามากพอ… จนกระทั่งเขาได้ผ่านมาเจอกับตัวอย่างภาพยนตร์ทุนต่ำเรื่อง Journey to the End of the Night (2006)
ในภาพยนตร์เรื่องนั้นคือนักแสดงที่ย้อนกลับไปในยุคทศวรรษ 1990 น้อยคนที่จะไม่รู้จักเขา แต่เขาก็ได้เฟดตัวออกจากแนวหน้าของฮอลลีวูดไปหลังจากที่ต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาการคุกคามทางเพศในอุตสาหกรรม เขาคือ เบรนแดน เฟรเซอร์ พระเอกสุดหล่อจาก The Mummy
หลังจากที่ได้เห็นหน้าของเฟรเซอร์ ก็เสมือนกับเขาได้ปิ๊งไอเดียบรรเจิดขึ้นมาในทันที มันทำให้เขาคิดว่า “เออว่ะ ทำไมเราถึงไม่เคยนึกถึงเบรนแดนเลยนะ” และหลังจากที่ได้ทาบทามเขาให้มารับบทชาร์ลี เฟรเซอร์ก็ได้มาหาอโรนอฟสกีที่ออฟฟิศของเขา และทันทีที่ได้พบกับเฟรเซอร์ เขาก็รู้ทันทีว่า ‘คนนี้แหละใช่’
อโรนอฟสกีบรรยายว่าเขาสัมผัสได้ว่าเฟรเซอร์คือบุคคลที่เหมาะสมกับบทนี้อย่างแท้จริง เพราะเขาเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในแววตาของเฟรเซอร์ เพราะหลังจากที่รับบทบาทในภาพยนตร์ทุนต่ำและรายการทีวีที่ไม่ได้โด่งดังอะไร การได้มีโอกาสหวนคือสู่จอเงินบนหน้าฮอลลีวูดอีกครั้งย่อมเป็นโอกาสที่บุคคลคนนี้คงลงแรงมันอย่างเต็มที่
และมันก็เป็นดังที่อโรนอฟสกีคิด เขาเลือกไม่ผิดคน เบรนแดน เฟรเซอร์ คือคนคนนั้นจริง ๆ ดังที่เราเห็นว่าเขาได้รับรางวัลมากมายหลังจากที่ The Whale ได้ฉายในงานเทศกาลต่าง ๆ เขาได้รับการยืนปรบมือ (Standing Ovation) หลังภาพยนตร์จบลงยาวนานกว่า 6 นาที และยังส่งให้เฟรเซอร์เป็นนักแสดงเต็งรางวัลออสการ์ครั้งแรกในชีวิตในชั่วพริบตา
หลายคนถึงกับพากันนิยามการกลับมาอย่างสง่างามในครั้งนี้ของ เบรนแดน เฟรเซอร์ ว่า ‘Brenaissance’ หรือ ‘เบรนเนซองส์’ ซึ่งล้อไปกับชื่อยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ ‘Renaissance’ (เรเนซองส์) ซึ่งก็เป็นคำนิยามที่ไม่แปลกนัก เพราะ The Whale คือหมุดหมายแห่งการฟื้นฟูชื่อเสียงและฝีมือของ เบรนแดน เฟรเซอร์ อย่างแท้จริง...
ภาพ : Jamie McCarthy / Staff - Getty Images
ภาพยนตร์ The Whale
ภาพยนตร์ Requiem for a Dream
อ้างอิง :
The Untold Truth Of Darren Aronofsky - The Looper
An Interview with Darren Aronofsky and Sean Gullette of ‘Pi - Indie Wire
Why the Unconventional Editing of 'Requiem for a Dream' Is Considered 'Good' - No Film School
The Whale director Darren Aronofsky reveals why he cast Brendan Fraser and responds to accusations of fatphobia - ABC News