จากดินสู่ดาวแบบ ‘จางอี้โหมว’ ผู้ใช้แรงงานที่เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับทรงอิทธิพลสุดของจีน

จากดินสู่ดาวแบบ ‘จางอี้โหมว’ ผู้ใช้แรงงานที่เป็นอีกหนึ่งผู้กำกับทรงอิทธิพลสุดของจีน

‘จางอี้โหมว’ ในเวลานี้คือผู้กำกับที่มีอิทธิพลที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้อย่างยาวนานกว่า 36 ปี ก่อนมาถึงจุดนี้ เขาเริ่มต้นจากใช้แรงงาน และเคยขายเลือดตัวเองเพื่อนำเงินมาซื้อกล้องถ่ายภาพที่เขาชื่นชอบ

  • จางอี้โหมว ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อจีนแผ่นดินใหญ่ ผลงานของเขาโด่งดังไกลระดับโลกและเป็นหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์จีนยุคนี้
  • กว่าจะมาถึงบทบาทระดับโลก จางอี้โหมว เริ่มต้นจากเป็นแรงงานในโรงงานปั่นผ้า และเก็บเงินซื้อกล้องถ่ายภาพอันเป็นกิจกรรมที่เขาชื่นชอบ

ภาพยนตร์จีนสร้างโดยฝีมือคนจีน ออกฉายในกรุงปักกิ่งเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 ในเรื่อง ‘ติ้งจวินซัน’ เป็นการแสดงงิ้ว หรืออุปรากรจีนของดารางิ้วชื่อดัง ‘ถันซินเผย’ นั่นคือจุดเริ่มต้นเปิดศักราชการบันทึกงานศิลปะบันเทิงลงบนแผ่นฟิล์มของประเทศจีน (ติ้งจวินซัน เป็นตอนหนึ่งในพงศาวดารเรื่องสามก๊ก (Chapter ที่ 70 – 71) อุปรากรจีนงิ้วปักกิ่งนิยมนำมาแสดง)

ซึ่งก่อนหน้านี้หนึ่งปี (ค.ศ.1904) ในวาระครบรอบพระชนมายุ 70 พรรษาของพระนางซูสีไทเฮา อุปรากรจีนเรื่อง ‘ติ้งจวินซัน’ ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยจะฉายผ่านเครื่องฉายภาพยนตร์ที่อัครราชฑูตอังกฤษน้อมเกล้าฯถวาย แต่เกิดการผิดพลาดทางเทคนิคเครื่องฉายระเบิดในขณะทดสอบ พระนางซูสีไทเฮาเห็นเป็นลางไม่ดี จึงไม่ทรงให้ฉาย...

เจ้าของร้านถ่ายรูปเฟิงไห้ กรุงปักกิ่ง เถ้าแก่เหรินซิ่งไท่ (จิ่งเฟิง) ได้ถ่ายทำการแสดงของดาราอุปรากรจีน ‘ถันซินเผย’ (ในโอกาสที่ครบรอบวันเกิด 60 ปี ของนักแสดงเอกผู้นี้) เป็นภาพยนตร์ขาว-ดำ และนำออกฉายที่โรงภาพยนตร์ต้ากวนโหลง ค.ศ.1905

*นี่เป็นการผสานทางศิลปะการแสดงอันเก่าแก่ของจีนเข้ากับเทคนิคการถ่ายภาพยนตร์เพื่อพัฒนาไปสู่ธุรกิจภาพยนตร์ของจีนเป็นครั้งแรก*

ต่อมาร้านถ่ายรูปเฟิงไห้ ถูกไฟไหม้เสียหายหมด

ฉากหลังของโลกแผ่นฟิล์มจีน

ความอ่อนแอของประเทศจีนในยุคขุนศึก ประมาณ ค.ศ. 1920 -1930  ซึ่งเป็นจุดเริ่มแรกของประเทศจีนใหม่ นำไปสู่ความล้มเหลวของการก่อตั้งรัฐบาลกลางจนแตกแยกเป็นยุคขุนศึกครองเมืองที่โกงกิน กดขี่ทั่วแผ่นดิน ส่งอิทธิพลต่อการก่อเกิดผู้กำกับการแสดงรุ่นแรกของจีน หลังการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม (May Fourth Movement) ที่นักศึกษาปักกิ่งห้าพันคน คัดค้านการประชุมที่แวร์ซายล์ ประเทศฝรั่งเศสที่รับรองสิทธิของญี่ปุ่นเหนือเมืองชานตุงของจีน

เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม ปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศ ส่งผลให้ผู้กำกับการแสดงรุ่นใหม่เกิดทัศนะเชิดชูเชื้อชาติจีน วิพากษ์ความอ่อนแอของชนชั้นปกครอง ผู้กำกับการแสดงรุ่นแรกนี้เชิดชูความคิดประชาธิปไตยต่อต้านการปกครองแบบศักดินา

ผู้กำกับการแสดงสำคัญในยุคนี้ ได้แก่ ตันตู่อวี้, หยางเสี่ยวจง, เจ้าจุยหวิน แต่ที่เป็นแก่นแกนหลัก ได้แก่ สองผู้สร้างผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้พัฒนาภาพยนตร์จีนให้ก้าวไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังใช้ภาพยนตร์ในฐานะเครื่องมือในการแสดงทัศนะทางการเมืองอีกด้วย สองผู้กำกับการแสดงที่เป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายคู่นี้ได้แก่ จางจื่อฉวน กับ เจิ้งเจิ้งชิว ประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์จีนจารึกไว้ว่า เพื่อนรักทั้งสองท่าน คือผู้บุกเบิกพัฒนาภาพยนตร์จีนกำลังภายในยุคแรกของจีน

ภาพยนตร์เรื่องสำคัญในยุคแรกของวงการภาพยนตร์จีน คือเรื่อง The Burning of the Red Lotus Temple (1928) ดัดแปลงมาจากนิยายกำลังภายในเรื่อง The Tale of the Extraordinary Swordsman (เรื่องเล่าของยอดนักกระบี่) เนื้อเรื่องพูดถึง จอมยุทธ์ และการช่วยเหลือเพื่อนมิตรที่ถูกคุมขังไว้ในวัดที่เต็มไปด้วยกับดักอันตราย ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวถึง 27 ชั่วโมง แบ่งเป็น 18 ตอน โดยออกฉายเมื่อปี ค.ศ.1928 จนถึง ค.ศ. 1931

The Burning of the Red Lotus Temple นับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์จีนกำลังภายในเรื่องแรก ๆ ของโลก เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำเงินสูงสุดในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในผลงานหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ของผู้กำกับการแสดง จางจื่อฉวน (Zhang Shichuan) พื้นเพเดิมเป็นคนหนิงเป่า เขาย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ หลังบิดาถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 16 ครั้นจบการศึกษา เริ่มทำงาน เขากระตือรือร้นในการหาความรู้ จนได้มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทภาพยนตร์ของต่างประเทศ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเป็นคนทำภาพยนตร์มืออาชีพ เขามีโอกาสสร้างภาพยนตร์สั้นและภาพยนตร์เรื่องยาว ภาพยนตร์ของเขาประสบความสำเร็จได้รับการต้อนรับจากผู้ชมอย่างอุดหนาฝาคั่ง จางจื่อฉวน ถือเป็น ‘ผู้กำกับการแสดงคนแรกแห่งผู้กำกับรุ่นแรก’ ของจีน

ผู้กำกับการแสดงรุ่น 2: ยุคทศวรรษที่ 30 ( 1930- 1940) ได้แก่ เจิ้งจวินหลี่ / อู๋หยังกัง / ไซ่ฉู่เซิง / ทังเสี่ยวตัน / เฟ่ยวู่ ภาพยนตร์เด่น เช่นเรื่อง ‘เสี่ยวเฉิงจือชุน’ ผลงานของเฟ่ยวู่ เน้นกระแสรักชาติช่วงสงครามโลกต่อต้านญี่ปุ่น ภาพยนตร์จีนแนวเรียลลิสม์ถือกำเนิดจากผู้กำกับรุ่นนี้ ช่วงนี้เกิดบริษัท และกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์จำนวนมาก

ผู้กำกับการแสดงรุ่น 3: ทศวรรษที่ 40-50  เช่น หลิงจื่อเฟิง ภาพยนตร์เรื่อง ‘จงหัวหนื่ว์เออร์’ ของเขาไปคว้ารางวัลในต่างประเทศ ใน Karlovy Vary International Film Festival เมื่อปี ค.ศ.1950 ผู้กำกับการแสดงรุ่นนี้ยังเดินรอยตามผู้กำกับการแสดงรุ่น 2 เน้นเรื่องราวสะท้อนสังคม แก่นแท้ในชีวิต ความรักชาติ ความขัดแย้งในสังคม ตลอดจนบทบาทของสตรีอีกทั้งได้เสนอความเป็นศิลปะมากยิ่งขึ้น

ผู้กำกับการแสดงจีนรุ่นที่ 4 ประมาณทศวรรษ 60-70s ผู้กำกับรุ่นนี้จะเป็นกลุ่มนักศึกษาภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เริ่มสนใจใช้ทฤษฎีตะวันตก ทดลองหาแนวทางใหม่ ๆ มาเป็นของตนเอง ตัวแทนเช่น อู๋เทียนหยิง จากเรื่อง เหลาจิ่ง (Old Well, 1986) นักแสดงชายแจ้งเกิดในเรื่องนี้ชื่อ ‘จางอี้โหมว’

 

ภูมิหลังของจางอี้โหมว

จางอี้โหมว เกิดที่เมืองซีอาน มณฑลส่านซี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 1950 บิดาของเขาเป็นนายทหารฝ่ายพลาธิการในกองทัพของพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเชก เมื่อกองกำลังของก๊กมินตั๋ง พ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ทำให้ครอบครัวของเขามีชีวิตที่ค่อนข้างลำบาก

จางอี้โหมวได้เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนทงจีเฟิง ในซีอาน ก่อนที่จะเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมต้นหมายเลข 30 หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมต้น เป็นช่วงเวลาการปฏิวัติทางวัฒนธรรม จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียน และไปเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานปั่นฝ้าย หมายเลข 8 ในเมืองเสียนหยาง มณฑลส่านซี เป็นเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ปี 1971 ถึง 1978)

ในช่วงเวลาที่ทำงานเป็นแรงงานปั่นฝ้ายนั้น จางอี้โหมวเริ่มสนใจด้านการถ่ายภาพ และศิลปะเป็นพิเศษ เขาเริ่มงานเขียนภาพ และถ่ายภาพ โดยขายเลือดของตัวเองเพื่อนำเงินมาซื้อกล้องถ่ายภาพ 

ในเดือนกันยายน ปี 1978 จางอี้โหมวสมัครสอบเข้าเรียนที่สถาบันภาพยนตร์ปักกิ่ง (Beijing Film Academy) แผนกการถ่ายภาพ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติเพราะอายุเกิน และเรียนไม่จบ แต่เขาเขียนจดหมายถึงกระทรวงวัฒนธรรม อ้างว่าต้องเสียเวลาไปถึงสิบปีในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งส่งภาพถ่ายผลงานส่วนตัวควบคู่ไปด้วย ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้รับอนุมัติเข้าเรียนเป็นกรณีพิเศษ

หลังจากจบการศึกษาในเดือนกรกฎาคม 1982 และเข้าทำงานเป็น ตากล้องใน Guangxi Film Studio ในปี 1984 จางอี้โหมวทำงานเป็นตากล้องในภาพยนตร์เรื่อง ‘One and Eight’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์จีน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Chinese Film Excellent Photography Award ในปี 1984 จากการจัดองค์ประกอบภาพที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ จนถูกยกย่องว่า นี่คือผลงานชิ้นแรกในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ‘รุ่นที่ห้า’ ที่สร้างความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา ทิศทาง การถ่ายภาพ และสุนทรียภาพเมื่อเทียบกับผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นก่อน ๆ ของจีน

ในปี 1984 จางอี้โหมว ร่วมงานเป็นผู้กำกับภาพให้กับ เฉิน ข่ายเกอ ในภาพยนตร์ ‘Yellow Earth’ และภาพยนตร์เรื่องถัดมา ‘The Big Parade’ (1985) ภาพยนตร์เรื่องถัดมา จางอี้โหมว เป็นผู้กำกับภาพ และร่วมแสดง เรื่อง ‘Old Well (1986)และได้รับรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว จากความสำเร็จนี้ ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนให้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ‘Red Sorghum’ ในปี 1987

ข้าวฟ่างสีเพลิง Red Sorghum (1987) สร้างจากนวนิยายเรื่อง Red Sorghum Clan ที่เขียนโดย มั่วเหยียน (นามปากกาของ กวั่น หมัวเย่) เล่าถึงสาวน้อยที่พ่อแม่ขายให้ไปแต่งงานกับชายโรคเรื้อนที่เป็นเจ้าของโรงบ่มเหล้า ภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลินปี 1988 และแจ้งเกิดทั้งจางอี้โหมว ในฐานะผู้กำกับ และ กงลี่ ในฐานะนักแสดง

ในปี 1988 จางอี้โหมว ร่วมกำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Code Named Jaguar’ ร่วมกับหยางเฟิ่งเหลียง และนำแสดงโดยกงลี่ ในปีนี้ จางอี้โหมวได้แสดงนำในภาพยนตร์ เทียนฟง คนตรง 3000 ปี (Fight and Love with a Terracotta Warrior) ที่กำกับโดย เฉิงเสี่ยวตง อำนวยการสร้างโดย ฉีเคอะ ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นผลงานแสดงนำเรื่องที่สองของจางอี้โหมว ในภาพยนตร์เรื่องนี้เขาแสดงกับ กงลี่ และ ลู่ซู่หมิง (นักแสดงกวนอู ปี 1994 ผู้ล่วงลับ)

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ชีวิตของ ลู่ซู่หมิง นักแสดง ‘กวนอู’ แห่งสามก๊ก ปี 94 กับที่มาของการรับบทราวฟ้าลิขิต

จูโด เธอผิดหรือไม่ผิด (Ju Dou, 1990) เป็นภาพยนตร์จีนเรื่องแรกที่ได้ติดหนึ่งในห้าภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงออสการ์ครั้งที่ 63 ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม (Academy Award for Best Foreign Language Film) ซึ่งเป็นผลงานที่นำแสดงโดยกงลี่ กำกับโดย จางอี้โหมว และ หยางเฟิ่งเหลียง

ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง Raise the Red Lantern (1991) ที่จางอวี้โหมว ดัดแปลงมาจากบัลเล่ต์เรื่องดังของจีนที่มาจากนวนิยายเรื่อง 妻妾成群 (Wives and Concubines) ของซูถง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ส่งผลให้จางอวี้โหมวได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Venice International Film Festival ปี 1991

ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง เป็นภาพยนตร์ที่ถูกรัฐบาลจีนในขณะนั้นแบน เนื่องจากภาพยนตร์ของจางอวี้โหมว มีเนื้อหาเสียดสีสังคมและวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของจีนเสมอ แม้บทภาพยนตร์จะผ่านการเซ็นเซอร์ของจีนแล้วก็ตาม แต่ตัวภาพยนตร์ยังไม่ได้ออกฉายในจีน

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกวางไว้ว่าจะส่งเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกครั้ง แต่เมื่อไม่ได้ฉายในประเทศบ้านเกิดจึงไม่สามารถส่งเป็นตัวแทนได้ ดังนั้น จางอวี้โหมวจึงนำภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายที่ฮ่องกง และส่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ฮ่องกง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ติดเป็น 1 ใน 5 ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย

ในส่วนนี้เป็นบริบทสำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังฮ่องกง เนื่องเพราะฮ่องกงในยุค 90s จะถูกขยับมาเป็นเมืองแห่งภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเซียในขณะนั้น แต่ฮ่องกงไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดถูกเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้เลย เทียบกันกับญี่ปุ่นที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาแล้ว และมีชื่อเข้าชิงมาตลอด ดังนั้น ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง Raise the Red Lantern (1991) ที่เป็นตัวแทนหนังฮ่องกงไปชิงออสการ์ตอนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องการเมืองของฮ่องกงกับจีนเบา ๆ แล้ว ยังมีเรื่องของศักดิ์ศรีในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์อันดับหนึ่งของเอเชียอีกด้วย

ในช่วงยุค 90s จางอี้โหมวมีผลงานภาพยนตร์ เหนือคําพิพากษา the story of qiu ju (1992) คนตายยาก To Live (1994) Shake, Shake, Shake to Grandma Bridge (1995)  Speak Well (1996)  Not One Less (1999) และ เส้นทางรักนิรันดร์ The Road Home (1999) เป็นผลงานที่สะท้อนชีวิตของคนจีนในแง่มุมต่าง ๆ จากปัญหาที่หนักหน่วง สู่ความลึกซึ้งละมุนละไม

 

สู่การเป็นเจ้าพ่อหนังบล็อกบัสเตอร์ และลูกรักของรัฐบาลจีน

Hero (2002) นับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของจีนที่ทำรายได้ในจีนเกิน 100 ล้านหยวน นั่นเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่สุดของวงการภาพยนตร์ที่พูดภาษาจีน และเป็นจุดสิ้นสุดของภาพยนตร์ฮ่องกงไปโดยปริยาย

นับตั้งแต่ปี 1997 เมื่อจีนปกครองฮ่องกง วงการภาพยนตร์ฮ่องกงก็ไม่เฟื่องฟูเหมือนในยุคก่อน ๆ จนกระทั่งในปี 2000 พยัคฆ์ระห่ำ มังกรผยองโลก (Crouching Tiger, Hidden Dragon) ภาพยนตร์กำลังภายในของอังลี บุกตลาดฮอลลีวูด ทำรายได้ถล่มทลาย เฉพาะในสหรัฐอเมริกาทำรายได้ไปถึง 128 ล้านเหรียญ และทำรายได้ไปถึง 213 ล้านเหรียญทั่วโลก

ในระหว่างถ่ายทำ Happy Times (2000) จางอี้โหมว ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ศิลปะการต่อสู้ เขาใช้เวลา 3 ปีในการเตรียมภาพยนตร์ภาพยนตร์เรื่องนี้ ในตอนแรกจางอี้โหมวต้องการดัดแปลงบทประพันธ์ของกิมย้ง และ เนี่ยอู๋เซ็ง มาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายจางอี้โหมวจึงต้องเริ่มเขียนเรื่องราวใหม่เองสำหรับนักแสดงนั้น จางอี้โหมว วางนักแสดงทั้งเหลียงเฉาเหว่ย จางม่านอวี้ เจิ้นจื่อตัน จางจื่ออี และ เฉิน เต้าหมิง ตรงตามคาแรกเตอร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีเพียงตัวละคร ‘ไร้นาม’ ที่เขาต้องการนักแสดงจีนที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกและเป้นนักแสดงที่มีตลาดในฮอลลีวู้ด ตัวเลือกแรกของทีมผู้สร้าง คือ เฉินหลง

แต่จางอี้โหมวมองว่า บุคลิกและวัย ของเฉินหลง กับ ‘ไร้นาม’ นั้นแตกต่างกันมาก สุดท้ายเขาจึงเลือก หลี่เหลียนเจี๋ย หรือ เจ็ท ลี มารับบทไร้นาม

‘ฮีโร่’ (Hero, 2002) เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางศิลปะของผู้กำกับจางอี้โหมว ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ของภาพยนตร์และการค้าของประเทศจีน ดาราชื่อดังคับคั่ง ฉากยิ่งใหญ่ ภาพงดงามราวบทกวี การออกแบบศิลปะการต่อสู้นั้นลื่นไหลและวิจิตรเกินจินตนาการ ประสานแนวความคิดทางศิลปะแบบจีนดั้งเดิมผสมผสานกับการสร้างแบบจำลองความงามที่รุนแรงของภาพยนตร์แอคชั่น ทำให้เกิดตำนานบ็อกซ์ออฟฟิศครั้งใหม่ ซ้ำยังเป็นต้นแบบความสำเร็จให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในจีนแผ่นดินใหญ่

‘Wall Street Journal’ ของสหรัฐอเมริกา เขียนว่า “ฮีโร่ได้เปิดม่านแห่งยุคภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของจีนอย่างแท้จริง” ในขณะเดียวกัน กลยุทธ์การเล่าเรื่องที่ยิ่งใหญ่ของ ‘ฮีโร่’ แนวคิดระหว่างการพาณิชย์และศิลปะยังได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงในหมู่ผู้สร้างภาพยนตร์ภาษาจีน และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ การใช้สไตล์ตะวันออก ในรูปแบบสี และแนวคิดทางศิลปะ ภาพและเสียงที่สวยงาม การผสมผสานการแสดงของเหล่าดาราใหญ่ของจีน และนี่คือภาพยนตร์ที่จะสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนในอนาคต

สองเดือนหลังจาก ‘ฮีโร่’ ออกฉาย บ็อกซ์ออฟฟิศในประเทศจีนทำรายได้ถึง 250 ล้านหยวน และทำรายได้จากการฉายทั่วโลกถึง 177 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ‘ฮีโร่’ ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับภาพยนตร์จีน

ในปี 2005 นิตยสาร ‘Time’ ได้เลือกให้ ฮีโร่ ติด ‘10 อันดับภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลกในปี 2004’ (ออกฉายที่อเมริกาในปี 2004) และเป็นภาพยนตร์จีนเรื่องแรกที่ถูกจัดไว้เป็นอันดับหนึ่งภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในปีนั้น

‘ฮีโร่’ ไม่ใช่เพียงภาพยนตร์จีนเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์จีนที่ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์เชื้อสายจีนทั่วโลกได้เห็นศักยภาพในการสร้างภาพยนตร์ของจีน รวมถึงตลาดภาพยนตร์จีนที่พร้อมจะขยายตัวมากขึ้นพอที่จะเป็นตลาดภาพยนตร์อันดับหนึ่งของโลกแทนฮอลลีวูด ทำให้บรรดาดาราผู้สร้างภาพยนตร์เชื้อสายจีนทยอยกลับมาที่จีน ร่วมสร้างตลาดภาพยนตร์จีนให้เติบโตยิ่งขึ้น

House of Flying Daggers (2004) หรือ จอมใจบ้านมีดบิน เป็นผลงานกำกับของจางอี้โหมว และเป็นผลงานเขียนบทของหลี่เฝิง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Hero (2002) โดยทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศในประเทศ 153 ล้านหยวน และทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครองแชมป์บ็อกซ์ออฟฟิศประจำปีของจีนในปี 2004 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมที่งานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 62 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่งานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 77

ศึกโค่นบัลลังก์วังทอง (Curse of the Golden Flower, 2006) เป็นอีกผลงานบล็อกบัสเตอร์ของจางอี้โหมว ด้วยรายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศในประเทศ 290 ล้านหยวน และบ็อกซ์ออฟฟิศทั่วโลก 78.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีเดียวกัน จางอี้โหมวได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกปักกิ่งให้เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการพิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 29 และพาราลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 13

จางอี้โหมว ประสบความสำเร็จในการกำกับพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งอย่างสูง เขาได้รับการเสนอชื่อโดยนิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ ให้เป็นบุคคลแห่งปี เขาได้รับรางวัลพีบอดี (Peabody Award)  สำหรับการสร้างงานพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่น่าสะกดใจและยากจะลืมเลือน

สงครามนานกิง สิ้นแผ่นดินไม่สิ้นเธอ (The Flowers of War, 2011) เป็นอีกหนึ่งผลงานที่จางอี้โหมว ใช้เวลาเตรียมการนานถึง 4 ปี ทั้งการคัดเลือกนักแสดง ทีมสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่จะเนรมิตเมืองนานกิงในสมัยสงครามโลกครั้ง 2 รวมถึงเชิญ คริสเตียน เบล พระเอกดังจากฮอลลีวูดมาร่วมแสดง และก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของจางอี้โหมวในจีน ด้วยการครองแชมป์บ็อกซ์ออฟฟิศรายสัปดาห์ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ และมีบ็อกซ์ออฟฟิศสะสม 600 ล้านหยวน เป็นแชมป์บ็อกซ์ออฟฟิศภาพยนตร์จีนในปี 2011 

The Great Wall (2016) นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงที่สุดในชีวิตการกำกับภาพยนตร์ของจางอี้โหมว ด้วยทุนสร้าง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในประเทศจีนและออกฉายทั่วโลก โดยมีนักแสดงจากฮอลลีวูดชื่อดัง อย่าง แมตต์ เดม่อน เปโดร ปาสคาล และ วิลเลียม เดโฟ ส่วนนักแสดงจีนก็มีหลิวเต๋อหัว และ จิ่งเถียน มาร่วมแสดงในภาพยนตร์ ซึ่งแม้ว่า The Great Wall  จะถูกบรรดานักวิจารณ์สับเละ แต่ก็ทำรายได้จากการฉายทั่วโลกไป 334 ล้านเหรียญสหรัฐ

ตรุษจีนปีนี้ที่ผ่านมา จางอี้โหมวกลับมาอีกครั้งพร้อมกันกับภาพยนตร์เรื่อง Full River Red (满江红) ที่ชื่อภาพยนตร์มาจากบทกวีเย่ว์เฟย หรือ งักฮุย เล่าเรื่องราวของคดีลึกลับที่เกิดขึ้นในราชวงศ์ซ่งใต้ นำแสดงโดย เซินเถิง อี้หยางเชียนซี (แจ็คสัน ยี)​ และเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในภาพยนตร์ตรุษจีนปีนี้ โดยเอาชนะทั้ง The Wandering Earth 2 ที่นำแสดง​ โดย​ หลิวเต๋อหัว​ และ​ อู๋จิง และ โค่นคมพยัคฆ์ Hidden Blade ที่นำแสดงโดย​ เหลียงเฉาเหว่ย​ และ​ หวังอี้ป๋อ

นับได้ว่าจางอี้โหมวยังคงเป็นผู้กำกับที่มีอิทธิพลที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งในแง่คำวิจารณ์และรายได้ยาวนานนับตั้งแต่ผลงานกับภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 1987 จนถึงปัจจุบันยาวนานกว่า 36 ปี