เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าใน ‘The Glory’ แผลที่ยากลบของเด็กสาวที่ประสบชะตาเหมือน ‘มุนดงอึน’

เรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าใน ‘The Glory’ แผลที่ยากลบของเด็กสาวที่ประสบชะตาเหมือน ‘มุนดงอึน’

เปิดเรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าในซีรีส์ 'The Glory' และบาดแผลที่ยากลบเลือนของเด็กสาวที่หลายสื่อเชื่อว่า เธอเป็นแรงบันดาลใจในฉากทำร้ายร่างกายด้วยเครื่องหนีบผม ในวันที่มหากาพย์การแก้แค้นของ ‘มุนดงอึน’ เดินทางมาถึงบทสุดท้าย

  • ‘ปาร์คซองมิน’ ที่ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งด้วยการใช้เครื่องหนีบผมหนีบแขน ยังไม่กล้าดูซีรีส์ The Glory จนถึงวันนี้ 
  • เพื่อนบางคนที่ทำร้ายเธอ มีคนหนึ่งเรียนจบมาเป็นพยาบาล ส่วนอีกคนเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในขณะที่เธอต้องอยู่กับแผลเป็นทั้งบนร่างกายและจิตใจ 

ในที่สุดมหากาพย์การแก้แค้นของ ‘มุนดงอึน’ ก็เดินทางมาถึงบทสุดท้ายแล้ว แฟนซีรีส์ ‘The Glory’ ที่นับวันนับคืนรอชมจุดจบของแก๊งตัวร้าย สิ้นสุดการรอคอยในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2556 ทันทีที่เน็ตฟลิกซ์สตรีมซีรีส์พร้อมกันทั่วโลก 

ทว่าเรื่องราวที่ดำเนินมาถึงปัจฉิมบท กลับชวนให้เรานึกถึงปฐมบทของวังวนความแค้น นั่นคือการ “บูลลี่” (bully) หรือการข่มเหงรังแก ที่สร้างแผลเป็นฝังลึกทั้งบนร่างกายและจิตใจ 

ก่อนที่ The Glory พาร์ท 2 จะสตรีม เหยื่อจากการบูลลี่ที่หลายสื่อเชื่อว่าเป็นแรงบันดาลใจของหลายฉากในซีรีส์เรื่องนี้ ได้ออกมาเปิดใจเล่าเรื่องราวของตัวเอง

เมื่อปี 2006 ‘ปาร์คซองมิน’ (Park Sung-min) ถูกเพื่อนร่วมชั้นใช้เครื่องหนีบผมหนีบเข้าที่แขนจนเป็นรอยไหม้เช่นเดียวกับมุนดงอึน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอปักใจเชื่อว่า ตัวเองเป็นแรงบันดาลใจของฉากความรุนแรงในโรงเรียนที่ปรากฏใน The Glory 

ซองมินเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ตอนที่เธออยู่ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในเมืองช็องจู เธอถูกทำร้ายร่างกายด้วยการใช้เครื่องหนีบผมหนีบเข้าไปที่แขน... ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่มากกว่า 5 ครั้ง 
 

เหตุการณ์นี้ยังคงฝังใจเธอ จนเธอไม่กล้าดู The Glory เพราะยังรู้สึกผวาอยู่ 

ซองมินเล่าว่า ด้วยความที่เธอตัวเล็กกว่าเพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ เธอจึงถูกข่มเหงด้วยการไถเงิน ซึ่งในช่วงแรกเธอก็ยอมให้ไปทีละน้อย ๆ กระทั่งพวกเขาได้ใจ จึงขูดรีดเธอมากขึ้น พร้อมขู่ว่าถ้าไม่ให้ พวกเขาจะทำร้ายน้องชายของเธอ

เมื่อพิธีกรถามว่าตอนนี้คนที่กลั่นแกล้งเธอเป็นยังไงบ้าง เธอตอบว่าเธอตามส่องพวกเขาทางโซเชียลมีเดีย บางคนกำลังมีชีวิตที่ดี หนึ่งในนั้นไปเป็นพยาบาล ส่วนอีกคนเป็นนักสังคมสงเคราะห์ 

“มันยิ่งทำให้ฉันโกรธมาก” 

พิธีกรถามซองมินอีกว่า เธอสะดวกใจมั้ยที่จะเปิดรอยไหม้และรอยแผลเป็นให้ดู เธอยอมให้ดูโดยดี แต่ยอมรับว่ารู้สึกไม่สะดวกใจเท่าไหร่

แผลเป็นซึ่งอยู่บนแขนเธอมานาน 20 ปี เป็นหลักฐานความเจ็บปวดที่ฝังลึกจากร่างกายเข้าไปในจิตใจ แม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน 

เธอเล่าด้วยว่า “บางวันพวกเขาก็ใช้ส้อมจิ้มไปทั่วทั้งตัวฉัน มีครั้งหนึ่งที่พวกเขาขว้างส้อมมาที่ตาของฉัน จนม่านตาของฉันฉีก” 

พวกที่รุมกลั่นแกล้งเธอยังช่วยกันโกหกอย่างแนบเนียน พวกเขาอ้างกับคนอื่นว่าเธอต้องการความช่วยเหลือบ้าง บอกว่าเธออยากฆ่าตัวตายบ้าง ที่ร้ายสุดคือบอกว่าเธอต้องการความช่วยเหลือจากพวกเขา 

ด้วยความกลัวว่าน้องชายจะถูกทำร้าย บางครั้งเธอต้องไปอยู่ที่บ้านของเด็กเหล่านั้น แล้วก็ถูกรุมทำร้ายร่างกายนานหลายวัน 

 

ความสะบักสะบอมของร่างกาย ปรากฏเด่นชัดในภาพถ่ายวันจบการศึกษา 

“จากภาพถ่ายจะเห็นได้เลยว่าแผลที่พุพองของฉันมันทะลุเสื้อออกมา ครูของฉันเห็นทั้งเลือดทั้งน้ำเหลือง มันยากมากที่จะแก้ไขเพราะแผลมันติดที่ผ้า ตั้งแต่นั้นมาฉันก็นอนไม่หลับร่วม 6 เดือน”

เธอไม่สามารถลืมช่วงเวลาที่แสนทุกข์ทรมานเหล่านั้น และในเวลาต่อมาก็กลายเป็นคนที่ไม่ไว้ใจใคร แม้จะมีเพื่อนบางคนอยู่เคียงข้างก็ตาม 

เมื่อถามว่าคนที่กลั่นแกล้งเธอได้รับการลงโทษหรือไม่ เธอตอบว่ามีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกลงโทษ แต่ก็เป็นโทษที่ไม่ได้หนักหนา เป็นเพียงการทำงานอาสาให้ครบ 40 ชั่วโมง และถูกพักเรียน 1 สัปดาห์ 

ส่วนที่เลวร้ายของเรื่องยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เธอเล่าว่าพวกผู้ใหญ่ต่างพากันโทษเธอ พวกเขาบอกว่าเธอต้องทำอะไรผิดสักอย่างถึงโดนรุมกลั่นแกล้งเช่นนี้ ไม่ต่างจากชะตากรรมของมุนดงอึนที่ถูกผู้ใหญ่ตำหนิ หนำซ้ำคนที่ทำร้ายยังยิ้มเยาะใส่ในขณะที่ต้องขอโทษ (เป็นพิธี) 

ซองมินบอกว่า เธออยากจะแก้แค้นคนที่กลั่นแกล้งเธอด้วยการไปปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง กลัวใครจะล่วงรู้ว่าเคยทำอะไรไว้ในอดีต 

ในมุมของซองมิน เธอมองว่านี่เป็นวิธีแก้แค้นที่ดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วเธอเพียงต้องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและลืมฝันร้ายที่เกิดขึ้น  

แต่ฝันร้ายและบาดแผลเหล่านี้จะสามารถลบออกได้หรือไม่?

‘พอล ยองบิน คิม’ อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยซีแอตเทิล แปซิฟิค มองผ่านซีรีส์ Tlhe Glory ว่า บาดแผลภายในจิตใจของมุนดงอึนนั้น เจ็บปวดและฝังลึกไม่แพ้บาดแผลบนร่างกาย จากการศึกษาพบว่าเด็กที่ถูกรังแกจะต้องอยู่กับความทุกข์ทางจิตใจต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต 

แล้วถามว่าผู้ใหญ่จะช่วยเด็กเหล่านี้ได้หรือไม่? กลับพบคำตอบที่ชวนสลดหดหู่ว่า บางครั้งผู้ใหญ่นั่นแหละที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการบูลลี่ 

ฉากที่น่าโมโหมากที่สุดของ The Glory พาร์ทแรก คือฉากที่ครูไม่ช่วยมุนดงอึน แถมยังเมินเฉยใส่เธอทั้งที่รู้ว่าเธอถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งในความเป็นจริงครูประเภทนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน ครูบางคนยังแสดงพฤติกรรมบูลลี่เสียเอง โดยแสดงผ่านคำพูดเฉือดเฉือนทำร้ายจิตใจนักเรียน 

ยิ่งถ้าล้วงลึกไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง The Glory สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่พฤติกรรมบูลลี่หรือกลั่นแกล้งคือ “ความแตกต่างทางฐานะ” ระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อ 

อย่างไรก็ตาม ยองบินคิมแสดงความกังวลว่า ตัวละครมุนดงอึนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรง วางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อชำระแค้นคนที่บูลลี่เธอ อาจทำให้เกิดการเหมารวมว่า เหยื่อบูลลี่ทุกคนจะเป็นเหมือนมุนดงอึน ทั้งที่แต่ละคนมีปัจจัยภายในแตกต่างกัน เช่น ผลกระทบที่มีต่อจิตใจ และความนับถือตนเอง 

ในกรณีของมุนดงอึนมีการวิเคราะห์ว่าเธออาจมีอาการของ ‘โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะทือนขวัญ’ หรือ ‘PTSD’ (Post-traumatic stress disorder) ซึ่งเป็นสภาวะป่วยทางจิตใจที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต 

เธอแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความเดือดดาลภายในจิตใจ การมองโลกอย่างไร้ความเมตตา ความไม่ไว้ใจผู้อื่น ความสันโดษ การมองเห็นภาพรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา และความหมกมุ่นที่มีต่อผู้ที่รังแกเธอ ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านประโยคที่เธอกล่าวกับป้าผู้ช่วย

“ฉันกลัวว่าฉันจะลืมสิ่งที่ควรทำ หากฉันเริ่มหัวเราะออกมา” 

แต่สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์ไม่ได้บอกคือ การแก้แค้นแบบอาฆาตมาดร้ายไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่ช่วยให้หลุดพ้นจากความทรงจำที่หลอกหลอน เพราะบางคนก็เลือกใช้วิธีพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งก็นับเป็น "การแก้แค้นอันแสนหอมหวาน"

จริงอยู่ที่รอยแผลนั้นอาจคงอยู่ชั่วชีวิต แต่วันหนึ่งเมื่อเราหายดีแล้ว แผลเป็นเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกล้าหาญที่คอยย้ำเตือนว่าเราได้ก้าวผ่านความเลวร้ายอะไรมาบ้าง 

มุนดงอึนอาจบรรลุความปรารถนาของตัวเองในพาร์ทที่ 2 ของ The Glory แต่ท้ายที่สุดเธอก็เป็นเพียงตัวละครที่เราเชียร์ให้จัดการเหล่าตัวร้ายอย่างสาสม

ทว่าในชีวิตจริงเราต่างหวังให้ทุกคนที่มีชะตากรรมเหมือนมุนดงอึน ได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่และความยุติธรรมตามกฎหมาย อวยพรให้คนเหล่านี้ได้ใช้ชีวิตใหม่ในสังคมที่ปลอดภัยกว่าเดิม 

 

อ้างอิง:

sportskeeda

psychologytoday

korean-binge