23 มี.ค. 2566 | 16:17 น.
- จางม่านอวี้ นักแสดงหญิงขวัญใจชาวเอเชียอีกรายที่เริ่มต้นเส้นทางบันเทิงจากเวทีนางงาม เมื่อประกวดเวทีมิสฮ่องกง
- จางม่านอวี้ พยายามและอดทนกับการแสดงอย่างมากจน เฉินหลง ยอมรับเธอเป็นน้องสาวอีกคน
‘แจกัน’ ในภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นคำเปรียบเปรยนักแสดงที่มีคุณค่าแค่ตัวประดับในภาพยนตร์ มิใช่ตัวเอกหรือดาราที่รับบทอันโดดเด่น คำว่าแจกันนั้นนับว่าเป็นประโยคที่ดูแคลนความสามารถของนักแสดงผู้หนึ่งได้อย่างเจ็บแสบ และเป็นคำที่บรรดานักข่าวในฮ่องกงยุค 70s – 80s นิยมใช้กัน
ย้อนไปในช่วงต้นยุค 80s มีดาราสาวท่านนึงถูกเปรียบเปรยด้วยคำว่า ‘แจกัน’ นี้เช่นกัน เธอคือ ‘จางม่านอวี้’
ในฤดูร้อนปี 1982 จางม่านอวี้ในวัย 18 ปีเป็นเพียงเด็กสาวชาวฮ่องกงที่ไปเติบโตที่อังกฤษ ความเชื่อมโยงหนึ่งเดียวระหว่างเด็กสาวกับฮ่องกงคือ ดาราหนุ่ม หวงเย่อหัว
จางม่านอวี้ เดินทางกลับมายังบ้านเกิดเพื่อที่จะรับชมคอนเสิร์ต ดาราที่เธอชื่นชอบ และในวันนั้น เธอก็ได้ถูกแมวมองทาบทามและชักชวนเธอเข้ามาสู่วงการบันเทิง
ในปี 1983 จางม่านอวี้ ได้เข้าประกวด มิสฮ่องกง และได้ตำแหน่งรองอันดับหนึ่ง และขวัญใจช่างภาพ ต่อมาเป็นตัวแทนฮ่องกงเข้าประกวดมิสเวิลด์ในปีเดียวกันกับหยางจื่อฉุง (มิเชล โหย่ว) เข้าร่วมประกวด
หลังจากนั้น จางม่านอวี้ เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นแสดงละครโทรทัศน์ให้กับทางทีวีบี (TVB) โดยประเดิมละครโทรทัศน์เรื่องแรกอย่าง Rainbow Round My Shoulder (畫出彩虹/1984) ที่แสดงประกบกับหลี่เหลียงเหว่ย
ในยุคนั้นหากใครอยากประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงมักจะเริ่มต้นจากการเป็นนักเรียนการแสดงของทางอาร์ทีวีหรือไม่ก็ทีวีบี แต่จางม่านอวี้กลับมาเริ่มต้นด้วยเส้นทางสายนางงาม แม้จะได้รับการฝึกฝนการแสดงมาบ้าง แต่ค่อนข้างที่จะรวบรัดกว่าบรรดานักเรียนการแสดงคนอื่น ๆ ของทีวีบี
เมื่อผลงานละครเรื่องที่สองของเธอคือเรื่อง ขวัญใจโปลิศ (Police Cadet '84/1984) เหลียงเฉาเหว่ย พระเอกของเรื่องถึงกับดุว่าเธอว่า “หากคิดว่าการแสดงเป็นเรื่องง่าย ๆ คุณก็ควรกลับไปซะ”
จางม่านอวี้ ต้องพยายามใหม่อีกครั้งกับงานแสดงละคร ก่อนที่จะข้ามไปแสดงภาพยนตร์ เรื่อง รักนี้เพื่อเธอ (Behind the Yellow Line /1984) ที่แสดงประกบกับราชาและราชินีเพลงกวางตุ้งในยุค 80s อย่าง ‘เลสลี่ จาง’ และ ‘เหมยเยี่ยนฟาง’ จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เธอสนิทสนมกับดาราทั้งสองอย่างมากในเวลาต่อมา
จางม่านอวี้ รับบทนางเอก ‘อาเมย์’ แฟนสาวของ กูกู๋(เฉินหลง) พระเอกของเรื่องในภาพยนตร์จีนชุด วิ่งสู้ฟัด (A Police Story /1985) ที่มีกันถึงสามภาค และ เอไก่หว่า 2 (Project A 2 /1987) นั่นทำให้เธอเป็นนางเอกประจำภาพยนตร์ของเฉินหลงในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งกว่าจะได้เป็นนางเอกหนังของเฉินหลง ก็นับว่าเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งในชีวิตการแสดงของเธอ
เฉินหลงรู้จักจางม่านอวี้ ในช่วงเวลาที่เขาเตรียมงาน วิ่ง สู้ ฟัด (1985) เมื่อเขาไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงที่ฮอลลีวูด หนทางเดียวคือการกลับมาแสดงภาพยนตร์ในฮ่องกงและสร้างสรรค์สิ่งที่ฮอลลีวูดไม่สามารถทำได้คือ ฉากบู๊เสี่ยงตาย ในตอนนั้น จางม่านอวี้ รู้จักและสนิทสนมอย่างดีกับวิลลี่ ชาน เฉินจื่อเฉียง ผู้จัดการส่วนตัวของเฉินหลง
วิลลี่ ชาน บอกกับเฉินหลง เธอคนนี้แหละจะเป็นนางเอกภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขา การมาถึงของจางม่านอวี้ สร้างความไม่พอใจให้เฉินหลง
ก่อนจะหมดสัญญากับทีวีบี จางม่านอวี้ มาปรึกษาวิลลี่ ชาน ว่า เธอจะทำอย่างไรดี วิลลี่ ชาน เอ็นดูจางม่านอวี้ มาตั้งแต่แรกรู้จัก เขาบอกกับเธอว่าจะเป็นผู้จัดการให้กับเธอ เฉินหลงพอทราบเขาก็ไม่พอใจ เขาไม่เคยแชร์ผู้จัดการกับใครมาก่อน แต่ วิลลี่ ชาน ไม่ได้เป็นเพียงผู้จัดการธรรมดา เขาเป็นคนมากอิทธิพลในวงการภาพยนตร์อย่างแท้จริง ความสำเร็จส่วนใหญ่ทั้งในและนอกวงการภาพยนตร์ล้วนมาจากการดูแลของวิลลี่ ชาน
วันที่ 15 มกราคม 1985 วิลลี่ ชาน เซ็นสัญญาเป็นผู้จัดการจางม่านอวี้ อย่างเป็นทางการ ด้วยเงื่อนไขเดียวของเฉินหลง คือขอแค่เขาดูแลกิจการทุกอย่างของเฉินหลง อย่างเดิมก็พอ
เฉินหลง เลือกนางเอกในวิ่งสู้ฟัดสองคน คือ หลินชิงเสีย และ จางม่านอวี้ สำหรับหลินชิงเสียนั้น เฉินหลง รู้จักเธอมานาน แน่นอนหลินชิงเสีย ปฏิเสธฉากแอกชั่นที่เป็นอันตราย แต่กับจางม่านอวี้เธอกล้าที่จะลองทุกอย่างที่เขาเสนอ
ตอนแรกเฉินหลง ค่อนข้างจะมีอคติกับจางม่านอวี้ พอสมควร เขาไม่เคยแชร์ผู้จัดการกับดาราคนไหน แต่พอวิลลี่ ชาน เอ่ยปาก เขาเองก็ยากที่ขัดได้ เมื่อแรกพบกันเขาเห็นจางม่านอวี้แสดงก็ไม่ค่อยพอใจนัก เขาพยายามหาจุดบกพร่องและให้เธอเริ่มแสดงใหม่อีกหลายเทค แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกองถ่ายของเฉินหลงที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และบรรดาสตันท์ แมน จางม่านอวี้กลับเพิ่มเสียงหัวเราะ และความกลมเกลียวกับบรรดาทีมงานอย่างรวดเร็ว
细水长流能穿石。
สายน้ำที่ละเอียดอ่อนไหลนานวันเข้าแม้หินผาก็ทะลุผ่านได้
หลาย ๆ อย่างที่เฉินหลง เข้มงวดกับเธอ หากเฉินหลง ให้จางม่านอวี้แสดงสามเทคจนเขาพึงพอใจ แต่จางม่านอวี้ จะขอแสดงอีก 3 เทค รวมกันเป็นหกเทค บรรดาสตันท์แมนและทีมงานของเฉินหลงต่างแพ้ใจดาราสาวตัวเล็ก ๆ อย่างจางม่านอวี้
เฉินหลงเองก็เช่นกัน วันหนึ่งเขาเห็นเธอแสดงอย่างเหนื่อยล้า เธอนั่งพักอย่างเหนื่อยอ่อนเหงื่อไคลไหลชุ่มเสื้อผ้า เฉินหลง ยื่นน้ำเปล่าขวดหนึ่งส่งให้กับเธอ เฉินหลง เข้าใจแล้วว่าทำไมวิลลี่ ชาน ถึงยอมเป็นผู้จัดการให้กับจางม่านอวี้ วิลลี่คงเห็นอะไรบางอย่างในตัวจางม่านอวี้ เหมือนกันกับที่เคยเห็นสิ่งนั้นในตัวของเขาในอดีต เขายอมแพ้หัวใจของจางม่านอวี้และรับเธอเป็นน้องสาวคนเล็กอีกคนของเขา
“คราวหน้าถ้าผมมีโอกาส ผมจะให้คุณเล่นหนังของผม” เฉินหลง บอกจางม่านอวี้
เมื่อเธอได้ใจเขา เฉินหลงก็สอนเรื่องความแตกต่างให้กับจางม่านอวี้
“พี่เป็นบรู๊ซ ลี ไม่ได้ ไม่มีใครประสบความสำเร็จในแนวทางเดียวกันกับคนที่เคยประสบความสำเร็จได้โดยเฉพาะกับงานแสดง มิเชล(หมีเซียะ) ประสบความสำเร็จมากกับบทอึ้งย้ง ไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จในบทบาทอึ้งย้งมากกว่าเธอ
แต่รู้ไหมทำไมองเหมยหลิง ถึงประสบความสำเร็จมากกว่ามิเชลได้ นั่นไม่ใช่เพราะเธอแสดงดีกว่ามิเชลนะ แต่เธอแสดงแตกต่างกับมิเชล องเหม่ยหลิง ตีความบทอึ้งย้งใหม่ เธอทำลายบทอึ้งย้งที่มิเชล เคยแสดงไปหมดสิ้นและสร้างอึ้งย้งของเธอเอง”
คำพูดนั้นเหมือนดั่งเสียงฟ้าร้องก้องหูของจางม่านอวี้ และค้นพบวิธีการใหม่ในการแสดง เธอต้องตีความตัวละครและแสดงตัวละครตัวนั้น ๆ ในรูปแบบของเธอให้ได้ ในตอนแรก จางม่านอวี้ ไม่ชอบเฉินหลงเลย เขาดูเป็นผู้ชายที่ขลุกอยู่แต่กับเพื่อนผู้ชายด้วยกัน มองนักแสดงผู้หญิงเป็นเหมือนคนชั้นสองชั้นสามในชีวิต จนกระทั่งได้คุยกับเฉินหลง อย่างลึกซึ้ง เธอก็รู้สึกว่าเธอได้เรียนรู้บางสิ่งที่เธอไม่สามารถเรียนรู้ได้เมื่อหลายปีก่อน และได้กำไรอย่างมหาศาล
แต่กระนั้นสื่อมวลชนก็ยังเรียกเธอว่า ‘แจกัน’
ในปีถัดมา จางม่านอวี้ ได้แสดงภาพยนตร์กับโจวเหวินฟะ ใน จะสั่งหัวใจให้หยุดรัก (Lost romance /1986) และ กระโชก 6+1 (The Seventh Curse/1986) ซึ่งตอนนั้น โจวเหวินฟะ กำลังดังเป็นหลุแตกจาก โหด เลว ดี (A Better Tomorrow/1986)
เรียกได้ว่าเส้นทางในการแสดงภาพยนตร์ของจางม่านอวี้ นับว่าสดใสยิ่ง เมื่อได้แสดงกับนักแสดงดังอย่างเฉินหลง และโจวเหวินฟะ แต่กระนั้น เธอก็ยังได้รับฉายาว่า ‘แจกัน’ อยู่นั่นเอง
ซึ่งหากยังย้อนไป ทั้งเฉินหลง และโจวเหวินฟะ ต่างเคยถูกตั้งฉายาว่า ‘ความหายนะแห่งจอเงิน’ มาก่อนเช่นกัน
เฉินหลง เติบโตขึ้นมาในวงการภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่เรียกว่า บรูซพลอเทชัน (Bruceploitation) คือ ช่วงเวลาแห่งการหานักแสดงที่มีบุคลิกเหมือนบรูซ ลี มาแทนที่ อาทิ บรูซ เหลียง (เหลียง เสี่ยวหลง หรือ เทพเมฆาอัคคี ใน คนเล็กหมัดเทวดา) ที่ชื่อจีนและอังกฤษ ต่างเลียนตามชื่อของบรูซ ลี (หลี่ เสี่ยวหลง) ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็มีนักแสดงในรูปแบบของบรูซพลอเทชัน (Bruceploitation) เกิดขึ้นมาสิบกว่าคน
เฉินหลง ถูกหมายตาไว้ว่าเขาจะเป็นบรูซ ลี คนที่สอง ผู้กำกับหลอเหว่ย ผู้กำกับไอ้หนุ่มซินตึ๊ง (The Big Boss/1971) ได้เซ็นสัญญากับเฉินหลง ทั้งคู่สร้างภาพยนตร์ร่วมกัน 10 เรื่อง New Fist of Fury (มังกรหนุ่มคะนองเลือด/1976) Shaolin Wooden Men (ถล่ม 20 มนุษย์ไม้/1976) Eagle Shadow Fist (1977) Half a Loaf of Kung Fu (ไอ้หนุ่มหมัดคัน/1977) Killer Meteors (ไอ้ดาวหางจอมเพชรฆาต/1977) To Kill with Intrigue (นางพญาหลั่งเลือดสะท้านภพ/1977) Snake and Crane Arts of Shaolin (ไอ้หนุ่มหมัดทะเล้น/1978) Magnificent Bodyguards (ศึกมันทะลุฟ้า/1978) Spiritual Kung Fu (ไอ้หนุ่มพันมือ ตอน 2/1978) และ Dragon Fist (เฉินหลง สู้ตาย/1978) โดยทั้งหมดนี้ไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่เรื่องเดียว
จนกระทั่ง อู๋ซีหยวน ผู้อำนวยการสร้างแห่ง Seasonal Film Corporation มาขอยืมตัวเฉินหลง จากหลอเหว่ย ไปแสดงภาพยนตร์ของเขา
อู๋ซีหยวน ได้คุยกับเฉินหลง ตัวเฉินหลงเองก็ได้เปิดใจว่า เขาไม่ต้องเป็นบรูซ ลี คนที่สอง แต่เขาอยากเป็นตัวของเขาเอง หากบรูซ ลี เตะสูง เขาสามารถเตะให้ต่ำลงมาหน่อยก็ได้ บรูซ ลี มีลีลา แอกชั่นแบบไม่กลัวเจ็บ แต่ตัวละครที่เขาแสดง เขาอยากให้มันมีเลือดเนื้อที่เจ็บเป็น และสร้างเสียงหัวเราะได้
อู๋ซีหยวน เป็นผู้อำนวยการสร้างคนแรกที่ฟังเฉินหลง เขาปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอภาพยนตร์กังฟู ให้เป็นในรูปแบบของเฉินหลงเอง โดยสร้างภาพยนตร์เรื่อง ไอ้หนุ่มพันมือ (Snake In The Eagle's Shadow/1978) และมันก็กลายเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงของเฉินหลง
จากความหายนะทางจอเงิน ก็กลายเป็นความหอมหวานของตารางหนังทำเงินไป สำหรับ โจวเหวินฟะ ก็เช่นกัน เขาเองก็เคยได้รับฉายา ‘ความหายนะแห่งจอเงิน’ เช่นกัน หลังจากหมดสัญญากันกับทางทีวีบี การกระโดดมาแสดงภาพยนตรือย่างเต็มตัว โจวเหวินฟะ ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างทันที หลายคนยังติดภาพบทบาทของเขาจาก เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ จนกระทั่งเขาได้รับโอกาส พลิกบทบาทเป็นนักฆ่าขาเป๋มากน้ำใจ ใน โหด เลว ดี
สำหรับจางม่านอวี้ ก็เช่นกัน แม้จะมีโอกาสการแสดงกับดาราดัง ๆ หลายคน แต่กว่าหกปีที่เธอเวียนวนกับการแสดงบทเดิมซ้ำ ๆ ไม่เป็นแฟนวาวจอมจู้จี้ ก็บทตลก จนกระทั่งปี 1989 จางม่านอวี้ ได้รับโอกาส แสดงภาพยนตร์เรื่อง Full Moon in New York (1989) ของผู้กำกับ สแตน ลี กวาน และเธอก็ได้รับรางวัลทางการแสดงแรกในชีวิต คือนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีม้าทองคำ
“คุณดูจางม่านอวี้ สิ ตอนประกวดมิสฮ่องกงเธอไม่ได้ชนะเลิศ แต่หลังจากนั้น เมื่อเข้าวงการบันเทิง ตอนแรกเธอรับบทเพียงแค่หนังตลก มีคนเปรียบเธอเหมือนแจกัน วันนี้เธอกลับเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเซีย เพราะเธอพัฒนาตนเองตลอดเวลา” โจวเหวินฟะ กล่าวถึงจางม่านอวี้
จางม่านอวี้ นับว่าเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเอเชียด้านรางวัลการแสดง ตั้งแต่ปี 1989 เธอก็ขึ้นเวทีรับรางวัลม้าทองคำสองรางวัลในการแสดงแรกของเธอคือ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Full Moon in New York (1989) และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Red Dust (1989) เธอยังครองสถิติชนะรางวัลจาก Hong Kong Film Awards 5 รางวัล Golden Golden Horse 4 รางวัล
นอกจากนี้ จางม่านอวี้ ยังเป็นนักแสดงเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ภาษาจีนที่ได้รับรางวัลนักแสดงในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่สำคัญสองแห่งในยุโรป คือนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม Berlin International Film Festival จากภาพยนตร์เรื่อง Center Stage (1991) นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Cannes Film Festival จากเรื่อง Clean (2004)
จางม่านอวี้ ใช้เวลาหกปีในการแสดง วนเวียนกับบทบาทที่หลายคนเรียกว่า แจกัน ก่อนที่จะกลายเป็นนักแสดงหญิงที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของโลกใบนี้
ทุกวันนี้หากมองย้อนไปความสำเร็จของทั้งจางม่านอวี้ เฉินหลง และ โจวเหวินฟะ นั่นมาจากการที่พวกเขามิได้ ‘ย่อท้อ’ ต่อคำดูถูก ฉายา ‘ความหายนะแห่งจอเงิน’ หรือ ‘แจกัน’ ล้วนเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายในวันที่พวกเขาประสบความสำเร็จ
แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของจางม่านอวี้ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จทางด้านการแสดงเท่านั้น แต่เธอยังประสบความสำเร็จในด้านการใช้ชีวิตจนเป็นที่ยอมรับ
“ความสำเร็จของเธอไม่ได้อยู่ที่การแสดงเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นคน เธอเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดที่ผมเคยพบ และเป็นผู้หญิงที่มีความสุขที่สุด เธอใช้ชีวิตได้ดีมาก เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้น เธอแตกต่างและน่ารักกว่าใคร ๆ ผมไม่เคยเห็นใครมีความสุขเท่าเธอเลย” เฉินหลง กล่าวถึงจางม่านอวี้ อย่างชื่นชม
ในปี 2004 จางม่านอวี้ แสดงภาพยนตร์เรื่อง Clean (2004) เป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนที่จะคว้ารางวัล นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวที Cannes Film Festival ครั้งที่ 57
หลังจากนั้นในปี 2013 จางม่านอวี้ ไปงานสัมนาของเวทีม้าทองคำไต้หวันภายใต้ชื่องาน CENTER STAGE ภาพยนตร์ที่ผลักดันให้จางม่านอวี้ กลายเป็นราชินีหนังรางวัลคนที่สองต่อจากเหมยเยี่ยนฟาง
จางม่านอวี้ เปรยว่า เธอไม่มีความฝันอยากจะแสดงอะไรอีกแล้ว เพราะตอนนี้สิ่งที่อยากทำที่สุดคือการเรียนรู้การเป็นมนุษย์ ละใช้ชีวิตโดยปราศจากบทภาพยนตร์มากำหนดให้เธอแสดงอีก
ภาพ: จางม่านอวี้ เมื่อปี 2007 โดย Oliver Tsang/South China Morning Post via Getty Images